เมื่อพูดถึงสุขภาวะทางอารมณ์ เราต่างรู้ดีว่าความสุขเป็นสิ่งที่ต้องการ และยิ่งมีอารมณ์เชิงลบน้อยลงเท่าไร เรายิ่งรู้สึกดีขึ้นเท่านั้น แต่ขณะนี้วงการวิทยาศาสตร์ให้ความสำคัญกับประเด็นที่ว่า การจะบรรลุความสุขอย่างแท้จริงได้ เราจำเป็นต้องมีปัจจัยด้านความคิด ความรู้สึก และอารมณ์ด้านอื่นๆ อีก 8 ข้อเป็นองค์ประกอบด้วยดังนี้
1. ความภูมิใจ
หากต้องการเพิ่มความเชื่อมั่นและประสบความสำเร็จในการทำงานมากขึ้น คุณต้องมีความภูมิใจในตนเองเพิ่มขึ้น Dr.Lisa Williams นักจิตวิทยาสังคมจากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์กล่าว่า “ความภูมิใจเป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นเมื่อคุณบรรลุงานที่ลงมือทำจนลุล่วง เป็นความรู้สึกที่ทำให้เรายังใช้ความพยายาม และทำงานต่อไปเพื่อบรรลุเป้าหมายให้ได้”
ดังนั้น คราวต่อไป หากคุณประสบความสำเร็จในการทำสิ่งใดแล้ว ให้เวลาภูมิใจกับตนเองสักสองสามนาที คิดด้วยว่าคุณรู้สึกดีเพียงใด แล้วนึกทบทวนถึงสิ่งที่คุณทำจนประสบความสำเร็จว่า คุณต้องใช้ทักษะใดบ้าง และมีใครช่วยคุณบ้าง เมื่อต้องเผชิญภาวะที่หนักหน่วงอีก ให้นึกถึงสิ่งเหล่านี้ทั้งหมดอีกครั้ง
2. ความอยากรู้
เมื่อเร็วๆ นี้ นักวิจัยสหรัฐฯ ประกาศว่า ความอยากรู้เป็น “หนึ่งในหกปัจจัยแห่งความรู้สึกดีที่นำไปสู่ความสุข” ซึ่งตรงกับความคิดของ Tim Drake นักเขียนร่วมหนังสือ You Can Be As Young As You Think ที่กล่าวว่า “ความอยากรู้ทำให้คุณไม่ตกหลุมพรางแห่งความขี้เกียจ และไม่คิดถึงสรรพสิ่งในทำนองขาวกับดำเท่านั้น เพราะความคิดนี้ทำให้คุณเสียโอกาสในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต”
Drake ยังบอกข่าวดีเกี่ยวกับการพัฒนาความอยากรู้ให้เกิดขึ้นในตัวเราว่า ทำได้ง่ายๆ ด้วยการตั้งคำถามกับตัวคุณเองสักสองสามข้อในแต่ละวัน เช่น “ฉันจะเปิดโลกทัศน์ให้กว้างขึ้นได้อย่างไร” จากนั้นลงมือทำ เช่น เวลาซื้อหนังสือพิมพ์ที่อ่านประจำในตอนเช้า คุณซื้ออีกฉบับหนึ่งที่ไม่เคยอ่านมาก่อน เพื่อให้ได้รับแนวคิดและความคิดเห็นใหม่ๆ หรือเพียงแค่เข้า Google แล้วพิมพ์คำศัพท์ในหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นที่คุณอ่านแล้วไม่เข้าใจ เพื่อค้นหาคำตอบให้ตนเอง “ยิ่งคุณอยากรู้มากเพียงใด คุณยิ่งต้องการเรียนรู้และหาประสบการณ์มากขึ้นเพียงนั้น” Drake สรุป
3. หาสิ่งชูรสชีวิต
วันนี้มีอะไรทำให้คุณมีความสุขบ้าง สังเกตเห็นไหมว่า สุนัขตัวโปรดกระดิกหางกี่ครั้งขณะคุณเดินเข้ามาในห้อง คุณรู้สึกไหมว่าผลไม้หลังอาหารเช้าอร่อยเป็นพิเศษ เพราะสุกงอมพอดี ถ้าคุณสังเกตเห็นและมีความสุขกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ดังกล่าวอยู่แล้ว แสดงว่าคุณหาสิ่งชูรสชีวิตเป็น แต่ถ้าไม่… ถึงเวลาต้องตื่นตัวฝึกฝนตนเองตามแนวคิดที่ว่านี้เสียแล้ว เพราะผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า ช่วยให้คุณมีความสุขเป็นเท่าทวีคูณเลยทีเดียว
