วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > ซีพีเร่งผลิต “คน” ขยายเครือข่าย รุกธุรกิจร้านอาหาร 4 แสนล้าน

ซีพีเร่งผลิต “คน” ขยายเครือข่าย รุกธุรกิจร้านอาหาร 4 แสนล้าน

เครือเจริญโภคภัณฑ์หรือ “ซีพี” กำลังเร่งผลิต “ทุนมนุษย์” รุกเครือข่ายธุรกิจร้านอาหารขนานใหญ่ตามแผนยุทธศาสตร์ “ครัวโลก” ของ ธนินท์ เจียรวนนท์ ตั้งแต่การสร้าง “สถาบันผู้นำ” ปั้นผู้นำรุ่นใหม่และซีอีโอในอนาคต เปิดโครงการ Young Talent คัดเลือกคนรุ่นใหม่จากมหาวิทยาลัยทั่วโลก และกลุ่มพนักงาน ดันเถ้าแก่คนรุ่นใหม่ จนล่าสุดทุ่มทุนซื้อองค์ความรู้จาก “โลซานน์” ผุดโรงเรียนศิลปะการอาหารแลธผู้ประกอบการคูลิเนอร์ (CULINEUR) ชนิดที่เรียนจบแล้วเปิดร้านได้ทันที โดยซีพีพร้อมใส่เงินทุน ภายใต้เงื่อนไขเดียว คือ ใช้วัตถุดิบจากซีพีทั้งหมด

เหตุผลสำคัญ เพราะธุรกิจร้านอาหารยังเป็นเทรนด์ธุรกิจดาวรุ่งที่มีแนวโน้มเติบโตตามธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งรัฐบาลสนับสนุนและผลักดันอย่างเต็มที่ ในฐานะเครื่องจักรกลทางเศรษฐกิจที่มีศักยภาพสูงสุด

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์มูลค่าตลาดธุรกิจร้านอาหารในปี 2561 มีเม็ดเงินสูงกว่า 411,000-415,000 ล้านบาท อัตราขยายตัวร้อยละ 4-5 จากปี 2560 และเปลี่ยน จากอดีตที่ร้านอาหารส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มห้างสรรพสินค้า ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ มาสู่เทรนด์การลงทุนแบบร้านสแตนด์อะโลน ร้านคาเฟ่ ร้านอาหารใน Coworking Space รวมถึงกลุ่ม Street Food ตามกระแสความนิยมของกลุ่มนักท่องเที่ยว

ฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย ระบุว่า มูลค่าธุรกิจท่องเที่ยวทั้งหมดในประเทศกว่า 20% เป็นการเติบโตของธุรกิจอาหาร โดยปัจจุบันมีภัตตาคารกว่า 100,000 ร้าน และรูปแบบสตรีทฟู้ดอีกกว่า 300,000 ร้าน ซึ่งจากการสำรวจพบว่า ส้มตำ มัสมั่นไก่ ต้มยำกุ้ง แกงเขียวหวานไก่ ผัดไทย และต้มข่าไก่ เป็น 6 เมนูยอดนิยมขวัญใจนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทั้งพฤติกรรมการบริโภคอาหารของคนไทยยังรับประทานอาหารนอกบ้านเฉลี่ย 2 มื้อต่อวัน ทำให้ธุรกิจร้านอาหารมีการแข่งขันกันสูงขึ้น แต่การเติบโตของเทคโนโลยีทำให้ธุรกิจอาหารมีโอกาสอีกมากมายและมีนักลงทุนเข้ามาชิมลางในธุรกิจนี้มากขึ้น

ไม่เว้นแม้กระทั่งกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่อย่างเครือซีพี ซึ่งมีเครือข่ายธุรกิจร้านอาหารที่สร้างจากฐานธุรกิจหลัก และตั้งเป้าหมายสูงสุด ต้องการเป็น Food Organizer และ Food Service Provider ให้บริการด้านอาหารทุกรูปแบบ เจาะทุกตลาด และรองรับทุกความต้องการของผู้บริโภค ไม่ใช่แค่การผลิตสินค้าและเปิดหน้าร้านค้าปลีก โดยมีบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ “ซีพีเอฟ” เป็นแม่งานใหญ่

เริ่มต้นจากการเปิดตัวร้านเชสเตอร์กริลล์และร้านในกลุ่มห้าดาว สร้างโมเดลร้านหลากหลายรูปแบบ ทั้งซุ้มขายสินค้าประเภทเดียว ซุ้มขายสินค้าหลายประเภท และร้านฟาสต์ฟู้ดขนาดเล็กที่ลูกค้านั่งรับประทานได้ที่ร้าน ในรูปแบบอาหาร 6 ประเภท ได้แก่ ไก่ย่างห้าดาว ไก่ทอดห้าดาว ข้าวมันไก่ห้าดาว บะหมี่ห้าดาว เรดี้มีล และไส้กรอกโรลเลอร์กริลล์

