วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > The Global Link > Women in Wonderland > ความรุนแรงทางเพศในคุก

ความรุนแรงทางเพศในคุก

เราอาจจะเคยดูละครหรือภาพยนตร์หลายๆ เรื่องที่บอกเล่าชีวิตของนักโทษและในหลายๆ ครั้งที่ภาพยนตร์เหล่านี้สื่อให้เห็นว่านักโทษที่เพิ่งเข้าไปอยู่ในนั้นมักจะถูกข่มเหงรังแกจากคนที่อยู่มานานแล้ว แม้กระทั่งผู้คุม ไม่ใช่เพียงแค่การทำร้ายร่างกาย แต่ยังรวมไปถึงการข่มขืนอีกด้วย ไม่ว่าคุณจะเป็นนักโทษชายหรือหญิงคุณก็ล้วนแต่มีโอกาสที่จะโดนข่มขืนได้เช่นกัน

เรื่องเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่เรื่องสมมุติหรือ มีอยู่แต่เพียงแค่ในจินตนาการเท่านั้น หากแต่ว่าเรื่องเหล่านี้มันเกิดขึ้นจริงๆ ในเรือนจำ

เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กระทรวงยุติธรรมของประเทศสหรัฐอเมริกาได้ออกมาเปิดเผย ผลการสำรวจอดีตนักโทษของปี 2552 จากการสอบถามนักโทษที่เคยถูกคุมขังมาก่อนในช่วงระยะเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา เมื่อได้ทำการสอบถามนักโทษชายและหญิงทุกๆ 10 คน จะต้องมีนักโทษอย่างน้อย 1 คน ที่เคยถูกข่มขืนเมื่อครั้งที่ยังถูกขังอยู่ หรือประมาณ 60,000 คนต่อปีที่ถูกข่มขืนเมื่อถูกขังคุก

กระทรวงยุติธรรมยังเปิดเผยอีกว่าจากการสำรวจครั้งนี้พบว่าจำนวนนักโทษชายที่ถูกข่มขืนนั้นมีมากกว่านักโทษหญิงเสียอีก ในจำนวนนักโทษชายที่ตกเป็นเหยื่อทั้งหมด เป็นนักโทษเกย์ 39% นักโทษกระเทยประมาณ 34% และนักโทษชายปกติ ประมาณ 3.5% ซึ่งพวกเขาเหล่านี้ถูกข่มขืนจากนักโทษด้วยกันเอง

ในส่วนของนักโทษหญิงนั้นมีจำนวนผู้ที่ตกเป็นเหยื่อน้อยกว่านักโทษชาย มีนักโทษหญิงที่มีลักษณะชอบผู้หญิงด้วยกันเองหรือเลสเบี้ยนนั้นโดนข่มขืนจากนักโทษด้วยกันเองอยู่ที่ 13% และจากจำนวนนักโทษหญิงทั้งหมด เกือบหนึ่งในห้าของ จำนวนผู้ที่ตกเป็นเหยื่อถูกข่มขืนจากผู้คุมชาย

สถานการณ์การใช้ความรุนแรงทางเพศในคุกยิ่งแย่ลงไปอีกเมื่อกระทรวงยุติธรรมรายงานว่า นักโทษที่เป็นเด็กและเยาวชนตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงทางเพศในสถานที่กักกัน ที่อเมริกากฎหมายสำหรับเด็กและเยาวชนก็ไม่ต่างจากบ้านเรา เด็กที่ทำผิดจะต้องถูกกักกันอยู่ที่สถานพินิจ จากการสอบถามเด็กและเยาวชนที่ถูกคุมความประพฤติ พบว่าในการสอบถามเด็กๆ ทุกๆ 8 คนจะพบว่ามีอย่างน้อย 1 คนที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง

จากการเปิดเผยผลการสำรวจในครั้งนี้ทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายๆ คนรวมไปถึงประชาชนและองค์กรอิสระต่างๆ เห็นว่าปัญหาความ รุนแรงทางเพศในคุกเป็นปัญหาที่ร้ายแรงและต้องรีบแก้ไขอย่างเร่งด่วน ถึงแม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะได้ผ่านพระราชบัญญัติการกำจัดการข่มขืนในเรือนจำ (The Prison Rape Elimination Act หรือเรียกสั้นๆ ว่า PREA) ตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา

พระราชบัญญัติฉบับนี้มีใจความหลักๆ คือ ต้องการลดความรุนแรงทางเพศในคุกให้หมดลง โดย มีข้อเรียกร้องแบบกว้างๆ ให้คุกของรัฐบาลกลางและในรัฐต่างๆ พยายามลดจำนวนความรุนแรงในคุกลง และจะต้องมีการตรวจสอบทุกครั้งที่มีการแจ้ง ว่านักโทษถูกข่มขืน

นับจากวันที่เริ่มใช้จนถึงตอนนี้ พระราชบัญญัติฉบับนี้ก็ได้ประกาศใช้มาเกือบ 10 ปีแล้ว แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับไม่เป็นไปตามที่รัฐบาลคาดหวัง เมื่อยังมีนักโทษจำนวนมากถูกข่มขืนเมื่อถูกจองจำอยู่ในคุก และดูเหมือนว่ารัฐบาลอเมริกาจะไม่ได้สนใจที่จะแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง

ในขณะเดียวกันหลังจากที่กระทรวงยุติธรรม ได้ออกมาเปิดเผยตัวเลขในครั้งนี้ องค์กรอิสระต่างๆ พากันออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ และส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่าเป็นเพราะรัฐบาลของประธานาธิบดีโอบามาไม่ให้ความสำคัญเรื่องการใช้ความรุนแรงทางเพศในเรือนจำ ทำให้นโยบายที่เกี่ยวกับ เรื่องนี้ไม่ได้รับความสนใจและปรับให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น

เมื่อรัฐบาลอเมริกาเองก็ไม่ใส่ใจเท่าที่ควรทำให้กระทรวงยุติธรรมเองก็ไม่ใส่ใจเรื่องนี้เท่าที่ควรเช่นกัน

อย่างเช่นกรณีการสั่งคุมความประพฤติของเด็กและเยาวชน ถึงแม้ว่าตามกฎหมายของอเมริกาเด็กและเยาวชนจะถูกแยกกักกันคนละพื้นที่กับผู้ใหญ่ แต่ในหลายๆ ครั้งเนื่องจากขั้นตอนของการส่งตัวหรืออะไรก็ตามทำให้เด็กๆ เหล่านี้จะต้องไปพักชั่วคราวร่วมกับนักโทษทั่วไปก่อนที่จะถูกส่งไปอยู่ในสถานที่กักกันสำหรับเด็กและเยาวชน ซึ่งปัญหานี้อาจจะมีส่วนทำให้ความรุนแรงทางเพศในคุกนั้นร้ายแรงยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ถึงแม้ว่าในอเมริกาจะมีพระราชบัญญัติการกำจัดการข่มขืนในเรือนจำ แต่พระราชบัญญัติฉบับนี้ก็มีผลบังคับใช้เพียงแค่เรือนจำของรัฐบาลกลางเท่านั้น อย่างที่กล่าวไว้ตอนต้นว่าพระราชบัญญัติทำได้แค่ขอความร่วมมือจากเรือนจำในแต่ละรัฐเท่านั้น ดังนั้นพระราชบัญญัติฉบับนี้จึงไม่สามารถลดปัญหาเรื่องนี้ได้ดีเท่าที่ควร

จากการเปิดเผยผลการสำรวจในครั้งนี้ยังทำให้เรื่องของนักโทษหญิงมาริริน เชอร์รี่ถูกหยิบยก ขึ้นมาพูดถึงกันอีกครั้ง มาริรินถูกตำรวจจับกุมในข้อหามียาเสพติดในครอบครองและถูกศาลสั่งจำคุกเป็นเวลา 9 เดือน นับตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนกันยายน 2543