“การหาสิ่งชูรสให้ชีวิต หมายถึงการที่คุณสังเกตเห็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้คุณมีความสุขได้ตลอดทั้งวัน เมื่อสังเกตเห็นสิ่งหนึ่งแล้ว ให้พยายามดื่มด่ำกับความสุขนั้นให้เต็มที่แม้เพียงไม่กี่วินาทีก็ตาม” ที่ปรึกษา Cherie Levy อธิบาย
ดังนั้น ในแต่ละวัน ให้ฝึกแสวงหาหรือสังเกตเห็นสิ่งเล็กน้อยที่ทำให้คุณมีความสุข จากนั้นดื่มด่ำกับความสุขนั้น หรือนึกถึงสิ่งที่ทำให้คุณมีความสุขในภายหลัง ยิ่งคุณฝึกทั้งสามขั้นตอนดังกล่าวได้มากเท่าไร คุณจะยิ่งไวต่อสิ่งชูรสชีวิตมากขึ้นเท่านั้น นั่นหมายถึงความสุขที่ได้มาอย่างง่ายดาย
4. ความอิจฉา
Alysha Casey นักจิตวิทยาคลินิกกล่าวว่า “เรารู้สึกอิจฉาเมื่อเราปรารถนาจะครอบครองคุณลักษณะหรือความสำเร็จอื่นบ้าง และความรู้สึกนี้สามารถนำเราไปสู่ความภูมิใจในสิ่งที่มีคุณค่าของตนเอง ซึ่งอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาตนเองให้มากขึ้นก็ได้”
กุญแจของการใช้ประโยชน์จากความอิจฉาอยู่ที่การพินิจพิเคราะห์สิ่งที่ทำให้คุณรู้สึกอิจฉา เช่น ถ้าเพื่อนซื้อเสื้อผ้าชุดใหม่มาสวมใส่ด้วยราคาแพงลิ่ว คุณอาจรู้สึกอิจฉาที่เพื่อนมีเงินก้อนโตซื้อเสื้อผ้า แต่ยอมรับว่าเพื่อนมีเสรีภาพในการทำสิ่งดีๆ ให้กับตนเอง
Casey เตือนให้ระวังความแตกต่างเล็กน้อยที่ว่า “ความอิจฉาจะกลายเป็นพิษร้ายทันทีที่คุณรู้สึกอิจฉาและอยากครอบครองในสิ่งที่เป็นของคนอื่น ซึ่งทำให้คุณรู้สึกแย่ลงอีก”
5. วางเฉย
นักจิตวิทยา Julian McNally ตั้งข้อสังเกตว่า “คนไม่มีความสุขมักใช้เวลาไปกับการกังวลถึงความหมายที่ซ่อนเร้นอยู่ในคำพูดหรือพฤติกรรมของผู้อื่นมากเกินไป ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีมูลความจริงด้วยซ้ำ”
เขาแนะนำให้วางเฉยในสิ่งต่างๆ ดังกล่าวให้ได้ เพราะจะช่วยให้เรามีความสุขมากขึ้นและกระวนกระวายน้อยลง
ทำอย่างไรล่ะ
“คุณต้องพาตัวเองให้ห่างไกลจากปฏิกิริยาที่บั่นทอนจิตใจ” เช่น ถ้าใครคนหนึ่งพูดหรือกระทำบางสิ่งบางอย่างที่ทำให้คุณเศร้าใจ ให้รีบพาตัวเองออกจากจุดนั้น แล้วพูดกับตนเองว่า “เมื่อคนคนนั้นทำอย่างนั้น ฉันสังเกตว่ารู้สึกอย่างนั้นๆ แต่นั่นเป็นเพียงการรับรู้ของฉันที่มีต่อสิ่งที่เกิดขึ้น เป็นความรู้สึกภายในของตัวฉันเอง และฉันไม่จำเป็นต้องตอบสนองต่อความรู้สึกทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับตนเอง”
ยิ่งคุณฝึกฝนตนเองให้พูดอย่างนี้ได้บ่อยครั้งมากเท่าไร คุณจะยิ่งพบว่าตนเองให้ความสนใจกับสิ่งไร้สาระเหล่านั้นน้อยลงมากขึ้นเรื่อย ๆ
6. ความกลัว
ลงมือทำสิ่งที่คุณหวาดกลัวให้ได้ทุกวัน… เป็นเหมือนมนต์คาถาของผู้ที่ต้องการมีชีวิตอยู่อย่างสมบูรณ์ก็ว่าได้
ศาสตราจารย์ Steven Southwick จากมหาวิทยาลัยเยลเห็นด้วยในแง่ที่ว่า “ความกลัวสามารถใช้เป็นฐานเพื่อพัฒนาความกล้า ความนับถือตนเอง และอำนาจ ไม่ว่าเราจะยอมให้ความกลัวเป็นตัวบั่นทอนหรือส่งเสริมตัวเรา ความกลัวย่อมมีอิทธิพลอย่างมหาศาลต่อการดำเนินชีวิตของเราอยู่ดี”
