วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > อาหาร-เครื่องดื่ม ตัวเลือกแรกในธุรกิจแฟรนไชส์

อาหาร-เครื่องดื่ม ตัวเลือกแรกในธุรกิจแฟรนไชส์

แฟรนไชส์ธุรกิจอาหารเครื่องดื่มเติบโตขึ้นจากข้อเท็จจริงของการเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่ทุกคนต้องบริโภคด้วย

การเติบโตของธุรกิจอาหารเครื่องดื่ม ไม่ได้ดำเนินไปโดยมีผู้ประกอบการรายใหญ่ ทั้งไทยเบฟเวอเรจ หรือกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ เป็นผู้แสดงหลักแต่โดยลำพังเท่านั้น หากแต่ในความเป็นจริง ธุรกิจอาหารเครื่องดื่ม ยังเติบโตขึ้นจากข้อเท็จจริงของการเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่ทุกคนต้องบริโภคด้วย
 
นอกจากนี้ การเติบโตขึ้นของธุรกิจอาหารเครื่องดื่ม ยังประกอบส่วนไปด้วยผู้ประกอบการรายย่อยๆ ที่ผันตัวเข้ามาดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ (franchise)ซึ่งมีส่วนหนุนนำให้จักรกลทางเศรษฐกิจในแต่ละระนาบดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง
 
จากผลการสำรวจล่าสุดของสมาคมแฟรนไชส์ไทย ระบุว่า ปัจจุบันมีร้านค้าที่อยู่ในระบบแฟรนไชส์ รวมมากถึงกว่า 85,000 แห่ง โดยมีอัตราการเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ยปีละประมาณร้อยละ 20 หรือมีสาขาเปิดใหม่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละกว่า 7,000-8,000 แห่ง หรือมีร้านค้าแฟรนไชส์เปิดใหม่กว่า 20 แห่งต่อวันเลยทีเดียว
 
การเติบโตของธุรกิจแฟรนไชส์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจในกลุ่มอาหารเครื่องดื่ม ในด้านหนึ่งเป็นผลมาจากความต้องการที่จะเป็นผู้ประกอบการและเป็นเจ้าของธุรกิจเอง มากกว่าที่จะเป็นลูกจ้างหรือพนักงานบริษัทในแบบเดิม ขณะที่บางส่วนประเมินว่าธุรกิจแฟรนไชส์ สามารถเป็นอาชีพที่ช่วยสร้างรายได้เสริมได้เป็นอย่างดี
 
ขณะเดียวกัน มาตรการส่งเสริมธุรกิจแฟรนไชส์จากภาครัฐ ทั้งกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมส่งเสริมการส่งออก รวมถึงการสนับสนุนด้านเงินทุนจากสถาบันการเงิน ต่างเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมให้ธุรกิจแฟรนส์ไชน์ในไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงปีที่ผ่านมา (2555-2556) มูลค่าการตลาดของธุรกิจแฟรนไชส์ มีมูลค่าถึงกว่า 2.38 แสนล้านบาท
 
“กลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม นับเป็นกลุ่มที่นักลงทุนให้ความสนใจมากที่สุด รองลงมาเป็นกลุ่มการศึกษา และกลุ่มค้าปลีก ตามลำดับ ซึ่งการลงทุนมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบร้านค้า ด้วยเงินลงทุน 2-3 ล้านบาท  หรือ แบบเล็กๆ  ด้วยเงินลงทุน ระดับหมื่น” สมจิตร ลิขิตสถาพร นายกสมาคมแฟรนไชส์ไทย ระบุ
 
ความนิยมในธุรกิจแฟรนไชส์ไทยที่เพิ่มมากขึ้นนี้ ดำเนินควบคู่ไปกับการคัดเลือกลักษณะธุรกิจและแบรนด์ของสินค้า  รวมถึงความสามารถในการทำตลาด ซึ่งจากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีการประเมินว่าแนวโน้มตลาดแฟรนไชส์ในประเทศ ภายหลังการเปิดเสรีทางการค้าภายใต้ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ในปี 2558 จะมีการขยายตัวขึ้นอีก
 
โดยมูลเหตุสำคัญในกรณีดังกล่าวอยู่ที่ผู้ประกอบการจากต่างประเทศ ทั้งจากมาเลเซีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น  เกาหลีใต้ และจีน จะใช้ประเทศไทยเป็นฐานในการลงทุนด้านระบบ เพื่อขยายตัวเข้าสู่ตลาดอาเซียน ซึ่งผู้ประกอบการคนไทยควรศึกษาเพื่อเป็นโอกาสทางธุรกิจและรองรับกับการเติบโตนี้
 
ทั้งนี้ หากพิจารณาจากสัดส่วนของธุรกิจแฟรนไชส์ มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าในครึ่งหลังของปี 2556 นี้ ธุรกิจแฟรนไชส์จะเติบโตอีก 25% จากปัจจัยของภาพรวมทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น การเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการ รวมถึงความพยายามในการแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่ถือเป็นปัญหาใหญ่ ซึ่งรูปแบบและระบบของธุรกิจแฟรนไชส์ อาจเป็นทางออกวิธีหนึ่งในการแก้ปัญหานี้
 
สำหรับความเคลื่อนไหวล่าสุดของผู้ประกอบการธุรกิจแฟรนไชส์ อยู่ที่การจัดสัมมนาใหญ่ประจำปี ภายใต้หัวข้อ “ไขความสำเร็จสุดยอดธุรกิจแฟรนไชส์ 2556”  หรือ “ Key Success The Best Franchise 2013” ซึ่งสมาคมแฟรนไชส์ไทยร่วมกับบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ในช่วงกลางเดือนมิถุนายนนี้ 
 
