เมื่อสิ้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีข่าวอุบัติเหตุไฟไหม้โรงงานผลิตเสื้อผ้าในบังกลาเทศ มีผู้หญิงเสียชีวิตด้วยกันถึง 7 คน เมื่อเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นทำให้หลายฝ่ายเริ่มวิตกกังวลถึงความปลอดภัยของแรงงานหญิงเหล่านี้ เพราะประเทศในแถบเอเชียใต้อย่าง บังกลาเทศ และปากีสถานนั้น เป็นที่ตั้งของโรงงานเสื้อผ้าเป็นจำนวนมาก และเจ้าของโรงงานเหล่านี้ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของพนักงาน ภายในโรงงานไม่มีการติดตั้งบันไดหนีไฟหรือทางออกฉุกเฉินไว้ ไม่มีแม้กระทั่งถังดับเพลิงเพื่อไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน และไม่มีการฝึกซ้อมหนีไฟให้กับพนักงาน ดังนั้นพนักงานที่ทำงานในโรงงานเหล่านี้ในแต่ละวันล้วนแต่ทำงานไปพร้อมกับความเสี่ยงอันตราย โรงงานเย็บผ้าที่เป็นเหมือนความฝันที่จะเปลี่ยนชีวิตจึงกลายเป็นโรงงานนรกที่ต้องทำงานด้วยความเสี่ยงทุกวันแทน
ผู้หญิงที่อาศัยอยู่ในเขตชนบทของประเทศบังกลาเทศและปากีสถานส่วนใหญ่นั้นจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ลำบาก จึงไม่เป็นที่แปลกใจนักที่พวกเธอเหล่านี้จะย้ายเข้ามาอยู่ในเมืองหลวงเพื่อหางานทำและมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น และเพราะพวกเธอเหล่านี้มีการศึกษาน้อย อาชีพในฝันของพวกเธอที่จะทำให้ครอบครัวมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นก็คือ การทำงานในโรงงานเย็บเสื้อผ้า ที่ไม่ได้ต้องการคนที่มีการศึกษาสูง แต่โรงงานเย็บผ้าเหล่านี้ไม่ได้เป็นสถานที่ที่เหมาะสำหรับการทำงานเลย เพราะโรงงานเหล่านี้ไม่เคยสนใจเรื่องความปลอดภัยและสวัสดิการของพนักงาน สิ่งเดียวที่พวกเขาสนใจคือ ต้องการจ่ายค่าจ้างแรงงานถูก
อย่างเช่นที่เมืองธากา (Dhaka) ประเทศบังกลาเทศ ซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่เป็นอันดับที่สองของโลกในการผลิตเสื้อผ้านั้น ในแต่ละปีจะมีผู้หญิงจากชนบทย้ายเข้ามาในเมืองหลวงประมาณ 400,000 คน เพื่อทำงานในโรงงานเย็บผ้า พวกเธอเหล่านี้ต้องทำงานกันทุกวันโดยที่ไม่มีวันหยุด รวมไปถึงวันหยุดราชการด้วย พวกเธอต้องทำงานอย่างน้อยวันละ 8 – 12 ชั่วโมง และได้รับเงินเดือนเพียงแค่ 31 เหรียญต่อเดือน (ประมาณ 930 บาท) และถ้าพวกเธอทำงานตอนกลางคืนหรือทำงานล่วงเวลาก็จะได้เงินเดือนเพิ่มเป็น 37 เหรียญต่อเดือน (ประมาณ 1,110 บาท) ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่น้อยมากเมื่อเทียบกับเวลาที่พวกเธอต้องทำงาน
เงินค่าแรงที่พวกเธอได้รับนั้น ถือว่าน้อยมากๆ เมื่อเทียบกับจำนวนชั่วโมงที่พวกเธอต้องทำงาน และนี่ก็เป็นจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นแล้ว หลังจากที่ในปี 2553 ได้มีการออกมาเดินประท้วงเพื่อขอขึ้นเงินเดือน ซึ่งได้มีการปรับค่าแรงจาก 20 เหรียญ ขึ้นเป็น 37 เหรียญต่อเดือน แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกโรงงานในบังกลาเทศจะยอมจ่ายค่าแรงในอัตรานี้ให้ ดังนั้นจึงมีผู้หญิงอีกหลายๆ คนที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่านี้ทั้งที่พวกเธอต้องทำงานหนักหลายชั่วโมง
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าเศร้ามาก เพราะโดยทั่วไปแล้วแรงงานทุกคนควรจะทำงานเพียงแค่วันละ 8 ชั่วโมงเท่านั้น แต่ผู้หญิงในโรงงานเย็บผ้าเหล่านี้กลับต้องทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมง และได้รับค่าจ้างน้อยมากหรือบางคนอาจจะได้รับค่าจ้างน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดด้วยซ้ำไป ถึงแม้ว่าเรื่องนี้จะเป็นที่รับรู้กันไปทั่วในประเทศบังกลาเทศ แต่ก็ไม่มีเจ้าหน้าที่คนไหนที่จะมาตรวจสอบเรื่องพวกนี้อย่างจริงจัง ทำให้เจ้าของโรงงานเป็นผู้ที่ได้เปรียบและแรงงานกลายเป็นผู้ที่เสียเปรียบไปโดยปริยาย
