หาก EEC คือความหวังของรัฐบาลไทยในการขับเคลื่อนพลังทางเศรษฐกิจและยกระดับพื้นที่ทางภาคตะวันออกของประเทศ เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันและดึงดูดนักลงทุนต่างชาติแล้ว “LIMEC” หรือระเบียงเศรษฐกิจหลวงพระบาง อินโดจีน เมาะลำไย ก็อาจจะเป็นยุทธศาสตร์และความหวังในการเพิ่มความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจให้กับภาคเหนือตอนล่างได้เช่นกัน
ห้วงเวลาที่ผ่านมา ความพยายามของรัฐบาลไทยในการขับเคลื่อนพลังทางเศรษฐกิจผ่านโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) หรือ EEC ดูจะเป็นสิ่งที่อยู่ในกระแสสังคม และสร้างความคึกคักในแวดวงนักธุรกิจอุตสาหกรรมและผู้ลงทุนอยู่ไม่น้อย
EEC เป็นแผนยุทธศาสตร์ภายใต้วาทกรรม ไทยแลนด์ 4.0 ที่มุ่งเน้นการยกระดับพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา) ให้กลายเป็น “World Class Economic Zone” เพื่อรองรับการลงทุนอุตสาหกรรม Super Cluster ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อีกทั้งยังเป็นความหวังของรัฐบาลไทยที่จะใช้เป็นกลไกในการพลิกฟื้นสภาวะเศรษฐกิจของชาติต่อไป
มีการคาดการณ์ว่า การลงทุนใน EEC จะกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ถึง 5% ต่อปี สร้างการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการ 100,000 อัตราต่อปี ดึงดูดนักท่องเที่ยวมากกว่า 10 ล้านคนต่อปี และสร้างฐานรายได้เพิ่มไม่น้อยกว่า 4.5 แสนล้านบาทต่อปี
นักลงทุนจากหลายประเทศต่างให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่เป้าหมายแห่งนี้ หนึ่งในนั้นคือยักษ์ใหญ่แห่งวงการ E-Commerce จากจีน อย่าง อาลีบาบา กรุ๊ป โฮลดิ้ง ที่ได้ลงนามในข้อตกลงกับรัฐบาลไทย เพื่อสร้างฮับ E-Commerce และโลจิสติกส์ ไปเมื่อเดือนธันวาคมปี 2560
ซึ่งความเป็นไปของ EEC ในระยะที่ผ่านมา ดูจะเป็นความหวังและสร้างความอิ่มเอมให้กับภาครัฐได้ไม่น้อย
หากแต่ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างของประเทศ ที่ดูพร่าเลือนจากความสนใจ กลับมีความพยายามของท้องถิ่นในการรวมตัวกันและพัฒนาความร่วมมือจนกลายมาเป็นระเบียงเศรษฐกิจ LIMEC ที่เชื่อมโยงภาคเหนือตอนล่างเข้ากับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมาและ สปป.ลาว สร้างความแข็งแกร่งให้กับภูมิภาคได้อย่างน่าจับตามอง
LIMEC หรือระเบียงเศรษฐกิจหลวงพระบาง อินโดจีน เมาะลำไย (Luangprabang-Indochina-Mawlamyine Economic Corridor) เป็นการรวมตัวกันของ 5 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ได้แก่ อุตรดิตถ์ ตาก เพชรบูรณ์ สุโขทัย และพิษณุโลก เชื่อมโยงกับแขวงไซยะบุรีและแขวงหลวงพระบางของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว รวมกับอีก 2 รัฐ คือรัฐกะเหรี่ยง (Kayin State) และรัฐมอญ (Mon State) ของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เพื่อประสานความร่วมมือกันทั้งด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การศึกษา สุขภาพ และโลจิสติกส์ โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2558 ในห้วงเวลาเดียวกับการก่อกำเนิด EEC ทางภาคตะวันออกเช่นกัน
ระเบียงเศรษฐกิจดังกล่าวพัฒนามาจากผลการวิจัยของ ดร.บุญทรัพย์ พานิชการ ผู้อำนวยการวิทยาลัยโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน มหาวิทยาลัยนเรศวร ที่ดำเนินการศึกษาวิจัย โครงการ “การพัฒนายุทธศาสตร์โลจิสติกส์การคมนาคมทางบกในเส้นทางภาคเหนือตอนล่าง ประเทศไทย–สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว–สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม–เขตปกครองตนเองกว่างซี สาธารณรัฐประชาชนจีน” ซึ่งเป็นโครงการที่รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
โดยได้มีการนำข้อมูลและผลการดำเนินงานจากโครงการมาใช้ในการกำหนดแผนแม่บทและยุทธศาสตร์ในการกำหนดทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และขับเคลื่อนการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)
เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจ LIMEC เริ่มจากเมาะลำไย เมียวดี ของเมียนมา ผ่านด่านชายแดนแม่สอดเข้าสู่ภาคเหนือตอนล่างก่อนจะผ่านแดนที่จุดผ่านแดนถาวรภูดู่ จ.อุตรดิตถ์ เพื่อเข้าสู่แขวงไซยะบุรีที่ด่านสากลภูดู่ ต่อไปยังแขวงหลวงพระบางของ สปป.ลาว โดยเส้นทางดังกล่าวยังเป็นจุดตัดของแนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ–ใต้ (North-South Economic Corridor) และเส้นทางแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก–ตะวันตก (East-West Economic Corridor) อีกด้วย
