เสี่ยบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ ออกมาประกาศนโยบาย 5 ปี ตั้งเป้าหมายผลักดันบริษัทในเครือที่มีมากกว่า 200 บริษัท ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้ามากกว่าพันรายการ รวมถึงเครือข่ายค้าปลีกที่กำลังเร่งขยายอย่างครบวงจร ก้าวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 เต็มรูปแบบ โดยมีรายได้กว่า 3 แสนล้านบาท เป็นเดิมพันสำคัญ
เหตุผลไม่ใช่แค่การประเมินปัจจัยในระยะสั้น 1-2 ปี แม้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยืนยันจะจัดการเลือกตั้งภายในปี 2562 หรือแม้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวเกินคาด ชนิดที่หลายๆ หน่วยงานแห่ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2561
ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ตัดสินใจปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2561 จากเดิม 3.6-4.6% เป็นคาดว่าจะเติบโต 4.2-4.7% ตามด้วยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ปรับจีดีพีไทยปี 2561 คาดว่าจะเติบโต 4.3-4.8% จากเดิมคาดไว้ 4.0-4.5%
ล่าสุด คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปีและเพิ่มคาดการณ์จีดีพีปี 2561 เป็น 4.4% จากเดิม 4.1% และปรับเพิ่มจีดีพีปี 2562 เป็นเติบโต 4.2% จากเดิม 4.1% เนื่องจากมองการส่งออกปีนี้จะเติบโตสูงถึง 9% ดีกว่าเดิมที่เคยคาดไว้ที่ 7% และการส่งออกในปี 2562 แม้จะเติบโตในอัตราชะลอตัวที่ระดับ 5% แต่สูงกว่าคาดการณ์เดิมอยู่ที่ 3.6%
แต่โจทย์ใหญ่ คือการเปลี่ยนแปลงของโลก เทรนด์ของโลก เทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยเฉพาะ “บิ๊กดาต้า” ที่ทุกธุรกิจต่างเร่งเก็บรวบรวมและบริหารจัดการ เพื่อสร้างจุดแข็งเหนือคู่แข่ง บวกกับการพัฒนา AI (Artificial Intelligence) และ IoT (Internet of Things) สร้างเครือข่ายของวัตถุ อุปกรณ์ พาหนะ สิ่งปลูกสร้าง และทุกสิ่งของที่มีวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ซอฟต์แวร์ เซนเซอร์ เชื่อมต่อกันทั้งหมด กลายเป็นที่มาของเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น บ้านอัจฉริยะ (สมาร์ทโฮม) ระบบขนส่งอัจฉริยะ (อินเทลลิเจนส์ทรานสปอร์ต) เมืองอัจฉริยะ (สมาร์ตซิตี) และสินค้าอัจฉริยะ ซึ่งมีตัวอย่างในตลาดแล้ว เช่น เครื่องซักผ้าอบผ้าที่ต่อกับเครือข่ายไวไฟ เพื่อให้ผู้ใช้ดูสถานะจากระยะไกลได้
แน่นอนว่า บุณยสิทธิ์คาดหวังให้ทุกธุรกิจของเครือสหพัฒน์พัฒนาต่อเนื่องภายใน 5 ปี นับตั้งแต่ปี 2561 โดยบริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ซึ่งถือเป็นแกนหลัก ล่าสุดกำลังเร่งปรับปรุงซัปพลายเชนของโรงงาน นำบิ๊กดาต้ามาวิเคราะห์และเชื่อมโยงกับการผลิตในโรงงาน เพื่อให้การผลิตแม่นยำ เพื่อลดการสต๊อกสินค้า ซึ่งหมายถึงการลดต้นทุนด้วย
ขณะที่บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) วางแผนใช้บิ๊กดาต้าทำงานปลายปีนี้ เพื่อวิเคราะห์ทั้งผู้บริโภค สินค้า และช่องทางการขาย พร้อมกับบุกอี-คอมเมิร์ซ ส่วนบริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟู้ดส์ กับบริษัท เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ ลงทุนนำโรโบติกส์มาใช้ในโรงงานมาม่า เพื่อวิเคราะห์พื้นที่ที่ต้องการสินค้าและจัดส่งได้ทันที รวมทั้งเตรียมพัฒนาเข้าสู่ยุคไอโอที อัพเกรดเป็นโรงงานอัจฉริยะ
ด้านบริษัท ซันร้อยแปด จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่าย ตู้เครื่องดื่มอัตโนมัติแบรนด์ “SUN108” ในเครือสหพัฒน์ เตรียมงบลงทุนหลักพันล้านบาท เพิ่มกำลังการผลิตตู้จำหน่ายเครื่องดื่มอัตโนมัติ (เวนดิ้ง แมชชีน) แบรนด์ซันร้อยแปด และนำตู้เดิมที่ใช้แล้วมาปรับปรุงใหม่ตามเทรนด์ความต้องการและพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ ทั้งการกระจายติดตั้งเองและจำหน่ายให้กลุ่มเป้าหมายต่างๆ คาดว่าจะเพิ่มจุดติดตั้งตู้ 1,000 เครื่องต่อปีตามแหล่งธุรกิจ ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า และอาคารสำนักงาน
