“Thailand 4.0” นโยบายหลักของรัฐบาลไทยกลายเป็นวาทกรรมหลักที่แทบทุกหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของฝ่ายบริหาร ต้องนำไปปฏิบัติและใช้ห้อยท้ายในทุกแคมเปญเพื่อเป็นการยืนยันความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ทั้งนี้นโยบายดังกล่าวมีเป้าหมายหลักที่สำคัญคือ ความต้องการที่จะให้ไทยหลุดพ้นจากกับดักการเป็นประเทศรายได้ปานกลาง สู่การเป็นประเทศรายได้สูง หัวใจสำคัญของเป้าหมายนี้ทำให้ทุกฟันเฟืองที่อยู่ในระบบขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยต้องปรับตัว บุคลากรจากหลายภาคส่วนต้องระดมสรรพกำลัง ระดมสมองรังสรรค์แผนการ เพื่อให้เกิดแรงขับเคลื่อนทั้งองคาพยพ
แน่นอนว่าไม่เว้นแม้แต่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่ต้องสร้างสรรค์แคมเปญหลากหลายในแต่ละปี ซึ่งแต่ละกิจกรรมที่สร้างขึ้นล้วนแล้วแต่มีกิมมิกที่โดดเด่นแตกต่างกันไป แม้ว่าฟันเฟืองตัวนี้จะเป็นเสมือนเครื่องจักรสำคัญในการสร้างรายได้ให้กับประเทศไปแล้วก็ตาม
โดยสถานการณ์ภาพรวมการท่องเที่ยวในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2560 มีรายได้กว่า 8 แสนล้านบาท เท่ากับว่ารายได้ครึ่งปีแรกขยายตัว 6.05 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งยังมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 17.32 ล้านคน เพิ่มขึ้น 4.4 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ตัวเลขนักท่องเที่ยวที่มาไทยเพิ่มมากขึ้น เป็นเหตุมาจากการขยายตัวของการท่องเที่ยวโลก
หากแต่เมื่อมองที่จำนวนนักท่องเที่ยวสหรัฐฯ ประเทศเดียว จากข้อมูลสถิติของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม-สิงหาคม 2560 จำนวนนักท่องเที่ยวสหรัฐฯ เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยมีจำนวน 6.88 แสนคน เติบโตร้อยละ 9.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่นักท่องเที่ยวจากสหรัฐฯ มีการใช้จ่ายระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวในไทยมูลค่า 50,953.57 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับช่วงที่เหลือของปี 2560 กำลังจะก้าวเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจากสหรัฐฯ อีกครั้ง ทั้งนี้จากการขยายตัวของนักท่องเที่ยวสหรัฐฯ ที่ดี ประกอบกับสถานการณ์แวดล้อมปัจจัยท่องเที่ยวในช่วงที่เหลือของปีนี้ยังมีทิศทางที่ดี
ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดเผยการคาดการณ์ว่า ในปี 2560 จำนวนนักท่องเที่ยวสหรัฐฯ เดินทางมาท่องเที่ยวในไทยจะสูงถึง 1.05 ล้านคน ซึ่งหมายถึงเติบโตร้อยละ 12.3 จากที่เติบโตร้อยละ 13.5 ในปี 2559 ขณะที่คาดว่ารายได้จากนักท่องเที่ยวสหรัฐฯ สู่ธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่องคิดเป็นมูลค่าประมาณ 78,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.0 จากร้อยละ 20.8 ในปี 2559
อีกทั้งองค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ เคยคาดการณ์เอาไว้ว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ด้านการท่องเที่ยว ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะเห็นได้ชัดเจนในปี 2563 โดยนักเดินทางทั่วโลกกว่า 1,600 ล้านคน จะเคลื่อนมาสู่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมากถึง 416 ล้านคน เท่ากับว่าได้ครองสัดส่วน 1 ใน 4 ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้เล่นสำคัญในเกมนี้
กระนั้นนโยบายแห่งชาติ ไทยแลนด์ 4.0 กลายเป็นตัวกำหนดกรอบโครงของรายได้การท่องเที่ยว โดยในช่วงระยะเวลา 5 ปีแรก รายได้ของการท่องเที่ยวจะต้องไม่ต่ำกว่า 4 ล้านล้านบาท ข้อกำหนดดังกล่าวทำให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาต้องยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งไทยอยู่อันดับที่ 34 ของโลกในปัจจุบัน ดังนั้นการพัฒนาต้องขยายตัวมากขึ้น เพื่อให้ได้อันดับไต่ขึ้นไปไม่ต่ำกว่า 25 ของโลก
ห้วงยามแห่งความคาดหวังถึงผลสำเร็จของรายได้การท่องเที่ยวในอนาคต ทำให้หลายหน่วยงานต้องเร่งเครื่องเดินหน้าพัฒนาองค์ประกอบที่จะช่วยให้เครื่องจักรที่เรียกว่าการท่องเที่ยวสามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างต่อเนื่อง และสร้างรายได้อย่างงดงาม
