วันอังคาร, ตุลาคม 8, 2024
Home > Cover Story > เชื่อ EEC ฉุดเศรษฐกิจโต หลังบริษัทยักษ์ใหญ่แห่ร่วมวง

เชื่อ EEC ฉุดเศรษฐกิจโต หลังบริษัทยักษ์ใหญ่แห่ร่วมวง

ความเป็นไปของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กำลังเป็นประหนึ่งยาชูกำลังให้รัฐบาลไทยเดินหน้าและมั่นใจกับผลงานชิ้นเอกทางเศรษฐกิจที่หมายมั่นจะให้เป็นกลไกหนุนนำภาวะเศรษฐกิจของชาติในยุคสมัยถัดไปจากนี้ยิ่งขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้พระราชบัญญัติเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ที่ผ่านความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำให้หลายฝ่ายเชื่อมั่นว่า โครงการ EEC จะช่วยกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวไปสู่ระดับร้อยละ 5 ได้ไม่ช้า เมื่อมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ EEC สามารถเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ที่ประมาณ 3 แสนล้านบาท โดยล่าสุดมีนักลงทุนจากหลายประเทศให้ความสนใจเข้าลงทุนในพื้นที่เป้าหมายนี้

ความน่าสนใจที่น่าจับตามองจากปรากฏการณ์ความเคลื่อนไหวของผู้ลงทุนจากต่างประเทศในช่วงที่ผ่านมาอยู่ที่การประกาศเจตจำนงของบริษัท เอ็กซอน โมบิลฯ บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ที่จะขยายการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก โดยมีความประสงค์จะตั้งโรงงานปิโตรเคมีขนาดใหญ่ มูลค่าการลงทุนประมาณ 2 แสนล้านบาท เพื่อผลิตปิโตรเคมีและส่งออกให้กับลูกค้าในต่างประเทศเป็นหลัก จากที่ในปัจจุบัน บริษัทในเครืออย่างบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) มีการตั้งโรงงานกลั่นน้ำมันอยู่ใน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี อยู่แล้ว

การขยายลงทุนครั้งใหม่ของเอ็กซอนโมบิลดำเนินไปท่ามกลางเงื่อนไขที่ว่า เอ็กซอนโมบิลต้องการใช้พื้นที่มากถึง 600-900 ไร่ และอยู่ใกล้กับท่าเรือของโรงกลั่นเอสโซ่ เพื่อดำเนินการต่อท่อรับและขนถ่ายวัตถุดิบใช้ในการผลิต แต่พื้นที่ของโรงกลั่นเอสโซ่ปัจจุบันค่อนข้างมีจำกัด เอ็กซอนโมบิลจึงขอให้รัฐบาลดำเนินการจัดหาที่ดินตั้งโรงงานดังกล่าวให้

ล่าสุดสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) ได้รับมอบหมายให้ไปดำเนินการเร่งหาที่ดินให้เป็นไปตามความประสงค์ของเอ็กซอนโมบิล เพื่อลงทุนโครงการก่อสร้างปิโตรเคมีส่วนต่อขยาย โดยปรับปรุงโรงกลั่นน้ำมันเอสโซ่กำลังการผลิต 1.74 แสนบาร์เรลต่อวัน ที่มีอยู่ปัจจุบัน ให้ได้แนฟทาเป็นวัตถุดิบป้อนให้กับโรงงานแครกเกอร์ เพื่อผลิตเป็นโพลิเมอร์ หรือผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติก ส่งออกต่อไป

แม้ว่าประเด็นหลักสำคัญของการขยายการลงทุนของเอ็กซอนโมบิลจะทำให้รัฐไทยมีความมั่นใจในศักยภาพของ EEC มากขึ้น แต่ด้วยเหตุที่เอ็กซอนโมบิลมีเงื่อนไขว่าพื้นที่การลงทุนแห่งใหม่ต้องอยู่ใกล้กับโรงกลั่นเอสโซ่และใกล้กับท่าเรือแหลมฉบังในรัศมีไม่เกิน 5 กิโลเมตร เพื่อที่จะสะดวกต่อการต่อท่อส่งป้อนวัตถุดิบจากโรงกลั่น และประหยัดต้นทุนในการขนส่งเม็ดพลาสติกผ่านท่าเรือแหลมฉบัง ที่เอ็กซอนโมบิลต้องการใช้เป็นศูนย์กลางการส่งออกไปทั่วโลก รองจากสิงคโปร์ ทำให้ความเป็นไปได้ของการลงทุนครั้งนี้ไม่ได้ดำเนินไปอย่างปราศจากอุปสรรค

