วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > On Globalization > ปัญหาเรื่องการแต่งงานในค่ายลี้ภัยของชาวซีเรีย

ปัญหาเรื่องการแต่งงานในค่ายลี้ภัยของชาวซีเรีย

 
เมื่อเดือนที่แล้วได้กล่าวถึงปัญหาด้านจิตใจของเด็กซึ่งมีผลกระทบมาจากสงครามในซีเรีย ในฉบับนี้จะขอพูดถึงปัญหาการแต่งงานที่เกิดขึ้นภายในค่ายลี้ภัยของชาวซีเรียในประเทศจอร์แดน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องของการแต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อย การแต่งงานที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และการหย่าร้างที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว 
 
ที่ค่ายลี้ภัย Zaatari ซึ่งเป็นค่ายลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุดของชาวซีเรียอยู่ในประเทศจอร์แดน ค่ายนี้มีชาวซีเรียตั้งแต่เด็กไปจนถึงคนแก่เป็นจำนวนมากที่ลี้ภัยจากสงครามมาอยู่ที่นี่ และเพราะมีคนจำนวนมากย้ายมาอยู่ที่นี่ จึงไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่ที่พ่อแม่หลายๆ คนต้องการให้ลูกแต่งงานกับคนที่ได้พบเจอกันในค่ายลี้ภัยแห่งนี้ เพราะไม่รู้ว่าตัวเองจะต้องอยู่ที่นี่ไปอีกนานเท่าไหร่
การแต่งงานที่เกิดขึ้นในค่ายลี้ภัยแห่งนี้ ทำให้เกิดปัญหาหลักๆ 3 เรื่องด้วยกัน
 
ปัญหาแรกที่เกิดขึ้นคือ การบังคับให้เด็กแต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อย อย่างที่เราทราบกันดีว่า การแต่งงานตั้งแต่ยังเด็กนั้นเป็นเรื่องที่พ่อแม่บังคับให้เด็กผู้หญิงแต่งงานทั้งๆ ที่พวกเธออาจจะไม่ต้องการแต่งงาน และเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะก็ไม่สามารถตัดสินใจได้เองว่าต้องการที่จะแต่งงานหรือไม่ สิ่งเดียวที่พวกเธอทำได้คือการเชื่อฟังพ่อแม่ ดังนั้นพ่อแม่ส่วนใหญ่จึงบังคับลูกสาวให้แต่งงานเมื่อตัวเองเห็นว่าเป็นเวลาที่เหมาะสมแล้วและได้เลือกคนที่เหมาะสมไว้ให้
 
การแต่งงานตั้งแต่ยังเด็กเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในประเทศซีเรีย The United Nations Children’s Fund (หรือที่เรียกย่อๆ ว่า UNICEF) ได้มีการเปิดเผยข้อมูลทางสถิติว่า มีเด็กผู้หญิงชาวซีเรียอย่างน้อย 3% ที่แต่งงานตอนอายุ 15 ปี และอีกประมาณ 13 % ที่แต่งงานตอนอายุ 18 ปี ซึ่งการบังคับให้เด็กแต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อยอยู่นี้เป็นเรื่องที่พบเห็นได้ทั่วไปในเขตชนบท โดยเฉพาะในเขตชนบททางตอนใต้ซึ่งถือว่า การแต่งงานตั้งแต่ยังเด็กนั้นเป็นวัฒนธรรมที่สืบทอดต่อๆ กันมา
 
ในประเทศซีเรีย เด็กผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 17 ปีขึ้นไป และเด็กผู้ชายที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป สามารถแต่งงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ผู้นำทางศาสนาสามารถทำเรื่องไปที่ศาลเพื่อขอให้ผู้ที่มีอายุต่ำกว่ากำหนดคือเด็กผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 13 ปี และเด็กผู้ชายที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไปแต่งงานได้ ถ้าหากพ่อแม่เห็นด้วยกับการแต่งงาน ถึงแม้ว่าในประเทศซีเรียจะมีกฎหมายกำหนดเรื่องอายุของเด็กในการแต่งงาน แต่การแต่งงานของเด็กที่มีอายุน้อยกว่าตามที่กฎหมายกำหนดไว้ก็ไม่ถือว่ามีความผิดใดๆ ดังนั้นในประเทศซีเรียจึงถือว่าเด็กจะมีอายุเท่าไรก็ตามสามารถแต่งงานได้โดยไม่ผิดกฎหมาย
 