นี่อาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ร่วมกับเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (ซอฟต์แวร์พาร์ค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) และสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (สทบท.) เปิดเวทีเชื่อมโยงผู้ประกอบการ SMEs ของไทยในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว กับผู้ประกอบการท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) เพื่อเป็นการขยายช่องทางและโอกาสทางการค้า รวมถึงเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ SMEs ได้นำซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชันไทยที่เหมาะสมไปปรับใช้กับธุรกิจการท่องเที่ยว
โดย วิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า “ปี 2559 ภาคการท่องเที่ยวของ SMEs เฉพาะภาคโรงแรมและภัตตาคารมีมูลค่า GDP เท่ากับ 6.34 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 93 เปอร์เซ็นต์ ของ GDP ในภาคธุรกิจท่องเที่ยว และเพื่อเป็นการสนองรับกับนโยบายของรัฐบาลในการสนับสนุนความร่วมมือกับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน หรือ CLMVT (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย) ที่เน้นให้เกิดความร่วมมือเพื่อสร้างความแข็งแกร่ง ยกระดับความสัมพันธ์บนพื้นฐานของความเชื่อใจ อีกทั้งยังเป็นการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเท่าเทียม พร้อมกับนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล การดำเนินกิจกรรม “CLMVT Tourism in Digital Era” ในวันนี้ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการเชื่อมโยงทางธุรกิจของผู้ประกอบการ SME ในสาขาการท่องเที่ยวของไทยกับกลุ่มประเทศ CLMV เพื่อให้เกิด Multi Countries – One Destination ใหม่ๆ ที่ตรงกับความต้องการของนักท่องเที่ยว พร้อมทั้งยังช่วยสนับสนุนให้มีการนำเทคโนโลยีไปใช้ในธุรกิจเพื่อเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการและสามารถแข่งขันในยุคดิจิทัลด้วย”
ทั้งนี้การผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศ CLMVT ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น หากแต่ความร่วมมือเช่นนี้ยังคงมีมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวเชิงรุก ซึ่งเมื่อพิจารณาจากศักยภาพและโอกาสในการเติบโตนั้น กลุ่มประเทศ CLMVT หลายฝ่ายกำลังปลุกปั้นให้กลายเป็นขุมพลังทางเศรษฐกิจที่สำคัญของภูมิภาค ทั้งความได้เปรียบในด้านความสมบูรณ์ของทรัพยากรทางธรรมชาติ และแรงงาน รวมไปถึงความผูกพันและใกล้ชิดกันทางด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม
ซึ่งทั้ง 5 ประเทศเคยมีแผนส่งเสริมเส้นทางการท่องเที่ยวร่วมกัน โดยหนึ่งในเส้นทางที่เวียดนามเตรียมผลักดันคือ เส้นทางมรดกโลก ภายใต้โครงการสามเหลี่ยมมรกตโลก (World Heirtage Triangle) ร่วมกัน 3 ประเทศ ซึ่งต่างมีแหล่งท่องเที่ยวที่ยูเนสโกรับรอง อย่าง ฮาลองเบย์-หลวงพระบาง-อุดรธานี
แม้ว่าจะมีความร่วมมือกันในกลุ่มประเทศ CLMVT แล้ว กระนั้นแต่ละประเทศต่างก็เร่งเครื่องอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เพื่อหวังให้เกิดแรงผลักดันทางเศรษฐกิจเช่นกัน โดยเมียนมาที่มีแผนแม่บทการท่องเที่ยวปี 2020 ซึ่งตั้งเป้าว่าเมียนมาจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 7.5 ล้านคน ซึ่งปัจจุบันมีโรงแรมที่อยู่ระหว่างการพัฒนาในเมียนมากว่า 1,400 แห่ง
ขณะที่สถานการณ์การท่องเที่ยวในประเทศเวียดนามอยู่ในช่วงกระแสขาขึ้น เมื่อปี 2015 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 8 ล้านคน ซึ่งตลาดหลักเป็นนักท่องเที่ยวจากจีน และรายได้การท่องเที่ยวปีเดียวกันอยู่ที่ 1.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ นับเป็นสัดส่วน 7 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ของประเทศ
