วันพุธ, ธันวาคม 4, 2024
Home > Cover Story > สหพัฒน์ปลุก 20 ปี BSC พลิกบทเรียน “ต้มยำกุ้ง”

สหพัฒน์ปลุก 20 ปี BSC พลิกบทเรียน “ต้มยำกุ้ง”

“เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังเหมือนกำลังขับรถเกียร์ 3 เข้าสู่ขาขึ้นและใกล้เจอทางเรียบ ปีหน้าคาดว่าจะเป็นเกียร์ 4 คือเศรษฐกิจดี หากไม่มีอะไรมาสะดุดขาตัวเอง ภาพรวมเศรษฐกิจไทยถือว่าดีกว่าประเทศเพื่อนบ้าน กำลังซื้อจากนี้ไปจะดีขึ้น เพราะสินค้าเกษตรปรับตัวดีขึ้น อีกทั้งที่ผ่านมาคนไทยอยู่ในสถานการณ์โศกเศร้าเลยทำให้ไม่ค่อยซื้อสินค้า แต่สถานการณ์ซบเซามาปีกว่าแล้ว ทุกอย่างน่าจะดีขึ้นหลังจากนี้”

บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ สะท้อนภาพรวมเศรษฐกิจไทยด้วยความหวังและความมั่นใจ แม้ดูจะสวนทางกับบรรดานักวิเคราะห์และนักวิชาการที่ยังประเมินสถานการณ์ประเทศไทยอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อและต้องเผชิญกับปัจจัยลบอีกหลายตัว หลายคนหวาดกลัวกับภาวะฟองสบู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ปัญหาการส่งออก ผลกระทบจากนโยบายของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ที่สำคัญ คือปัจจัยด้านการเมืองและความชัดเจนเรื่องการเลือกตั้ง

แน่นอนว่า เครือสหพัฒน์ผ่านวิกฤตหลายครั้ง โดยเฉพาะวิกฤตค่าเงินครั้งใหญ่ “ต้มยำกุ้ง” เมื่อปี 2540 ซึ่งบุณยสิทธิ์ถือเป็นบทเรียนสำคัญที่สุดของการทำธุรกิจ แม้สถานการณ์ในปัจจุบันยังไม่รุนแรงมากเหมือนอดีต แต่มีรูปแบบคล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะปัญหากำลังซื้อหดตัว

หากเปรียบเทียบปี 2540 มีปมใหญ่อยู่ที่ค่าเงินบาทอ่อนตัวจนแตะ 50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งโชคดีที่ธุรกิจของกลุ่มตระกูลโชควัฒนามีสัดส่วนการกู้เงินต่างประเทศจำนวนไม่มาก เพราะบริษัทในเครือเน้นนโยบายการทำธุรกิจด้วยความระมัดระวัง จึงไม่เกิดภาวะหนี้ท่วมเหมือนหลายๆ บริษัท แต่ผลกระทบในเวลานั้น คือกำลังซื้อของชาวบ้านลดลงอย่างหนัก เพราะสถานประกอบการหลายแห่งแบกรับหนี้ไม่ไหว ต้องปิดตัว เลิกจ้าง คนจำนวนมากไม่มีรายได้ ไม่มีงานทำ ต้องประหยัดค่าใช้จ่ายทุกอย่าง ไม่เว้นแม้กระทั่งสินค้าอุปโภคบริโภคประจำวัน

ในฐานะยักษ์ใหญ่สินค้าคอนซูเมอร์ บุณยสิทธิ์งัดกลยุทธ์จัดงาน “สหกรุ๊ป เอ็กซปอร์ต แอนด์ เทรด เอ็กซิบิชั่น” ครั้งแรกในปี 2540 เพื่อเร่งจำหน่ายสินค้าในเครือให้ได้มากที่สุด โดยเน้นกลุ่มลูกค้าต่างประเทศ เพื่อต้องการเงินตราต่างประเทศและระบายสินค้าในสต๊อก โดยจำหน่ายให้ประชาชนในราคาถูกกว่าปกติ พร้อมๆ กับใช้โอกาสปลุกปั้นโครงการ “ไทยแลนด์เบสต์” สร้างเครื่องหมายการค้า “บีเอสซี (BSC)” หรือ Best Selection Collection เพื่อผลักดันสินค้าส่งออกของไทยที่มีคุณภาพที่ดีที่สุดของประเทศไทย ไม่แพ้ต่างชาติ โดยถือเป็นการเปิดตัวแบรนด์ของสหพัฒน์ครั้งแรก หลังจากรับจ้างผลิตสินค้าให้แบรนด์เนมต่างประเทศจำนวนมากมาย

ผลปรากฏว่า การใช้โอกาสพลิกวิกฤตครั้งนั้นประสบความสำเร็จมาก บริษัทสามารถเพิ่มรายได้และเปิดเกมรุกตลาดต่างประเทศ ทั้งตลาดเอเชีย ยุโรป และสหรัฐอเมริกา ผลักดันรายได้ส่งออกเติบโตทันที 40%

