วันพฤหัสบดี, ธันวาคม 12, 2024
Home > Life > ระวังคำกล่าวอ้างในอาหารสำหรับเด็ก

ระวังคำกล่าวอ้างในอาหารสำหรับเด็ก

 

ผลการวิจัยของกลุ่ม Physical Activity, Nutrition and Obesity Research Group แห่ง Sydney School of Public Health ระบุว่า การตลาด “อาหารสำหรับเด็ก” ไม่เพียงได้ผลดีในการขายสินค้าแต่ละแบรนด์ แต่ยังเชื่อมโยงกับการผลักดันให้เด็กบริโภค “อาหารขยะ” มากขึ้น

แม้แต่องค์การอนามัยโลกยังเตือนว่า การทำตลาดอาหารคุณภาพต่ำแก่เด็ก อาจเป็นสาเหตุให้เด็กน้ำหนักตัวเพิ่ม ซึ่งเป็นประเด็นที่น่ากังวลอย่างมาก เพราะปัจจุบันมีเด็กถึงหนึ่งในสี่มีปัญหาน้ำหนักตัวเกินอยู่แล้ว

Jane Caro ผู้บรรยายวิชาการโฆษณาและนักวิจารณ์สังคม อธิบายปรากฏการณนี้ว่า “โดยทั่วไปเด็กอายุต่ำกว่า 12 – 13 ปียังไม่ได้ถือเงินเอง พวกเขาจึงตกเป็นเป้าของการโฆษณา เพราะเป็นผู้มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อของพ่อแม่”

นอกจากนี้ ยุคดิจิตอลยังเอื้อให้เกิดโอกาสด้านการตลาดรูปแบบใหม่อย่างแท้จริง จากการที่เด็กเล่นไอแพดหรือโทรศัพท์มือถือด้วยตนเอง อย่างไรก็ตาม Caro ให้ข้อคิดว่า เมื่อมีโฆษณาผลิตภัณฑ์คุณภาพทางอาหารต่ำที่มีเด็กเป็นเป้าหมาย เราจำเป็นต้องร้องเรียนไปที่ผู้ผลิตไม่ใช่นักโฆษณา “นักการตลาดมีหน้าที่ทำตลาดสินค้าที่ได้รับมอบหมาย เราจำเป็นต้องศึกษาส่วนประกอบของอาหาร ถ้าคุณเอาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพมาให้ นักการตลาดก็ทำตลาดให้อยู่แล้ว”

ดังนั้น ในฐานะพ่อแม่ คุณจะต้านการตลาดอันชาญฉลาดที่ดึงลูกๆ ของคุณให้คล้อยตามได้อย่างไร และหาวิธีให้ลูกๆ ได้บริโภคอาหารคุณภาพดีที่สุดได้อย่างไร

ที่สำคัญ ผลการวิจัยยังระบุว่า เด็กที่ดูโทรทัศน์วันละ 2 ชั่วโมงจะต้องดูโฆษณาอาหารขยะเท่ากับ 3 วันต่อปี

สิ่งที่พึงสำเหนียกให้มากคือ อาหารว่างที่เคยถูกจัดให้เป็นอาหารสำหรับบริโภคเป็นครั้งคราว ปัจจุบันกลับแทรกตัวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของอาหารมื้อเที่ยงประจำวันในโรงเรียนเพราะการตลาดอันแยบยลนั่นเอง
คำกล่าวอ้างที่พึงระวัง 5 ข้อ

Jenn Mads นักกำหนดอาหารของสมาคมเด็กแข็งแรงเตือนว่า ข้อกล่าวอ้างเกี่ยวกับส่วนดีของอาหารสามารถดึงความสนใจของเราให้เบี่ยงเบนจากส่วนประกอบที่ให้คุณค่าทางอาหารต่ำลงได้อย่างไม่น่าเชื่อ คำกล่าวอ้างดังกล่าวได้แก่

1 “all natural” ถ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากส่วนประกอบธรรมชาติ แต่ยังมีไขมันอิ่มตัวหรือน้ำตาลปริมาณมากได้ ดังนั้น มัฟฟิน “all natural” จึงอาจมีส่วนประกอบของเนย น้ำตาล และพลังงานมากเท่ามัฟฟินสูตรปกติได้

2 “65% fruit juice” อาจตีความได้ว่า ผลิตภัณฑ์นี้มีคุณค่าทางอาหารดีเทียบเท่าผลไม้หนึ่งชิ้น แต่ถ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของน้ำผลไม้ร้อยละ 65 ต้องคิดต่อด้วยว่า ส่วนประกอบที่เหลืออีกร้อยละ 35 ล่ะ โดยทั่วไปมักเป็นน้ำ สารให้ความหวาน เช่น น้ำตาลหรือน้ำผลไม้เข้มข้น และส่วนประกอบอื่น ๆ เช่น ยากันเสีย

3 “low fat” ฟังดูแล้วดีมาก แต่อาหารไขมันต่ำมักชดเชยรสชาติที่ขาดหายไปด้วยการเพิ่มน้ำตาลปริมาณมากกว่าปกติ ทำให้ได้รับพลังงานสูงกว่าอาหารสูตรปกติ

4 “no added sugar “ หรือ “sugar free” ผลิตภัณฑ์ที่อ้างว่าปราศจากน้ำตาล มักถูกทำให้หวานด้วยสารเพิ่มความหวานสังเคราะห์ ขณะที่ผลิตภัณฑ์ที่อ้างว่า ไม่เพิ่มน้ำตาลอาจะมีการเพิ่มน้ำผลไม้ (ซึ่งเป็นน้ำตาลเหมือนกัน) ดังนั้น ความหวานจากสารดังกล่าวจึงเย้ายวนเด็กๆ อยู่ดี

5 “gluten free” คุณไม่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงอาหารที่มีกลูเต็น ยกเว้นแพทย์วินัจฉัยว่าลูกของคุณเป็นโรคแพ้กลูเต็นหรือข้าวสาลี ไม่จำเป็นว่าอาหารปราศจากกลูเต็นต้องเป็นอาหารเพื่อสุขภาพที่เหนือกว่าผลิตภัณฑ์อื่นๆ เสมอไป หนำซ้ำอาจมีกากใยน้อยกว่า ที่สำคัญอาจมีไขมันอิ่มตัวสูง และมีเกลือปริมาณเท่าอาหารสูตรปกติ จึงแนะนำให้อ่านฉลากให้ถ้วนถี่

 

Column: Well-Being
ดรุณี แซ่ลิ่ว – เรียบเรียง

ที่มา: นิตยสาร Healthy Food