เพิ่งจบไปหมาดๆ กับงาน “เทศกาลเที่ยวเมืองไทย 2561” ครั้งที่ 38 ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยแทบจะยกจุดเด่นของแต่ละภูมิภาคมานำเสนอไว้ที่สวนลุมพินี เพื่อให้คนกรุง รวมไปถึงนักท่องเที่ยวได้สัมผัสบรรยากาศและทำความรู้จักกับประเพณี วัฒนธรรม อาหารพื้นบ้านของไทยในเบื้องต้น
ซึ่งผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ยุทธศักดิ์ สุภสร คาดหวังว่างานนี้จะเป็นเสมือนจุดเริ่มต้นและสร้างแรงบันดาลใจให้กับเหล่านักเดินทางทั้งไทยและต่างชาติ ให้ได้ออกเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวจริง เบื้องต้นที่มีการคาดการณ์ว่าจะมีผู้เข้าร่วมชมงานไม่ต่ำกว่า 6 แสนคน
หากการทำงานของ ททท.ในครั้งนี้ประสบผลสำเร็จ และเป็นไปตามเป้าหมาย ผู้เข้ามาร่วมชมงานเทศกาลเที่ยวเมืองไทย ครั้งที่ 38 จำนวนไม่น้อยกว่า 61 เปอร์เซ็นต์ ออกเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ นั่นอาจจะหมายถึงตัวเลขรายได้ที่จะได้รับประมาณ 1 ล้านล้านบาท
ภายใต้ยุทธศาสตร์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาคนใหม่ ผสมผสานกับกรอบโครงของนโยบายรัฐบาลที่ต้องการจะลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม รวมไปถึงความต้องการที่จะปลุกฟื้นเศรษฐกิจในระดับฐานราก การเติมน้ำมันเพื่อเร่งเครื่อง ฟันเฟืองสำคัญอย่างการท่องเที่ยวในห้วงยามนี้ ดูจะเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายที่สุด
แน่นอนว่า ความคาดหวังของภาครัฐในเรื่องที่ต้องการให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวเมืองไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการพัฒนาซัปพลายที่จะนำเสนอให้กับเหล่านักท่องเที่ยว ที่ไม่เพียงแต่เฉพาะเจาะจงว่าจะต้องพร้อมสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเท่านั้น หากแต่ยังต้องคำนึงถึงนักท่องเที่ยวไทยที่นิยมเดินทางภายในประเทศอีกด้วย
และงาน “เทศกาลเที่ยวเมืองไทย” ที่ถูกจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 38 เป็นส่วนหนึ่งในแผนการที่แม้จะมองว่าไม่ใช่แผนการที่แยบยลอะไรมากนัก หากแต่เป็นการเดินเกมแบบง่ายๆ แต่น่าจะเห็นผลได้ชัดเจน ด้วยรูปแบบของงานที่ยกเอาของดีจากหลายภูมิภาคมาไว้ในใจกลางกรุงเทพฯ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เริ่มทำความรู้จัก สร้างจุดสนใจ และในที่สุดคือ ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจจนเกิดการเดินทางเข้าไปยังพื้นที่จริง
แน่นอนว่ากว่าจะวัดผลของงานครั้งนี้ได้ก็ต่อเมื่อขึ้นศักราชใหม่แล้ว และตัวเลขจากผลของเทศกาลเที่ยวเมืองไทยคงไม่ใช่ทั้งหมดที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หรือ ททท. เฝ้าหวัง เมื่อปีนี้ถูกกำหนดให้เป็น “ปีท่องเที่ยววิถีไทย เก๋ไก๋อย่างยั่งยืน” หรือ Amazing Thailand Tourism Year 2018
ซึ่งจุดมุ่งหมายสำคัญคือการสร้างการท่องเที่ยวให้เป็นอุตสาหกรรม ที่สร้างความมั่นคงให้ในด้านเศรษฐกิจ สังคม จิตวิทยา และการต่างประเทศ โดยมีการบูรณาการในทุกภาคส่วน เพื่อมุ่งสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณภาพในระดับแนวหน้าของโลก สร้างความเจริญเติบโตบนพื้นฐานของความเป็นไทย และกระจายรายได้เข้าสู่ชุมชน
