ปี 2561 ธุรกิจทางการแพทย์และความงามกลายเป็นกิจการดาวรุ่งของสำนักวิเคราะห์หลายๆ สถาบัน โดยเฉพาะศักยภาพการทำรายได้และกำไร มูลค่าเม็ดเงินในตลาดที่สูงถึง 250,000 ล้านบาท และเป็นหมวดหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงมาก
เมื่อเร็วๆ นี้ “หอการค้าโพล” ซึ่งประกาศกลุ่มธุรกิจ “ดาวรุ่ง-ดาวร่วง” ประจำทุกปี โดยผลสำรวจล่าสุดอาศัยข้อมูลภายใต้ปัจจัยทางเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มขยายตัว 4.2% ประชาชนมีรายได้สูงขึ้น การลงทุนของภาครัฐยังต่อเนื่อง การท่องเที่ยวขยายตัว จะมีการเลือกตั้ง แนวโน้มราคาสินค้าเกษตรดีขึ้น การส่งออกขยายตัว 4.3% และอัตราเงินเฟ้อที่ 1.6% ปรากฏว่า ธุรกิจดาวรุ่งในปี 2561 ใน 10 ธุรกิจ 5 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจการให้บริการด้านเทคโนโลยีการสื่อสารและอุปกรณ์ (ผู้ให้บริการโครงข่าย), ธุรกิจบริการทางการแพทย์และความงาม, ธุรกิจ e-Commerce, ธุรกิจเครื่องสำอางและครีมบำรุงผิว, ธุรกิจด้านปิโตรเคมีและพลาสติก-ธุรกิจขนส่งและลอจิสติกส์
5 อันดับต่อมา ได้แก่ ธุรกิจ Modern Trade-ธุรกิจบริการด้านการเงิน-ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม, ธุรกิจร้านขายยาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์, ธุรกิจด้านการศึกษา-ธุรกิจเกี่ยวกับท่องเที่ยว, ธุรกิจประกันภัยและประกันชีวิต-ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และบ้านเช่าหรือห้องเช่า-ธุรกิจโหราศาสตร์ เครื่องรางของขลัง, ธุรกิจวัสดุด้านก่อสร้างและรับเหมา และธุรกิจร้านเสริมสวย/ตัดผมแนวแฟชั่น
ส่วน 10 ธุรกิจดาวร่วง ได้แก่ ธุรกิจหัตถกรรม, ธุรกิจด้านการผลิตเหมืองแร่, สื่อสิ่งพิมพ์นิตยสารและวารสาร/ธุรกิจการเช่าหนังสือ, ธุรกิจผลิตและจำหน่ายเครื่องเล่น DVD-CD-ธุรกิจการผลิตและจำหน่ายแผ่น CD-DVD-ธุรกิจให้บริการโทรศัพท์พื้นฐาน, ธุรกิจเคเบิลทีวี, ธุรกิจการผลิตสินค้าเกษตรยาง-ปาล์ม-ข้าว, ธุรกิจร้านขายมือถือมือสอง, ธุรกิจร้านค้าดั้งเดิม และธุรกิจร้านอินเทอร์เน็ต
ธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ธุรกิจที่เข้ามาเป็นธุรกิจดาวรุ่งครั้งแรก คือ ธุรกิจการให้บริการด้านเทคโนโลยีการสื่อสารและอุปกรณ์ (ผู้ให้บริการโครงข่าย) ส่วนธุรกิจความงาม (Beauty Business) แม้ตกจากอันดับ 1 มาอยู่อันดับ 2 เนื่องจากธุรกิจด้านไอที ดิจิตอล อยู่ในกระแสเศรษฐกิจยุค 4.0 แต่ธุรกิจความงามติดชาร์ตธุรกิจดาวรุ่งอันดับ 1 ติดต่อกันถึง 5 ปีซ้อนและยังมีแนวโน้มติดทอปไฟว์ต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ยังเปิดเผยผลสำรวจ 10 อาชีพเด่น-ร่วงปี 2561 ซึ่งอยู่ในเทรนด์เดียวกัน คือ อาชีพที่มีความโดดเด่นจะอยู่ในเทรนด์กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีไอทีและกระแสรักสุขภาพและความงาม โดยอาชีพเด่นอันดับ 1 คือ แพทย์ โดยเฉพาะกลุ่มแพทย์ผิวหนังและศัลยกรรม
รองลงมาได้แก่ กลุ่มอาชีพด้านไอที เช่น โปรแกรมเมอร์ วิศวกรซอฟต์แวร์และนักพัฒนา นักวิเคราะห์ข้อมูล (ไอโอที การใช้บิ๊กดาด้า) อันดับ 3 นักการตลาดออนไลน์ รวมทั้งรีวิวเนอร์ เน็ตไอดอล อันดับ 4 นักการเงิน และนักออกแบบวิเคราะห์ระบบด้านไอที อันดับ 5 กราฟิกดีไซน์ และนักวิทยาศาสตร์ด้านอาหาร
อันดับ 6 นักวิทยาศาสตร์ด้านความงาม (คิดค้นเครื่องสำอาง) และอาชีพเกี่ยวกับการท่องเที่ยว อันดับ 7 ผู้ประกอบการธุรกิจ (สตาร์ทอัพ ผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซ) อันดับ 8 อาชีพในวงการบันเทิง (ดารานักแสดง/นักร้อง) และสถาปนิก/มัณฑนากร อันดับ 9 ครูสอนพิเศษ/ติวเตอร์ และอาชีพเกี่ยวกับลอจิสติกส์และการขนส่ง และอันดับ 10 นักบัญชี