จนกระทั่งชิมลางสร้างศูนย์อาหาร (ฟู้ดคอร์ต) เพื่อเป็นหน้าร้านสร้างแบรนด์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น ร้านข้าวไข่เจียว “จ.การเจียว” ร้านข้าวขาหมู “โปยก่ายตือคา” ร้านเป็ดย่างเจ้าสัว ร้านราดหน้ามหาชน ร้านอาหารไทย “ต้มยำทำแกง” ร้านก๋วยเตี๋ยวอร่อยเลิศ และร้านข้าวมันไก่เฟซดุ๊ก โดยเดินหน้าขยับขยายด้วยการขายแฟรนไชส์ให้ผู้ประกอบการพร้อมๆ กับการเปิดฟู้ดเวิลด์สาขาใหม่

ต้องยอมรับว่า ด้านหนึ่งซีพีขยายฐานร้านอาหารแบรนด์ต่างๆ เจาะตลาด “แมส” รองรับกลุ่มผู้บริโภคระดับกลางและล่าง โดยใช้ระบบแฟรนไชส์ปูพรมสาขาอย่างรวดเร็ว

อีกด้านหนึ่ง เร่งขยับฐานเจาะกลุ่มลูกค้าระดับพรีเมียมและธุรกิจตามเทรนด์ของคนรุ่นใหม่ ทั้งร้านเบเกอรี่ ร้านกาแฟ และร้านฟาสต์ฟู้ด

เฉพาะโครงการ Young Talent ที่ธนินท์ทุ่มทั้งงบสนับสนุนและเวลาส่วนตัว มีการสร้างสรรค์โมเดลธุรกิจและดำเนินธุรกิจแล้ว จำนวน 10 แบรนด์ ได้แก่ ร้านอาหารจีนสไตล์โมเดิร์น “มังกรทอง” ร้านอาหารญี่ปุ่น Ramen Habu ร้านอาหารญี่ปุ่น Gohango สไตล์เบนโตะและข้าวหน้าต่างๆ ร้านข้าวหน้าเป็ดย่าง “เป็ดโปรด” ร้านข้าวแกง “ปรุงสุข”

ร้านอาหารสุขภาพ Sit Nature ร้านอาหารแนวเส้น “จอมยุทธ์” ร้านเบอร์เกอร์ PaPa’s Burger ร้านไก่ทอดฟรายด์เดส์ Lifestyle Quick Service Restaurant ที่ครบเครื่อง หลุดกรอบ และชูแบรนด์ไก่ทอดสไตล์ไทยผสมผสานไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ เน้นเมนูไก่ทอดหลากหลาย เพื่อให้ลูกค้าสามารถใช้เวลาได้ตลอดทั้งวันและทุกวัน (ALL DAY @ FRIEDDAYS)

นอกจากนี้ มีแบรนด์มินิฟู้ดคอร์ท เดอะ เซนส์ ฟู้ด คอมเพล็กซ์ เป็นช่องทางขยายร้านอาหารทั้งหมดและเป็นโชว์รูมแสดงแบรนด์ร้านอาหารในกลุ่ม Young Talent ด้วย

ขณะที่สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) ซึ่งเครือซีพีวางเป้าหมายเจาะตลาดระดับอุดมศึกษาในฐานะ Corporate University แห่งแรกในประเทศไทย เริ่มทดลองเปิดร้านอาหาร Chef’s Kitchen ด้านหน้าสถาบัน และมีร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ภายใต้การบริหารของคณะการจัดการธุรกิจอาหาร โดยเป็นทั้งครัวของสถาบันและสถานที่ฝึกปฏิบัติงานของนักศึกษา เพื่อเรียนรู้ทุกขั้นตอนของการทำร้านอาหารอย่างครบวงจร

ตัวร้านประกอบด้วยโซน Grab & Go บริการอาหารพร้อมรับประทานกลับบ้าน โซน Breakfast บริการอาหารสไตล์ยุโรปและเอเชีย โซน Buffet Lunch บริการอาหารบุฟเฟ่ต์ไทย 4 ภาค โซน Afternoon Tea & Cake บริการเบเกอรี่และเครื่องดื่ม และโซน Dinner บริการอาหารฟิวชั่น ยุโรปผสมผสานเอเชีย (A la carte)

ส่วนการเปิดตัวโรงเรียนศิลปะการอาหารและผู้ประกอบการคูลิเนอร์ (CULINEUR) ที่ศูนย์การค้าเอ็มโพเรียม ถือเป็นการสร้างฐานกลุ่มผู้ประกอบการระดับพรีเมียม ทั้งในแง่อาหาร รูปแบบการเรียนการสอน และการเจาะกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่มีระดับรายได้ค่อนข้างสูง เนื่องจากอัตราค่าเรียนมีตั้งแต่ระยะสั้น 3 ชั่วโมง ค่าเรียนเริ่มต้น 4,000 บาท จนถึงหลักสูตรเต็มรูปแบบ 2 ปี อัตราค่าเรียนเริ่มต้น 2 แสนบาท

