วันจันทร์, ตุลาคม 14, 2024
Home > Cover Story > ชัยชนะของ Shinzo Abe และความหวังครั้งใหม่ของ “Abenomics”

ชัยชนะของ Shinzo Abe และความหวังครั้งใหม่ของ “Abenomics”

 
ผลการเลือกตั้งทั่วไปของญี่ปุ่นเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลภายใต้การนำของ Shinzo Abe สามารถกลับมาครองเสียงข้างมากได้อย่างท่วมท้น สะท้อนมิติมุมมองและเป็นประหนึ่งฉันทามติของประชาชนชาวญี่ปุ่น ที่มุ่งหมายให้ Shinzo Abe นำพาประเทศไปสู่การฟื้นตัวครั้งใหม่ภายใต้กรอบโครงแนวความคิด Abenomics ได้เป็นอย่างดี
 
ชัยชนะของ Shinzo Abe และพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP: Liberal Democratic Party) ในด้านหนึ่งเกิดขึ้นจากข้อเท็จจริงที่ว่า Abenomics กำลังเป็นความหวังเดียวของญี่ปุ่นในการพลิกฟื้นกลับคืนมาสู่หนทางการเติบโตทางเศรษฐกิจอีกครั้ง
 
ขณะเดียวกัน ก็เป็นภาพสะท้อนความล้มเหลวของพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ที่ไม่สามารถนำเสนอนโยบายเพื่อให้เกิดทางเลือกอื่นๆ และเป็นเหตุให้พรรคฝ่ายค้านต้องพ่ายแพ้ยับเยิน และผู้นำพรรคฝ่ายค้านอย่าง Banri Kaieda แห่งพรรค DPJ (Democratic Party Of Japan) ต้องกลายเป็น ส.ส.สอบตกในพื้นที่ของตัวเองและต้องประกาศสละตำแหน่งประธานพรรคไปโดยปริยาย
 
ความอ่อนแอของพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ในด้านหนึ่งอาจหมายถึงความสามารถของ Shinzo Abe ในการผลักดันมาตรการตามแนวทางของ Abenomics ให้บรรลุถึงเป้าหมายที่ต้องการได้อย่างสะดวกง่ายดายยิ่งขึ้น แต่ในทางกลับกันก็สุ่มเสี่ยงที่จะผิดพลาดจากกลไกในการตรวจสอบที่ด้อยประสิทธิภาพ 
 
ยังไม่นับรวมถึงกรณีที่พรรคฝ่ายค้านจะต้องเร่งสังคายนาและสร้างความแข็งแกร่งภายในพรรค เพื่อเรียกคืนความนิยมให้กลับมา ซึ่งทำให้พรรคการเมืองฝ่ายค้านอาจสูญเสียโอกาสในการนำเสนอนโยบายหลักมากขึ้นไปอีก
 
ประเด็นที่น่าสนใจและประเมินกันต่อไปจากผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุดของญี่ปุ่นนี้ก็คือ จำนวนประชาชนที่เดินทางออกมาใช้สิทธิลงคะแนนเสียง อยู่ในระดับที่ถือว่าต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยมีผู้ออกมาใช้สิทธิเพียงร้อยละ 53.3 ของจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด หลังจากที่ในปี 2012 มีผู้ออกมาใช้สิทธิร้อยละ 59.3 
 
กรณีที่เกิดขึ้นนี้ถือเป็นการสะท้อนความไม่พึงพอใจและไมใส่ใจในประเด็นทางการเมืองของชาวญี่ปุ่น ขณะเดียวกันก็สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกเกี่ยวกับนโยบาย Abenomics ว่าจะแก้ไขภาวะเงินฝืดและฟื้นเศรษฐกิจได้จริงหรือไม่ ซึ่งย่อมมีผลต่อคะแนนความนิยมของ Shinzo Abe และ Abenomics ของเขาในระยะยาวด้วย
 
ข้อเท็จจริงที่แสนเปราะบางจากผลของการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ก็คือ แม้พรรค LDP จะสามารถยึดครองชัยชนะจำนวน 223 ที่นั่งในการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต 295 เขตในลักษณะ the first past the post ซึ่งเป็นที่มาให้ LDP ครองเสียงข้างมากในสภา แต่ผู้สมัครจากพรรค LDP เหล่านี้กลับได้คะแนนเสียงเพียงร้อยละ 48 ของผู้มาลงคะแนนเท่านั้น
 
แต่ Shinzo Abe พยายามที่จะไม่ใส่ใจในประเด็นที่ว่านี้ อย่างน้อยก็ในห้วงเวลาปัจจุบัน โดยเขาระบุว่า “ผลการเลือกตั้งคือเสียงของประชาชนที่บอกให้เราเดินหน้า Abenomics” และเขากำลังจะผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ให้ทันก่อนสิ้นปี ควบคู่กับการเรียกร้องให้บรรษัทธุรกิจต่างๆ สนับสนุนนโยบายของเขาด้วยการปรับเพิ่มค่าจ้างแรงงาน เพื่อให้สอดคล้องกับดัชนีราคาผู้บริโภคที่ปรับตัวสูงขึ้นไปก่อนหน้า
 
ประเด็นที่น่าสนใจสำหรับอนาคตของญี่ปุ่นจากผลการเลือกตั้งครั้งนี้อีกประการหนึ่งก็คือ การวางแผนเพื่อโน้มน้าวให้ผู้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน มาร่วมแสดงประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ Shinzo Abe ระบุว่า เป็นรัฐธรรมนูญใฝ่สันติ แต่สำหรับประเทศเพื่อนบ้านของญี่ปุ่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวกลายเป็นประเทศที่พร้อมสร้างความขัดแย้งในความสัมพันธ์ได้ไม่ยาก
 
