ธุรกิจโรงพยาบาลที่คาดการณ์กันว่ามีมูลค่าเม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 6 แสนล้านบาท ยังถือเป็นสมรภูมิการแข่งขันที่ดุเดือดและต้องอาศัยกลยุทธ์เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายรอบด้าน แต่อีกด้านหนึ่งไม่มีใครปฏิเสธความเป็นธุรกิจดาวรุ่งที่มีปัจจัยบวกสนับสนุนการเติบโตอย่างโดดเด่น ซึ่งเหล่ากูรูนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ต่างฟันธงในทิศทางเดียวกันว่า กลุ่มโรงพยาบาลจะสามารถทำกำไรสุทธิในปี 2561 ไม่ต่ำกว่า 15%
ที่สำคัญ ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่และขนาดกลางที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีรายได้รวมกันสูงถึง 65-70% ของรายได้โรงพยาบาลเอกชนทั้งหมด และหากดูข้อมูลปี 2560 กลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถสร้างผลกำไรรวมกัน 17,352 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.5% จากปี 2559 โดยบริษัท โรงพยาบาลมหาชัย (M-CHAI) จำกัด (มหาชน) มีอัตราเติบโตสูงสุด 256% ทำกำไรได้ 1,284 ล้านบาท
รองลงมาคือ โรงพยาบาลราชธานี (RJH) มีกำไร 231 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 49% อันดับ 3 โรงพยาบาลเอกชล (AHC) มีกำไร 127 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30%
อันดับ 4 กลุ่มกรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) มีกำไร 10,211 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% อันดับ 5 บมจ. บางกอก เชน ฮอสปิทอล (BCH) มีกำไร 917 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% อันดับ 6 บมจ.เอกชัยการแพทย์ (EKH) มีกำไร 84 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% อันดับ 7 โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (BH) มีกำไร 3,944 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% และอันดับ 8 โรงพยาบาลธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป (THG) มีกำไร 554 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8%
ทั้งนี้ กลุ่ม BDMS สามารถทำยอดกำไรสูงสุดมากกว่า 10,000 ล้านบาท และยึดครองตำแหน่งผู้นำในตลาด ทั้งจำนวนแบรนด์ จำนวนสาขา และจำนวนเตียงสูงสุด โดยมีแบรนด์ในเครือประกอบด้วย โรงพยาบาลกรุงเทพ จำนวน 21 โรง จำนวนเตียงรวม 3,602 เตียง โรงพยาบาลพญาไท 5 โรง รวม 1,241 เตียง โรงพยาบาลสมิติเวช 6 โรง รวม 1,288 เตียง โรงพยาบาลเปาโล 6 โรง รวม 1,008 เตียง โรงพยาบาลบีเอ็นเอช 1 โรง จำนวน 144 เตียง และโรงพยาบาลรอยัล อินเตอร์เนชั่นแนล อีก 2 โรง ในกลุ่ม CLMV จำนวน 130 เตียง
นอกจากนี้ มีโรงพยาบาลอีก 4 แห่งที่ดำเนินงานภายใต้สัญลักษณ์โรงพยาบาลท้องถิ่น จำนวน 546 เตียง เช่น โรงพยาบาลสนามจันทร์ โรงพยาบาลเทพากร โรงพยาบาลเมืองเพชร โรงพยาบาลศรีระยอง
มีหุ้นอยู่ในโรงพยาบาลใหญ่อีก 3 แห่ง คือ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ โรงพยาบาลรามคำแหง และโรงพยาบาลเอกอุดร