แม้เป้าหมายการสัมมนาได้รับการระบุว่า เป็นการให้ความรู้กับผู้สนใจที่จะดำเนินธุรกิจและ เพิ่มเติมความรู้ให้กับผู้ประกอบการแฟรนไชส์  ผ่านการถ่ายทอดประสบการณ์ของผู้ประกอบการเฟรนไชซีที่ประสบผลสำเร็จ  ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมจากปัจจัยหลักๆ ที่จะส่งผลกระตุ้นให้ธุรกิจเฟรนไชส์เติบโต
 
แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ปฏิเสธได้ยากว่า ธุรกิจแฟรนไชส์ที่กำลังเป็นที่สนใจ ส่วนใหญ่ถูกครอบงำโดยผู้ประกอบการรายใหญ่จากเครือเจริญโภคภัณฑ์
 
อนิษฐา ธนมิตต์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า จากที่บริษัทฯ ได้ดำเนินธุรกิจนี้มานานกว่า 20 ปี ทำให้พบว่าการขยายสัดส่วนของธุรกิจแฟรนไชส์ เป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยจากผลสำรวจพบว่า แฟรนไชส์ 7-11 ประมาณ 37% เคยประกอบอาชีพพนักงานบริษัท และต้องการมีธุรกิจเป็นของตนเอง ในขณะที่อีก 30% ทำธุรกิจอื่นอยู่ และเปลี่ยนมาทำแฟรนไชส์ 7-11

“ปัจจุบัน 7-11 มีสาขารวมกว่า 3,900 สาขา และคาดว่าจะมีร้านแฟรนไชส์เพิ่มขึ้น รวมเป็น 4,294 สาขาในสิ้นปี 2556 ทั้งนี้จะมีการเปิดร้าน 7-11เพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 300-400 สาขาในแต่ละปี  และมีจำนวนแฟรนไชซีที่บริหารร้านมานานกว่า 10 ปี จำนวนกว่า 100 ราย”

ในมุมมองของเซเว่น-อีเลฟเว่น รูปแบบของธุรกิจยังดำเนินไปภายใต้โมเดลธุรกิจเดิม แต่มุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการเซเว่น-อีเลฟเว่นใช้ประสบการณ์และความชำนาญในการบริหารร้าน มาขยายสาขาเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันแฟรนไชชี ที่บริหารร้านมากกว่า 1 สาขา มีประมาณ 800 ราย โดยการขยายสาขาขึ้นอยู่กับรูปแบบการลงทุนและสัดส่วนของส่วนแบ่ง ทั้งนี้เมื่อมีสาขามากขึ้น ก็แสดงให้เห็นถึงความยั่งยืนสำหรับเจ้าของธุรกิจนี้ด้วย

“เซเว่น-อีเลฟเวนเป็นธุรกิจ SME เล็กๆ ที่ใช้เงินทุนล้านกว่าบาท แฟรนไชซีเซเว่น-อีเลฟเว่นส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจรุ่นใหม่ ซึ่งการทำธุรกิจแฟรนไชส์ให้ประสบความสำเร็จนั้น นอกจากความตั้งใจจริงแล้ว คุณต้องมีใจรักการบริการ มีความอดทน ดังนั้นการมีทักษะด้านการบริการที่ดี  จึงเป็นพื้นฐานสำคัญในการทำธุรกิจนี้ให้ประสบความสำเร็จ” อนิษฐาระบุ

อย่างไรก็ดี นอกเหนือจาก 7-11 ซึ่งเป็นประหนึ่ง flag ship จาก CP All แล้วเครือเจริญโภคภัณฑ์ ยังมีหน่วยงานด้านแฟรนไชส์ที่พร้อมจะรุกคืบในธุรกิจอาหารเครื่องดื่มอีกหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจห้าดาว ซึ่งเริ่มจากไก่ย่างห้าดาว ขยายไปสู่ข้าวมันไก่ห้าดาว และไก่ทอดห้าดาว หรือผู้ประกอบการรายอื่นๆ ที่พยายามรุกเข้าสู่ธรกิจนี้ เช่น ในกรณีของ ส.ขอนแก่น ที่กำลังสร้างตลาด “ขาหมูยูนนาน” ซึ่งล้วนสะท้อนภาพความตื่นตัวและความเป็นไปในธุรกิจแฟรนไชส์ด้านอาหารเครื่องดื่มได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ จากทิศทางดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าตลาดแฟรนไชส์ในประเทศไทยมีโอกาสโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  และพร้อมจะเป็นทางเลือกการลงทุนที่น่าสนใจในอนาคต เพราะมีปัจจัยที่สนับสนุนจากทั้งจากภาครัฐและเอกชน ที่เข้ามาช่วยส่งเสริมและสนับสนุนในการสร้างมาตรฐานให้ระบบแฟรนไชส์ในประเทศให้สามารถพัฒนาศักยภาพของธุรกิจตัวเองเข้าสู่มาตรฐานเท่าเทียมในระดับสากล  และสามารถแข่งขันทั้งตลาดภายในและขยายออกไปนอกประเทศมากขึ้น

แต่เมื่อถึงบทสรุปสุดท้ายในบั้นปลาย คงต้องประเมินเช่นกันว่า การเติบโตของธุรกิจแฟรนไชส์นี้ สร้างประโยชน์สูงสุดให้กับผู้ประกอบการระดับใดมากกว่ากัน