วันอาทิตย์, ตุลาคม 6, 2024
Home > Cover Story > “ดุสิตธานี” บนจุดตัดแห่งยุคสมัย

“ดุสิตธานี” บนจุดตัดแห่งยุคสมัย

 

การประกาศความร่วมมือระหว่างเครือดุสิตธานี (DTC) กับกลุ่มเซ็นทรัล โดยเซ็นทรัลพัฒนา (CPN) เพื่อร่วมการปรับโฉมและพัฒนาพื้นที่โรงแรมดุสิตธานีให้เป็นอาคารพาณิชยกรรมแบบประสม (mixed use) ภายใต้งบลงทุน 36,700 ล้านบาท นอกจากจะเป็นดีลใหญ่แห่งปีแล้ว กรณีดังกล่าวยังสะท้อนภาพภูมิทัศน์ที่เปลี่ยนไปของธุรกิจโรงแรม และการพัฒนาที่ดินในเขตเมืองหลวงของสยามประเทศที่มีนัยสำคัญอีกด้วย

อาคารของโรงแรมดุสิตธานีที่มีความสูง 23 ชั้นซึ่งตั้งตระหง่านอยู่ที่หัวมุมถนนพระราม 4 ตัดกับถนนสีลมมานานเกือบ 5 ทศวรรษเคยได้รับการกล่าวถึงในฐานะที่เป็นตัวแทนและสัญลักษณ์ของการก้าวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ (modernism) ของสังคมไทย และเป็นแลนด์มาร์คสำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย กำลังจะถูกรื้อถอน เพื่อเปิดทางให้โครงการที่จะประกอบส่วนด้วยศูนย์การค้า โรงแรม และอาคารสำนักงาน เบียดแทรกขึ้นมาทดแทน

ความเป็นไปของดุสิตธานี ในด้านหนึ่งสะท้อนวิถีและข้อเท็จจริงของธุรกิจโรงแรมของไทยที่เผชิญหน้ากับการแข่งขันที่หนักหน่วง หลังจากมีโรงแรมจากเครือระดับนานาชาติเข้ามาเปิดดำเนินการอย่างหลากหลาย

ขณะที่ผู้ประกอบการดั้งเดิมของไทย ทั้งดุสิตธานี ปาร์คนายเลิศ โรงแรมเอเชีย แอมบาสเดอร์ ต่างอยู่ในภาวะที่ต้องปรับตัว และปรับปรุงอาคารสถานที่ให้สามารถดึงดูดและเป็นทางเลือกให้กับนักท่องเที่ยวระดับต่างๆ ได้มากขึ้น ควบคู่กับปรากฏการณ์ของการพัฒนาพื้นที่ในเขตเมืองที่ทำให้ราคาที่ดินกลายเป็นส่วนหนึ่งของสมการการสร้างประโยชน์ทางธุรกิจอีกด้วย

ทางเลือกของผู้ประกอบการหรือทายาทที่รับช่วงธุรกิจแต่ละราย จึงดำเนินไปบนบริบทที่หลากหลาย โดยในกรณีของณพาภรณ์ โพธิรัตนังกูร กรรมการผู้จัดการของโรงแรมปาร์คนายเลิศ จำกัด ทายาทรุ่นที่ 4 ของเลิศ เศรษฐบุตร และหลานยายของท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ สมบัติศิริ ระบุว่า

“ธุรกิจโรงแรมมีการแข่งขันสูงมาก โรงแรมใหม่ๆ เปิดตัวทั่วทุกมุมถนน คณะผู้บริหารทุกท่านต่างอดทนและทำงานหนัก เพื่อประคับประคองสถานการณ์เพื่อความอยู่รอดของโรงแรมมาโดยตลอด แต่สุดท้ายทุกอย่างย่อมต้องมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งครั้งนี้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ วันนี้ขอเป็นตัวแทนแจ้งให้พนักงานทุกคนทราบว่า เรามีความจำเป็นที่ต้องหยุดดำเนินกิจการโรงแรมปาร์คนายเลิศอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่ต้นปี 2560 เป็นต้นไป”

ณพาภรณ์ โพธิรัตนังกูร เลือกที่จะพลิกโฉมพื้นที่ปาร์คนายเลิศ เปลี่ยนจากโรงแรมให้กลายเป็นศูนย์สุขภาพครบวงจรแห่งใหม่ โดยมีเจ้าของใหม่ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) (BDMS) ที่ตกลงซื้อไปในราคา 10,800 ล้านบาท โดยเจ้าของเดิมยอมหั่นที่ดินผืนงามขายไป 15 ไร่ พร้อมกับโรงแรม แต่ยังคงเหลือบ้านไม้สักโบราณ “บ้านปาร์คนายเลิศ” สมบัติของตระกูลเก็บไว้เท่านั้น และถือเป็นการปิดฉากหนึ่งในโรงแรมระดับตำนานของสังคมไทยในนาม ปาร์คนายเลิศ ไปตั้งแต่เมื่อต้นปี 2560 ที่ผ่านมา

