วันพุธ, ตุลาคม 16, 2024
Home > Cover Story > เศรษฐกิจโลกทรุด! จับตาคลื่นผู้อพยพรอบใหม่

เศรษฐกิจโลกทรุด! จับตาคลื่นผู้อพยพรอบใหม่

ความไม่แน่นอนของระบบเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มจะซบเซาต่อเนื่องยาวนาน กำลังส่งผลให้เกิดคลื่นการอพยพของผู้คนครั้งใหม่ในหลากหลายพื้นที่ทั่วโลก และเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคมในระยะถัดจากนี้อย่างไม่อาจเลี่ยง

การอพยพย้ายถิ่นของประชากรโลกในช่วงที่ผ่านมา อาจผูกพันอยู่กับประเด็นว่าด้วยสงครามและความขัดแย้ง ซึ่งนำไปสู่การย้ายถิ่นครั้งใหญ่ของประชากรทั้งจากภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือเข้าสู่ยุโรป ซึ่งติดตามมาด้วยวิกฤตผู้ลี้ภัยในปี 2015 ที่แม้ในปัจจุบันจำนวนผู้อพยพจะลดปริมาณลง แต่นั่นก็ไม่อาจทำให้สหภาพยุโรปและประเทศในยุโรปสามารถนิ่งนอนใจว่าการอพยพระลอกใหม่จะไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคต

ก่อนหน้านี้ ประเทศในยุโรปหลายประเทศได้เรียกร้องให้มีมาตรการควบคุมคนเข้าเมืองที่รัดกุมยิ่งขึ้น ในขณะที่คณะกรรมการสหภาพยุโรปแจ้งว่าพร้อมยื่นมือให้ความช่วยเหลือผู้ประสบความเดือดร้อนจากความวุ่นวายทางการเมืองดังกล่าว โดยเฉพาะผู้อพยพย้ายถิ่นวัยหนุ่มสาวที่กำลังเผชิญปัญหาการว่างงานในประเทศแถบตะวันออกกลางและแอฟริกาตอนเหนือเหล่านั้น

เพราะประเด็นปัญหาว่าด้วยผู้อพยพในยุโรปไม่ได้เกิดขึ้นอย่างโดดเดี่ยว หากแต่ยังเต็มไปด้วยความอ่อนไหวเปราะบางที่เกี่ยวเนื่องกับภูมิทัศน์ทางการเมืองและการบริหารจัดการทรัพยากรสำหรับกลุ่มประชากรที่เป็นฐานเสียงสนับสนุนการเลือกตั้ง และต่อเนื่องสัมพันธ์ไปสู่บริบทของการเมืองระหว่างประเทศอีกด้วย

ขณะเดียวกันภาพของคลื่นมนุษย์ที่รอคอยโอกาสในการเข้าเมืองไปแสวงหาอนาคตใหม่ในภูมิภาคละตินอเมริกา กลับให้ภาพที่แตกต่างออกไป เพราะประชาชนจำนวนไม่น้อยยินดีที่จะทิ้งถิ่นฐานบ้านเรือนเดินเท้าไปยังแนวพรมแดนของทั้งประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงหรือพรมแดนสหรัฐอเมริกา ได้สะท้อนภาวะแร้นแค้นจากสภาพเศรษฐกิจที่ล้มเหลว ซึ่งแผ่ซ่านไปทั่วทั้งภูมิภาคอย่างชัดเจนที่สุด

การอพยพลี้ภัยหนีถิ่นฐานของผู้คนที่เกิดขึ้นจากผลของความล่มสลายทางเศรษฐกิจ ในภูมิภาคละตินอเมริกาและอเมริกากลาง ดูจะเป็นประเด็นที่ทั่วโลกกำลังจับตามองอย่างสนใจ และเร่งหาแนวทางในการแก้ไขอย่างกังวล โดยองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration: IOM) ระบุว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นสัญญาณเบื้องต้นที่บ่งชี้ว่าภูมิภาคละตินอเมริกากำลังต้องการความช่วยเหลือ

“ปัญหานี้อาจทวีความรุนแรงจนนำไปสู่วิกฤตการณ์ที่เราได้เห็นมาแล้วในหลายพื้นที่ของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน สถานการณ์ที่ยากลำบากเช่นนี้อาจกลายเป็นวิกฤตการณ์ได้อย่างรวดเร็ว และเราต้องเตรียมรับมือ” IOM ระบุ

