วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Attitude > กวีพันธ์ เอี่ยมสกุลรัตน์ ได้เวลาขยายอาณาจักร

กวีพันธ์ เอี่ยมสกุลรัตน์ ได้เวลาขยายอาณาจักร

“ผมทำธุรกิจแบบมี Passion เราอยู่ลองเทอมเพราะคนอื่นไม่ทำ แต่เราทำ เราถึงอยู่ได้นานๆ คนอื่นจะมาทำก็ไม่ง่ายด้วย”

กวีพันธ์ เอี่ยมสกุลรัตน์ อาจโชคดีที่มีครอบครัวซื้อสะสมที่ดินหลายร้อยไร่ย่านประดิษฐ์มนูธรรมในยุคถนนสายเล็กๆ ต้นไม้ยังเต็มท้องทุ่ง  แต่ความฝันและภาพเมืองใหญ่ ”Beverly  Hills” ในสหรัฐอเมริกา คือ แรงผลักดันให้ ”เค.อี.แลนด์” ของเขากลายเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์แห่งแรกที่บุกเบิกถนนเส้นนี้ สร้างแบรนด์ ”เดอะคริสตัล” เพิ่มมูลค่าที่ดินเลียบทางด่วนรามอินทราต่อเนื่องเกษตร-นวมินทร์ จนขึ้นชั้นทำเลทองที่นักลงทุนรายใหญ่ๆแห่เข้ามาผุดโครงการในระดับไฮเอนด์

 ล่าสุด กวีพันธ์เดินหน้าเป้าหมายขั้นต่อไป ขยายอาณาจักรธุรกิจออกสู่ทำเลใหม่ๆ โดยในปีหน้าจะเปิดไลฟ์สไตล์คอมมูนิตี้มอลล์ ”เดอะคริสตัล” อย่างน้อยอีก 2 แห่งในถนนราชพฤกษ์และชัยพฤกษ์
 ขณะเดียวกัน ภายใน 3 ปี จะเร่งเติมเต็ม ”เมือง” ที่สร้างไว้ ทั้งการขยายโครงการคริสตัล ดีไซน์ เซ็นเตอร์ (ซีดีซี) เฟส 3 เพิ่มพื้นที่โชว์รูมและออฟฟิศสำนักงานอีก 30,000-40,000 ตารางเมตร ส่วนเดอะคริสตัล ซึ่งเป็นลักซ์ชัวร์รี่คอมมูนิตี้มอลล์ฝั่งตรงข้าม จะขยายเฟส 3 เพื่อสร้างโรงภาพยนตร์ และเตรียมเปิดโครงการคอนโดมิเนียมเลียบทางด่วนรามอินทรา ขนาด 1,200 ยูนิต รองรับผู้คนที่จะเข้ามาอยู่อาศัยมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 “จุดซัคเซสของเราอยู่ที่การเลือกร้านค้า อย่างที่บอก โจทย์คือ ทำให้คนที่อยู่ในทำเลแถวนี้ ไม่ต้องเข้าไปในเมือง เราต้องเอาร้านที่อยู่ในเมืองออกมาอยู่ให้เขาบริโภค ต้องถือเป็นเนเบอร์ฮูดมอลล์แรกที่มีร้านสตาร์บัคส์ ร้านเซน กึ่งๆบีขึ้นไป”

 แน่นอนว่า กวีพันธ์มองกลุ่มเป้าหมายระดับ A-B มาตลอดและยังมั่นใจศักยภาพ เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งช่วง 10 ปีก่อน คนส่วนใหญ่ในทำเลแถวโชคชัย 4 เป็นบ้านเก่าแก่ หมดภาระการผ่อนบ้าน มีกำลังใช้จ่ายจนมาถึงรุ่นลูกในปัจจุบัน หรือถ้าเป็นหมู่บ้านสร้างใหม่จะเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ เจ้าของกิจการ อายุ 40-50 ปี เค.อี.แลนด์ จึงเริ่มจากการสร้างทาวน์เฮาส์ ”คริสตัลวิลล์” ราคาขายหลังละ 4 ล้านบาท ขณะที่หมู่บ้านใกล้เคียงขายแค่ 2 ล้านบาท แล้วเปิดโครงการ ”คริสตัลพาร์ค” บ้านหรูราคาสูงลิบลิ่ว หลังละ 18-80 ล้านบาท สามารถปิดการขายได้ในเวลาไม่นานนัก จนเป็นจุดดึงดูดให้บริษัทอสังหาริมทรัพย์แห่งอื่นๆเข้ามาพัฒนาโครงการในตลาดบน