แต่สำหรับดุสิตธานี ที่สร้างขึ้นมาโดยท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย และมีชนินทร์ โทณวนิก เป็นผู้กำกับดูแลในตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริหาร และยังมีศุภจี สุธรรมพันธุ์ ผู้บริหารคนนอกมารั้งตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม ก่อนส่งต่อให้ทายาทรุ่นถัดไปที่กำลังบ่มเพาะความแกร่งกล้าให้ได้สืบสานตำนานบทใหม่

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจมากประการหนึ่งก็คือ พื้นดินที่ตั้งโรงแรมดุสิตธานีแห่งนี้อยู่บนสัญญาเช่าจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ที่ดุสิตธานีเพิ่งลงนามต่อสัญญาเช่าเป็นระยะเวลา 30 ปี และได้รับสิทธิเช่าต่อเนื่องไปอีก 30 ปี ถือเป็นโอกาสดีที่จะต่อยอดการใช้ประโยชน์ในพื้นที่แห่งนี้

ท่ามกลางกระแสธารของการพัฒนาที่ดินในเขตเมืองที่เน้นรูปแบบของอาคารพาณิชยกรรมแบบประสม (mixed use) เพื่อกระจายแหล่งที่มาของรายได้ในแต่ละโครงการให้หลากหลายยิ่งขึ้น การเกิดขึ้นใหม่ของดุสิตธานี ภายใต้ความร่วมมือกับกลุ่มเซ็นทรัล กำลังทำให้หัวมุมถนนพระรามสี่ตัดกับถนนสีลม พร้อมที่จะเปล่งประกายฉายโชนเป็นไฮไลต์ใหม่ของเมืองหลวงนี้ได้ไม่ยาก

ก่อนหน้านี้ สมรภูมิธุรกิจการค้าและโรงแรม ที่พักอาศัย ดูเหมือนจะกระจุกตัวอยู่อย่างหนาแน่นบนถนนพระราม 1 และไหลรินทอดยาวไปสู่สุขุมวิท โดยมีแหล่ง shopping ไล่เรียงตั้งแต่ห้างสยามดิสคัฟเวอรี่ สยามเซ็นเตอร์ พารากอน เซ็นทรัลเวิลด์ เกษรพลาซ่า เซ็นทรัลชิดลม เซ็นทรัลเอ็มบาสซี ไปสู่ เอ็มโพเรียม เอ็มควอเทียร์ ในย่านเอ็มดิสทริกต์

ยังไม่นับโรงแรมหรูระดับ 4-5 ดาวที่ตั้งเรียงรายอยู่อย่างหนาแน่นในย่านดังกล่าว ซึ่งดูเหมือนจะดูดซับกำลังซื้อขนาดมหาศาลไว้อย่างจำกัดเฉพาะในย่านเดียว ท่ามกลางการแข่งขันที่ทวีความหนักหน่วงขึ้นทุกขณะอีกด้วย

การมาถึงของโครงการพัฒนาครั้งใหม่ของดุสิตธานี จะสามารถสร้างปรากฏการณ์และเป็นสัญลักษณ์ที่เชิดชูความเป็นไทยบนมาตรฐานสากล และนำเสนอศักยภาพของธุรกิจโรงแรม การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และค้าปลีกไทยในฐานะที่เป็นศูนย์กลางของการท่องเที่ยวพักผ่อนระดับ world destination ตามความคาดหมายของผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้บริหารของ DTC หรือไม่อาจจะเป็นการด่วนสรุปเกินไป

หากแต่ด้วยทัศนะของชนินทร์ โทณวนิก ที่เคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนระบุว่า “ก่อนอื่นต้องรู้ว่าตัวเองอยากทำอะไร เวลาทำอะไรต้องนิ่ง ต้องเชื่อในสิ่งที่เราทำ ไม่ว่าอุปสรรคจะชนเราล้มสักกี่ครั้ง ก็ต้องลุกขึ้นเดินต่อไปให้ได้”

บางทีนี่อาจเป็นจังหวะก้าวที่จะส่งให้ชนินทร์ โทณวนิก และเครือดุสิตธานีทั้งระบบ ได้เดินออกจากเงาร่างของความสำเร็จเมื่อครั้งอดีตของท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ไปสู่บริบทใหม่ที่ท้าทายยิ่งกว่าเดิม

เป็นความท้าทายที่เกิดและดำเนินขึ้นในยุคสมัยและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงและแตกต่างกันไปอย่างมาก อย่างน้อยก็ด้วยกรอบเวลาครึ่งศตวรรษที่ดุสิตธานีตั้งตระหง่านเป็นสัญลักษณ์ของเมืองหลวงแห่งนี้

ใส่ความเห็น