ในยุคโลกดิจิทัลที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในทุกๆ ช่วงเวลาของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินชีวิตประจำวัน ธุรกรรม รวมไปถึงธุรกิจ การค้า การลงทุน ล้วนแล้วแต่ต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับเทคโนโลยีทั้งสิ้น
พัฒนาของเทคโนโลยีถูกเปลี่ยนให้เป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญทางธุรกิจ เมื่อมนุษย์ต้องการความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น นั่นทำให้ธุรกิจ E-Commerce เติบโตแบบก้าวกระโดด ชนิดที่เรียกได้ว่า ไม่ว่าใครที่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีนี้ก็สามารถเป็นเจ้าของธุรกิจได้
สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ได้ประเมินมูลค่าตลาด E-Commerce ในประเทศไทย และพบว่าในปี 2559 ตลาด E-Commerce มีมูลค่าตลาดประมาณ 2.52 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.2 ล้านล้านบาท หรืออาจกล่าวได้ว่ามีอัตราการขยายตัวเฉลี่ย 48 เปอร์เซ็นต์ต่อปี นับตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา
จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะเห็นธุรกิจ E-Commerce หน้าใหม่ตบเท้าเดินเข้าสู่สังเวียนแห่งการต่อสู้ครั้งนี้ แม้จะเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงและรุนแรงก็ตาม หากแต่เมื่อพิจารณาอัตราการเติบโตจากจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทยที่เพิ่มมากขึ้น ที่สำคัญคือธุรกิจนี้ไม่จำเป็นต้องมีต้นทุนในเรื่องพื้นที่หน้าร้านสำหรับจัดวางสินค้าเพื่อรอให้ลูกค้าเดินทางมาเลือกซื้อ หากแต่เป็นการเลือกใช้แพลตฟอร์มที่จะตอบสนองหรือนำเสนอบริการให้เข้าถึงผู้บริโภค หรือกลุ่มเป้าหมายได้มากที่สุด
ล่าสุดธุรกิจ E-Commerce สัญชาติสิงคโปร์ ShopBack เป็นอีกเจ้าที่เข้ามาทำการตลาดในประเทศไทย แม้ว่าจะเพิ่งเปิดบริการในประเทศสิงคโปร์ไปเมื่อเดือนกันยายน 2557 และเปิดให้บริการในมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และไต้หวัน ในเวลาต่อมา
กวิน ประชานุกูล ผู้จัดการ ShopBack ประเทศไทย อธิบายถึงทิศทางการตลาด E-Commerce ในไทยว่า มีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และ ShopBack เป็นเว็บไซต์ที่ให้เงินคืนแก่นักช้อปออนไลน์ ซึ่งเปิดให้บริการในหลายประเทศทั่วภูมิภาคเอเชีย ด้วยการเปิดตัวเว็บไซต์ ShopBack Thailand (www.myshopback.co.th) และมีแอพพลิเคชั่นบนมือถือในไทยเป็นประเทศที่ 6
โดยคอนเซ็ปต์การทำงานของ ShopBack คือ เมื่อลูกค้าเข้าไปซื้อสินค้าทางออนไลน์ไม่ว่าจะจากเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชั่น ร้านค้าและสินค้าต่างๆ จะแสดงอัตราเงินคืนจากการซื้อสินค้า เมื่อมีการซื้อขายสำเร็จในแต่ละครั้ง ShopBack จะได้รับค่าคอมมิชชั่นจากร้านค้าออนไลน์ จากนั้น ShopBack จะนำค่าคอมมิชชั่นนั้นมาแบ่งให้กับลูกค้าในรูปแบบของการคืนเงินเหมือนเป็นโบนัสให้กับนักช้อป
ท่ามกลางการเกิดใหม่ของธุรกิจ E-Commerce ที่เข้ามาสร้างกระแสเรียกความน่าสนใจให้แก่ตลาดนี้ หากแต่ปัจจุบันโลกกำลังจับตามองยักษ์ใหญ่อย่าง Alibaba ที่เข้าซื้อกิจการของ Lazada ตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งดีลสำคัญของแจ็ค หม่า ผู้ที่มีอิทธิพลในตลาด E-Commerce ครั้งนี้น่าจะสั่นคลอน รวมไปถึงสามารถสร้างปรากฏการณ์ใหม่ๆ ให้กับวงการตลาด E-Commerce ไม่น้อย