นั่นหมายความว่า เป้าประสงค์ของภาครัฐต้องการให้การท่องเที่ยวซึ่งเป็นเครื่องจักรสำคัญของเศรษฐกิจไทย ไม่ใช่เพียงแค่ทำหน้าที่ต่อระบบเศรษฐกิจในระดับมหภาคเท่านั้น หากแต่ยังต้องส่งผลโดยตรงและหยั่งลึกลงไปให้ถึงฐานรากของระบบ
กระบวนความคิดดังกล่าว น่าจะหมายถึงดัชนีชี้วัดความสุขจากการท่องเที่ยว ซึ่งไม่ได้มีนัยแต่เฉพาะตัวของนักท่องเที่ยวเท่านั้น หากแต่ยังต้องนำมาซึ่งความสุขให้แก่เจ้าของท้องถิ่นด้วย ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เคยให้นโยบายไว้ว่า การส่งนักท่องเที่ยวไปยังเมืองรอง ไม่ใช่เพียงการส่งนักท่องเที่ยวลงไปเท่านั้น หากแต่ยังต้องคำนึงถึงศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยวของพื้นที่นั้นๆ ด้วย ว่าพื้นที่นั้นควรจะมีนักท่องเที่ยวเข้าไปได้มากน้อยเพียงใด เพื่อให้การท่องเที่ยวในแต่ละครั้งสร้างความสุข ความประทับใจ คือนอกจากจะไม่ได้มองแต่เรื่องรายได้อย่างเดียว ยังต้องสร้างความเป็นธรรมในเรื่องรายได้ที่จะลงลึกไปยังชุมชนและท้องถิ่น
กระนั้นดูเหมือนว่าในเบื้องต้น หลักใหญ่ใจความของผู้นำด้านการท่องเที่ยวจะมุ่งเน้นในเรื่องของรายได้ แม้จะเป็นปัจจัยสำคัญจำเป็นในการดำรงชีวิตของผู้คน หากแต่รายได้ที่ถูกตีค่าเป็นเม็ดเงินเพียงอย่างเดียวนั้น ไม่สามารถส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืน ดังเช่นที่ใช้เป็นสโลแกนการท่องเที่ยวของปีนี้
หากแต่สิ่งที่ควรคำนึงถึงนอกจากรายได้แล้ว ยังต้องคิดเผื่อไปถึงทรัพยากรธรรมชาติที่จะต้องถูกใช้ เพราะเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ทำให้เกิดการท่องเที่ยวด้วย แน่นอนว่า นอกเหนือไปจากการคัดกรองนักท่องเที่ยว หรือจำนวนนักท่องเที่ยวแล้ว ควรจะจัดสรรเวลาในการเว้นระยะ เพื่อให้ทรัพยากรธรรมชาติได้ฟื้นฟู อันจะนำมาซึ่งความเติบโตในเรื่องการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่สุด
อย่างไรก็ตาม ทิศทางแนวนโยบาย รวมไปถึงยุทธศาสตร์การบริการจัดการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว ที่สอดคล้องกับผู้นำด้านเศรษฐกิจอย่าง ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีแล้ว ดูจะมองเห็นความจำเริญที่ส่งผลดีต่อฟันเฟืองเศรษฐกิจ
กระนั้นหากภายในปี 2561 ตามกรอบเวลาที่รัฐบาลเคยประกาศเอาไว้ว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไป นั่นน่าจะหมายถึงตำแหน่งต่างๆ ในรัฐบาลถูกเปลี่ยนคน มีความเป็นไปได้ว่าการทำงานบางอย่างจะสะดุดและไม่ต่อเนื่อง จะดีกว่าหรือไม่หากมีการวางกรอบนโยบายที่สามารถปฏิบัติต่อเนื่องกันได้ไม่ว่าใครจะขึ้นมานั่งแท่นเป็นรัฐบาลก็ตาม หรือรัฐบาลชุดต่อไปจะเลือกข้อดีของกรอบโครงความคิดและพร้อมสานต่อ เพื่อให้เกิดเสถียรภาพในระบบเศรษฐกิจ
เป้าหมายของการท่องเที่ยวที่ตั้งเป้าไว้ว่าในสิ้นปี 2561 น่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทยราว 37.18-37.29 ล้านคน รวมไปถึงรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หวังว่าจะสูงถึง 2.12 ล้านล้านบาท จะเป็นไปได้หรือไม่ กับทิศทางใหม่ของการท่องเที่ยวปีนี้คงต้องติดตาม