วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
Home > Cover Story > นักอ่านตื่นกระแส หนังสือแนวประวัติศาสตร์ขายดี

นักอ่านตื่นกระแส หนังสือแนวประวัติศาสตร์ขายดี

ปิดฉากไปแล้วสำหรับงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 46 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 16 (46th National Book Fair and 16th Bangkok International Book Fair 2018) พร้อมๆ กับคำนิยามที่บ่งบอกถึงปรากฏการณ์ทางสังคมว่า “เกินคาด”

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นทั่วโลก สร้างความวิตกกังวลไม่น้อยกับผู้คนที่อยู่ในวงการหนังสือ โดยเฉพาะในสังคมไทย ว่าจะทำอย่างไรให้หนังสือเล่มสามารถยืนหยัดอยู่ใน “สังคมก้มหน้า” แห่งนี้ได้อย่างตลอดรอดฝั่ง

แน่นอนว่าหลายสำนักพิมพ์เริ่มยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และพัฒนาด้วยการหยิบจับเอาเทคโนโลยีมาต่อยอดในธุรกิจ เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่หันมานิยมหนังสืออิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น

กระนั้น หนังสือเล่ม หนังสือกระดาษ ก็ยังเป็นที่ชื่นชอบและยังได้รับความสนใจจากนักอ่าน โดยหลายคนให้เหตุผลว่า “การได้สัมผัสหน้ากระดาษทำให้การอ่านได้อรรถรสมากกว่า”

แม้ว่างานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติที่จัดขึ้นปีละหนึ่งครั้ง จะมีบรรยากาศไม่แตกต่างไปจากปีก่อนๆ มากนัก หากแต่ปีนี้กลับมี “ปรากฏการณ์” ใหม่เกิดขึ้น นั่นคือ “หนังสือแนวประวัติศาสตร์” ได้รับความนิยมอย่างสูงจากนักอ่าน

ซึ่งแน่นอนว่าส่วนหนึ่งได้รับอานิสงส์มาจากกระแสละคร “บุพเพสันนิวาส” ซึ่งละครเรื่องนี้ก็ส่งผลให้นวนิยายเล่มนี้ของรอมแพง ตีพิมพ์ซ้ำกว่า 70 ครั้ง

โดยสุชาดา สหัสกุล นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) อธิบายว่า “น่าจะเป็นครั้งแรกๆ ในงานสัปดาห์หนังสือฯ ที่หนังสือแนวประวัติศาสตร์ ทั้งประเภทงานวิชาการและประเภทนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ ได้รับความสนใจจากนักอ่านทั่วไป ไม่ใช่เพียงนักอ่านในสายประวัติศาสตร์เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของบุคคลในประวัติศาสตร์อย่างคอนสแตนติน ฟอลคอน ท้าวทองกีบม้า เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) รวมถึงเหตุการณ์ในสมัยอยุธยา ทั้งการเมือง การทูต ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์

นอกจากนี้ ความสนใจยังขยายอิทธิพลไปสู่เด็กและเยาวชน ที่มาตามหาหนังสือการ์ตูนความรู้ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ด้วย”

อย่างไรก็ตาม หนังสือแนวประวัติศาสตร์ที่ได้รับอิทธิพลจากนวนิยายขายดีเรื่องดังกล่าว ดูจะหนีไม่พ้นหนังสือที่ถูกกล่าวถึงในเนื้อหาของละครอย่าง จินดามณี หรือ จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม และ โกษาปานไปฝรั่งเศส ที่เป็นหนังสืออ้างอิงสำหรับนวนิยายเรื่องนี้

ทั้งนี้ ยังมีหนังสือแนวประวัติศาสตร์อีกจำนวนไม่น้อยที่เหล่านักอ่านให้ความสนใจ เช่น พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา หรือเล่มอื่นๆ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ยุคที่นักประวัติศาสตร์อธิบายว่า เป็นยุคที่รุ่งเรืองที่สุดก่อนการเสียกรุงครั้งที่ 2

ปรากฏการณ์ดังกล่าว สร้างคำถามให้เกิดขึ้นมากมายตามมาว่า นักอ่านหันมาให้ความสนใจในเรื่องราวประวัติศาสตร์ เพราะอะไร เพราะได้รับอิทธิพลจากการดูละครดัง จากการอ่านต้นฉบับนวนิยาย หรือต้องการศึกษาทำความเข้าใจให้มากขึ้นถึงรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ชาติไทย

ซึ่งหากคำตอบคืออย่างหลัง นั่นคงเป็นคำตอบที่สะท้อนข้อเท็จจริงต่อระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะวิชาประวัติศาสตร์ ที่ไม่ได้สร้างให้เกิดความเข้าใจเรื่องราวที่เกิดขึ้น หากแต่เน้นการเรียนการสอนที่อาศัยการท่องจำ ถึงเหตุการณ์ในครั้งประวัติศาสตร์ ทั้งปี พ.ศ. และชื่อของบุคคลสำคัญในอดีต