เมื่อตลาดขยายมากขึ้น กวีพันธ์นำเสนอคอนเซ็ปท์เนเบอร์ฮูดมอลล์ สร้างไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่สำหรับตลาด A และ B ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ขยายเข้าสู่ค้าปลีก

 “เราดูเมืองนอกเยอะและโจทย์ คือ เรามีที่ดิน ไม่อยากจำกัดว่าจะทำหมู่บ้านอย่างเดียวและคุยกับคนอื่นที่อยู่ในธุรกิจแล้วไม่มั่นใจ ถ้าให้คนอื่นพัฒนาแล้ว รูปแบบโครงการจะเป็นอย่างไร เปิดได้พักหนึ่งจะกลายเป็นเปิดท้ายขายของก็เลยทำเองดีกว่า เป็นดีไซน์เซ็นเตอร์ที่ร้านค้าเป็นกลุ่มนิชและสร้างทีมงาน ทั้งมาร์เก็ตติ้ง ลีสซิ่ง ตอนนี้เรารู้จักร้านค้าหมด ผมคิดว่า สามสี่ปีที่ผ่านมา เราทำให้องค์กรค่อนข้างนิ่งๆขึ้นและปีหน้าจะเป็นปีที่จะขยายไปข้างนอกได้แล้ว”

 สำหรับศูนย์ใหม่ทั้งสองแห่ง คือ เดอะคริสตัล พีทีที และเดอะคริสตัล ราชพฤกษ์ ยังเป็นจุดเปลี่ยนจากการลงทุนเองทั้งหมดมาเป็นการร่วมทุนกับพันธมิตร ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน โดยเดอะคริสตัล พีทีที ร่วมทุนกับบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) บนที่ดินย่านถนนชัยพฤกษ์   12 ไร่ พื้นที่ก่อสร้างรวม 18,000 ตารางเมตร โดยดีไซน์ภายใต้แนวคิด”นวัตกรรมแห่งโลกสีเชียว”แบ่งเป็นพื้นที่ของสถานีบริการน้ำมัน 1.5 ไร่ และคอมมูนิตี้มอลล์ 11 ไร่ มีพื้นที่ขาย 9,000 ตารางเมตร ประกอบด้วยจิ๊ฟฟี่ซูเปอร์มาร์เก็ต โซนร้านอาหาร โซนแฟชั่น โซนธนาคาร โซนการเรียนรู้ และที่จอดรถกว่า 400 คัน มูลค่าการลงทุนรวม 600 ล้านบาท

 ส่วนเดอะคริสตัล ราชพฤกษ์ ซึ่งเค.อี.แลนด์ ลงทุนกว่า 2,500 ล้านบาท และจับมือกับเอส.บี.เฟอร์นิเจอร์ เดอะมอลล์กรุ๊ป เอสเอฟ ซีเนม่า ซิตี้ สร้างคอมมูนิตี้มอลล์ขนาดใหญ่ในเนื้อที่ 22 ไร่ ซึ่งกวีพันธ์มองย่านราชพฤกษ์เป็นทำเลที่มีศักยภาพไม่ต่างจากประดิษฐ์มนูธรรม เพราะมีประชากรหนาแน่นมากกว่า 50,000 ครัวเรือน  มีหมู่บ้านโครงการขนาดใหญ่มากกว่า 100 โครงการ ระดับราคาตั้งแต่หลังละ 4-200 ล้านบาท

“การจับมือกับคนอื่นเป็นซินเนอร์ยี่ที่ดี วิน-วิน ทั้ง ปตท.และเอส.บี. เป็นเจ้าของที่ดินที่มีทำเลดี ขณะที่ปัจจุบันราคาที่ดินค่อนข้างสูง เราไม่อยากต้องลงทุนสูง เราจะคุยกับเจ้าของที่ดินแบบวิน-วิน ถ้าเราทำได้ดีก็แบ่งแชร์ครึ่งกัน ถ้าไม่ดีก็ลดความเสี่ยงลงไปได้ อย่างปตท.วางแนวคิดมีศูนย์การค้าและปั๊มน้ำมัน บางคนมองไม่ออกว่า ปั๊มน้ำมันกับศูนย์การค้าจะอยู่ด้วยกันได้อย่างไร ตรงนี้จะโชว์ให้เห็นว่า สามารถอยู่ด้วยกันได้และเป็นความแตกต่าง”

