วันพุธ, ธันวาคม 4, 2024
Home > Cover Story > กระทรวงพาณิชย์ยุคใหม่ สร้างความแข็งแกร่งจากฐานรากสู่ตลาดโลก

กระทรวงพาณิชย์ยุคใหม่ สร้างความแข็งแกร่งจากฐานรากสู่ตลาดโลก

กระทรวงพาณิชย์แถลงผลการทำงานครึ่งปีแรก ท่ามกลางทิศทางเศรษฐกิจที่ดูเหมือนกำลังฟื้นตัว พร้อมเผยทิศทางการทำงานในครึ่งปีหลังเน้นสร้างความแข็งแกร่งจากฐานรากสู่ตลาดโลก และปรับองค์กรสู่การเป็นกระทรวงพาณิชย์ยุคใหม่

ความเป็นไปของภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วงต้นปีที่ผ่านมาดูเหมือนกำลังปรับฟื้นตัวและเป็นไปในทิศทางที่สดใส ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ในไตรมาสแรก ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่ามีอัตราขยายตัวที่ร้อยละ 4.8 ซึ่งเติบโตสูงสุดในรอบ 5 ปี การส่งออกที่มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี รวมถึงค่าครองชีพที่เริ่มส่งสัญญาณลดลง

สอดรับกับข้อมูลตัวเลขดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนเดือนพฤษภาคม 2561 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 44.9 จากปัจจัยทางด้านสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการภายในประเทศ โดยเฉพาะราคาพลังงาน รวมทั้งรายได้และการมีงานทำของครัวเรือนค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจากเศรษฐกิจไทยที่เริ่มฟื้นตัว รวมถึงในภาคเกษตรที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตได้มากขึ้น

ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ภายใต้การนำของสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่เข้ามารับตำแหน่งเมื่อเดือนธันวาคม 2560 จากการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ออกมาแถลงผลงานของกระทรวงพาณิชย์ตลอด 6 เดือนแรกของปี 2561

โดยกล่าวว่าพันธกิจที่สำคัญของกระทรวงพาณิชย์คือ มุ่งเน้นให้เกษตรกร ผู้บริโภค และผู้ประกอบการ ได้ “กินดี อยู่ดี” เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย และเพิ่มคุณภาพชีวิต โดยดำเนินการตามนโยบายหลัก 3 ประการ คือ การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก (Local Economy),  และการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศเพื่อเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก (Global Economy)

เศรษฐกิจฐานรากหรือเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น (Local Economy) ถือเป็นโครงสร้างหลักทางเศรษฐกิจของประเทศ การเร่งพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากจึงเป็นภารกิจหลักที่กระทรวงพาณิชย์ต้องขับเคลื่อนเพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจที่มีความเข้มแข็งจากภายในพร้อมสู่การเจริญเติบโตที่สมดุล

ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ได้มุ่งเน้นให้ชุมชนท้องถิ่นในจังหวัดต่างๆ มีความเป็นอยู่ที่ดี มีรายได้เพิ่มขึ้น ดูแลค่าครองชีพ บ่มเพาะคนตัวเล็กและคนด้อยโอกาสให้เข้าถึงการทำธุรกิจหรือการทำมาค้าขายให้มากขึ้น ยกระดับราคาสินค้าเกษตรด้วยแนวคิด “ตลาดนำการผลิตและสร้างสรรค์คุณค่า” สร้างกำลังซื้อภายในประเทศ ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวดีขึ้น

ตัวเลขอ้างอิงที่ถือเป็นผลสำเร็จจากการดำเนินงานที่ผ่านมาคือ ราคาพืชผลทางการเกษตรอย่างข้าวและข้าวโพด ที่มีราคาสูงสุดในรอบ 10 ปี ข้าวหอมมะลิราคาสูงสุดอยู่ที่ 18,700 บาท/ตัน ข้าวโพดราคาหน้าโรงงานสูงกว่า 10 บาท/กก. ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการของกระทรวงในการระบายสต๊อกข้าวของรัฐบาลและการหาตลาดต่างประเทศเพื่อรองรับผลผลิตได้อย่างต่อเนื่อง เช่น ตลาดจีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย เป็นต้น

สำหรับผลไม้ กระทรวงพาณิชย์ได้เสนอยุทธศาสตร์การพัฒนาผลไม้ครบวงจร ซึ่งผ่านการเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเมื่อต้นปี 2561 เพื่อมุ่งให้ไทยเป็นมหานครผลไม้ของโลก ทั้งนี้ ได้เริ่มดำเนินการส่งเสริมการตลาดทุเรียนเป็นสินค้านำร่อง ภายใต้โครงการ “Thailand Amazing Durian and Fruit Festival 2018” ทั่วประเทศ ก่อนที่จะขยายผลไปยังผลไม้อื่นๆ

“โครงการร้านธงฟ้าประชารัฐ” คืออีกหนึ่งผลงานของกระทรวงพาณิชย์ที่เข้ามาดูแลเรื่องค่าครองชีพและปากท้องของประชาชน มุ่งให้ความช่วยเหลือผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและผู้มีรายได้น้อยให้สามารถซื้อสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพได้ในราคาย่อมเยา และเป็นการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ประชาชนอีกทางหนึ่ง อีกทั้งยังเป็นการพลิกฟื้นร้านโชวห่วย ร้านค้าชุมชน และร้านค้าปลีกรายย่อยให้มีโอกาสขายสินค้าได้มากขึ้น จากการที่เข้าร่วมกับโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ปัจจุบันมีร้านธงฟ้าประชารัฐกว่า 40,000 ร้านค้า ครอบคลุม 7,500 ตำบลทั่วประเทศ