แน่นอนว่า เป้าหมายของนายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ไม่ได้หยุดเพียงเท่านี้ เพราะมีแผนขยายเครือข่ายธุรกิจทั้งการลงทุนเอง การร่วมทุน และการซื้อกิจการอย่างต่อเนื่อง โดยเร็วๆ นี้เตรียมเปิดโรงพยาบาลกรุงเทพเชียงราย และตั้งเป้าหมายจะมีโรงพยาบาลครบ 50 แห่งภายในปลายนี้ จากปัจจุบันมี 45 โรง จำนวนเกือบ 8,000 เตียง
ขณะเดียวกัน เดินหน้าบิ๊กโปรเจกต์ บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก เพื่อขยายฐานลูกค้าต่างชาติกลุ่มเมดิคอลทัวริซึ่มที่แห่เดินทางเข้ามาใช้บริการทางการแพทย์ในประเทศไทย นับเม็ดเงินมากกว่า 1 แสนล้านบาท
ปัจจัยทั้งศักยภาพการเติบโตและช่องทางการตลาดจากปัจจัยบวกต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นกลางที่เน้นการดูแลรักษาสุขภาพมากขึ้น และการเข้ามาใช้บริการของกลุ่มลูกค้าต่างชาติ ทั้งกลุ่มอาเซียน กลุ่มยุโรป และตะวันออกกลาง ดึงดูดให้กลุ่มทุนโรงพยาบาลเร่งปรับกลยุทธ์ต่างๆ รวมถึงกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ไม่ต่างจากกลุ่ม BDMS กระโดดเข้ามาเล่นในสมรภูมิการแข่งขันด้วย
ไม่ว่าจะเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ กลุ่มพฤกษา เรียลเอสเตท ประกาศลงทุนสร้างโรงพยาบาลวิมุติ ย่านพหลโยธิน มูลค่า 4,500 ล้านบาท คาดเปิดบริการปี 2563
ค่ายโมเดอร์นฟอร์มกรุ๊ป ทุ่มเม็ดเงินซื้อหุ้นบริษัท โมเดอร์นฟอร์มเฮลท์แคร์ จำกัด และเข้าลงทุนในบริษัท ยูไอซีซี จำกัด เพื่อรุกธุรกิจสุขภาพ โรงพยาบาล และเวชภัณฑ์
ส่วนกลุ่มตระกูลณรงค์เดชและศรีไกรวิน เปิดบริษัท เคพีเอ็น เฮลท์แคร์ จำกัด (มหาชน) ผุดโรงพยาบาลขนาด 152 เตียง ในย่านรัชดาฯ- รามอินทรา ต.นวลจันทร์ บึงกุ่ม กรุงเทพฯ ขนาดพื้นที่ 8 ไร่
ด้าน ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยรังสิต อดีตเจ้าของโรงพยาบาลพญาไท ประกาศลงทุนมากกว่า 14,000 ล้านบาท สร้างโครงการอาร์เอสยู อินเตอร์เนชั่นแนล ฮอสพิทอล ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ในนามบริษัท อิควิตี้ เรสซิเดนเชียล (อโศก) จำกัด ขนาด 304 เตียง พื้นที่กว่า 6 ไร่ คาดเปิดให้บริการในปี 2563 นอกจากนี้ ยังมีเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) และเครือไทยเจริญคอปอเรชั่น หรือทีซีซีกรุ๊ป ของ เจริญ สิริวัฒนภักดี ที่มีแนวคิดและแผนลงทุนธุรกิจด้านสุขภาพเช่นกัน
กลุ่มโรงพยาบาลเอกชนรายเดิม อย่าง บมจ.โรงพยาบาลรามคำแหง มีแผนขยายสาขาในต่างจังหวัด ทั้งเมืองหลักและเมืองรอง โรงพยาบาลธัญญเวช อ.ลำลูกกา ปทุมธานี เพิ่มจำนวนเตียงเป็น 211 เตียง
โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์เดินหน้าซื้อที่ดินและอาคารพาณิชย์บริเวณรอบๆ ย่านสุขุมวิท เปิดอาคารใหม่และเปิด “บำรุงราษฎร์ เพชรบุรี แคมปัส” ทำเลเพชรบุรีตัดใหม่ สร้างโรงพยาบาลขนาด 202 เตียง พื้นที่ 5 ไร่ ขณะที่โรงพยาบาลเดชามีแผนร่วมทุนกับกลุ่มแพทย์จากสิงคโปร์ เพื่อสร้างโรงพยาบาลระดับ 5 ดาว และโรงพยาบาลเอกชัย (สมุทรสาคร) ของ บมจ.เอกชัยการแพทย์ ลงทุนขยายเพิ่มอีก 160 เตียง
