ความเป็นไปของวันผู้สูงอายุไทย ที่แอบซ่อนแฝงนัยอยู่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ดูเหมือนจะผ่านเลยไปดั่งน้ำที่สาดรดเปียกปอนแปดเปื้อนแบบที่เคยเป็นมาในแต่ละรอบปี หากแต่ในปีนี้ สีสันของผู้สูงอายุไทยได้รับการปรุงแต่งให้เคลื่อนผ่านกระแสสูง และนำพาความสนใจจากสังคมได้ไม่น้อยเลย
การปรากฏตัวขึ้นของวงดนตรี BENNETTY กลุ่มคนดนตรีในวัยสูงอายุ ที่มาพร้อมกับมิวสิกวิดิโอเพลง “จุดเดิม” กระชากความสนใจของชุมชนบนโลกออนไลน์และสังคมโซเชียลมีเดียอย่างกว้างขวางและส่งผ่านให้มีการแชร์เรื่องราวของผู้สูงอายุกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งดูจะเป็นผลสัมฤทธิ์ทางการตลาดของทีมงานที่เกี่ยวข้องอยู่เบื้องหลังได้เป็นอย่างดี
ความพยายามที่จะส่งมอบพื้นที่ให้กลุ่มผู้สูงอายุได้แสดงออกซึ่งศักยภาพที่แฝงอยู่ สอดรับกับข้อเท็จจริงที่ว่า สังคมไทยกำลังเปลี่ยนผ่านจากสังคมผู้สูงอายุ (Ageing Society) ไปสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society)
โดยการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่าในปี 2560 ที่ผ่านมากลุ่มประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปในสังคมไทยมีสัดส่วนอยู่ที่ระดับร้อยละ 16.7 หรือมากถึงกว่า 11.3 ล้านคน และภายใน 3-5 ปีจากนี้สังคมไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ และมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนมากถึงร้อยละ 20 หรือ 1 ใน 5 ของประชากรเลยทีเดียว
ขณะเดียวกัน รายงาน World Population Ageing ขององค์การสหประชาชาติ เมื่อเดือนตุลาคม 2560 ยังระบุว่าหลังจากปี 2552 ประชากรไทยที่อยู่ในวัยพึ่งพิง (เด็กและผู้สูงอายุ) จะมีจำนวนมากกว่าประชากรในวัยแรงงาน และในปี 2560 นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีประชากรเด็กน้อยกว่าประชากรผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะเจริญพันธุ์ที่ลดลงอย่างรวดเร็ว และการลดลงอย่างต่อเนื่องของระดับการตายของประชากร ทำให้จำนวนและสัดส่วนประชากรสูงอายุของไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
กรณีปัญหาที่น่ากังวลของสังคมไทยก็คือ สภาพความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุไทยในสถานการณ์เช่นนี้จะดำเนินไปอย่างไร เพราะนอกจากประเด็นว่าด้วยสถานภาพทางเศรษฐกิจและพื้นฐานทางการศึกษาที่อาจไม่เอื้ออำนวยความเป็นอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปแล้ว นี่จึงเป็นประหนึ่งความท้าทายที่รอคอยการรับมือจากสังคมไทยอยู่เบื้องหน้า
ข้อสังเกตที่น่าสนใจในด้านหนึ่งก็คือการเดินทางเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทยไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน หากแต่โครงสร้างด้านประชากรของไทยเริ่มบ่งชี้การเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัยมาตั้งแต่ปี 2548 และทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามดำเนินมาตรการเพื่อรองรับกับกรณีดังกล่าว
แต่การเตรียมพร้อมให้กับกลุ่มประชากรเพื่อให้สามารถเดินเข้าสู่การเป็นส่วนหนึ่งของสังคมผู้สูงวัยอย่างมีคุณภาพ ย่อมไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นจากผลของมาตรการว่าด้วย เบี้ยยังชีพคนชรา ซึ่งดูจะเป็นได้แค่เพียงปลายทางที่ตีบตันในการบริหารจัดการของภาครัฐเท่านั้น