 ในฐานะแลนด์ลอร์ดคนหนึ่งที่มองแลนด์ลอร์ดหลายรายหันมาลงทุนโครงการคอมมูนิตี้มอลล์ บางรายประสบความสำเร็จ แต่หลายรายล้มไม่เป็นท่า เพราะหัวใจสำคัญของธุรกิจอยู่ที่ทำเล ร้านค้าแม็กเน็ตที่ต่างจากคู่แข่งและทีมงาน โดยเฉพาะเจ้าของที่ดินที่เลือกจ้างคนอื่นบริหารศูนย์เนื่องจากการขายเบื้องต้นไม่ใช่คำตอบว่า ศูนย์อยู่รอด แต่ประเด็นสำคัญกว่า 60% อยู่ที่ทีมงานบริหารในระยะยาว การหากิจกรรมเพื่อสร้างความสนุกสนานเหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย

 เปรียบเทียบกับเค.อี.แลนด์ กวีพันธ์คิดและเปิดโครงการ โดยหวังผลระยะยาวมากกว่ายอดการขาย ต้องส่งทีมงานลงพื้นที่ศึกษาร้านค้าและความต้องการลูกค้า เพื่อสร้างที่อยู่อาศัยหรือไลฟ์สไตล์มอลล์ที่สนองกลุ่มเป้าหมายได้อย่างโดนใจและหาจุดต่างที่ทำให้คนต้องมาที่นี่ให้ได้

 ไม่ว่าเดอะคริสตัลหรือซีดีซีจึงฉีกออกจากคอมมูนิตี้มอลล์อื่นๆ ไม่ได้ต้องการจำนวนคนเดินพลุกพล่าน แต่อยากให้เป็นสถานที่ที่คนรุ่นใหม่มาเดินดูไอเดียสร้างสรรค์ แต่งตัวสบายๆแต่อัพสเกลขึ้นมา
หรือการจับกลุ่มสถาปนิกและนักตกแต่งภายใน กลุ่มเจ้าของโครงการ คนสร้างบ้าน ซึ่งผู้ประกอบการค้าปลีกรายอื่นไม่สนใจ ทั้งที่เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพ  มีรายได้ และเป็นกลุ่มที่เติบโตตามการขยายตัวของที่อยู่อาศัยสไตล์คนรุ่นใหม่

 “ผมทำธุรกิจแบบมี Passion มากกว่า ไม่ได้มองกำไรสูงที่สุดมาก่อน เค.อี.แลนด์ไม่ได้เป็นบริษัทในตลาด แต่แน่นอนทำธุรกิจต้องมีรีเทิร์นกลับมาในส่วนที่เหมาะสมและไม่คิดจะเอาบริษัทเข้าตลาด จะให้บอกว่าซีดีซีกำไรสูง มันไม่ใช่ ศูนย์อย่างซีดีซีต้องใช้เวลา แปซิฟิคดีไซน์เซ็นเตอร์ที่เบฟเวอรี่ฮิลส์ 30 ปีแล้ว คนอื่นถึงไม่ทำ แต่เราบอกว่า เราอยู่ลองเทอมเพราะคนอื่นไม่ทำ แต่เราทำ เราถึงอยู่ได้นานๆ คนอื่นจะมาทำก็ไม่ง่ายด้วย”

 ดังนั้น หากถามถึง ”อนาคต” ของเค.อี.แลนด์ เขาเดินหน้าทั้งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และค้าปลีก ขึ้นอยู่กับดีลที่มีศักยภาพ ไม่ได้ตั้งเป้าการเติบโตที่ตัวเลข ไม่ต้องเป็นธุรกิจหมื่นล้าน สองหมื่นล้าน สามหมื่นล้าน แต่เลือกที่จะพัฒนาประสิทธิภาพของทีมงานทุกส่วน เพื่อก้าวย่างไปพร้อมกันและสร้างโครงการตามความฝันที่คิดแบบแปลนไว้หัวอีกมากมาย

“รูปแบบโครงการมีหลากหลาย ขึ้นอยู่กับทำเล ถ้าให้ฝันนะ  อย่างเมืองนอก ริมแม่น้ำ มีบ้านหรือทาวน์เฮาส์ที่มีเรือเข้ามาจอดได้  อย่างหัวหินหรือริมชายหาดต้องมีบอร์ดวอล์ค ทำไมช้อปปิ้งเซ็นเตอร์ต้องอยู่ข้างใน ริมหาดต้องเป็นคอนโดมิเนียม ผมคิดว่าติดหาดควรเป็นช้อปปิ้งเซ็นเตอร์ เวลาไปเดินเพลินวาน ร้อนก็ร้อน สู้มาเดินติดหาด เย็นสบาย ทุกคนได้เอ็นจอยบีชฟรอนท์ ร้านค้าขายได้ ทุกคนแฮปปี้”

 จากเดอะคริสตัล ซีดีซี และอีกหลายโครงการ การขยายอาณาจักรของ เค.อี.แลนด์ ไม่ธรรมดาแน่