ด้านฟากฝั่งของ สปป.ลาว ภาพรวมในปี 2015 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 4.68 ล้านคน ขยายตัว 12 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นคนไทยมากที่สุดถึง 2.32 ล้านคน
และกัมพูชาที่ตั้งเป้าหมายปี 2020 ว่าการท่องเที่ยวจะเติบโตขึ้น โดยคาดกว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น 7.5-8 ล้านคน นั่นรวมถึงรายได้ที่มากถึง 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ และอาจจะสามารถสร้างงานได้เพิ่มขึ้นถึง 1 ล้านตำแหน่ง
การพัฒนาแอปพลิเคชันการท่องเที่ยวน่าจะสอดรับกับการคาดการณ์ของ Euromonitor ที่ว่า อัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยของการใช้ช่องทางออนไลน์สำหรับการท่องเที่ยวทั่วโลก (Global Online Travel Revenues Growth) มีอัตราการเติบโตมากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ ต่อปี ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 1.66 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2554 เป็น 3.63 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2556
ในยุคที่เทคโนโลยีมีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้คนตั้งแต่ตื่นนอน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่การท่องเที่ยวจะหยิบจับเอาเทคโนโลยีเข้ามาเป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้างรายได้ ด้วยการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงตลาดทั้งทางตรงและทางอ้อม
“เนื่องจากความสะดวกในการเข้าถึงเทคโนโลยีของนักท่องเที่ยวมีความต้องการที่เฉพาะตัวมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวต้องปรับตัวและเสริมเทคโนโลยีในการสร้างความน่าสนใจ ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องการที่จะผลักดันให้เกิดการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในผู้ประกอบการ SMEs ของไทยและประเทศเพื่อนบ้านในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้มากขึ้น ขณะเดียวกันเป็นการสนับสนุนสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการเทคโนโลยีดิจิทัลไทยให้มีส่วนร่วมในการสร้างความเข้มแข็งให้ตนเองและเศรษฐกิจในสาขาที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจประเทศ” เฉลิมพล ตู้จินดา ผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย สวทช. อธิบาย ก่อนจะขยายความเพิ่มเติมว่า
“ซอฟต์แวร์พาร์ค สวทช. และพันธมิตร เล็งเห็นความสำคัญของเทคโนโลยีดิจิทัล โดยร่วมกันสรรหาเทคโนโลยีมานำเสนอ เพื่อให้เกิดความเข้าใจได้ง่ายมากขึ้น เป็นงานที่รวมสมาคมท่องเที่ยวในประเทศไทยและระหว่างประเทศ รวมถึงผู้ประกอบการในแถบประเทศ CLMVT ให้ได้เรียนรู้เทคโนโลยีดิจิทัลที่เหมาะสมกับธุรกิจท่องเที่ยว อีกทั้งยังสามารถนำไปใช้กับธุรกิจการท่องเที่ยวให้เกิดประโยชน์ ตลอดจนสร้างเครือข่าย โดยประเด็นที่ให้ความสำคัญคือความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว การเปลี่ยนแปลงของระบบดิจิทัลที่มีผลต่อการท่องเที่ยว และการสื่อสารออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพกับนักท่องเที่ยวชาวจีน”
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนเครื่องจักรการท่องเที่ยวจะยังต้องทำงานหนักอย่างต่อเนื่อง คล้ายกับว่าเป็นความหวังของประเทศ เมื่อคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ หรือ ท.ท.ช. มีมติเห็นชอบให้ปี 2561 เป็นปีแห่งการท่องเที่ยวแห่งชาติ ที่มาพร้อมแคมเปญ “ปีท่องเที่ยววิถีไทย เก๋ไก๋อย่างยั่งยืน 2561” หรือ Amazing Thailand Tourism Year 2018
จะเห็นได้ว่าแคมเปญของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ยังคงเน้นจุดขายด้านวัฒนธรรม วิถีชีวิตแบบไทยๆ แม้ว่าปัจจุบันเราจะพยายามอย่างเต็มกำลังที่จะก้าวเข้ามายืนอยู่ในยุคไทยแลนด์ 4.0 ก็ตาม ทำให้เข้าใจได้ หรือนี่อาจจะเป็นวิธีคิดแบบไทยๆ ในเรื่องการท่องเที่ยว ว่าการสร้างแรงขับเคลื่อนในครั้งนี้ คือการถอยหลังกลับไปหารากเดิม