ในแต่ละพื้นที่ของแนวระเบียงเศรษฐกิจ LIMEC ต่างมีศักยภาพและจุดแข็งที่แตกต่างกันออกไป ทางฝั่งรัฐมอญของเมียนมาซึ่งติดทะเลอันดามัน เป็นแหล่งอาหารทะเลที่สามารถส่งต่อมายังภาคเหนือของไทย ลาว และจีนได้อย่างสะดวก ลดทอนทั้งระยะเวลาและระยะทางโดยไม่ต้องผ่านไปยังส่วนกลาง และยังเป็นที่ตั้งของพระธาตุไจทีโย หรือพระธาตุอินทร์แขวน ศูนย์รวมศรัทธาแห่งพุทธศาสนาและแหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง
รัฐกะเหรี่ยงที่มีชายแดนติดกับประเทศไทยที่ด่านเมียวดี–แม่สอด โดดเด่นที่สินค้าเกษตรและสถานที่ท่องเที่ยวแบบ Unseen Myanmar อย่างทะเลพระพุทธรูป ที่เมืองพะอัน
ในส่วนของประเทศไทย จุดแข็งของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่างทั้ง 5 จังหวัดที่เด่นชัดคือ ความเป็นศูนย์กลางของโลจิสติกส์ สินค้าเกษตรที่หลากหลาย และความพร้อมด้านการบริการทางการแพทย์ รวมถึงมีสถาบันการศึกษาขนาดใหญ่ที่สามารถรองรับนักศึกษาจากทั้งฝั่ง สปป.ลาวและเมียนมาได้ นอกจากนี้ยังมีเมืองมรดกโลกอย่างอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย รวมถึงอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง เป็นแม็กเน็ตดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี
ทางฟากของแขวงไซยะบุรีนั้น นอกจากเป็นพื้นที่ที่อุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติและมีชายแดนติดกับหลายจังหวัดของไทย ตั้งแต่เลย พิษณุโลก อุตรดิตถ์ น่าน และพะเยาแล้ว ยังเป็นที่ตั้งของโครงการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่บริษัท ช.การช่าง ของไทยเข้าไปลงทุนอีกด้วย และแน่นอนว่าความงดงามของเมืองมรดกโลกหลวงพระบาง คือความแข็งแกร่งด้านการท่องเที่ยวของแขวงหลวงพระบางเช่นกัน
การดำเนินงานของ LIMEC ในช่วงที่ผ่านมามีความคืบหน้าที่ชัดเจน มีการเคลื่อนย้ายทั้งสินค้า บริการ ผู้คน เงินทุน และสารสนเทศระหว่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้าชายแดนซึ่งมีความเปลี่ยนแปลงของตัวเลขมูลค่าการค้าที่น่าสนใจ
ตัวเลขการค้าชายแดนของด่านแม่สอด จ.ตาก ในปี 2557 มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 62,522.04 ล้านบาท ปี 2558 มีมูลค่ารวม 69,060.59 ล้านบาท ปี 2559 มูลค่ารวม 80,696.12ล้านบาท ในขณะที่สถิติปี 2560 มูลค่ารวมของการค้าชายแดนแม่สอดพุ่งสูงไปอยู่ที่ 113,462.96 ล้านบาท
สถิติการค้าชายแดนของด่านภูดู่ จ.อุตรดิตถ์ ปี 2557 มีมูลค่ารวม 375.887ล้านบาท ปี 2558 มีมูลค่ารวม 453.233ล้านบาท ปี 2559 มีมูลค่ารวม 713.666ล้านบาท และปี 2560 มูลค่ารวมอยู่ที่ 771.984 ล้านบาท
โดยสินค้าที่มีการส่งออกไปทางเมียนมา ได้แก่ เครื่องจักรกล สินค้าทางการเกษตร สินค้าอุปโภคบริโภค ส่วนสินค้าที่ส่งออกไปยัง สปป.ลาว คือ วัสดุก่อสร้าง สินค้าทางการเกษตร สินค้าอุปโภคบริโภค อาหารสัตว์
นอกจากมูลค่าการค้าชายแดนที่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่เป็นบวกแล้ว ยังเกิดการจับคู่กันทางธุรกิจ (Business Matching) ระหว่างนักธุรกิจจากเมียนมา ไทย ลาว มากกว่า 30 ราย และส่วนใหญ่เป็นการจับคู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและโรงแรม โดยใช้ศักยภาพของเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจ LIMEC ที่ลากผ่านแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรมของทั้ง 3 ประเทศเป็นข้อได้เปรียบ
สิ่งที่น่าจับตามองต่อไปคือ การกำหนดยุทธศาสตร์และพัฒนาความร่วมมือกันในระยะต่อจากนี้ โดยชูประเด็นเรื่องการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ (Green Tourism) และเกษตร-อุตสาหกรรม (Agro-Industry) เป็นหลัก ซึ่งนอกจากจะเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในภูมิภาคให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนแล้ว ยังสอดรับกับยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวที่รัฐบาลไทยได้วางกรอบไว้อีกด้วย
แต่สิ่งที่ต้องคิดต่อไปคือ ระเบียบการและข้อจำกัดทางกฎหมายบริเวณชายแดนที่เป็นอยู่นั้น จะเอื้อต่อสิ่งที่ LIMEC พยายามดำเนินการอยู่มากน้อยเพียงใด รวมถึงความพร้อมในการรับมือกับการมาถึงของรถไฟความเร็วสูงจากนครคุนหมิงไปยังนครหลวงเวียงจันทน์ในอนาคตอันใกล้ ซึ่งแน่นอนว่าต้องสร้างแรงสั่นสะเทือนและส่งผลกระทบต่อภูมิภาคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
และเราคงต้องดูต่อไปว่า นับจากนี้ทั้ง EEC และ LIMEC จะดำเนินต่อไปในทิศทางใด จะเป็นยุทธศาสตร์ที่ขับเคลื่อนและสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจได้อย่างที่ตั้งใจไว้หรือไม่