พ่อแม่ส่วนใหญ่ที่เห็นด้วยกับการแต่งงานของลูกสาวตั้งแต่ยังเด็กมักจะไม่ได้คิดถึงผลกระทบที่ตามมาว่า เด็กๆ เหล่านี้ยังไม่มีความพร้อมที่จะมีครอบครัว ทำให้มีปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นมากมายหลังจากการแต่งงาน อย่างเช่นปัญหาความรุนแรงในครอบครัว การล่วงละเมิดทางเพศ การขาดโอกาสทางการศึกษา และปัญหาเรื่องสุขภาพ เช่น ร่างกายของเด็กผู้หญิงยังไม่พร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ เป็นต้น
 
The United Nations High Commissioner for Refugees (หรือที่เรียกย่อๆ ว่า UNHCR) และ UNICEF ได้ร่วมกันก่อตั้งหน่วยงานขึ้นมาเพื่อดูแลและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการแต่งงานตั้งแต่ยังเด็กที่เกิดขึ้นภายในค่ายลี้ภัย Zaatari โดยทาง UNHCR และ UNICEF ได้จัดทำวิดีโอขึ้นมาในภาษาอารบิกเพื่อชี้ให้เห็นถึงข้อเสียต่างๆของการแต่งงานตั้งแต่ยังเด็ก (สามารถเข้าไปดูวิดีโอนี้ได้ที่ http://www.youtube.com/watch?v=ZKRDOZIX0Hk หรือสามารถเข้าไปค้นหาวิดีโอชื่อว่า Syrian refugee girls speak out on forced marriage [youth-produced video] ที่ www.youtube.com)
 
วิดีโอนี้ต้องการชี้ให้พ่อแม่เห็นถึงความสำคัญในการให้เด็กๆ เหล่านี้เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีร่างกายและจิตใจที่พร้อมมากกว่าตอนนี้ก่อนที่จะตัดสินใจแต่งงาน เพราะการที่เด็กๆ ได้ไปโรงเรียนจะช่วยให้เด็กๆ เหล่านี้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ประสบความสำเร็จในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการทำงานและครอบครัว เพราะเด็กๆ จะเรียนรู้ว่าการเป็นคู่ชีวิตที่ดีต้องทำอย่างไร และการจะเป็นพ่อแม่ที่ดีควรทำอย่างไร การที่ต้องแต่งงานตั้งแต่ยังเด็กทำให้พวกเขาไม่รู้ว่าจะต้องดูแลและอบรมสั่งสอนลูกๆ ของพวกเขาอย่างไร
 
ในวิดีโอได้เล่าถึงชีวิตของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่ตื่นเต้นมากๆ ว่าเธอจะได้แต่งงานและไม่ต้องเรียนหนังสือแล้ว และเมื่อเธอได้แต่งงาน เธอก็ค้นพบว่าเธอไม่มีความรู้เกี่ยวกับการทำงานบ้านใดๆ เลย เธอไม่สามารถแม้กระทั่งจะชงกาแฟให้สามีของเธอได้ ทำให้สามีของเธอไม่พอใจและตบหน้าเธอ ทำให้เธอรู้สึกแย่มากที่เธอไม่สามารถทำในสิ่งที่สามีของเธอต้องการได้ เธอจึงกลับไปเล่าให้แม่ของเธอฟัง ซึ่งแม่ของเธอก็ไม่สามารถช่วยอะไรเธอได้นอกจากรับฟังปัญหาจากเธอ สุดท้ายแล้วสามีของเธอจึงขอหย่าขาดกับเธอ เพราะเธอไม่สามารถดูแลบ้านและสามีได้
 
วิดีโอนี้แสดงให้เห็นว่าการบังคับให้พวกเด็กๆ แต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อยนั้นทำให้เด็กๆ เหล่านี้ขาดโอกาสทางการศึกษา และยังขาดโอกาสในการเรียนรู้ที่จะเป็นคู่ชีวิตที่ดีและเป็นพ่อแม่ที่ดีอย่างไรในการเลี้ยงดูลูกที่จะเกิดมา
 
ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการถูกบังคับให้แต่งงานตั้งแต่ยังเด็กนั้นนำมาสู่ปัญหาที่สองที่เกิดขึ้นคือ การแต่งงานที่จบลงอย่างรวดเร็วด้วยการหย่าร้าง เพราะเด็กผู้หญิงเหล่านี้ไม่มีวุฒิภาวะและความรู้ที่เหมาะสมที่จะดูแลครอบครัวและสามี
 
ที่ค่ายลี้ภัย Zaatari การแต่งงานที่เกิดขึ้นมักจะจบลงอย่างรวดเร็วภายในเวลา 2 เดือน โดยเฉพาะในกรณีที่เด็กผู้หญิงที่ถูกบังคับให้แต่งงานมีอายุน้อยกว่า 18 ปี  เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ๆ ปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นภายในค่ายลี้ภัยแห่งนี้จนแทบจะกลายเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้น ซึ่งเรื่องนี้จะไม่เกิดขึ้นเลยถ้าไม่มีการบังคับให้เด็กๆ แต่งงานทั้งที่พวกเธออายุยังน้อยอยู่
 
สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนจากวิดีโอที่ UNHCR และ UNICEF ได้จัดทำขึ้นคือ ปัญหาการหย่าร้างเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อมีการบังคับให้เด็กแต่งงาน ซึ่งเรื่องที่เกิดขึ้นในวิดีโอนี้อาจจะเป็นเรื่องสมมุติที่อาจจะเกิดขึ้นในชีวิตจริงของชาวซีเรียก็เป็นได้
 
Alia เป็นชาวซีเรีย อายุ 20 ปี เธอได้เล่าว่า เธอแต่งงานตอนที่เธออายุได้เพียงแค่ 15 ปีเท่านั้น หลังจากที่เธอแต่งงานกับญาติของเธอเพียงแค่ 2 เดือนเท่านั้น สามีของเธอก็ตัดสินใจหย่าขาดจากเธอทันที Alia ได้กล่าวว่า การแต่งงานตั้งแต่ยังเด็กเปรียบเหมือนตราบาปในชีวิตของเธอ ทุกวันนี้เธอพยายามเก็บเรื่องนี้ให้เป็นความลับและไม่ต้องการให้ใครรู้ว่าเธอแต่งงานและหย่าขาดมาแล้ว เพราะในสังคมนั้นผู้หญิงที่ถูกหย่าขาดเปรียบเหมือนคนที่ไม่มีค่าอะไรเลย ทำให้เธอกลัวว่าถ้าหากคนอื่นๆ รอบๆ ตัวเธอรู้เรื่องนี้เข้าจะปฏิบัติกับเธอไม่เหมือนเดิมโดยเฉพาะเพื่อนร่วมงาน
 
Alia ยังได้กล่าวเตือนมาถึงบ้านที่มีลูกสาวว่า อย่าให้ลูกสาวของพวกเขาต้องแต่งงานตั้งแต่ยังเด็ก เพราะถ้าสุดท้ายแล้วต้องหย่าขาดจากกันก็จะทำให้เด็กผู้หญิงเหล่านี้รู้สึกแย่ที่จะต้องมีชีวิตอยู่ต่อไปในสังคมที่ดูถูกพวกเธอ
 
ปัญหาที่สามที่เกิดขึ้นจากการแต่งงานภายในค่ายลี้ภัยคือ การแต่งงานที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย การแต่งงานที่ถูกต้องตามกฎหมายนั้น คู่แต่งงานจะต้องไปที่ศาล Sharia ที่เมือง Mafraq ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ใกล้ค่ายลี้ภัยที่สุด เพื่อขอเอกสารจากทางการว่าทั้งสองคนได้แต่งงานกันถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งมีค่าใช้จ่ายทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 1,344 บาท
 