เมื่อ Alibaba ประกาศลงทุนผ่านบริษัท Lazada (ประเทศไทย) จำกัด ว่าจะสร้างศูนย์กระจายสินค้าในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี โดยมีเป้าหมายจะให้ไทยเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าไปยังกลุ่มประเทศ CLMV คือ กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม
ทั้งนี้โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เป็นโครงการใหม่ของรัฐบาลไทย โดยโครงการดังกล่าวครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ถึงแม้ว่าร่างเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (พ.ร.บ.อีอีซี) จะยังอยู่ในขั้นตอนของการขอความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคาดการณ์ว่าจะผ่านความเห็นชอบในเดือนกันยายนนี้ ก่อนที่จะมีผลบังคับใช้ในเดือนตุลาคม 2560
กระนั้นการขยายตัวของตลาด E-Commerce ในไทยน่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ธุรกิจภาคการขนส่งและระบบลอจิสติกส์เติบโตมากขึ้นในแบบคู่ขนาน เมื่อมีการเข้ามาของเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติอย่างต่อเนื่อง ในธุรกิจขนส่งสินค้าและลอจิสติกส์ ทั้ง Grab, Uber, Kerry ขณะที่เจ้าพ่อขนส่งพัสดุในญี่ปุ่นอย่าง Yamato Express เข้ามาร่วมทุนกับ SCG และเปิดบริการ SCG Yamato Express
การเข้ามาของทุนต่างชาติในธุรกิจลอจิสติกส์น่าจะทำให้ไปรษณีย์ไทยที่เป็นเจ้าตลาดตื่นตัวมากยิ่งขึ้น นอกจากการจะต้องพัฒนาบุคลากรที่เป็นสายส่งแล้ว ยังต้องพัฒนารูปแบบการบริการที่จะสามารถเข้าถึงลูกค้าและเรียกความน่าเชื่อถือให้หันกลับมาใช้บริการได้อย่างที่เคยเป็น
การก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 ของไทย ทำให้ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ในปัจจุบัน หากธุรกิจลอจิกติกส์จะเปลี่ยนผ่านไปสู่ลอจิสติกส์ 4.0 คงไม่แปลกนัก เมื่อสอดคล้องกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอีก 10 ปีข้างหน้า นั่นหมายถึงอนาคตที่ตลาดแรงงานจะมีความหมายน้อยลงและถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี นั่นจะทำให้ธุรกิจลอจิสติกส์เป็นงานบริการในลักษณะของ B2C หรือผู้ประกอบการกับผู้บริโภค
ทั้งนี้หากจะมองข้อดีของการเข้ามาของทุนต่างชาติในธุรกิจลอจิสติกส์ น่าจะเป็นเรื่องของการนำเทคโนโลยี หรือความชำนาญเข้ามาถึงผู้ประกอบการในไทยให้ได้เรียนรู้ และยังสามารถช่วยให้การรุกตลาดประเทศเพื่อนบ้านทำได้ง่ายขึ้น เมื่อปัจจุบันความต้องการในการขนส่งสินค้ามีจำนวนมากขึ้น
ดูเหมือนว่านโยบายการลงทุนของรัฐบาลในโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี จะเป็นเสมือนตัวแปรสำคัญที่ทำให้กลุ่มทุนต่างชาติเริ่มหันกลับมามองประเทศไทย ตัวแปรนี้เองที่อาจจะทำให้ไทยกลายเป็นฮับลอจิสติกส์แห่งภูมิภาคอาเซียน
กระนั้นยังมีข้อกังวลจากหลายฝ่ายว่าการเชื่อมต่อกลไกการกระจายสินค้าของไทยยังไม่คล่องตัวมากนัก เมื่อ “พิธีการศุลกากร” ยังต้องมีการปฏิรูป เพื่อให้การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศและรองรับการค้าแบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ จำเป็นที่จะต้องลดขั้นตอนการดำเนินงานและลดต้นทุน เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน
ภาครัฐอาจจะต้องศึกษาปัญหาต่างๆ รวมไปถึงการแก้ไขกฎหมายบางส่วนในการรับสินค้า โดยไม่ต้องมีการจัดเก็บภาษีเพื่อเป็นการเปิดกว้างจูงใจให้ผู้ใช้บริการนำสินค้าเข้ามาพักและใช้บริการระบบลอจิสติกส์ในไทยมากขึ้น ไม่ว่าสินค้านั้นจะนำเข้ามาเพื่อจำหน่ายในไทยหรือนำเข้ามาเพื่อพักสินค้าก่อนส่งออกไปยังประเทศที่สาม
อนาคตของธุรกิจลอจิสติกส์ไทยจะเป็นอย่างไร การแข่งขันจะดุเดือดมากขึ้นเหมือนธุรกิจ E-Commerce หรือไม่ยังคงน่าติดตาม