ขณะที่รายงานขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) ระบุว่าแนวโน้มการอพยพย้ายถิ่นของประชากรโลกกำลังมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ โดยประเทศต่างๆ พยายามเร่งฟื้นฟูการจ้างงานในประเทศ พร้อมกับสร้างเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง สะอาดและเท่าเทียมมากกว่าเดิม ซึ่งการวิเคราะห์การอพยพย้ายถิ่นฐานของประชากรโลกครั้งใหม่จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น

ประเด็นที่น่าสนใจจากรายงานของ OECD ดังกล่าวในด้านหนึ่งอยู่ที่การระบุว่าการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของผู้อพยพข้ามประเทศจำนวนมากกว่าร้อยละ 50 เกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา โดยชาวจีนและชาวอินเดียคือกลุ่มที่อพยพไปยังประเทศอื่นๆ มากที่สุด

การเคลื่อนย้ายถิ่นของชาวจีน นอกจากจะดำเนินไปภายใต้รูปแบบของนักท่องเที่ยว ที่มีสถานะเป็นกลุ่มลูกค้ากลุ่มใหญ่ที่เบียดแทรกเข้าไปในทุกตลาดของโลกแล้ว การเดินทางออกนอกประเทศของชาวจีนภายใต้นโยบาย OBOR: One Belt One Road ที่ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของทางการจีน ยังส่งผลให้ภาคเอกชนจีนขยายการลงทุนไปทั่วทุกภูมิภาค

กรณีดังกล่าวดำเนินควบคู่ไปพร้อมกับการส่งออกแรงงานและโครงการลงทุนขนาดมหึมาในทุกภูมิภาคของโลกด้วยเช่นกัน ซึ่งคลื่นผู้อพยพชาวจีนที่กำลังหลั่งไหลไปสู่ทุกภูมิภาคของโลกนี้ อาจกลายเป็นผู้สร้างตำนาน จีนโพ้นทะเลยุคใหม่ ที่พร้อมจะปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์เศรษฐกิจสังคมโลกในอนาคตไม่ช้า

ปัจจัยว่าด้วยความไม่แน่นอนของสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ในด้านหนึ่งยังเป็นประหนึ่งปัจจัยเร่งที่ทำให้เกิดการกระจายความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจผ่านการกระจายการลงทุนจากจีนไปยังประเทศที่ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสงครามการค้า ควบคู่กับการย้ายฐานการผลิตเพื่อใช้ประโยชน์จากทั้งวัตถุดิบและอาศัยช่องว่างในการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา ที่ตั้งกำแพงภาษีกีดกันทางการค้าอีกส่วนหนึ่ง

ผลพวงของข้อพิพาททางการค้าที่ติดตามมาด้วยมาตรการกีดกันเชิงภาษีระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ทำให้หลายหน่วยงานคาดหมายว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2562 จะได้รับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้น และทำให้เศรษฐกิจการค้าโลกชะลอตัวต่อเนื่องไปอย่างยากจะเลี่ยง

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ ประเมินแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจโลกสำหรับปี 2562 และปี 2563 ด้วยการปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจโลกลง จากปัจจัยเสี่ยงภายนอกของแต่ละประเทศเพิ่มสูงมากขึ้น ทั้งจากการเคลื่อนย้ายเงินทุนในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง การปรับขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้นของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะดำเนินต่อเนื่องไปถึงกลางปี 2563 และปัจจัยว่าด้วยสงครามการค้าโลกระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่ไม่มีแนวโน้มว่าจะยุติกันอย่างง่ายๆ ซึ่งนำไปสู่การประกาศลดเป้าหมายการค้าโลกถึง 2 ปีติดต่อกัน

ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากข้อพิพาททางการค้าจีน-สหรัฐฯ ที่เด่นชัดประการหนึ่งอยู่ที่การทำข้อตกลงการค้าในรูปแบบตัดการเชื่อมโยงฐานการผลิตชิ้นส่วนกับประเทศจีน โดยสหรัฐฯ ได้ดำเนินการตกลงการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับแคนาดา-เม็กซิโก เป็นผลสำเร็จโดยไม่ให้ความสำคัญของข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือที่เคยทำกันไว้มาก่อน

