ช่วงเวลาไตรมาสสุดท้ายของศักราชนี้ดูจะดำเนินไปด้วยจังหวะเร้าที่ถูกกระตุ้นให้เกิดการขับเคลื่อนไปในทิศทางที่หลายฝ่ายตั้งความหวัง เพราะหากผลสรุปตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวม การขยายตัวด้านการส่งออก การลงทุนภาคเอกชน เป็นบวก นั่นหมายความว่า ความพยายามอย่างสุดกำลังในเฮือกสุดท้ายของภาครัฐสัมฤทธิผลอย่างเหลือเชื่อ
แม้ว่าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จะออกมาแสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์เศรษฐกิจไทยหลายต่อหลายครั้งว่า ทิศทางเศรษฐกิจไทยไร้ปัญหา และยังมีกำลังขับเคลื่อนที่ดีขึ้น
กระนั้นถ้อยแถลงของภาครัฐดูจะย้อนแย้งกับสถานการณ์ความเป็นจริงที่เกิดขึ้น เมื่อกระแสเสียงบ่นจากชาวบ้านร้านตลาดกลับเห็นต่าง พร้อมกับโอดครวญถึงความยากลำบากในการทำมาค้าขายในสถานการณ์ปัจจุบัน
เป็นไปได้หรือไม่ว่า ความพยายามของภาครัฐที่พยายามขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย และหวังให้ฟันเฟืองทุกตัวหมุนไปพร้อมๆ กันนั้น เป็นเพียงภาพฝันที่สร้างขึ้นเพื่อปลุกปลอบตัวเองไปวันๆ
ล่าสุด วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แสดงทัศนะเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจไทยในศักราชหน้า ในงานสัมมนาเศรษฐกิจประจำปี 2561 ว่า “แม้เศรษฐกิจไทยจะสะท้อนการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง กระนั้นยังต้องเฝ้าระวัง 3 ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ มาตรการกีดกันทางการค้า ความผันผวนตลาดเงินตลาดทุนโลก และวัฏจักรดอกเบี้ยที่จะปรับขึ้น”
แม้ว่าก่อนหน้านี้ ภาคการส่งออกของไทยจะได้รับผลกระทบจากสงครามทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ อยู่บ้าง แต่ดูเหมือนว่าความขัดแย้งระหว่าง 2 ประเทศมหาอำนาจจะไม่ได้สร้างผลเสียต่อภาคส่งออกของไทยไปเสียทั้งระบบ จะมีก็เพียงสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า กลุ่มซัปพลายเชน ของไทยที่อาจจะติดร่างแหจากมาตรการกีดกันทางการค้าครั้งนี้
เวลานี้แม้สงครามการค้าจะยังไม่สิ้นสุด แต่ไทยอาจได้รับอานิสงส์ โดยเฉพาะด้านการลงทุนในสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีซับซ้อน เพราะไทยนับว่ามีศักยภาพในการแข่งขันที่ค่อนข้างสูงในเวทีโลก
นอกจากนี้สินค้าที่ไทยมีความได้เปรียบทางด้านวัตถุดิบอย่างการแปรรูปยางพารา ซึ่งจีนนำเข้าวัตถุดิบจากไทยเพื่อไปผลิตต่อและส่งออกไปสหรัฐฯ อาจมีการย้ายฐานการผลิตมาไทยเพิ่มมากขึ้น
โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ผลบวกทางตรงของการกระจายฐานการผลิตสินค้าขั้นปลายน้ำ และสินค้าขั้นกลางที่ซับซ้อนในไทยกับการกระจายการลงทุนในกลุ่มสินค้าที่ไทยมีความได้เปรียบด้านวัตถุดิบโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นบรรษัทต่างชาติที่ประกาศเจตนารมณ์แล้ว และบางส่วนที่มีแนวโน้มย้ายฐานมาไทยเพิ่มจากสงครามการค้าอาจช่วยเพิ่มมูลค่า FDI ในไทยในช่วง 3 ปีแรกของสงครามการค้า (2562-2564) ได้อย่างน้อย 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็นเพียงราวร้อยละ 1 ของเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิโดยเฉลี่ยต่อปีในไทยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ค่าเฉลี่ย FDI ปี 2558-2560) เท่านั้น
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาควบคู่กับผลกระทบด้านการค้าที่ไทยอาจได้รับจากสงครามการค้าที่เคยประเมินก่อนหน้านี้ ผลกระทบสุทธิต่อไทยยังคงอยู่ในเชิงลบ