ขณะที่สุชาดามองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่า “การอ่านยังอยู่ในนิสัยของคนไทย ที่คนพูดว่าคนไม่อ่านหนังสือ คิดว่าไม่ใช่ ปรากฏการณ์ครั้งนี้สามารถตอบโจทย์ตรงนี้ได้ว่า จริงๆ แล้วคนอ่านหนังสือ แต่หนังสือมีเป็นล้านๆ เล่ม สิ่งที่เราต้องทำคือการสร้างการรับรู้ให้นักอ่าน ซึ่งจะทำให้วิกฤตการอ่านดีขึ้น

โดยทำให้การอ่านคือความสนุก ไม่ใช่การยัดเยียดให้อ่าน อย่างปรากฏการณ์ในหนังสือประวัติศาสตร์นี้คือความสนุกในการอ่าน ความสนุกในการค้นหาข้อมูล แม้กระทั่งสารานุกรมไทยยังมีคนมาตามหาเล่มที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับวัดไชยวัฒนาราม เป็นอานิสงส์ที่ขยายวงกันไปเรื่อยๆ นับเป็นนิมิตหมายที่ดีและเป็นปรากฏการณ์ที่ดีมาก ซึ่งจะกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลให้คุณภาพการอ่านของคนไทยเปลี่ยนแปลงด้วย”

หากจะมองภาพเหตุการณ์งานสัปดาห์หนังสือ และประเมินเอาว่า คนไทยยังมีนิสัยรักการอ่าน เพียงแต่ไม่รู้ว่าจะหยิบจับหนังสือเล่มไหนมาอ่าน ทั้งๆ ที่ในแต่ละปีมีหนังสือถูกตีพิมพ์มากมาย ก็คงไม่ผิดนัก แต่คงเป็นที่น่าขบขันไม่น้อย

เพราะหนังสือจำนวนเดียวกันนั้นถูกตีพิมพ์และเข้ามาอยู่ในตลาดหนังสือนานแล้ว เพียงแต่รอให้คนไทยที่เพิ่งถูกปลุกให้ตื่น และเงยหน้าจากจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แสดงตัวเปิดเผยจริตความชอบและเลือกซื้อหนังสือ

ขณะที่นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยมองว่า “เป็นหน้าที่ขององค์กรภาครัฐ และเอกชนที่ต้องส่งเสริมการอ่าน ต้องร่วมมือกันนำหนังสือไปสู่การรับรู้ของผู้อ่านให้มากที่สุด”

ข้อเท็จจริงที่ว่า การอ่าน คือหัวใจของการพัฒนา ที่สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะในด้านใดก็ตาม หากแต่การเฝ้าฝันถึงการสนับสนุนจากภาครัฐ ต่อวัฒนธรรมการอ่านให้เกิดขึ้นบนสังคมไทยในห้วงยามนี้อาจจะเป็นเรื่องยาก แต่ไม่ใช่ไม่มีทางเกิดขึ้น

หากแต่วัฒนธรรมการอ่านดูจะเป็นเรื่องที่น่าจะสามารถปลูกฝังให้เกิดขึ้นได้ภายในครอบครัว เพราะหากเยาวชนรักการอ่านมาแต่วัยเยาว์แล้ว การต่อยอดดูจะเป็นเรื่องที่เป็นไปได้มากกว่า

กระนั้นสิ่งที่ภาครัฐควรสนับสนุนอย่างจริงจัง หากแต่ไม่ใช่การสร้างนโยบายเกี่ยวกับวัฒนธรรมการอ่าน แต่เป็นอุตสาหกรรมหนังสือ ร้านหนังสือต่างหาก ที่ภาครัฐควรเหลียวมอง

เพราะต้องไม่ลืมว่า วัฒนธรรมการอ่านจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าอุตสาหกรรมหนังสือ ตลาดหนังสือเล่ม อยู่ในภาวะที่ไม่สามารถสร้างความแข็งแกร่งได้ท่ามกลางการเติบโตของเทคโนโลยี ความคิดของกระทรวงวัฒนธรรมที่ว่า “การอ่าน คือ หัวใจสำคัญของการพัฒนาชาติ” จึงออกแบบแผนแม่บทส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านสู่สังคมการเรียนรู้ของไทยปี 2560-2564 นั้น น่าจะปรับมาใช้หากภาครัฐมีแผนที่จะโอบอุ้มอุตสาหกรรมหนังสือของไทย

การคาดการณ์ของสุชาดาที่ว่างานสัปดาห์หนังสือฯ นี้จะมีผู้เข้าชมงานมากกว่า 2 ล้านคน ที่เรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ กระแสการ “อ่าน…อีกครั้ง” คงไม่จางหายไปหลังละครจบ หรือหลังกระแสแผ่วบางลง ความคาดหวังของคนทำหนังสือที่รอคอยนักอ่านให้ตื่นกระแส และเปลี่ยนกระแสเป็นความจริงจัง คงไม่ใช่ความหวังที่เลื่อนลอย

ใส่ความเห็น