ที่สำคัญ กระแสความแรงของธุรกิจความงามยังสะท้อนชัดเจนตลอดปี 2560 และส่งถึงปี 2561 ด้วย นั่นคือ การที่บริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งแห่แตกไลน์ทำธุรกิจด้านสุขภาพและความงามมากขึ้น อย่างเช่น บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ RS แตกไลน์ธุรกิจเครื่องสำอางและอาหารเสริม แบรนด์ “Life Star” และสามารถสร้างรายได้ อัตราเติบโตแซงหน้าธุรกิจสื่อ จนล่าสุดเตรียมยื่นเรื่องขอย้ายการซื้อขายหุ้น RS ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จากหมวดธุรกิจสื่อ (Media) ไปอยู่ในหมวดธุรกิจพาณิชย์ (Commerce) ในช่วงต้นปี 2561
สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปี 2561 บริษัทตั้งเป้าจะมีรายได้รวม 5,300 ล้านบาท เติบโต 50% จากปี 2560 ที่คาดว่าจะมีรายได้ 3,500 ล้านบาท มาจากธุรกิจสื่อ 2,450 ล้านบาท คิดเป็น 46% รายได้จากธุรกิจสุขภาพและความงาม 2,500 ล้านบาท คิดเป็น 47% รายได้จากธุรกิจเพลง 250 ล้านบาท คิดเป็น 5% และรายได้จากธุรกิจรับจ้างและผลิตกิจกรรม 100 ล้านบาท คิดเป็น 2%
ทั้งนี้ ธุรกิจสุขภาพและความงาม ซึ่งตั้งเป้าหมายรายได้ 2,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่คาดว่าจะมีรายได้รวม 1,400 ล้านบาท คิดเป็นอัตราพุ่งสูงขึ้นเกือบ 80% โดยปัจจุบันมีสินค้าทั้งกลุ่มสกินแคร์ แฮร์แคร์ และอาหารเสริม รวม 37 รายการ จะเพิ่มขึ้นเป็น 70 รายการ และเตรียมเพิ่มช่องทางการจำหน่ายมากขึ้น ด้วยการหาพันธมิตรส่งสินค้าไปจำหน่ายในกลุ่มประเทศ CLMV จากปัจจุบันมีรายได้จากการขายผ่านเทเลเซลส์ 90% ช่องทางออนไลน์ 8-9% และโมเดิร์นเทรด 1%
นอกจากนั้น ยังมีบริษัท แม็คกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ MC ซึ่งดำเนินธุรกิจค้าปลีกเครื่องแต่งกายและไลฟ์สไตล์ เพิ่งเปิดตัวไลน์ธุรกิจใหม่ คือ ธุรกิจสกินแคร์ ภายใต้แบรนด์ M&C รองรับกระแสรักสุขภาพและขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่
ส่วนบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้ว เช่น บริษัท บิวตี้ คอมมูนิตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ BEAUTY ถือเป็นหุ้นที่ให้ผลตอบแทนสูง โดยนับตั้งแต่ต้นปีมูลค่าหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้น 78% และให้ผลตอบแทนมากกว่าตลาด 67%
ล่าสุด บริษัท ดู เดย์ ดรีม จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดูแลและบำรุงผิว “SNAILWHITE” ซึ่งชูจุดขายผลิตภัณฑ์จากเมือกหอยทาก กลายเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ส่งท้ายปี โดยเข้าซื้อขายหุ้นภายใต้ชื่อย่อ DDD วันแรกเมื่อวันที่ 26 ธันวาคมที่ผ่านมา ในกลุ่มสินค้าอุปโภคและบริโภค หมวดของใช้ส่วนตัวและเวชภัณฑ์ จากราคาเปิด 99 บาท ปรับเพิ่มขึ้นสูงสุด 45.75 บาท หรือเพิ่มขึ้น 86.32% จากราคาเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ที่ราคา 53 บาทต่อหุ้น ก่อนปิดตลาดในวันดังกล่าวที่ 85 บาท ปรับเพิ่มขึ้น 32 บาท หรือเพิ่มขึ้น 60.38% ด้วยมูลค่าการซื้อขายหนาแน่นถึง 5,799.36 ล้านบาท
ปัจจัยบวกที่ผลักดันหุ้นหอยทากอย่าง DDD พุ่งกระฉูด มาจากการคาดการณ์การเติบโตด้านธุรกิจ ซึ่งช่วง 3 ปีที่ผ่านมา บริษัท DDD มีกำไรสุทธิเติบโตเฉลี่ย 200% ต่อปี และปี 2561 ตั้งเป้าหมายรายได้เติบโต 30% จากปี 2560 ที่คาดว่าจะมีรายได้เติบโต 30% จากปี 2559 ที่มีรายได้รวม 1,204.81 ล้านบาท โดยมีแผนลงทุนขยายโรงงานและออกสินค้าใหม่ เพื่อก้าวขึ้นเป็นแบรนด์อันดับ 1 ใน 3 ในตลาดผลิตภัณฑ์สกินแคร์ของบริษัทชั้นนำด้านความงามในภูมิภาคเอเชียภายในปี 2565 จากปัจจุบันมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่อันดับ 8
สราวุฒิ พรพัฒนารักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดู เดย์ ดรีม จำกัด (มหาชน) หรือ DDD เชื่อมั่นว่า บริษัทจดทะเบียนจะเข้ามาทำธุรกิจเครื่องสำอางและความงามมากขึ้น เพราะธุรกิจเสริมความงามยังมีมูลค่าสูง ตลาดเติบโตดีมากและไม่ได้รับผลกระทบจากภาพของเศรษฐกิจที่ชะลอตัว
พิสูจน์คำพูดที่ว่า เศรษฐกิจแย่แค่ไหน แต่หยุดสวยไม่ได้ ของแท้แน่นอนจริงๆ