วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > ย้อนพินิจ 4 ปี คสช. เศรษฐกิจไทยในร่างแห??

ย้อนพินิจ 4 ปี คสช. เศรษฐกิจไทยในร่างแห??

ความเป็นไปของภาวะเศรษฐกิจไทยในยุคสมัยของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ซึ่งดำรงสถานะและดำเนินต่อเนื่องมาจนครบ 4 ปี ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ดูเหมือนจะได้รับการโหมประโคมว่าดำเนินมาอย่างถูกทิศถูกทางและกำลังปรับฟื้นตัวขึ้นอย่างมีอนาคตสดใส ควบคู่กับการเปิดเผยตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2561 ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่ามีอัตราขยายตัวที่ระดับร้อยละ 4.8 ซึ่งเป็นการเติบโตที่สูงที่สุดในรอบ 5 ปี

หากแต่ภายใต้ตัวเลขสวยหรูที่หน่วยงานภาครัฐพยายามฉายภาพให้สังคมได้รับรู้ กลับยิ่งสะท้อนความเป็นไปที่ขัดต่อความรู้สึกนึกคิดและแตกต่างจากข้อเท็จจริงที่ประชาชนทั่วไปได้สัมผัสอย่างไม่อาจเทียบเคียงกันได้เลย

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจประการหนึ่งก็คืออัตราการขยายตัวทางภาวะเศรษฐกิจของไทยที่รวบรวมโดยธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยนับตั้งแต่ปี 2555 อยู่ในระดับร้อยละ 6.5 ก่อนที่จะถดถอยลงมาเหลือการขยายตัวเพียงร้อยละ2.9 ในปี 2556 และตกต่ำลงไปอยู่ที่ระดับร้อยละ 0.8 ในปี 2557 และปรับขึ้นมาเป็นร้อยละ 2.9 ในปี 2559 และร้อยละ 3.2 ในปี 2559

ขณะที่รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยปี 2560 ระบุว่ามีการขยายตัวขึ้นร้อยละ 3.9 ตามการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยว สอดคล้องกับเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวชัดเจนและกระจายตัวมากขึ้น อุปสงค์ในประเทศขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากภาครัฐชะลอลงจากปีก่อน เศรษฐกิจไทยขยายตัวดีโดยได้รับแรงส่งสำคัญตลอดทั้งปีจากการส่งออกสินค้าที่ดีขึ้นทั้งในมิติของประเภทสินค้าและตลาด ตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและปริมาณการค้าโลกที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง

ความมั่นใจในภาวะเศรษฐกิจไทยของหน่วยงานภาครัฐได้รับการตอกย้ำหนักแน่นยิ่งขึ้นจากตัวเลขล่าสุดของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่นอกจากจะระบุว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ขยายตัวที่อัตราร้อยละ 4.8ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่สูงที่สุดในรอบ 5 ปีแล้ว สศช. ยังปรับตัวเลขคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในรอบปี 2561 น่าจะเติบโตและขยายตัวได้ถึงร้อยละ 4.2-4.7 อีกด้วย

บทวิเคราะห์จากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า การที่เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 ของปี 2561 ขยายตัวสูงสุดในรอบ 5 ปี ดังกล่าวนี้ ได้แรงหนุนจากการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวในระดับสูง ขณะที่การใช้จ่ายครัวเรือนเริ่มเห็นสัญญาณการเติบโตที่ดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า นอกจากนี้ผลผลิตภาคเกษตรที่ขยายตัวเร่งขึ้นอย่างมากก็เป็นตัวหนุนจีดีพีที่สำคัญในไตรมาสนี้

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2561 ว่ามีความเป็นไปได้สูงขึ้นที่จะขยายตัวเข้าใกล้กรอบบนของประมาณการเศรษฐกิจที่ร้อยละ 3.5-4.5 โดยมีค่ากลางอยู่ที่ร้อยละ 4.0 ขณะที่การการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1/2561 น่าจะเป็นระดับที่สูงที่สุดของปี 2561 โดยในช่วงที่เหลือของปีจีดีพีน่าจะยังคงรักษาระดับการเติบโตที่สูงกว่าร้อยละ 4.0 ต่อปีในแต่ละไตรมาสไว้ได้ โดยปัจจัยขับเคลื่อนหลักยังคงมาจากการส่งออก และรายได้จากการท่องเที่ยว ขณะที่การใช้จ่ายในประเทศ ทั้งการใช้จ่ายครัวเรือนและการลงทุนภาคเอกชนจะทยอยปรับตัวดีขึ้น

ตัวเลขสถิติที่ปรากฏอยู่ในรายงานกลไกภาครัฐเหล่านี้ แม้จะเป็นตัวเลขข้อมูลที่ปรากฏและพิสูจน์ได้จริง หากแต่กลับไม่ได้สะท้อนภาพของความเป็นจริงที่ดำเนินอยู่ในสังคมไทยมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่ว่าตัวเลขเหล่านี้เป็นข้อมูลระดับมหภาค ที่ประเมินมูลค่าผลผลิต รายได้ และรายจ่ายของคนทั้งประเทศ แบบถัวเฉลี่ยซึ่งในความเป็นจริงไม่ได้สะท้อนภาพการกระจายรายได้ที่ไม่เท่าเทียมกันของประชากรในสังคม ที่กำลังดำเนินอยู่และถูกถ่างให้ห่างกว้างออกไปอย่างต่อเนื่อง