ปัจจุบันซันร้อยแปดมีตู้เวนดิ้งแมชชีนให้บริการราว 1 หมื่นจุดทั่วกรุงเทพฯ และในพื้นที่ต่างจังหวัดบางส่วน โดยถือเป็นผู้นำตลาดในขณะนี้ และแต่ละตู้มียอดขายประมาณ 400 บาทต่อวัน
ขณะเดียวกัน สหพัฒน์ประกาศลงทุนขยายธุรกิจไลน์ใหม่ เพื่อรองรับเทรนด์ใหม่ๆ ของกลุ่มเป้าหมาย ทั้งการลงนามสัญญาความร่วมมือ MOU for Establish Komehyo Flagship Store in Thailand ระหว่างบริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กับ Komehyo ร้านจำหน่ายสินค้าแบรนด์เนมมือ 2 อันดับ 1 ในญี่ปุ่น เพื่อดำเนินธุรกิจร้านจำหน่ายสินค้าแบรนด์เนมมือ 2 ในประเทศไทย
การเซ็นสัญญาแต่งตั้งผู้แทนจำหน่ายระหว่างบริษัท ดาวเฮืองกรุ๊ป จำกัด ผู้ผลิตกาแฟรายใหญ่อันดับ 1 ของ สปป.ลาว กับบริษัท เพนส์ มาร์เก็ตติ้ง แอนด์ ดิสทริบิวชั่น เพื่อเป็นผู้แทนจำหน่ายกาแฟสำเร็จรูปทรีอินวัน กาแฟผงสำเร็จรูป กาแฟลดน้ำหนัก แบรนด์ดาวคอฟฟี่ และผลไม้อบแห้งในประเทศไทย
นอกจากนี้ ขยายธุรกิจการศึกษา โดยเจรจาซื้อมหาวิทยาลัยเนชั่น ลำปาง และเซ็นสัญญาซื้อมาสเตอร์แฟรนไชส์โรงเรียนระดับประถม-มัธยมชื่อดังจากประเทศอังกฤษเข้ามาเปิดการเรียนการสอนในประเทศไทย เพื่อรองรับความต้องการโรงเรียนนานาชาติที่เติบโตอย่างรวดเร็ว คาดว่าจะเปิดโรงเรียนนานาชาติแห่งแรกในพื้นที่ย่านพระราม 3 เนื้อที่กว่า 10 ไร่ และใช้เงินลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท ภายในปี 2563
อย่างไรก็ตาม บุณยสิทธิ์ย้ำถึงการยกเครื่องครั้งใหญ่ในรอบหลายสิบปีของสหพัฒน์ ไม่ใช่การเร่งยอดขายรายได้สูงขึ้น สิ่งสำคัญคือ ทำแล้วต้องมีกำไร ธุรกิจอยู่รอด โดยต่อจากนี้จะมุ่งสินค้าที่ทำแล้วมีกำไร เช่น อาหารสด สินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีตัวเลขกำไรเฉลี่ย 3-4% ถือว่าไม่สูงมากนัก แต่มีทิศทางดีขึ้น และคาดหวังจะมีกำไร 8% ขึ้นไป
ส่วนปีนี้คาดว่าผลประกอบการจะมีการเติบโต 1-2% ซึ่งเป็นการกลับมาเติบโตเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี หลังจากเจอภาวะเศรษฐกิจซบเซาอย่างหนักจนการเติบโตเป็น “ศูนย์”
ต้องถือว่า การเร่งทรานส์ฟอร์มของสหพัฒน์ คือจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ในฐานะยักษ์คอนซูเมอร์ ที่ดำเนินธุรกิจอย่างยาวนานแบบ “Conservative” และยังคงความเป็นธุรกิจครอบครัวตั้งแต่ยุค ดร.เทียม โชควัฒนา ก่อตั้งร้านเฮียบเซ่งเชียงขายของเบ็ดเตล็ดที่สั่งซื้อจากฮ่องกงเมื่อปี 2485 ที่ตรอกอาเนียเก็ง ถนนทรงวาด และใช้เวลา 10 ปี ขยายกลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด นำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคนานาชนิดมาจำหน่าย
จุดเปลี่ยนครั้งที่ 2 เมื่อสหพัฒนพิบูลร่วมทุนกับบริษัท ไลอ้อน ประเทศญี่ปุ่น เปิดโรงงานผลิตยาสีฟัน แชมพู ผงซักฟอก และสร้างโรงงานผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่า
เวลานั้นความสำเร็จของผงซักฟอกเปาบุ้นจิ้นและบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่าทำให้บริษัทสหพัฒนพิบูลเริ่มขยายโรงงานไปที่ศรีราชา เป็นจุดเปลี่ยนครั้งที่ 3 ด้วยการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นบริษัทมหาชนในปี 2521 ขยายธุรกิจแตกไลน์บริษัทลูกกว่า 200 แห่ง
เส้นทางของตระกูลโชควัฒนา จากร้านเฮียบเซ่งเชียง แปลงองค์กรเป็นบริษัทจำกัด สร้างโรงงานและร่วมทุนกับยักษ์ต่างชาติ แปรรูปเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้น และขยายอาณาจักรโฮลดิ้งคอมปะนี
วันนี้ สหพัฒน์เร่งอัพเกรดอีกครั้งเป็นบริษัทยุค 4.0 เพื่อสู้ทุกวิกฤต หลังเจอบทเรียนมาแล้วหลายรอบ