สิ่งที่ท้าทายกลไกรัฐมากกว่านั้นอยู่ที่การเสริมสร้างทัศนคติที่เหมาะสมในเชิงสังคมวิทยา ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มประชากรผู้สูงวัยในวันนี้เท่านั้น หากยังต้องส่งผ่านนัยความหมายไปสู่การให้การศึกษาและการพัฒนาศักยภาพของกลุ่มประชากรทุกระดับที่เป็นมากกว่าการท่องจำที่สังคมไทยปลูกสร้างมาตลอดเวลาด้วย
แนวความคิดหนึ่งที่ได้รับความสนใจในฐานะที่อาจเป็นมาตรการในการชะลอภาระที่อาจเกิดขึ้นจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อยู่ที่แนวความคิดว่าด้วยการขยายอายุเกษียณ ซึ่งในด้านหนึ่ง อาจช่วยบรรเทาผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยยังให้ผู้สูงวัยดำรงสถานะเป็นส่วนหนึ่งของจำนวนคนในวัยทำงานต่อไป หรือแม้กระทั่งการสนับสนุนให้มีการจ้างงานผู้สูงอายุ เพื่อสร้างงานและเพิ่มรายได้ให้กับผู้สูงอายุด้วย
การเกิดขึ้นของศูนย์บริการจัดหางานผู้สูงอายุ เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีงานทำและมีรายได้เพิ่มขึ้น ควบคู่กับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทที่จ้างผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ในด้านหนึ่งสะท้อนความพยายามของกลไกรัฐที่จะตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่กำลังดำเนินไปด้วยอัตราเร่ง
แต่แรงงานสูงอายุกลุ่มนี้มีเพียง 3 แสนคน หรือร้อยละ 2.9 ของผู้สูงอายุทั้งประเทศ นโยบายดังกล่าวจึงให้ภาพเป็นเพียงการช่วยเหลือแรงงานเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย โดยไม่ได้สนับสนุนให้มีการนำทักษะและประสบการณ์ของผู้สูงอายุมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อย่างที่พึงจะเป็น
ประเด็นว่าด้วยการเพิ่มทักษะและการจัดหางานให้เหมาะสมกับแรงงาน ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการหารายได้ และยกระดับผลิตภาพของแรงงานในระยะยาว เป็นกระบวนการที่ดำเนินการได้ทั้งการศึกษาในระบบและนอกระบบตลอดช่วงอายุ โดยปัจจุบันภาครัฐมีโครงการฝึกอบรมแรงงานสูงอายุเพื่อเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพที่หลากหลายและมีการคุ้มครองทางสังคมให้ผู้สูงอายุพึ่งพาตนเองได้
กระนั้นก็ดี กรณีว่าด้วยการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรผู้สูงอายุ เป็นประเด็นที่ต้องวางแผนและกำหนดทิศทางการพัฒนาแบบมีลักษณะช่วงชั้นมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งย่อมมีนัยความหมายกว้างไกลกว่าเพียงการวางระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ หรือการจัดสรรรายได้และรายจ่ายอย่างสมดุล หากแต่หมายรวมถึงการจัดวางโครงสร้างพื้นฐานและสวัสดิการสังคมให้กับประชากรทุกระดับทุกกลุ่มไปพร้อมกัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีว่าด้วยการปฏิรูประบบและพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทย ที่พร้อมเปิดโอกาสให้ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ได้งอกเงย มากกว่าการผลิตซ้ำปทัสฐานเดิมแบบย่ำอยู่กับที่ ท่ามกลางเสียงโหมประโคมร่ำร้องการพัฒนาและเข็มมุ่งสู่ไทยแลนด์ 4.0 ที่ดูเหมือนจะไม่มีความพร้อมไปสู่อนาคตที่เป็นจริง