สุขวัฒน์ ด่านเสริมสุข ประธานคณะผู้บริหารธุรกิจอาหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ระบุว่า โรงเรียนแห่งนี้จัดตั้งขึ้นตามวิสัยทัศน์ของธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่ต้องการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการร้านอาหารและเชฟมืออาชีพของไทยให้ก้าวสู่ระดับโลก ผู้เรียนต้องเข้าใจทุกกระบวนการการจัดการธุรกิจตั้งแต่การเลือกวัตถุดิบ การประกอบอาหาร การจัดการต้นทุน การตลาด การบริหารคน โดยหลักสูตรการเรียนการสอนได้รับการออกแบบจาก Lausanne Hospitality Consulting (LHC) หน่วยงานด้านการศึกษาจาก Ecole hoteliere de Lausanne (EHL) สถาบันสอนการโรงแรมที่เก่าแก่ที่สุดในโลกจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์

หลักสูตรทั้งหมดเน้นการสร้างเชฟมืออาชีพและผู้ประกอบการร้านอาหารครบวงจร ครอบคลุมพื้นฐานด้านงานครัว การทำอาหารและเครื่องดื่มหลากหลายประเภท ไปจนถึงเรื่องการควบคุมมาตรฐานด้านความปลอดภัย การบริหารบุคลากรและการบริหารจัดการ โดยผู้เรียนจะใช้เวลาเรียนทั้งสิ้น 2 ปี ด้วยระบบการเรียนการสอนด้วยภาษาอังกฤษ

นอกจากนี้ มีหลักสูตรระยะสั้นสำหรับผู้ที่ต้องการเพิ่มทักษะในระยะเวลาจำกัด ซึ่งออกแบบให้เข้ากับความต้องการของตลาดในแต่ละช่วงเวลา ตั้งแต่อาหารไทย อาหารตะวันตก ขนมอบ ขนมหวาน การออกแบบอาหาร และการจัดการ โดยโรงเรียนคูลิเนอร์ได้เปิดร้านอาหาร ร้านเบเกอรี่ และบาร์เครื่องดื่ม เป็นพื้นที่ฝึกการปฏิบัติงานจริง ทั้งการทำอาหาร การบริการ และการบริหารจัดการร้าน

ประกอบด้วย ห้องอาหารการ์นิช (Garnish) ร้านอาหารที่เสนอการบริการแบบเต็มรูปแบบ (Full Service Restaurant) ห้องอาหารนานาชาติเฟลเวอร์ (Flavours) ร้านเบเกอรี่ เพสทรี่เกลซ (Glaze) และเดอะบาร์ (The Bar) บริการเครื่องดื่มทั้งชา กาแฟ

ล่าสุด หลังเปิดตัวโรงเรียนคูลิเนอร์อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซีพีเอฟเตรียมจัดงาน CULINEUR OPEN HOUSE DAY ในวันที่ 12 ธันวาคมนี้ ให้ผู้สนใจเยี่ยมชมโรงเรียนและชมการสาธิตการสอนการทำอาหารจากเชฟผู้เชี่ยวชาญของคูลิเนอร์ โดยเฉพาะการแนะนำหลักสูตรสอนทำอาหารยอดนิยมระยะสั้นอีก 5 หลักสูตร คือ หลักสูตรวิชาการทำซาลาเปา หลักสูตรการทำธุรกิจร้านกาแฟ หลักสูตรวิชาช่างอาหารอบ หลักสูตรอาหารไทยเพื่อสุขภาพ และหลักสูตรอาหารว่างนานาชาติ ซึ่งคาดว่าจะมีผู้สนใจเข้าเรียนจำนวนมาก

ที่สำคัญ ในมุมมองผู้บริหารซีพีเอฟมั่นใจว่า ธุรกิจโรงเรียนสอนทำอาหารแบรนด์อินเตอร์อย่าง “คูลิเนอร์” สามารถสร้างรายได้และคืนทุนอย่างรวดเร็ว ทั้งภาพลักษณ์ จุดขายและจุดแข็งที่เป็น “แรงดึงดูดพิเศษ”

ไม่ใช่แค่การให้ทุนสนับสนุนผู้เรียนจบคอร์สสามารถเปิดร้านทันที แต่ยังหมายถึงช่องทางการขยายโอกาสเติบโตภายใต้อาณาจักรซีพีที่กระจายเครือข่ายอยู่ทั่วโลกด้วย

ใส่ความเห็น