คิดง่ายๆ ว่า ยิ่งคุณหวาดกลัวมากท่าไร คุณยิ่งเสี่ยงน้อยลงเท่านั้น เพราะความกลัวได้กลายเป็นอุปสรรคยับยั้งไม่ให้คุณทำในสิ่งที่คุณอยากทำมาก แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า คุณควรเสี่ยงทำอะไรลงไปอย่างโง่เขลาเพียงเพื่อเอาชนะความกลัว เพียงแต่ให้ถามตัวคุณเองสักนิดถ้าต้องทำในสิ่งที่คุณหวาดกลัวว่า “จะเกิดผลเลวร้ายที่สุดอย่างไร”
ถ้าความเสี่ยงสูงเกินไป ให้คิดหาวิธีลดความเสี่ยงลง แล้วจึงเดินหน้าต่อไป ถ้าเสี่ยงไม่มากนัก ให้เดินหน้าได้เลย โดยอยู่ในเงื่อนไขที่เตรียมการณ์ไว้ดีแล้ว
7. ความสงบ
ในโลกแห่งความวุ่นวายไม่รู้จบที่แม้แต่กิจกรรมเพื่อผ่อนคลายของเราก็ยังทำให้จิตใจของเราไม่อยู่นิ่งนี้ ทำให้ชีวิตของเราขาดความสงบไปอย่างน่าเสียดาย แต่ตลอดทั้งวัน สมองของเราต้องการเวลาสงบนิ่งทุก 90 นาทีโดยประมาณ เพื่อประมวลผลข้อมูลที่ได้รับ ไม่อย่างนั้นแล้วคุณจะมีปัญหาทั้งที่เกี่ยวกับพลังงาน สมาธิ และการนอน
นักจิตวิทยา Julian McNally แนะนำว่า “คุณควรพยายามสงบนิ่งวันละสองสามครั้ง ภาวะนี้เรียกว่า พยายามทำให้ตนเองกลายเป็นศูนย์กลาง คือคุณยังรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นรอบตัว แต่ยังนิ่งเฉย วิธีฝึกที่ง่ายที่สุดเรียกว่า ‘เห็น ได้ยิน รู้สึก’ ซึ่งทำได้วันละหลายครั้ง ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตาม ด้วยการวางมือสิ่งที่คุณกำลังทำ ผ่อนคลาย และมองดูสิ่งรอบตัวสักอึดใจหนึ่ง จากนั้นเบนความสนใจไปยังทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นแหล่งกำเนิดเสียงที่คุณได้ยิน และท้ายที่สุดให้ความสนใจเฉพาะสิ่งที่ทำให้คุณรู้สึกได้เพียงนาทีเดียว จากนั้นหันกลับมาดำเนินกิจกรรมในชีวิตประจำวันต่อไป”
8. ความยืดหยุ่น
เมื่อต้องเผชิญหน้ากับประสบการณ์ที่เต็มไปด้วยความกดดัน บางคนล้มเหลวก้าวข้ามไปไม่ได้ ขณะที่หลายคนกลับแข็งแกร่งขึ้น “ความแตกต่างอยู่ที่คุณสมบัติของความยืดหยุ่นนั่นเอง ที่ทำให้บางคนสามารถโค้งงอได้ภายใต้แรงกดดันโดยไม่แตกหักลง” ศาสตราจารย์ Steven Southwick อธิบาย “และเมื่ออยู่ในโลกที่เราต่างรู้ดีว่า ความกดดันเป็นอันตรายมากเพียงใด การพยายามพัฒนาคุณสมบัติความยืดหยุ่นให้เกิดขึ้นจึงสำคัญมาก”
การเป็นคนยืดหยุ่นโดยธรรมชาตินั้น มักได้จากพันธุกรรม แต่คุณสามารถพัฒนาขึ้นได้เช่นกัน หนังสือ Resilience ของศาสตราจารย์ Steven Southwick กับ Dennis Charney พบว่า มีองค์ประกอบ 10 อย่างด้วยกันที่ทำให้คุณมีความรู้สึกดีขึ้น เช่น มีความหวัง ไม่หวาดกลัว กล้าทดสอบตนเองในช่วงต่างๆ ของชีวิต เป็นต้น
ศาสตราจารย์ Southwick แนะนำว่า “สำหรับผมแล้ว วิธีที่ง่ายที่สุดคือ หาบุคคลต้นแบบ แล้วเอาแบบอย่างพวกเขา เช่น มองหาคนที่อยู่รอบตัวผู้สามารถรับมือได้ดีภายใต้แรงกดดัน หรืออ่านอัตชีวประวัติของผู้ที่เคยเผชิญกับสิ่งเลวร้าย แล้วก้าวข้ามไปได้ด้วยดี จากนั้นเรียนรู้และนำมาปรับใช้กับตัวคุณเอง เพราะลึกๆ แล้วมนุษย์เราก็เป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง และสัตว์เรียนรู้ได้ดีที่สุดด้วยการเลียนแบบนั่นเอง”
ที่มา: นิตยสาร GoodHealth
Column: Well–Being
เรียบเรียง: ดรุณี แซ่ลิ่ว