กระแสการค้า นวัตกรรม และเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดทำให้ทุกอย่างที่อยู่แวดล้อมต้องปรับตัวตามเพื่อไม่ให้ตกขบวน การพัฒนาเศรษฐกิจยุคใหม่ (New Economy) เพื่อยกระดับเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เท่าทันและเชื่อมโยงไปกับเศรษฐกิจโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงจึงเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่สำคัญ

กระทรวงพาณิชย์ได้ขยายฐานการค้าท้องถิ่นสู่ต่างประเทศด้วยเศรษฐกิจใหม่ โดยการเพิ่มช่องทางการค้าขายในระบบออนไลน์ (E-Commerce) ผ่าน “ไทยเทรดดอทคอม” (Thaitrade.com) ซึ่งเป็นNational E-Marketplace ศูนย์กลางการค้าออนไลน์ของประเทศ เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าให้กับผู้ประกอบการไทยสามารถนำสินค้ามาขายให้แก่ผู้บริโภคได้ทั้งภายในและต่างประเทศ

ปัจจุบันไทยเทรดมีผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิก 25,000 ราย มีผู้ซื้อจากทั่วโลก 1.7 แสนราย จำนวนสินค้า 2.5 แสนรายการ และมีมูลค่าการซื้อขายแล้วกว่า 5,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกันยังได้เชื่อมโยงสินค้าทางการเกษตร ผลไม้ และอาหารไทย เข้าไปจำหน่ายยังเว็บไซต์ Tmall.com ในเครือ Alibaba ที่มีฐานลูกค้ากว่า 650 ล้านคนอีกด้วย ที่เป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ คือการจำหน่ายทุเรียนได้ 80,000 ลูก ภายในระยะเวลา 1 นาที และมีออเดอร์ล่วงหน้าอีก 130,000 ลูก รวมมูลค่า 70 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังผลักดันสินค้าไทยไปจำหน่ายในแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น Redmart.com, Amazon.com และ Gosoko.com ซึ่งเป็นการช่วยเปิดตลาดให้กับสินค้าไทย เพิ่มช่องทางการจำหน่าย และส่งผลดีต่อราคาสินค้าอีกด้วย

สำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศเพื่อเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก (Global Economy) นั้น มีการเจรจาเพื่อเปิดตลาดใหม่ๆ ขยายตลาดจากเศรษฐกิจภายในประเทศสู่ต่างประเทศอย่างมั่นคง ท่ามกลางความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจโลกจากนโยบายของประเทศมหาอำนาจ

โดยกระทรวงพาณิชย์ได้เปิดเผยตัวเลขการส่งออก 4 เดือนแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 11.5 (มูลค่ารวม 81,780 ล้านดอลลาร์) ซึ่งนับว่าสูงสุดในรอบ 7 ปี และโตกว่าเป้าหมายร้อยละ 8 มาตรการที่นำมาใช้คือ การเร่งรัดขยายตลาดส่งออกเชิงรุก ทั้งในรูปแบบตลาด Physical และ Digital และกระตุ้นยอดส่งออกด้วยการจัดอีเวนต์ อย่างงานล่าสุดคือ THAIFEX–World of Food ASIA 2018 ที่เพิ่งผ่านไป ซึ่งมีมูลค่าการเจรจาซื้อในงานรวม 11,000 ล้านบาท

อีกหนึ่งกลยุทธ์ที่นำมาใช้เพื่อพัฒนาการค้าระหว่างประเทศ คือการเชื่อมโยงไทยกับภูมิภาค CLMV โดยสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการรุ่นใหม่ของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ในโครงการ “YEN-D Program” ได้ดำเนินโครงการแล้ว 4 รุ่น สมาชิกเครือข่าย 1,100 คน เกิดมูลค่าการค้าการลงทุนระหว่างกันแล้วกว่า 2,800 ล้านบาท

นันทวัลย์ ศกุนตนาค ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงทิศทางการดำเนินงานว่า กระทรวงได้ปรับภารกิจของกระทรวงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการประชาชน โดยปรับเปลี่ยนบทบาทและแนวคิดในการทำงานเพื่อรองรับเศรษฐกิจยุคใหม่ เปลี่ยนบทบาทจากผู้กำกับดูแล (Regulator) เป็นผู้ส่งเสริมและอำนวยความสะดวก (Facilitator & Promoter) เพื่อส่งเสริมและพัฒนาให้ภาคธุรกิจมีความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น โดยให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) มุ่งเน้นการใช้ระบบเทคโนโลยี นวัตกรรม การบริการและความคิดสร้างสรรค์ในการดำเนินธุรกิจ ยกระดับการค้าและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยสู่สากล

พร้อมทั้งปฏิรูปการทำงานสู่การเป็นกระทรวงพาณิชย์ยุคใหม่ (New MOC) ขับเคลื่อนเชิงยุทธศาสตร์ด้วยแนวคิด “ตลาดนำผลิต” และ “เน้นคุณค่ามากกว่าปริมาณ” โดยปรับบทบาทให้ “คล่องตัว ทันสมัย ปราดเปรียว รองรับการเปลี่ยนแปลง” สอดรับการเศรษฐกิจยุคใหม่มากขึ้น

บทบาทและภารกิจของกระทรวงพาณิชย์ยังคงดำเนินต่อไป เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนและสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจไทย คงต้องมาดูกันว่าภายใต้การนำของสนธิรัตน์ กระทรวงพาณิชย์จะไปในทิศทางใด

ใส่ความเห็น