วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > BEAUTY ทุ่มงบ ชิงตลาดความงามแสนล้าน

BEAUTY ทุ่มงบ ชิงตลาดความงามแสนล้าน

 
ธุรกิจความงามในประเทศไทย เติบโตควบคู่กับความสวยงามที่เพิ่มขึ้นของหญิงสาว ในขณะที่เครื่องสำอางกลายเป็นสินค้าที่มีความจำเป็น กำลังซื้อผู้บริโภคไม่มีถอย แม้จะประสบภาวะเศรษฐกิจจากปัจจัยต่างๆโดยเฉพาะด้านการเมือง แต่กระนั้นก็ไม่อาจหยุดความอยากสวยอยากงามได้
            
จากพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคปัจจุบันให้ความสำคัญกับการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางรูปแบบต่างๆ มาก จนกลายเป็นสินค้าจำเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง และมีความถี่ในการซื้อ ตลอดจนความหลากหลายในการใช้ผลิตภัณฑ์ต่อบุคคล
            
นพ.สุวิน ไกรภูเบศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิวตี้ คอมมูนิตี้ จำกัด (มหาชน) (BEAUTY) ผู้ดำเนินธุรกิจจำหน่ายปลีกผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและบำรุงผิว ได้เปิดเผยว่า ตลาดเครื่องสำอางมีมูลค่าการตลาดประมาณ125,000 ล้านบาท และคาดว่า ในปีนี้ ตลาดมีแนวโน้มการเติบโตเฉลี่ยประมาณ 7-8% โดยตลาดเครื่องสำอางช่วงครึ่งปีหลัง จะมีความคึกคักมาก และเป็นช่วงไฮซีซันของตลาดเครื่องสำอาง
          
“แม้ในช่วงครึ่งปีแรกภาวะเศรษฐกิจจะมีการชะลอตัว และมีผลกระทบให้ยอดขายในหลายภาคธุรกิจมีการปรับลดลงบ้าง แต่ยอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางของ BEAUTY ยังคงเติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้และอยู่ในระดับที่สูงกว่าภาคธุรกิจเครื่องสำอางโดยรวม ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มศักยภาพด้านการขายให้กับบุคลากร การปรับกลยุทธ์ทางการขายของ SHOP BRAND ต่างๆ ภายใต้การบริหาร ประกอบด้วย BEAUTY BUFFET, BEAUTY COTTAGE และ BEAUTY MARKET” นพ.สุวิน กล่าว
             
3 กลยุทธ์หลัก ซึ่งเป็นแนวคิดของบิ้วตี้ คอมมูนิตี้ ในการรุกตลาดความงาม อันได้แก่ Multichannel, Multi brand  และ Multi  product ในรูปแบบ 4 ผลิตภัณฑ์ ภายใต้โครงสร้างบริษัทฯ อันได้แก่
 
1. บิวตี้ บุฟเฟ่ต์ (Beauty Buffet) แนวคิดในการผสมผสานธุรกิจร้านอาหารบุฟเฟต์ เข้ากับธุรกิจค้าปลีกเครื่องสำอาง โดยมีรูปแบบร้านที่มี brand อาทิ Gino McCray, The Bakery, Scentio และ Lanle โดยกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ กลุ่มวัยรุ่น นักเรียนมัธยม และกลุ่มคนทำงาน 
 
2. บิวตี้ คอทเทจ (Beauty Cottage) แนวคิดการบำรุงผิว เสนอผลิตภัณฑ์บำรุงผิวในรูปแบบย้อนยุค โดยมีแบรนด์เดียวในชื่อ บิวตี้ คอทเทจ โดยกลุ่มเป้าหมายเน้นกลุ่มนักศึกษาและกลุ่มคนทำงาน
 
3. เมด อิน เนเจอร์ (MADE IN NATURE) ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่มีคุณภาพสูง กลุ่มเป้าหมาย ชายหญิงที่ให้ความสำคัญในการดูแลตัวเอง
 
4. บิวตี้ มาร์เก็ต (Beauty Market) อีกหนึ่งแนวคิดในการผสมผสานแนวคิด ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านเครื่องสำอางเฉพาะอย่างเข้าด้วยกัน ภายใต้คอนเซ็ปต์ซูเปอร์มาร์เก็ตความงาม ทั้งนี้ บริษัทได้ปักธงกับแบรนด์กลุ่มนี้มากขึ้น เนื่องจากสามารถสร้างรายได้ และเข้าถึงกลุ่มลูกค้าระดับกว้างได้
 