ข้อมูลจากศูนย์วิจัยธนาคารกรุงศรีอยุธยา ระบุว่า ช่วง 1-3 ปีข้างหน้า โรงพยาบาลขนาดใหญ่หลายแห่งมีแผนลงทุนขยายสาขาเพื่อเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการ เช่น โรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลวิภาวดี และขยายเครือข่าย เพื่อเพิ่มช่องทางส่งต่อผู้ป่วยไปรักษาโรงพยาบาลในเครือ
บางแห่งเร่งเติมจุดแข็งเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน เช่น โรงพยาบาลเปาโลปรับรูปแบบเป็นศูนย์เฉพาะทาง โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ยกระดับเป็นระบบดิจิทัลครบวงจร โรงพยาบาลนครธนปรับจุดขายเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทาง และเปิดโครงการนครธน แฟมิลี่ คลับ เพื่อประกาศให้กลุ่มเป้าหมายรับรู้ศักยภาพความพร้อม เพื่อดึงดูดผู้ใช้บริการและตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่ต้องการรักษาโรคเฉพาะทางโดยตรง รวมทั้งขยายตลาดไปสู่ลูกค้ากลุ่มอื่นๆ ที่มีช่องว่างด้านราคาและบริการ
ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงศรีอยุธยายังประเมินว่า ในปี 2563 ภาพรวมธุรกิจโรงพยาบาลจะมีจำนวนเตียงเพิ่มอีกไม่น้อยกว่า 2,700 เตียง จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 35,000 เตียงหรือเพิ่มขึ้น 2.6% ต่อปี และจะแตกไลน์เข้าสู่ธุรกิจที่ไม่ใช่โรงพยาบาล เช่น ศูนย์ดูแลสุขภาพ ศูนย์ดูแลและโครงการที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ ร้านขายยา โรงงานผลิตยา ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ (Lab) อาหารเสริม อาหารทางการแพทย์ และผลิตภัณฑ์เสริมความงาม เพื่อเสริมธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนแบบครบวงจรมากขึ้นและไล่ตามเทรนด์ที่ผู้บริโภคหันมาเน้นการดูแลสุขภาพมากขึ้น
อีกมุมหนึ่ง ศักยภาพการเติบโตของตลาดยังขยายแนวรบจากในประเทศสู่ตลาดอาเซียน เพื่อเจาะช่องว่างอีกมูลค่ามหาศาล ซึ่งประเทศไทยอาจมีเพียงกลุ่ม BDMS ที่เร่งวางเครือข่ายเจาะตลาดอาเซียน ขณะที่มีหลายประเทศในเอเชียประกาศการเป็นศูนย์กลางการแพทย์และมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเดียวกับไทย เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย อินเดีย และจีนที่เร่งผลักดันมณฑลไห่หนาน 1 ใน 18 มณฑลหลัก ภายใต้ยุทธศาสตร์ One Belt One Road เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ เพื่อดึงดูดผู้ป่วยจีนที่นิยมใช้บริการแพทย์ในต่างประเทศหันกลับมาใช้บริการในประเทศ
ในสิงคโปร์ กลุ่ม “พาร์คเวย์ แพนไท” โรงพยาบาลเอกชนของสิงคโปร์ประกาศสร้างโรงพยาบาลขนาด 250 เตียงแห่งแรกในเมียนมา คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2563 ส่วนประเทศในตะวันออกกลางซึ่งเป็นลูกค้าหลักของโรงพยาบาลชั้นนำในไทยหลายแห่ง เช่น กาตาร์ ล่าสุดเปิด Medical City ขนาดใหญ่ 559 เตียง มูลค่า 23,000 ล้านบาท คูเวต เปิด Hospital Complex ขนาด 1,168 เตียง มูลค่า 35,000 ล้านบาท และรัฐบาลยูเออีเปลี่ยนเงื่อนไขประกันสุขภาพเป็นเน้นรักษาในประเทศแทนการออกมาใช้บริการต่างประเทศ
แนวรบธุรกิจโรงพยาบาลจึงไม่ใช่แค่การช่วงชิงตลาดคนไทยในประเทศ แต่กำลังขยายสมรภูมิเปิดศึกแย่งตลาดกลุ่มเป้าหมายต่างชาติด้วย