ขณะที่ความผันผวนของระบบการเงินโลกในอีก 2 ปีข้างหน้า จะเห็นผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้และยืดอายุหนี้ (Roll Over) และต้นทุนจากดอกเบี้ยที่จะสูงขึ้น ทำให้ระหว่างทางทั้งตลาดเงินตลาดทุนจะผันผวนสูง จากภาวะความไม่มั่นใจในปัญหาหนี้ของประเทศเกิดใหม่ ซึ่งหลายประเทศก่อหนี้ระดับสูงจำนวนมาก
เมื่อพิจารณาถึงจุดนี้ ดูเหมือนปัจจัยเสี่ยงที่กล่าวมาข้างต้นจะไม่ได้มีผลต่อเศรษฐกิจแค่ปีหน้าเท่านั้น เพราะยิ่งวิเคราะห์ความเสี่ยงด้านวัฏจักรดอกเบี้ยที่จะปรับเพิ่มขึ้น ที่มีความเสี่ยงไม่เฉพาะในหน้า แต่การดำเนินนโยบายดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน ทำให้เกิดการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่า ทั้งการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เช่น หุ้นกู้ที่ไม่มีการจัดอันดับเครดิต การกู้บัตรเครดิตสินเชื่อส่วนบุคคล หรือในกรณีของภาคอสังหาฯ ที่ผู้กู้นำเงินทอนไปลงทุน หรือไปใช้หนี้ เช่น มูลค่าอสังหาฯ คือ 5 ล้านบาท แต่กู้เงินไปในจำนวน 6 ล้านบาท
แม้ว่าปัจจัยเสี่ยง 3 ด้านที่ผู้ว่าแบงก์ชาติบอกมาข้างต้น จะทำให้หลายฝ่ายต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษแล้ว อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่ายังมีอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะต้องนำมาพิจารณา นั่นคือ ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่มีความเป็นไปได้ว่าความเสี่ยงดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่ปรากฏชัดใน 2-3 ปีที่แล้ว
เพราะสาเหตุส่วนใหญ่นั้นยังไม่ได้รับการแก้ไข ทั้งความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ความตึงเครียดในบริเวณคาบสมุทรเกาหลี และการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษหรือ Brexit อีกทั้งยังมีประเด็นที่ละเอียดอ่อนเปราะบางที่อาจเกิดขึ้นเพิ่ม คือความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซีย การคว่ำบาตรอิหร่านจากข้อตกลงนิวเคลียร์ การประจำการทางทหารในทะเลจีนใต้ และการเพิ่มขึ้นของภัยไซเบอร์ทั้งกลุ่มที่เปิดเผยและกลุ่มที่ไม่เปิดเผยตัว
กระนั้นความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่สูงขึ้น ยังไม่นำไปสู่การปรับตัวลดลงของตลาดอย่างรุนแรง หรือทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของโลกชะลอตัว แต่ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงอยู่ทำให้ต้องมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ทำให้ความผันผวนตลาดเงินและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น
ดูเหมือนว่าห้วงยามนี้ สภาวะเศรษฐกิจไทยจะอุดมไปด้วยความเสี่ยง ทั้งความเสี่ยงที่เกิดขึ้นภายนอกและความเสี่ยงจากภายใน แม้จะมีความพยายามอย่างยิ่งยวดจากหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล และการผลักดันให้เกิดการลงทุน ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน
ซึ่งล่าสุด สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้เชิญผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ 18 แห่งที่มีวงเงินลงทุนขนาดใหญ่ เพื่อรับนโยบายเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะไตรมาส 4 ของปี 2561 โดยหวังว่าจะสามารถช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในวาระสุดท้ายของปีได้อย่างต่อเนื่อง
ขณะที่หลายฝ่ายยังเฝ้าฝันว่า การเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีหน้า อาจเป็นตัวฉุดดึงเศรษฐกิจไทยที่นับวันรังแต่จะดิ่งจมลงสู่ก้นเหว ให้สามารถตะกายกลับมายืนแม้จะเพียงปากเหวก็ยังดี ทว่าผลสรุปจะเป็นเช่นไรนั้นไม่อาจรู้