ความพยายามที่จะดึงศักยภาพของผู้สูงอายุให้ดำรงอยู่ในสภาพวัยทำงานให้นานขึ้น เกี่ยวเนื่องกับพัฒนาการทางสังคมและการจ้างงานของกลุ่มคนกลุ่มอื่นๆ อย่างไม่อาจเลี่ยงยังไม่นับรวมการมาถึงของเทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่ และ AI ที่พร้อมจะผลักให้แรงงานในระบบจำนวนมากต้องพ้นจากตำแหน่งงานในอนาคตที่กำลังจะมาถึงในไม่ช้า
ความเป็นไปของผู้สูงอายุไทย จึงไม่ได้ดำเนินไปอย่างโดดเดี่ยว หากเป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนภาพพัฒนาการทางสังคมไทยในช่วงที่ผ่านมา ว่าเติบโตขึ้นท่ามกลางปัจจัยแวดล้อมชนิดใด ขณะเดียวกันก็กำลังบ่งบอกทิศทางที่สังคมมีแนวโน้มจะขับเคลื่อนต่อยอดออกไปในอนาคต
บทบาทของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ดำเนินผ่านเรื่องราวของผู้สูงวัยกลุ่มหนึ่งในนาม BENNETTY อาจช่วยจุดประกายความคิดคำนึงของผู้คนในสังคมไทยให้ได้มองย้อนกลับไปพิจารณาผู้สูงอายุในมิติมุมมองที่แตกต่างออกไป และสืบเสาะหาอดีตความเป็นไปที่ผ่านมา ขณะเดียวกันก็สร้างเงื่อนไขแห่งคำถามให้กับผู้คนที่ได้เสพรับสื่อถึงการใช้เวลาแห่งชีวิตในห้วงขณะปัจจุบัน
หากแต่ประเด็นว่าด้วยอนาคตที่เกี่ยวเนื่องด้วยประเด็น การวิจัยและพัฒนา การสร้างสังคมที่อุดมภูมิปัญญา การกระจายโอกาสและเสริมสร้างพลังชุมชนและท้องถิ่น ที่ล้วนเป็นองคาพยพและปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาและการเติบโตแบบทั่วถึง (inclusive growth) ที่เป็นประหนึ่งวาระสำคัญในแวดวงการพัฒนาทั้งในระดับท้องถิ่นและในเวทีระหว่างประเทศ เพราะตัวเลขการเติบโตจะมีความหมายก็ต่อเมื่อผู้คนทั่วไปในสังคมสามารถสัมผัสร่วมกันได้เท่านั้น
กลไกการพัฒนาเพื่อส่งเสริมคุณภาพของผู้สูงอายุ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งในนโยบายสาธารณะควรได้รับการประเมินคุณค่าความหมายด้วยคำถามที่ว่า “ใครได้ประโยชน์” หรือ Cui bono? ในภาษาละตินตั้งแต่ต้นทาง เพื่อสะท้อนตรรกะวิธีของการพัฒนาที่ยั่งยืนไปในอนาคต ซึ่งหมายรวมถึงการยกระดับการศึกษา พัฒนาศักยภาพและระดับความเป็นอยู่ของสมาชิกในสังคมตั้งแต่วัยเด็กมาสู่วัยทำงาน เพื่อให้พวกเขาพร้อมเดินหน้าเข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ มากกว่าการจัดวางมาตรการแบบเฉพาะหน้าเฉพาะกลุ่มอย่างที่เป็นอยู่
ความท้าทายที่วางอยู่เบื้องหน้าสังคมไทยจึงไม่ได้ผูกพันอยู่เฉพาะกรณีว่าด้วยการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์เท่านั้น หากอยู่ที่สังคมไทยพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (paradigm shift) เพื่อสร้างคุณค่าอุดมการณ์และจินตภาพแบบใหม่ ที่ไปไกลกว่าการโหยหาช่วงเวลาดีๆ ในอดีต ซึ่งเป็นประหนึ่งโซ่ตรวนที่ฉุดรั้งให้ไม่สามารถมองเห็นหรือสร้างรูปการณ์จิตสำนึกใหม่ๆ สำหรับอนาคตได้
บางทีการนำพาสังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุนับจากนี้ อาจไม่ได้มีปัจจัยแห่งคำตอบอยู่ที่ผู้สูงอายุ หากแต่เป็นการตั้งคำถามถึงโอกาสในการพัฒนาเยาวชนไทย ว่าพวกเขาควรได้รับการหยิบยื่นคุณภาพทางการศึกษา ที่ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาศักยภาพและสติปัญญาเพื่อหนุนนำและรับผิดชอบกับภาระที่พวกเขาต้องเผชิญในอนาคตอย่างไรต่างหาก
มิเช่นนั้น ผู้สูงอายุก็คงมีสถานะเพียง บางสิ่งที่จุดเดิม ให้หวนรำลึกและกล่าวถึงในช่วงเทศกาลประจำปีเท่านั้น