เพราะนอกจากการตั้งโรงงานปิโตรเคมีจะมีรายละเอียดของสถานที่ตั้ง ซึ่งการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ต้องนำไปศึกษาแล้ว ยังมีประเด็นว่าการได้มาซึ่งพื้นที่ขนาดใหญ่สำหรับก่อสร้างเป็นปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์นี้ จะเกิดขึ้นในพื้นที่แห่งใด เพราะพื้นที่บริเวณของท่าเรือแหลมฉบังและใกล้กับพื้นที่เดิมของโรงกลั่นเอสโซ่ตามความต้องการของเอ็กซอนโมบิลถูกใช้ประโยชน์เต็มหมดแล้ว

พื้นที่ที่มีความเป็นไปได้ที่จะนำมาใช้สำหรับการลงทุนครั้งใหม่ของเอ็กซอนโมบิล จากสภาพพื้นที่ในปัจจุบันจึงเหลือเพียงพื้นที่ป่าไม้ของกรมธนารักษ์ ซึ่งอยู่ติดกับโรงกลั่นเอสโซ่ รวมถึงพื้นที่ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และพื้นที่ของท่าเรือแหลมฉบัง ที่ให้บริษัท ยูนิไทยฯ เช่าดำเนินการ ซึ่งแต่ละพื้นที่มีเงื่อนไขในการนำมาใช้ประโยชน์ที่แตกต่างกัน

ขณะเดียวกันประเด็นสำคัญของการใช้พื้นที่ของกรมธนารักษ์ ยังต้องอาศัยระเบียบตาม พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกว่าด้วยการใช้ประโยชน์ในที่ดิน เข้ามาดำเนินการ ซึ่งคงต้องตั้งทีมงานร่วมกันมาศึกษาความเหมาะสมของพื้นที่ต่อไป ซึ่งการสรุปผลว่าจะให้เอ็กซอนโมบิล เข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่อย่างไรดูจะเป็นข้อต่อรองและเป็นเงื่อนไขประกอบการตัดสินใจของเอ็กซอนโมบิลไม่น้อยเลย เพราะหากผู้ลงทุนประเมินว่าไม่คุ้มค่าการลงทุน หรือมีต้นทุนการผลิตการขนส่งที่สูงขึ้น การอาจย้ายไปลงทุนในพื้นที่อื่นทั้งในเวียดนามหรือจีนแทน นี่จึงเป็นประเด็นที่รัฐไทยและ สกรศ. จะต้องพิจารณาผลประโยชน์และผลกระทบจากการลงทุนครั้งนี้ด้วย

นอกเหนือจากความเคลื่อนไหวของเอ็กซอนโมบิลดังกล่าวแล้ว BCPG บริษัทในเครือบางจากยังได้จัดตั้งหน่วยงานใหม่ในนาม CODE (Center of Digital Energy) เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสู่ธุรกิจพลังงานดิจิทัล (Digital Energy) จากบีซีพีจีมองเห็นโอกาสในการทำธุรกิจนี้ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานสะอาด ในโลกของ distributed energy ซึ่งจะเป็นตลาดใหม่ที่มีขนาดใหญ่และผลตอบแทนดี

ข้อเท็จจริงประการหนึ่งก็คือ ปัจจุบันธุรกิจผลิตไฟฟ้าในลักษณะการตั้งโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ได้รับผลตอบแทนเรื่องค่าไฟฟ้าที่ลดลง ขณะที่ทิศทางในอนาคตประชาชนสามารถผลิตไฟฟ้าได้เองจากพลังงานหมุนเวียนและจ่ายเข้าสู่ระบบเพื่อขายให้กับผู้อื่นได้เมื่อมีไฟฟ้าส่วนเกิน ซึ่งบริษัทจะเข้าไปทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการบริหารจัดการในเรื่องดังกล่าว คาดว่าจะได้รับผลตอบแทนที่ดี

ก่อนหน้านี้ BCPG ได้ร่วมมือกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ในโครงการ Smart Park ซึ่งตั้งอยู่ในเขตธุรกิจอุตสาหกรรม นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยองพื้นที่ 1,500 ไร่ กำลังผลิตไฟฟ้า 100-200 เมกะวัตต์ โดยระยะเวลาในการสร้างประมาณ 2-3 ปี คาดว่าจะเริ่มสร้างได้ในปลายปีนี้ (2561) และจะแล้วเสร็จในราวปี 2564 ซึ่งจะใช้พลังงานสะอาด เพื่อพัฒนาให้นิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ เป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งอนาคต รองรับอุตสาหกรรมที่อยู่ในกลุ่ม New S-Curve โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงหรือมีนวัตกรรมและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามนโยบายของรัฐบาล

ความร่วมมือดังกล่าว บีซีพีจีและพันธมิตรจะทำการลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน การบริหารจัดการพลังงาน และธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการพลังงาน ซึ่งบีซีพีจีและพันธมิตรมีความพร้อมในการลงทุนทั้งทางการเงินและเทคโนโลยี เพื่อให้มั่นใจว่านิคมอุตสาหกรรม Smart Park จะสามารถมีการใช้ประโยชน์จากพลังงานสะอาดอย่างสูงสุด และมีการบริหารจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

แม้ว่าความเป็นไปของ EEC ในแวดวงนักธุรกิจอุตสาหกรรมและผู้ลงทุนจะดูคึกคักและเต็มไปด้วยความตื่นตัว แต่จากผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง “EEC ใครได้ประโยชน์” ของศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เมื่อไม่นานมานี้ กลับสะท้อนภาพในอีกมิติหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อยเช่นกัน เมื่อผลสำรวจพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 56.90 ระบุว่า ไม่เคยรับรู้/ไม่เคยได้ยิน

ขณะที่ความหมายของ “โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)” ในความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างว่าคืออะไร พบว่าร้อยละ 51.00 ระบุว่าเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมและโลจิสติกส์ เชื่อมโยงกันอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น รถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยง 3 สนามบิน สุวรรณภูมิ ดอนเมือง และอู่ตะเภา มีรถไฟรางคู่ ท่าเรือแหลมฉบัง ถนน Motorway รองลงมา ร้อยละ 48.53 ระบุว่า เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ ในบริเวณพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง

โดยที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 37.56 ระบุว่า เป็นโครงการเพื่อยกระดับให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจชั้นนำของเอเชีย ร้อยละ 31.38 ระบุว่า เป็นแผนยุทธศาสตร์ภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 เพื่อยกระดับประเทศให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ร้อยละ 25.81 ระบุว่า เป็นการพัฒนาด้านสาธารณูปโภค สาธารณูปการ การพัฒนาเมือง ทั้งการท่องเที่ยวและสาธารณสุข ร้อยละ 24.57 ระบุว่า เป็นการพัฒนาด้านพลังงานและอุตสาหกรรมที่ใช้ เทคโนโลยีขั้นสูง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ประเด็นสำคัญเมื่อถามความคิดเห็นว่า ใครจะเป็นผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มากที่สุด พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 28.75 ระบุว่า ประชาชนทั้งประเทศ รองลงมา ร้อยละ 21.79 ระบุว่า ประชาชนในพื้นที่ที่มีโครงการ ร้อยละ 19.32 ระบุว่า นักลงทุนจากต่างชาติ ร้อยละ 11.90 ระบุว่า รัฐบาล ร้อยละ 8.19 ระบุว่า นักการเมือง ร้อยละ 5.87 ระบุว่า ภาคเอกชนในประเทศ และร้อยละ 4.17 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ในด้านความคาดหวังของประชาชนจากโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 38.05 ระบุว่า ให้เศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน ทั้งภายในประเทศและจากต่างประเทศดีขึ้น รองลงมา ร้อยละ 21.53 ระบุว่า ให้ประเทศได้รับการพัฒนาให้เจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น ร้อยละ 10.62 ระบุว่า ให้การคมนาคม ระบบขนส่งมีประสิทธิภาพและสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ทำให้ขนส่งสินค้าได้รวดเร็วขึ้น ร้อยละ 8.55 ระบุว่า ให้ประเทศและประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดจากโครงการนี้

การเติบโตขึ้นของเศรษฐกิจไทยจากผลของการกระตุ้นการลงทุนใน EEC อาจทำให้ภาครัฐอิ่มเอมใจกับผลที่มุ่งหมายจะได้รับ หากแต่สำหรับประชาชนคนไทยทั้งประเทศแล้ว ดูเหมือน EEC ยังเป็นเพียงคาถาเรียกศรัทธาที่อาจจะกลายเป็นเพียงบทร่ายมนต์ที่มีความเข้มขลังสำหรับผู้มีโอกาสได้เข้าร่วมสังฆกรรมและเป็นส่วนหนึ่งในมหาพิธีนี้เท่านั้น

ใส่ความเห็น