ปี 2541 สหพัฒน์ประกาศจัดงาน สหกรุ๊ป เอ็กซปอร์ต แอนด์ เทรด เอ็กซิบิชั่น อีกครั้ง และสามารถผลักดันยอดส่งออกของเครือเพิ่มขึ้นถึง 50% รายได้มากกว่า 40,000 ล้านบาท จนเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดงาน “สหกรุ๊ปแฟร์” อย่างต่อเนื่องจนล่าสุดครบ 20 ปี

บุญเกียรติ โชควัฒนา ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานจัดงาน “สหกรุ๊ปแฟร์ ครั้งที่ 21” กล่าวว่า งานสหกรุ๊ปแฟร์ปีนี้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 29 มิ.ย.-2 ก.ค.นี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ภายใต้แนวคิด An Honest Digital World, BSC 21st Anniversary “คนดี สินค้าดี สังคมดี=ไทยแลนด์เบสต์” เพื่อฉลองวาระพิเศษครบรอบ 20 ปี BSC ซึ่งมีที่มาจากการพลิกวิกฤตการเงินเมื่อปี 2540

นอกจากการนำสินค้าในเครือสหพัฒน์ทั้งอาหารและเครื่องดื่ม ของใช้ภายในบ้าน เสื้อผ้า เครื่องหนัง รองเท้า เครื่องสำอาง เครื่องกีฬา เครื่องใช้ไฟฟ้า มาจำหน่ายราคาพิเศษกว่า 1,000 คูหาแล้ว บริษัทจะเปิดตัวแบรนด์สินค้าใหม่ในกลุ่ม BSC เช่น BSC Cool Metropolis เจาะกลุ่มผู้ชายอายุ 18 ปีขึ้นไป BSC Enfant สำหรับเด็ก รวมทั้งผลิตภัณฑ์ใหม่ทั้งเครื่องสำอางและชุดว่ายน้ำ

ต้องถือว่างานสหกรุ๊ปแฟร์กลายเป็นหน้าร้านขนาดใหญ่ที่จัดโชว์สินค้าใหม่และนวัตกรรมใหม่ประจำทุกปี เพื่อต่อยอดเจาะตลาดเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภค โดยเฉพาะในสมรภูมิธุรกิจ ซึ่งคู่แข่งยักษ์ใหญ่ต่างพยายามสร้างช่องทางจำหน่ายของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ที่มีทั้งร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น ร้านซีพีเฟรชมาร์ท และเครือข่ายร้านอาหาร เช่น เชสเตอร์กริลล์ ร้านห้าดาว หรือกลุ่มเซ็นทรัล มีห้างสรรพสินค้า ร้านค้าสเปเชียลสโตร์ ร้านสะดวกซื้อ “แฟมิลี่มาร์ท” ร้านอาหารอีกหลายสิบแบรนด์

ขณะที่เครือสหพัฒน์ใช้เวลาหลายปีเซตธุรกิจค้าปลีกและปรับโจทย์การตลาดหลายรอบ โดยเฉพาะการจับมือกับ “ลอว์สันเจแปนอิงค์” ผู้บริหารร้านสะดวกซื้อจากญี่ปุ่น ตั้งบริษัท สหลอว์สัน พลิกโฉมธุรกิจร้านสะดวกซื้อ 108 Shop ใช้ชื่อใหม่ว่า “ลอว์สัน108” หรือ “Lawson 108” เน้นสินค้าจากซัปพลายเออร์ที่หลากหลายบวกกับสินค้าส่วนหนึ่งจากประเทศญี่ปุ่น และขยายฐานจับกลุ่มลูกค้าระดับกลางถึงบน จากเดิมที่ “108ช็อป” เน้นกลุ่มชาวบ้านในชุมชนทั่วไป

หรือการเดินหน้าขยายร้าน “ซูฮูระ” ค้าปลีกดรักสโตร์ที่ร่วมทุนกับซูรูฮะโฮลดิงส์ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2555 เพื่อบุกตลาดร้านสินค้าสุขภาพ ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ใหม่ของผู้บริโภคและเปิดอีกช่องทางขายสินค้าอุปโภคบริโภคในเครือด้วย

ปัจจุบันร้านลอว์สันมีจำนวนสาขาเปิดให้บริการ 84 แห่ง ภายในกลางปีนี้คาดว่าจะขยายสาขาครบ 100 แห่ง และตั้งเป้าหมายขยายครบ 500 แห่งภายในปี 2563 โดยวางแผนเปิดขายแฟรนไชส์ เพื่อเร่งปูพรมสาขาอย่างรวดเร็ว ส่วนร้านซูรูฮะ ล่าสุดเปิดแล้ว 20 สาขา และจะเปิดครบ 30 สาขาภายในปีนี้