อีกเรื่องที่จะปฏิเสธไม่ได้เลยเมื่อมีการว่าจ้างแรงงานหญิงเป็นจำนวนมากคือ เรื่องความรุนแรงทางเพศ มีหลายๆ โรงงานที่หัวหน้างานเป็นผู้ชาย และลวนลามแรงงานหญิงที่ทำงานอยู่ในโรงงาน โดยเฉพาะผู้หญิงที่ต้องทำงานตอนกลางคืน ซึ่งเรื่องนี้แทบจะกลายเป็นเรื่องปกติของโรงงานเย็บผ้าเลยทีเดียว นอกจากนี้ผู้หญิงที่ทำงานล่วงเวลา แล้วต้องเดินทางกลับบ้านตอนกลางคืนก็มักจะต้องถูกแซว หรือถูกลวนลามทางสายตา ซึ่งนี้ก็เป็นเรื่องปกติอีกเช่นกันที่แรงงานหญิงจะต้องพบเจออยู่ทุกวัน
เรื่องความปลอดภัยของแรงงานหญิงนี้เริ่มมีผู้คนให้ความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อ International Labor Rights Forum หรือเรียกสั้นๆว่า ILRF ได้เปิดเผยรายงานโดยใช้หัวข้อรายงานฉบับนี้ว่า Deadly Secrets ซึ่งได้ออกมาเรียกร้องให้โรงงานผลิตเสื้อผ้าในแถบประเทศเอเชียใต้ อย่างประเทศปากีสถาน และบังกลาเทศนั้น ให้ความสำคัญกับชีวิตของพนักงานทุกคน ด้วยการให้ความรู้เกี่ยวกับอุบัติเหตุต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในขณะที่ทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดเหตุไฟไหม้ นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้เจ้าของโรงงานปรับปรุงและซ่อมแซมอาคารสถานที่ภายในโรงงานเมื่อถึงเวลาที่ต้องมีการซ่อมบำรุง และขอให้เจ้าของโรงงานรับฟังถึงปัญหาต่างๆ ภายในโรงงานที่พนักงานได้ร้องเรียนและควรปรับปรุงแก้ไข
ILRF ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า เมื่อพวกเขาไปเยี่ยมเยียนโรงงานผลิตเสื้อผ้าเหล่านี้ พวกเขามักจะได้ยินแต่การเรียกร้องจากพนักงานหญิงที่ทำงานในโรงงานว่า อยากให้โรงงานมีความปลอดภัยมากกว่านี้ เพราะทุกวันนี้ชีวิตของพวกเธอเหมือนแขวนอยู่บนเส้นด้ายที่มีอันตรายอยู่ตลอดเวลา และเมื่อพวกเธอไปบอกผู้จัดการก็ไม่ได้รับความสนใจ แต่จะได้รับความสนใจก็ต่อเมื่อมันอันตรายอย่างรุนแรงซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ เรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ความปลอดภัยของพนักงงานควรจะเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด
นอกจากนี้ ILRF ยังได้ชี้แจงว่าปัญหาเรื่องความปลอดภัยของพนักงานโรงงานเสื้อผ้าเกิดจาก 2 ส่วนด้วยกัน ส่วนแรกคือ ปัญหาเรื่องโครงสร้างของโรงงานผลิตเสื้อผ้า ที่บางโรงงานไม่มีทางออกฉุกเฉิน ไม่มีแม้กระทั่งถังดับเพลิง เพื่อใช้ในยามฉุกเฉิน และทางเข้าออกโรงงานยังมีน้อยมาก ทำให้เมื่อเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ พนักงานส่วนใหญ่จะต้องเบียดเสียดกันออกมา และสุดท้ายมักจะเบียดกันออกมาไม่ทันและถูกไฟไหม้อยู่ในโรงงานแทน ส่วนปัญหาที่สองก็คือ เจ้าของโรงงานไม่สนใจที่จะซ่อมบำรุงตึกและอุปกรณ์ต่างๆ เมื่อพนักงานมาแจ้งว่ามีการชำรุด ซึ่งทำให้พนักงานต้องทำงานกับความเสี่ยงซึ่งอาจจะถึงแก่ชีวิตได้
เรื่องการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารและการให้ความรู้เรื่องการหนีไฟเมื่อเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะเมื่อสิ้นปีที่แล้ว ทั้งที่บังกลาเทศและปากีสถานล้วนแต่เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานทำเสื้อผ้า ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตในทั้งสองประเทศถึง 374 คน และถ้านับตั้งแต่ปี 2549 มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ไฟไหม้ในทั้งสองประเทศ มากกว่า 700 คน