มาริรินถูกขังอยู่ที่เรือนจำของรัฐบาลกลางในรัฐเทกซัสถูกผู้คุมนักโทษข่มขืนเมื่อตอนที่เธออยู่ในคุก เจ้าหน้าที่คนนี้พูดกับมาริรินว่าอย่าคิดที่จะ นำเรื่องนี้ไปบอกใครหรือแม้แต่คิดจะฟ้องใครก็ตาม เพราะไม่มีใครที่ไหนที่จะเชื่อคำพูดของนักโทษอย่าง เธอ อย่างไรเสียคนส่วนใหญ่ก็ต้องเชื่อคำพูดของผู้คุมอย่างเขาอยู่แล้ว และเจ้าหน้าที่คนนี้ก็พูดถูก เพราะหลังจากที่มาริรินแจ้งเจ้าหน้าที่ผู้คุมนักโทษคนอื่นๆ ว่าเธอถูกข่มขืน ไม่มีเจ้าหน้าที่คนไหนเชื่อเธอเลยสักคน จากนั้นเจ้าหน้าที่คนนี้ก็มาข่มขืนเธออีก มาริรินจึงเก็บกางเกงในของเธอที่มีคราบอสุจิของ เจ้าหน้าที่คนนั้นและซ่อนกางเกงในนั้นไว้จนกระทั่ง เธอถูกปล่อยตัวออกจากคุก จึงได้แจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่คนนั้น โดยให้ตำรวจพิสูจน์กางเกงในซึ่งมีคราบอสุจิของเจ้าหน้าที่คนนั้นที่เธอเก็บซ่อนเอาไว้เพื่อเป็นหลักฐานว่าเธอถูกข่มขืนขณะที่อยู่ในคุก และเจ้าหน้าที่คนนั้นก็ถูกจับในข้อหาข่มขืนในเวลาต่อมา

เรื่องนี้ถือได้ว่าเป็นเรื่องอื้อฉาวเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งของอเมริกาก็ว่าได้ เพราะเมื่อคนที่ถูกคุมขังอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐบาลกลับกลายเป็นเหยื่อของความรุนแรงทางเพศโดยคนของรัฐบาลซะเอง

ดังนั้นในการแก้ปัญหาเรื่องนี้กระทรวงยุติธรรมจึงจับมือทำงานร่วมกับกระทรวงความมั่นคงในการหาทางลดความรุนแรงทางเพศในคุกลง โดยกระทรวงยุติธรรมประกาศว่า ในการแก้ปัญหาครั้งนี้ทั้งสองกระทรวงมีความเห็นพ้องกันว่าพระราชบัญญัติการกำจัดการข่มขืนจะต้องถูกแก้ไขให้มีความรัดกุมมากยิ่งขึ้นเพราะของเดิมที่มีอยู่เนื้อหาค่อนข้างกว้างเกินไปและ จะทำงานร่วมกับรัฐบาลในรัฐต่างๆ ให้แต่ละรัฐออกกฎหมายที่มีความคล้ายคลึงกันในข้อหลักๆ เพื่อที่จะขจัดปัญหาความรุนแรงทางเพศในคุกให้หมดลง

ในการแก้ไขในครั้งนี้มีอยู่ 3 ข้อหลักๆ ด้วยกัน ที่จะต้องมีการเพิ่มเติมเข้าไปในพระราชบัญญัติ และกฎหมายในรัฐต่างๆ ทั่วอเมริกาก็ควรที่จะมีกฎเกณฑ์เหล่านี้อยู่เช่นกัน

อย่างแรกที่สุดคือ พระราชบัญญัติฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ไม่ได้ครอบคลุมถึงสถานกักกันของการตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งหมายความว่าคนต่างชาติที่ถูกจับมาคุมขังหรือกักบริเวณไว้ภายใต้อำนาจของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจะไม่ได้รับความคุ้มครองจากพระราชบัญญัติฉบับนี้ ดังนั้นการแก้ไขในครั้งนี้สถานกักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจะถูกรวมอยู่ด้วย เพราะฉะนั้นไม่ว่าคุณจะเป็นคนอเมริกันหรือคนต่างชาติหากต้องถูกคุมขังหรือถูกคุมตัวไว้ก็จะได้รับการคุ้มครองจาก กฎหมายไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงในระหว่างที่ถูกคุมขัง