ในช่วงเวลาที่ผู้คนดำรงชีวิตด้วยความเร่งรีบ เพื่อให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของโลก จึงทำให้หลายคนโหยหาความเรียบง่าย และเปิดโอกาสให้ตัวเองได้เรียนรู้วิถีชีวิตที่แปลกใหม่ไปจากเดิม หรือเพียงต้องการหลีกหนีความวุ่นวายในเมืองใหญ่ เหตุผลข้างต้นน่าจะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้การท่องเที่ยวด้านวัฒนธรรมท้องถิ่นเริ่มเห็นโอกาสเติบโต ธุรกิจ โฮมสเตย์ขยายตัวอย่างมาก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการรายใดจะสร้างจุดเด่นได้น่าสนใจมากกว่ากัน
ผู้ประกอบการจำนวนมากนำเสนอวิถีชีวิตที่เรียบง่าย และคัดสรรพื้นที่ รวมไปถึงโลเกชันที่เหมาะกับการพักผ่อนเป็นจุดขาย ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวที่ต้องการพักในสถานที่เงียบสงบ สวยงาม รวมไปถึงโอกาสในการได้เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ
แม้ว่าผู้ประกอบการจำนวนมากจะไม่ได้มีต้นทุนสูงสำหรับทำการตลาด หากแต่ในยุคดิจิทัลที่ช่วยให้อะไรง่ายขึ้น การเลือกแพลตฟอร์มสำหรับทำการโฆษณาทางอินเทอร์เน็ต โดย Facebook ดูจะเป็นเครื่องมือหลักที่ใช้ง่ายและเพิ่มโอกาสการเข้าถึงของนักท่องเที่ยว
กระนั้นหากผู้ประกอบการเพิ่มขีดความสามารถในทักษะด้านภาษาต่างชาติ น่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้ตัวเองเข้ามาเล่นตลาดใหญ่อย่าง Airbnb ได้ เมื่อรูปแบบของผู้ประกอบการที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวใน Airbnb นั้น ส่วนใหญ่แล้วจะเน้นจุดขายด้านวัฒนธรรมท้องถิ่น
นอกเหนือไปจากการชูจุดขายด้านวัฒนธรรมแล้ว ทิศทางการส่งเสริมการตลาดการท่องเที่ยวในปี 2561 ที่การท่องเที่ยวตั้งเป้าว่าจะต้องเติบโตให้ได้ถึงร้อยละ 8 นั้น การรุกตลาดที่มีศักยภาพเป็นรายกลุ่มทั้งในและต่างประเทศ ดูจะเป็นอีกหนทางที่ตอบโจทย์
เมื่อภาพรวมการท่องเที่ยวช่วงปี 2560 นั้น จากการที่พบว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มตลาดกลางบน และกลุ่ม First Visit มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นนั้น เสมือนกระจกเงาสะท้อนให้เห็นถึงผลของการปรับโครงสร้างการตลาดและการขยายฐานตลาดอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญคือยังมีสัญญาณการฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เพิ่มขึ้นแบบกระจายตัว ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา และมีการเดินทางเชื่อมโยงและท่องเที่ยวในจังหวัดรองเพิ่มมากขึ้น
เมื่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวคือเครื่องมือสำคัญในการสร้างรายได้ให้ประเทศ อีกทั้งยังมีแรงสนับสนุน กลุ่มผู้ประกอบการ Startup และ SMEs ในด้านธุรกิจท่องเที่ยว ฉะนั้นคงถึงเวลาที่บรรดาผู้ประกอบการกลุ่มนี้ต้องปรับตัวให้เข้าและเท่าทันสถานการณ์
“การให้นักท่องเที่ยวเข้าใจและมีความสุขในการท่องเที่ยวอย่างแท้จริง เราต้องหาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวที่จะกลับมาเที่ยวอีก อยู่นานขึ้น ท่องเที่ยวแบบลงลึกมากขึ้น ขณะเดียวกันความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมก็เป็นเรื่องที่เราต้องช่วยกันดูแลรักษาธรรมชาติ น้ำ ป่าไม้ และจัดการขยะ รวมถึงลดความเหลื่อมล้ำ กระจายรายได้ ให้ตรงถึงผู้บริโภค ไม่เฉพาะแต่เจ้าของโรงแรมหรือร้านอาหาร แต่คนส่วนใหญ่ของประเทศจะต้องได้รับการเฉลี่ยความสุขจากการท่องเที่ยว ไม่ใช่แค่ร่ำรวยแต่ต้องมีชีวิตอยู่ต่อไป สิ่งสำคัญคือ การสร้างคน สร้างจิตสำนึกแก่คนรุ่นใหม่ ท่องเที่ยว 4.0 จะต้องเติบโตไปพร้อมนวัตกรรมโดยไม่ลืมอัตลักษณ์และวิถีความเป็นไทย นอกจากนี้จะต้องเติบโตไปพร้อมกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน” กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวไว้ในการลงนามความร่วมมือการวิจัยเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยว 4.0
ถ้อยความดังกล่าวน่าจะสามารถวิเคราะห์ถึงทิศทางความเป็นไปของการท่องเที่ยวไทยได้ว่า จะมุ่งไปในหนทางใด กระนั้นคำถามในห้วงเวลานี้ คือ การท่องเที่ยวเป็นเครื่องจักรชิ้นเดียวหรือที่ยังคงทำงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน โอกาสที่จะได้เห็นศักยภาพของเครื่องจักรอื่นๆ ที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้ามีบ้างหรือไม่