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นภายในค่ายลี้ภัยแห่งนี้คือ คู่บ่าวสาวที่ต้องการแต่งงานภายในค่ายลี้ภัย จะไปหาผู้นำทางศาสนาหรือคนเฒ่าคนแก่ของหมู่บ้านให้รับรองการแต่งงานในครั้งนี้ ซึ่งการรับรองของบุคคลเหล่านี้ ไม่ถือว่าเป็นการแต่งงานที่ถูกต้องตามกฎหมายของประเทศซีเรียและจอร์แดน ถึงแม้ว่าการแต่งงานที่เกิดขึ้นภายในค่ายลี้ภัยต่อหน้าผู้นำทางศาสนาหรือผู้สูงอายุของหมู่บ้านจะมีการเขียนและเซ็นสัญญาเกี่ยวกับการแต่งงานที่เกิดขึ้นนี้ สัญญานี้ก็ไม่ถูกรับรองทางกฎหมายว่าสามารถมีผลบังคับใช้ได้ เพราะผู้นำทางศาสนาและผู้สูงอายุของหมู่บ้านไม่ได้ถูกแต่งตั้งมาจากสถานทูตของประเทศซีเรียหรือจอร์แดนว่าให้มีอำนาจทางกฎหมายในการรับรองการแต่งงานที่เกิดขึ้น ดังนั้นถึงแม้ว่า การแต่งงานที่เกิดขึ้นจะมีการเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร แต่การแต่งงานในครั้งนี้ก็ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้ผู้หญิงหรือเด็กผู้หญิงที่แต่งงานกลายเป็นภรรยาที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย นอกจากนี้ลูกที่เกิดขึ้นมาจากการแต่งงานในครั้งนี้ก็จะไม่สามารถกลายเป็นบุตรที่ถูกต้องทางกฎหมายด้วยเช่นกัน และถ้าหากมีการหย่าร้างเกิดขึ้นในภายหลังผู้หญิงก็จะไม่สามารถเรียกร้องอะไรได้เลย เพราะการแต่งงานในครั้งนี้ไม่ได้ดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมายที่กำหนดไว้
 
Issam Arabiya ซึ่งเป็นหัวหน้าผู้พิพากษาของศาล Sharia ในประเทศจอร์แดน ได้ออกมากล่าวว่า สิ่งที่เขากังวลเป็นอย่างมากเกี่ยวกับการแต่งงานที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายคือ ถ้าหากในอนาคตผู้ชายได้ให้การปฏิเสธว่าได้แต่งงานกับผู้หญิงคนนี้ และปฏิเสธที่จะจ่ายค่าสินสอดต่างๆ ผู้หญิงจะไม่มีสิทธิ์ใดๆ ในการเรียกร้องเอาค่าสินสอดจากผู้ชายได้เลย เพราะการแต่งงานของพวกเขาไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
 
ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า การแต่งงานในศาสนาอิสลามนั้นไม่เหมือนกับบ้านเรา เมื่อตอนที่แต่งงานกันฝ่ายชายไม่จำเป็นต้องเสียค่าสินสอดให้กับฝ่ายหญิง แต่ถ้าหากมีการหย่าร้างกันขึ้นมาผู้ชายจะต้องเสียค่าสินสอดให้กับผู้หญิง ดังนั้นถ้าการแต่งงานที่เกิดขึ้นไม่มีผลรับรองทางกฎหมายผู้ชายเหล่านี้จึงสามารถปฏิเสธได้ว่า พวกเขาไม่ได้แต่งงานและไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเสียค่าสินสอดให้กับผู้หญิง
 
ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ภายในค่ายลี้ภัยชี้ให้เห็นว่าผู้หญิงกลายเป็นผู้ได้รับผลกระทบตั้งแต่การถูกบังคับให้แต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อย และถ้าหากมีการหย่าร้างเกิดขึ้นก็จะได้รับการดูถูกจากสังคม และยังรวมไปถึงการเสียสิทธิ์ที่จะเรียกร้องเอาค่าสินสอดจากฝ่ายชายในกรณีที่เกิดการหย่าร้างขึ้น เพราะการแต่งงานที่เกิดขึ้นไม่ถูกต้องตามหลักกฎหมาย ดังนั้นผู้ที่เป็นพ่อแม่จึงควรคิดให้รอบคอบก่อนที่จะตัดสินใจให้ลูกๆ ของพวกเขาแต่งงาน โดยเฉพาะการบังคับให้แต่งงานตั้งแต่พวกเขายังเด็กอยู่
 
Column: Women in Wonderland