หลังยุทธการยึดครองบริษัท เฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ หรือ “เอฟแอนด์เอ็น” และเดินหน้าแผนรุกธุรกิจเครื่องดื่มครบวงจร เจาะตลาดอาเซียนและลุยโรดแม็พสยายปีกสู่ทุกตลาดทั่วโลกกว่า 5 ปี ในช่วงจังหวะเดียวกัน เจริญ สิริวัฒนภักดี เร่งปูพรมสร้างอาณาจักรธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของ “ทีซีซี” อย่างเข้มข้น โดยใช้เครือข่ายของ “เอฟแอนด์เอ็น” ที่มีอสังหาริมทรัพย์อยู่ในพอร์ตมูลค่ามหาศาล และความแข็งแกร่งทุกด้าน ทั้งด้านเงินทุน ความเชี่ยวชาญด้านการบริหาร และโนว์ฮาว ในฐานะผู้ประกอบกิจการด้านอสังหาริมทรัพย์ระหว่างประเทศแบบครบวงจร
ปัจจุบันกิจการอสังหาริมทรัพย์ของเอฟแอนด์เอ็นภายใต้บริษัท เฟรเซอร์ส เซ็นเตอร์พอยท์ ลิมิเต็ด (Frasers Centrepoint Limited หรือ FCL) ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ครอบครองสินทรัพย์ มูลค่ามากกว่า 17,600 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 605,000 ล้านบาท มีธุรกิจหลักในการพัฒนาและบริหารอสังหาริมทรัพย์หลากหลายประเภท เช่น เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ โรงแรม ที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า และอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรม
ธุรกิจหลักของ FCL อยู่ในประเทศสิงคโปร์ ออสเตรเลีย และครอบคลุมกว่า 80 หัวเมืองทั่วโลก ในเอเชียเหนือ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทวีปยุโรป และภูมิภาคตะวันออกกลาง เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย จีน เยอรมนี สเปน อังกฤษ ฝรั่งเศส ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ไทย
ก่อนหน้านี้ FCL จัดตั้งบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นกลไกเข้ามาลงทุนธุรกิจในไทยอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การเข้าลงทุนในบริษัท ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TICON ขยายการลงทุนโรงงานและคลังสินค้าให้เช่า ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะแถบภูมิภาคอาเซียน ทั้งอินโดนีเซีย เวียดนาม และเมียนมาร์
ขณะเดียวกัน ลงทุนในบริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ “โกลเด้นแลนด์” ซึ่งกำลังรุกลงทุนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แบบมิกซ์ยูส ทั้งโครงการเอฟวายไอ เซ็นเตอร์ พระราม 4 และโครงการ “สามย่านมิตรทาวน์” บนที่ดินผืนใหญ่ 13 ไร่ หัวมุมถนนพญาไท-พระราม4 นอกจากนี้ มีธุรกิจโรงแรมและเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ แบรนด์ “Modena by Fraser Bangkok” และเตรียมขยายเพิ่มอีกแห่งภายใต้ชื่อ Capri by Fraser
ล่าสุด บริษัท ทีซีซี แอสเซ็ท (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศตั้งบริษัทร่วมทุน “วัน แบงค็อก โฮลดิ้งส์” แบ่งสัดส่วนหุ้น 2 ฝ่าย ประมาณ 80:20 ผุดโครงการที่ทำลายสถิติการลงทุนสูงสุดของประเทศไทย “One Bangkok” (วัน แบงค็อก) เพราะประเมินเม็ดเงินลงทุนเบื้องต้นมากกว่า 1.2 แสนล้านบาท และถือเป็นโครงการสร้าง “เมือง” ขนาดใหญ่ที่ต่อยอดจากโครงการ One Central Park ในเมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ฯ นำร่องรูปแบบการสร้าง “เมือง” ที่มาจากไลฟ์สไตล์ของ “คน” และความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม
สำหรับ วัน แบงค็อก ของ 2 ยักษ์ใหญ่ ซึ่งอยู่ภายใต้เครือทีซีซีกรุ๊ปของเจริญมีความเป็นเมกะโปรเจ็กต์ ทั้งขนาดเนื้อที่ พื้นที่ใช้สอยและมูลค่าการลงทุนมากกว่าวัน เซ็นทรัลปาร์ค หลายเท่า ซึ่งปณต สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร FCL ย้ำว่า การผนึกกำลังของทีซีซี แอสเซ็ทและเฟรเซอร์สฯ อย่างเป็นทางการ สร้างขีดความสามารถที่ไร้ข้อจำกัดและเงินลงทุนที่พร้อมอย่างเต็มที่