ดังนั้นการมีทางออกฉุกเฉินในโรงงานและการให้ความรู้กับพนักงงานว่าควรทำอย่างไรเมื่อเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก และประเทศในเอเชียใต้ควรจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และควรมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เพราะประเทศเหล่านี้เป็นประเทศหลักในการส่งออกเสื้อผ้าไปให้กับร้านค้าต่างๆ ในยุโรปและอเมริกา และยอดการสั่งทำเสื้อผ้าก็เพิ่มขึ้นในแต่ละปีด้วย ซึ่งถ้าหากไม่มีการแก้ไขก็จะมีจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
นอกจากนี้ ILRF ยังเรียกร้องให้บริษัทเสื้อผ้าใหญ่ๆ ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยให้สั่งทำเสื้อผ้าจากโรงงานที่มีโครงสร้างที่ถูกต้องและพนักงานหญิงในโรงงานทำงานอย่างปลอดภัย โดยเฉพาะบริษัทเสื้อผ้าอย่าง Gap JCPenny และ Walmart ที่ป็นบริษัทใหญ่ในการสั่งทำเสื้อผ้า เพราะปัจจุบันนี้บริษัทเหล่านี้ไม่ได้ให้ความสนใจกับเรื่องโครงสร้างและความปลอดภัยของโรงงานที่ตัวเองสั่งทำเสื้อผ้า ILRF เชื่อว่า ถ้าหากบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โรงงานผลิตเสื้อผ้าในเอเชียใต้ก็จะมีการปรับปรุงไปในทางที่ดีขึ้นในเรื่องของความปลอดภัย เพราะต้องการให้บริษัทใหญ่ๆ มาสั่งทำเสื้อผ้าที่โรงงานของตนเอง
สาเหตุที่ ILRF ต้องการให้บริษัทสั่งทำเสื้อผ้าใหญ่ๆ ให้ความสำคัญและให้ความสนใจกับเรื่องนี้มากขึ้นก็เป็นเพราะทุกวันนี้ถึงแม้ว่าในแต่ละประเทศจะมีกฎหมายคุ้มครองแรงงานเพื่อเป็นการรับรองว่า พนักงานที่ทำงานในโรงงานผลิตเสื้อผ้าจะได้รับการคุ้มครองและได้ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด แต่ในความเป็นจริงนั้นกลับตรงกันข้าม ดังนั้นถ้าหากบริษัทใหญ่ๆ ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้โรงงานผลิตเสื้อผ้าก็น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น
หลังจากที่ ILRF ได้ออกมาเปิดเผยรายงานเล่มนี้ องค์กรต่างๆ ต่างก็ออกมาเรียกร้องให้โรงงานในบังกลาเทศและปากีสถานเข้าร่วมโครงการข้อตกลงเรื่องความปลอดภัยของอาคารและการดับเพลิงเมื่อเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ ซึ่งโรงงานผลิตเสื้อผ้าใหญ่ๆ ในทั้งสองประเทศได้เข้าร่วมโครงการนี้แล้ว
นอกจากนี้ประชาชนอีกประมาณหนึ่งแสนคนได้ร่วมกันออกมาเรียกร้องให้บริษัทเสื้อผ้ายักษ์ใหญ่อย่าง Walmart H&M และ Gap ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และยกเลิกการสั่งเสื้อผ้ากับโรงงานที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของพนักงาน แต่ Walmart ได้ออกมาปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือในเรื่องนี้ และบริษัทก็ไม่สนใจที่จะเปลี่ยนโรงงานที่สั่งทำเสื้อผ้าถึงแม้ว่าพนักงานในโรงงานนั้นจะต้องทำงานพร้อมกับอันตรายเรื่องความปลอดภัยก็ตาม
เรื่องนี้ยังต้องติดตามกันต่อไปว่าบริษัทยักษ์ใหญ่อื่นๆ จะมีการตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไรผู้เขียนหวังว่าบริษัทเหล่านี้จะไม่เห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่ตั้ง เพราะถ้าหากบริษัทเหล่านี้ยอมทำตามข้อเรียกร้อง พวกเขาคงสามารถช่วยชีวิตพนักงานในโรงงานเสื้อผ้าได้อีกหลายร้อยคน
Column : Women in Wonderland