อัตราการขยายตัวขึ้นในระดับร้อยละ 4.8 จากฐานการประเมินทั้งประเทศในมิติที่ว่านี้ ไม่ได้มีความหมายว่า คนในสังคมไทยทุกคนมีเศรษฐสภาพดีขึ้นหรือมีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 อย่างเสมอหน้าเท่าเทียมกัน เพราะข้อเท็จจริงที่ปรากฏก็คือมีเพียงคนบางกลุ่มที่ร่ำรวยขึ้นอย่างมหาศาล ในขณะที่คนส่วนใหญ่ยากจนลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งการกระจายรายได้ในสังคมไทยเป็นประเด็นปัญหาที่สะท้อนความไม่เป็นธรรมในสังคมไทยที่เด่นชัดที่สุดประการหนึ่งอย่างยากจะปฏิเสธ

ปัญหาการกระจายรายได้ของไทยได้รับการสะท้อนออกมาจากข้อมูลของ Forbes ที่ระบุว่ามีกลุ่มคนไทยร่ำรวยจำนวนเพียงร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมดแต่ครอบครองทรัพย์สินมากถึงร้อยละ 78.7 ของทั้งประเทศคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 3.42 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือมากกว่า 11 ล้านล้านบาท ขณะที่ประชากรอีกมากถึงร้อยละ 90 มีสินทรัพย์รวมกันเพียงร้อยละ 20 ของสินทรัพย์รวมของประเทศเท่านั้น

ประเด็นที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ความมั่งคั่งกว่าร้อยละ 21.84 ที่คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 3 ล้านล้านบาทกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนเพียง 5 ตระกูลที่ประกอบด้วย ตระกูลเจียรวนนท์ กลุ่มธุรกิจเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ตระกูลจิราธิวัฒน์ กลุ่มเซ็นทรัล ตระกูลอยู่วิทยา กลุ่มกระทิงแดง ตระกูลสิริวัฒนภักดี และตระกูลศรีวัฒนประภา กลุ่ม King Power ซึ่งสินทรัพย์ที่พวกเขาถือครองอยู่มีมากกว่าสินทรัพย์ที่คนไทยอีกกว่า 90 มีรวมกันเสียอีก

ความเป็นจริงที่เป็นไปและปรากฏต่อสายตาในกรณีที่ว่านี้จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ ที่เมื่อกลไกรัฐเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจในภาพรวม ซึ่งบ่งชี้ว่ากำลังฟื้นตัวและเติบโตไปด้วยอัตราเร่งที่น่าพึงพอใจ แต่ผู้คนในสังคมจำนวนไม่น้อยต่างรู้สึกแย้งค้านและสวนทางกับความเป็นไปที่พวกเขากำลังเผชิญ เพราะการเติบโตและมั่งคั่งที่รัฐกำลังกล่าวถึง เป็นความมั่งคั่งที่กระจุกตัวอยู่กับผู้คนบางกลุ่มไม่กี่ตระกูล ในขณะที่ผู้คนในวงกว้างออกไปไม่ได้รับอานิสงส์ของการเติบโตเหล่านี้มากนัก มิหนำซ้ำในบางกรณียังถูกการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ว่านี้กดทับให้จมดิ่งตกต่ำลงไปอีก

ความเป็นไปของเศรษฐกิจไทยในยุคสมัยของ คสช. จึงไม่ได้เติบโตไปไหนมากนัก นอกจากจะมีตัวเลขปลอบประโลมจิตใจให้ได้โหมประชาสัมพันธ์กันเป็นระลอกๆ เพราะในความเป็นจริงเศรษฐกิจไทยในช่วงก่อนหน้าเหตุวุ่นวายทางการเมืองที่ทำให้ คสช. เดินเข้าสู่อำนาจนั้นไปไกลและเติบโตสูงกว่าตัวเลขที่ คสช. และกลไกรัฐกำลังเผยแพร่ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จที่ได้ดำเนินการมาเสียอีก

ประเด็นที่ชวนให้ต้องคิดและติดตามต่อจากนี้ก็คือในขณะที่รัฐไทยพยายามจะพัฒนาไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 และพร้อมจะปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตในระบบอุตสาหกรรมหลากหลาย รัฐไทยประเมินศักยภาพทางสังคมของคนไทยอีกกว่าร้อยละ 80-90 ที่เป็นกำลังการผลิต ที่สร้างความมั่งคั่งให้กลุ่มคนร่ำรวย 5-6 ตระกูลไว้ในตำแหน่งเช่นไร

เพราะถึงที่สุดแล้วการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยที่สะท้อนออกมาเป็นตัวเลขร้อยละที่เพิ่มขึ้นอาจไม่มีคุณค่าความหมายใดๆ เลย เมื่อประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศยังต้องเผชิญชะตากรรมอยู่ในร่างแห ที่ไม่อาจขยับขยายหรือเคลื่อนที่ไปในกระแสธารของเศรษฐกิจที่เชื่อว่ากำลังเติบโตประหนึ่งน้ำป่าที่เข้าท่วมทับ และต้องรอคอยความหวังทางรอดจากพันธนาการที่รัดตรึงอยู่นี้

ใส่ความเห็น