ไม่นับรวมถึงความพยายามที่จะปลูกฝังและสร้างให้เกิดแนวความคิดชาตินิยมในหมู่เยาวชนญี่ปุ่น ซึ่งได้รับการประเมินด้วยสายตาที่เคลือบแคลงจากทั้งในประเทศและต่างประเทศไม่น้อยเช่นกันว่า แนวทางอนุรักษนิยมและชาตินิยมที่ว่านี้จะนำพาญี่ปุ่นไปสู่ความสำเร็จแบบใด
 
เพราะปัญหาที่ญี่ปุ่นกำลังเผชิญไม่ใช่มิติว่าด้วยอุดมการณ์ทางการเมือง หากแต่เป็นประเด็นทางเศรษฐกิจที่ผูกพันไปถึงปัญหาจำนวนประชากรที่ลดลง การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ รวมถึงการส่งเสริมบทบาทในประเด็นว่าด้วยสถานภาพและสิทธิสตรี ซึ่งมีบทบาทและเป็นกลไกในการหนุนนำระบบเศรษฐกิจระดับครัวเรือนด้วย
 
Shinzo Abe พยายามระบุว่า เขาจะเริ่มลงมือปฏิรูปเชิงโครงสร้างในส่วนที่อ่อนไหว โดยเฉพาะโครงสร้างภาคเกษตรกรรมที่มีการปกป้องอย่างมาก แต่เขากลับหลีกเลี่ยงที่จะกล่าวถึงการผ่อนคลายระเบียบและกฎเกณฑ์ในตลาดแรงงาน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากประเมินว่า กรณีนี้เป็นปัจจัยสำคัญในการหนุนนำเศรษฐกิจยิ่งกว่าเสียอีก
 
ประเด็นที่แหลมคมที่สุดของ Abenomics ก็คือ “ลูกธนูดอกสุดท้าย” หรือลูกธนูดอกที่ 3 เพราะดูเหมือนว่า Abenomics จะยังไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจนสำหรับอนาคตได้ และทำให้ลูกธนูลูกสุดท้าย ที่ควรจะเป็น “ทีเด็ด” ในการจัดการกับปัญหาเรื้อรัง กลายเป็นเพียงมาตรการระยะสั้นอีกมาตรการหนึ่ง ที่กำลังจะเพิ่มภาระหนี้สาธารณะให้หนักหน่วงขึ้นอีกมาตรการหนึ่งเท่านั้น
 
ก่อนหน้านี้ Shinzo Abe ได้ปรับขึ้นภาษี Consumption Tax ระลอกแรกจากระดับร้อยละ 5 มาสู่ร้อยละ 8 เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจ และเป็นเหตุให้ Shinzo Abe ต้องประกาศชะลอการขึ้นภาษีรอบที่สอง ซึ่งตั้งเป้าไว้ที่ร้อยละ 10 ออกไปเป็นอีก 3 ปีข้างหน้า และประกาศเลือกตั้งก่อนกำหนดในครั้งที่ผ่านมา
 
Shinzo Abe พยายามที่จะระบุถึงผลเลือกตั้งในฐานะที่เป็น “ประชามติ” เพื่อหนุนเสริมความชอบธรรมของ Abenomics และชี้วัดความพึงพอใจของประชาชนต่อการบริหารเศรษฐกิจของพรรค LDP แต่ในความเป็นจริงนี่อาจเป็นเพียงหลุมพรางขนาดใหญ่ ที่จะเป็นกับดักสำหรับทั้ง Shinzo Abe และ Abenomics ของเขาไปโดยปริยาย
 
ชัยชนะของ Shinzo Abe ในวันนี้ กำลังจะติดตามมาด้วยการ “รื้อสร้าง” โครงสร้างทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นขนานใหญ่ ภายใต้ความมุ่งหวังว่าจะเป็นไปเพื่อสร้างเสริมความสามารถในการแข่งขันของญี่ปุ่นให้กลับมาผงาดในเวทีเศรษฐกิจระดับนานาชาติได้อีกครั้ง โดยเฉพาะในห้วงยามที่ประชาชนชาวญี่ปุ่นดูเหมือนจะไม่มีทางเลือกที่ดีกว่าเช่นในปัจจุบันนี้
 
หนทางแห่งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นยังคงทอดยาวและรอคอยการพิสูจน์อยู่ข้างหน้าว่า Abenomics จะ hit or miss แต่ดูเหมือนว่าบนตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ Shinzo Abe และ Abenomics ของเขาจะถูกกระแสแห่งความคาดหวัง รอคอยและพร้อมจะเล่นงานเขาผ่านผลสำรวจคะแนนความนิยม ในระยะเวลาที่แสนสั้นเบื้องหน้านี้แล้ว
 
ความสามารถในการสร้างประวัติการณ์ ด้วยการได้ชนะการเลือกตั้งกลับเข้ามาเป็นรัฐบาลในครั้งนี้ ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าหนทางข้างหน้าของรัฐนาวาที่มี Shinzo Abe เป็นผู้นำจะราบเรียบหรือโรยด้วยกลีบกุหลาบ หากแต่เป็นกรณีที่เต็มไปด้วยความยากลำบาก และอาจมีราคาแห่งความสูญเสียครั้งใหญ่เป็นรางวัลตอบแทนสำหรับนักการเมืองที่มีความมุ่งมั่นอย่างเขาก็เป็นได้