ขณะเดียวกัน ในกลุ่มสินค้าเครื่องสำอาง ซึ่งส่วนใหญ่ขายผ่านช่องทางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ และเทรดิชั่นนอลเทรด ล่าสุด บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ในเครือสหพัฒน์ ประกาศเปิดตัวแฟรนไชส์ “SHEENe Mobile Beauty” สถานีความงามเคลื่อนที่ เพื่อผลักดันเครื่องสำอางแบรนด์ “ชีเน่” เจาะตลาดแมสและกลุ่มลูกค้าที่ส่วนใหญ่ใช้ชีวิตเอาต์ดอร์มากขึ้น เป็นการเปิดสงครามแข่งขันกับแบรนด์เครื่องสำอางที่เน้นการขยายฐานผ่านสมาชิกสาวจำหน่ายอย่างมิสทินและกิฟฟารีน

บุษบง มิ่งขวัญยืน ผู้อำนวยการฝ่ายเครื่องสำอางและน้ำหอม ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า บริษัทจะเปิดตัวแฟรนไชส์ ชีเน่ โมบาย บิวตี้ ในงานสหกรุ๊ปแฟร์ครั้งที่ 21 ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นขยายช่องทางจำหน่ายใหม่และสร้างธุรกิจแฟรนไชส์รองรับกลุ่มผู้หญิงที่ต้องการหารายได้และอยากสร้างธุรกิจของตัวเองในภาวะเศรษฐกิจที่ใครๆ ก็อยากมีรายได้เสริม โดยมีให้เลือก 3 รูปแบบ เงินลงทุนตั้งแต่ 50,000-1 แสนบาท

แบบที่ 1 การลงทุนแบบเต็มรูปแบบ มีเฟอร์นิเจอร์ Mobile Beauty รถใหญ่พร้อมตกแต่งเสร็จ ตู้วางชั้นสินค้าเคลื่อนที่ พร้อมชุดโต๊ะและเก้าอี้รับแขกแต่งหน้า ขนาดพื้นที่ 3 x 5 เมตร แบบที่ 2 การลงทุนขนาดกลาง มีเฟอร์นิเจอร์ Mobile Beauty รถใหญ่พร้อมตกแต่งเสร็จ ขนาดพื้นที่ 3 x 3 เมตร และแบบที่ 3 การลงทุนแบบขนาดเล็ก มีเฟอร์นิเจอร์ Mobile Beauty รถเข็นขนาดเล็กพร้อมตกแต่งเสร็จ ขนาดพื้นที่ 2 x 2 เมตร เหมาะกับผู้เริ่มต้นธุรกิจด้วยงบจำกัด

การเร่งขยายช่องทางจำหน่ายยังรวมไปถึงการปรับเปลี่ยนเข้าสู่ยุคดิจิทัลและอี-คอมเมิร์ซ ซึ่งล่าสุด บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล ได้เปิดแอพพลิเคชั่นจำหน่ายสินค้า ICC App เพื่อเป็นช่องทางจำหน่ายสินค้าแฟชั่น หลังจากนั้นจะทยอยนำสินค้าอุปโภคบริโภคในเครือเข้ามาจำหน่าย ในปี 2561 โดยจะเปลี่ยนเป็นแอพพลิเคชั่นภายใต้ชื่อ “สหกรุ๊ป” เพื่อขายสินค้าในเครือทั้งหมด แบ่งสัดส่วนเป็นสินค้าแฟชั่นกว่า 50% สินค้าอุปโภค 30% และสินค้าอื่นๆ อีก 20%

นอกจากนี้ เครือสหพัฒน์จะเซ็นสัญญากับพันธมิตร 2 รายใหญ่ คือ ลาซาด้า (Lazada) และโอช็อปปิ้ง (O Shopping) เปิดบริการจำหน่ายสินค้าในรูปแบบอี-คอมเมิร์ซของเครือ รวมทั้งการทำตลาดและจัดแคมเปญต่างๆ ผ่านทีวีโฮมช็อปปิ้ง

แผนทั้งหมดของสหพัฒน์จึงเป็นการรุกตลาดรอบใหม่ในครึ่งปีหลังและเร่งสปีดธุรกิจเข้าเกียร์ 4 ในปีหน้าหลังจากปล่อยเกียร์ว่างมาเกือบ 2 ปี

เหนือสิ่งอื่นใด ระยะเวลากว่า 20 ปี บทเรียนจากวิกฤตต้มยำกุ้งจนถึงเศรษฐกิจยุครัฐบาลทหารสอนนักธุรกิจให้อยู่อย่างเตรียมพร้อม ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์รับความเสี่ยงทุกวิกฤต ดั่งปรัชญาการดำเนินธุรกิจของ ดร.เทียม โชควัฒนา ที่ว่า

“หมั่นทบทวนอดีตเพื่อใช้เป็นประสบการณ์ และพัฒนาปัจจุบันเพื่ออนาคต”

ใส่ความเห็น