แต่รัฐบาลกลางไม่สามารถควบคุมกฎหมายของแต่ละรัฐได้จึงทำได้เพียงขอความร่วมมือจากรัฐต่างๆ ให้ออกกฎหมายที่มีความคล้ายคลึงกัน

ข้อที่สองที่จะมีการเพิ่มเติมเข้าไปคือ ในการ ตรวจค้นหาสิ่งของต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอาวุธหรือยาเสพติดที่อาจจะถูกลักลอบนำเข้ามาในคุก โดยเฉพาะ อย่างยิ่งการค้นตามร่างกายนักโทษและผู้คุมจะต้องเป็นเพศเดียวกันเท่านั้น กฎหมายจะไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ที่เป็นเพศตรงข้ามกับนักโทษเข้ามาค้นร่างกายของนักโทษ ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้นักโทษถูกลวนลามหรือถูกฉวยโอกาสจากผู้คุม

และข้อสุดท้ายคือ ในการรับเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่เป็นผู้คุมนักโทษตามเรือนจำต่างๆ เจ้าหน้าที่เหล่านี้จะต้องถูกตรวจสอบประวัติโดยละเอียดเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาความรุนแรงทางเพศตามมาทีหลัง ยกตัวอย่างเช่นถ้าหากผู้ที่มาสมัคร เป็นเจ้าหน้าที่คุมนักโทษมีประวัติการใช้ความรุนแรง ทางเพศ เช่นมีคดีการทำอนาจารในที่สาธารณะหรือ การทำร้ายร่างกายสามีหรือภรรยามาก่อน ก็จะไม่ได้รับการพิจารณาให้เป็นผู้คุม

นอกจาก 3 ข้อหลักๆ ที่กล่าวมา กระทรวงยุติธรรมและกระทรวงความมั่นคงจะยังทำการศึกษา ปัญหาเรื่องนี้ต่อไปเพื่อที่จะเพิ่มกฎข้อบังคับต่างๆ ให้รัดกุมยิ่งขึ้นเพื่อป้องกันการข่มขืนในคุกและลดจำนวนของผู้ที่ถูกข่มขืนในคุกลง

ดังนั้นในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับแก้ไขในครั้งหน้า การข่มขืนในคุกก็น่าจะมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ เช่นกัน

แม้ว่าคนที่ถูกคุมขังจะทำผิดกฎหมายใดๆ ก็ตามไม่ว่าจะมีความผิดเล็กน้อยเช่นลักขโมยหรือผู้ที่มีความผิดรุนแรงมากเช่นฆ่าคนตาย แต่ทุกคนก็ล้วนมีสิทธิความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน ไม่ใช่ว่าเมื่อคนใดคนหนึ่งทำผิดแล้วถูกจำคุก จะหมายความ ว่าคนเหล่านี้ไม่มีสิทธิเท่าเทียมกับคนอื่น ดังนั้นความรุนแรงทางเพศในคุกจึงเป็นเรื่องที่ควรจะถูกขจัดให้หมดไป เพราะเมื่อพวกเขาทำผิดและต้องถูกจำคุกก็เป็นเรื่องเศร้าแล้ว หากยังมาถูกข่มขืนในคุกอีกก็คงเป็นเรื่องที่แย่มาก

ประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ช่วงสองสามเดือนมาหน้านี้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าทำการตรวจค้นหาโทรศัพท์มือถือและยาเสพติดในเรือนจำ บางทีรอบหน้านอกจากจะสนใจเพียงแต่เรื่องของยาเสพติด เจ้าหน้าที่ตำรวจรวมถึงรัฐบาลไทยก็น่าจะลองตรวจเรื่องความรุนแรงทางเพศในคุกด้วยเช่นกัน