บริษัทตั้งเป้ารายได้โต 30% และกำไรสุทธิโตไม่ต่ำกว่า 20% จากปี 2556ซึ่งมียอดรายได้รวมทั้งสิ้น  1,002.66  ล้านบาท ในขณะที่กำไรสุทธิ อยู่ที่  211.41 ล้านบาท
 
โดยสัดส่วนรายได้หลักของบริษัทฯ มาจากบิวตี้บุฟเฟต์กว่า 70% ในขณะที่ปีนี้บริษัทฯ มุ่งเน้นไปยังกลุ่ม บิวตี้มาร์เก็ตมากยิ่งขึ้น โดยเพิ่มสัดส่วนรายปีนี้ 10% จากที่ปีที่แล้วที่มีสัดส่วนแค่ 1.3%
 
สอดคล้องกับแผนการตลาดครึ่งปีหลังของ BEAUTY เน้นไปที่การพัฒนาในด้านการบริการ ณ จุดขาย รวมทั้งปรับปรุงระบบ CRM เพื่อเพิ่มยอดขายของร้าน  BEAUTY BUFFET,  BEAUTY COTTAGE และ BEAUTY MARKET สาขาเดิมให้มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันจะเน้นการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้นทั้งในแง่ของการแนะนำผลิตภัณฑ์และช่องทางการจำหน่าย 
          
ขณะเดียวกันเพื่อให้ครอบคลุมและเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มีการขยายสาขาของ SHOP BRAND ต่างๆ ออกไปตามเป้าหมาย โดยปีนี้จะขยายสาขาในประเทศอีก 65 สาขา โดยจะเน้นตามจังหวัดหัวเมืองใหญ่ทั้งนี้  BEAUTY BUFFET เปิดเพิ่ม 30 สาขา ส่งผลให้มีสาขารวม 210 สาขา และ BEAUTY COTTAGE เปิดสาขาเพิ่ม 20 สาขาส่งผลให้มีสาขารวม 70 สาขา และ BEAUTY MARKET เปิดเพิ่มอีก 15 สาขา
 
โดย ณ สิ้นปีนี้ จะมีสาขารวมทั้งสิ้นประมาณ 300 สาขา ครอบคลุมทั้ง 3 แบรนด์ 
 
สำหรับการขยายสาขาไปตลาดต่างประเทศ หลังจากที่บิวตี้ บุฟเฟต์ได้เปิดตัวที่กัมพูชา เมื่อปี 2555 บิวตี้  มีแผนเปิดบิวตี้บุฟเฟต์ และบิวตี้ คอทเทจ อีก 13 สาขา ในกลุ่มประเทศ CLMV : กัมพูชา, ลาว, พม่า และเวียดนาม โดยเปิดในกัมพูชา 4 สาขา, ลาว 3 สาขา, พม่า 2 สาขา และเวียดนาม 4 สาขา ทั้งนี้ จะเป็นในลักษณะตัวแทนจำหน่าย โดยคาดว่าสิ้นปีนี้ สาขาในต่างประเทศน่าจะประมาณ 19 สาขา และน่าจะทำรายได้อยู่ที่ 1% ของรายได้ทั้งหมด
 
นอกจากกลุ่มประเทศ CLMV แล้ว บริษัทฯ ยังมีแผนรุกไปยังประเทศอินโดนีเซียอีกด้วย
             
สำหรับการแข่งขันในตลาดเครื่องสำอาง ถ้าเป็นตลาดทั่วไป จะแข่งขันด้านราคา ระดับสูงจะแข่งขันกันเรื่องแบรนด์ ในขณะที่ระดับกลางจะแข่งขันด้านราคาและคุณภาพ
 
“จุดแข็งของ BB คือ สินค้าเราคุณภาพดี, มีแบรนด์คอนเซ็ปต์ และที่สำคัญ คือมีฐานกลุ่มลูกค้าระดับกลาง ซึ่งเป็นฐานที่แข็งแกร่งที่สุด เป็นตลาดใหญ่ที่สุดและมีความยืดหยุ่น รับสถานการณ์ต่างๆ ได้ดี” นพ.สุวินกล่าว
 
ส่วนในกรณีที่กองทุน Franklin Temperton กองทุนระดับโลก ได้ซื้อหุ้นบิวตี้ จำนวน 30 ล้านหุ้น เมื่อวันที่ 5  มิถุนายน นั้น นพ.สุวินกล่าวว่าน่าจะเป็นผลดีกับบริษัทฯ ในด้านความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ ในขณะเดียวกันกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และอำนาจในการบริหารยังเหมือนเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด
 
ธุรกิจความงาม เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตสวยงามและต่อเนื่องท่ามกลางมูลค่าตลาดนับแสนล้านบาท
 
Relate Story