“จะไม่มีโครงการไหนในประเทศไทย ที่เป็นโครงการเดียวที่มีขนาดใหญ่และหลากหลายเท่ากับโครงการนี้ โดยวัน แบงค็อก จะเป็นจุดหมายปลายทางแห่งไลฟ์สไตล์ที่มีสีสันและชีวิตชีวาที่จะทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองสุดยอดปรารถนาที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ผู้คนอยากมาอยู่อาศัย มาทำธุรกิจ และมาเยี่ยมเยือน ตลอดจนดึงดูดบริษัททั้งในประเทศและบริษัทข้ามชาติชั้นนำจากต่างประเทศให้เข้ามาตั้งสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคเออีซีในโครงการ” ปณตกล่าว
ด้าน ซู หลิน ซูน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร วัน แบงค็อก โฮลดิ้งส์ ในฐานะหัวหน้าทีมพัฒนาโครงการกล่าวว่า เฟรเซอร์สฯ ต้องการสร้างโครงการที่เป็นเสมือนเมืองระดับโลกใจกลางกรุงเทพฯ กลายเป็นที่มาของชื่อ “One Bangkok” เพื่อสะท้อนความเป็นไทย รูปแบบการใช้ชีวิตของคนในศตวรรษที่ 21 และสิ่งที่ขาดไม่ได้ คือมาตรฐานคุณภาพที่เหนือกว่าที่เคยมีมา แนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดตามแบบสากล และความหลากหลายในเรื่องรูปแบบการใช้ประโยชน์และสถาปัตยกรรม
ทั้งนี้ แผนแม่บทการก่อสร้างทั้งหมดมีกลุ่มบริษัทด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมในชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา “สกิดมอร์, โอวิงส์ และเมอร์ริล แอลแอลพี (Skidmore, Owings and Merrill LLP; SOM” ซึ่งเป็นบริษัทด้านสถาปัตยกรรมที่ใหญ่ที่สุดในโลก เชี่ยวชาญด้านการออกแบบอาคารพาณิชย์ ตึกสูง และแนวทางสถาปัตยกรรมนานาชาติร่วมสมัย หรือตึกระฟ้ากล่องกระจก เป็นผู้ดูแลร่วมกับผู้เชี่ยวชาญของประเทศไทย ได้แก่ บริษัท Plan Associates และ A49 เพื่อผสมผสานประสบการณ์จากทั้งในและต่างประเทศ
ที่ผ่านมา กลุ่มสกิดมอร์, โอวิงส์ และเมอร์ริล แอลแอลพี เคยสร้างสรรค์ตึกที่สูงที่สุดในโลกหลายตึก เช่น จอห์นแฮนคอค์กเซนเตอร์ ตึกระฟ้าในเมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา สูงเป็นอันดับ 24 ของโลก ความสูง 344 เมตร หรือ 1,127 ฟุต มีทั้งหมด 100 ชั้น พื้นที่กว่า 2.6 แสน ตร.ม.
เซียรส์ทาวเวอร์ หรือ “วิลลิสทาวเวอร์” ซึ่งเคยเป็นตึกที่สูงที่สุดในโลกระหว่างปี 2517-2541 ก่อนถูก “เปโตรนาสทาวเวอร์” ตึกแฝดสูงที่สุดในโลกทำลายสถิติ มีความสูง 442 เมตร หรือ 1,451 ฟุต และมีทั้งหมด 108 ชั้น ตั้งอยู่ที่เมืองชิคาโกเช่นเดียวกัน ปัจจุบันสูงเป็นอันดับที่ 4 ของโลก และตึก “บูร์จคาลิฟา” ในเมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ เคยเป็นตึกที่สูงที่สุดในโลกเมื่อปี 2550 ตัวตึกสูง 828 เมตร จำนวน 162 ชั้น
ตามแผนการลงทุน โครงการ วัน แบงค็อก จะเริ่มก่อสร้างปลายปีนี้และเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2568 ภาพของเมือง “วัน แบงค็อก” ขนาดใหญ่อลังการ ภายในพื้นที่อาคารรวมทั้งหมด 1.83 ล้าน ตร.ม. ประกอบด้วยอาคารสำนักงานเกรดเอ จำนวน 5 อาคาร โรงแรมหรู 5 โรงแรม ที่พักอาศัยระดับอัลตราลักชัวรี่ 3 อาคาร ร้านค้าปลีก และพื้นที่ทำกิจกรรม โดยคาดว่าจะมีผู้คนมากกว่า 60,000 คนเข้ามาทำงานและพักอาศัย
แน่นอนว่า One Bangkok จะไม่ใช่แค่การพลิกโฉมโครงการอสังหาริมทรัพย์และก้าวย่างสำคัญของทีซีซีแลนด์ แต่ยังหมายถึงผลตอบแทนการลงทุนจากการกวาดซื้อหุ้นเอฟแอนด์เอ็นเมื่อปี 2555 มูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท และยังเป็นการเดิมพันทุนก้อนโตอีกครั้งของเจริญ สิริวัฒนภักดี ด้วย