จุดเปลี่ยนแปลงสำคัญของมาตรการดังกล่าว แม้ว่าจะทำให้สหรัฐฯ สามารถกระตุ้นการใช้วัตถุดิบในประเทศคู่ค้าเพิ่มขึ้นจากเดิม 63% เป็น 75% ซึ่งเท่ากับเป็นการกีดกันระบบเครือข่ายการผลิตรับช่วงต่อ หรือซัปพลายเชนอื่นๆ โดยเฉพาะที่เชื่อมโยงกับประเทศจีนเป็นหลักต้องเกิดการทบทวนการลงทุน หรือทบทวนการขยายการลงทุนอย่างเลี่ยงไม่ได้

หากแต่ในอีกด้านหนึ่งของเหรียญ กรณีดังกล่าวอาจส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจเกิดภาวะถดถอยในช่วงกลางปี 2562 จากต้นทุนดอกเบี้ยที่สูงขึ้นมาก และนโยบายการคลังของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ลดภาษี และการใช้จ่ายของรัฐบาลสหรัฐฯ จะเริ่มแผ่วลงครึ่งหลังของปี 2562 ซึ่งอาจจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะค่อย ๆ โตช้าลง จนถึงขั้นเกิดภาวะถดถอยได้ในไม่ช้า

ความอ่อนไหวทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา อาจประเมินได้จากผลการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ ซึ่งปรากฏว่าพรรครีพับลิกันสูญเสียคะแนนเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรให้กับพรรคเดโมแครต แม้ว่าจะยังสามารถรักษาคะแนนเสียงข้างมากในวุฒิสภาไว้ได้ก็ตาม ซึ่งกรณีดังกล่าวมีนัยต่อนโยบายทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในระยะถัดไป โดยเฉพาะการผ่านร่างกฎหมายที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาคองเกรสจะทำได้อย่างยากลำบากยิ่งขึ้น ทั้งกรณีการผ่านร่าง พ.ร.บ. งบประมาณที่จะต้องเผชิญกับการต่อรองมากขึ้น รวมถึงความเสี่ยงในเรื่องเพดานหนี้สาธารณะที่จะครบกำหนดในวันที่ 1 มีนาคม 2562 นี้

ปัจจัยเสี่ยงจากกรณีการเมืองภายในของสหรัฐอเมริกาดังกล่าว ได้รับการคาดการณ์ว่าจะมีผลต่อความผันผวนต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ตลอดจนทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อาจจะชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญจนมีผลต่อจังหวะการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย รวมถึงท่าทีของสหรัฐฯ ในการเดินหน้านโยบายกีดกันทางการค้ากับจีนในอนาคต

ประเด็นที่น่าสนใจจากผลการเลือกตั้งดังกล่าวยิ่งกระตุ้นให้นายโดนัลด์ ทรัมป์ ใช้นโยบายด้านต่างประเทศแบบแข็งกร้าวและเดินบนเส้นทางโดดเดี่ยวยิ่งขึ้น เนื่องจากนโยบายการค้ายังอยู่ในอำนาจของประธานาธิบดี โดยเฉพาะการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีน ตามมาตรการปกป้องการค้าที่ไม่เป็นธรรม มาตรา 301 ซึ่งเป็นเครื่อguiงมือที่ผลักดันให้เกิดการจ้างงานและการลงทุนในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น และอาจกลายเป็นผลงานชิ้นสำคัญที่นำทางไปสู่การเลือกตั้งประธานาธิบดีในวาระถัดไป

อย่างไรก็ดี สงครามการค้าที่สหรัฐฯ กับจีนที่เริ่มขึ้นในปี 2561 ทวีความรุนแรงเรื่อยมาและจะยังคงส่งผลกระทบรุนแรงลากยาวไปตลอดปี 2562 ซึ่งนับว่าปี 2562 เป็นปีแห่งความยากลำบากที่นานาชาติต้องเผชิญผลกระทบ 2 ฝั่ง ทั้งโดยผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ส่งผ่านมายังห่วงโซ่การผลิตของนานาประเทศ และผลกระทบจากการอ่อนแรงของเศรษฐกิจและกำลังซื้อของตลาดทั่วโลก

ความเป็นไปของคลื่นผู้อพยพในภูมิภาคต่างๆ ของโลก อาจเป็นภาพสะท้อนของวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ที่รอวันปะทุแตกไม่แตกต่างจากการเคลื่อนตัวของธารแมกม่าใต้ปล่องภูเขาไฟ ที่นอกจากจะส่งผลให้เกิดการสั่นสะเทือนและเคลื่อนไหวของเปลือกโลกแล้ว ยังพร้อมจะระเบิดทำลายและส่งผลต่อภูมิทัศน์โดยรอบอีกด้วย

ใส่ความเห็น