วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
Home > Cover Story > ทิศทางเศรษฐกิจไทย แนวโน้มลงทุนปี’60 สดใสหรือซบเซา

ทิศทางเศรษฐกิจไทย แนวโน้มลงทุนปี’60 สดใสหรือซบเซา

 
 
หลังปิดฉากไปด้วยตัวเลขยอดจองรถยนต์แบบไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่คาดการณ์เอาไว้เท่าใดนัก หากแต่ด้วยสภาวะอารมณ์ของคนไทย และสถานการณ์เศรษฐกิจภาพรวม ก็ไม่ได้เชิญชวนให้ผู้บริโภคมีกะจิตกะใจจะจับจ่ายใช้สอย
 
งานมหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 33 จึงจบลงด้วยยอดจองรถยนต์อยู่ที่ 32,422 คัน ลดลงจากปีก่อน 17.1 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากบ้านเมืองยังอยู่ในบรรยากาศเศร้าโศก รวมไปถึงรถยนต์รุ่นใหม่หลายรุ่นที่น่าจะได้รับความสนใจกลับถูกเลื่อนการเปิดตัวออกไป แต่กระนั้นรถจักรยานยนต์ในงานกลับสร้างสถิติใหม่ด้วยยอดจองสูงถึง 7,942 คัน สูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้ถึง 98.6 เปอร์เซ็นต์
 
กระนั้นตัวเลขยอดจองของรถทั้งสองประเภทอาจเป็นตัวชี้วัดความนิยมใหม่ที่ถือกำเนิดขึ้น และน่าจะเป็นคำตอบที่ดีสำหรับนักการตลาดจะทำความเข้าใจความต้องการของผู้บริโภคที่กำลังเปลี่ยนไป
 
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เพียงแค่อุตสาหกรรมยานยนต์เท่านั้นที่เข้าสู่สภาวะซบเซา หากแต่เมื่อมองดูตัวเลขการส่งออกในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2559 ที่ติดลบอยู่ -1.0 เปอร์เซ็นต์ และมีการคาดกันว่าทั้งปี 2559 การส่งออกจะหดตัวลงอยู่ที่ -0.5 เปอร์เซ็นต์ 
 
ทั้งนี้น่าจะเป็นผลพวงมาจากตลาดโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวดีนัก และความต้องการในสินค้าส่งออกของไทยหลายรายการลดลง เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ สินค้าเกษตรหลัก รวมไปถึงปิโตรเคมีและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ในขณะที่สินค้าส่งออกหลักอย่างชิ้นส่วนรถยนต์ สินค้าประมง รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ยางยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง
 
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองต่อเศรษฐกิจโลกว่ายังมีความเปราะบาง โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศจีน ซึ่งเป็นคู่ค้าหลัก ทำให้ความต้องการสินค้าส่งออกของไทยยังไม่ฟื้นตัวดี ประกอบกับความผันผวนในตลาดเงินโลกท่ามกลางการคาดการณ์ถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นแรงกดดันต่อราคาทองคำในตลาดโลกทำให้ลดลงต่อเนื่อง 
 
ขณะที่ภาครัฐของไทยอย่างนายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มองว่า แนวโน้มการลงทุนปี 2560 จะมีทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งน่าจะมาจากปัจจัยสำคัญ 2 ส่วน คือการลงทุนจากภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่จะรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และส่วนที่ 2 คือการลงทุนจากภาคเอกชนโดยเฉพาะการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่คาดว่าจะตัดสินใจเลือกไทยเป็นฐานการผลิตต่อเนื่อง
 
ทั้งนี้รัฐบาลประเทศจีนมีนโยบายที่ส่งเสริมให้ภาคเอกชนของจีนหันมาลงทุนยังตลาดต่างประเทศมากขึ้น และประเทศไทยเป็นเป้าหมายสำคัญ ขณะที่ญี่ปุ่นแม้ว่าธุรกิจขนาดใหญ่จะลดลง แต่การมาถึงของนักลงทุนจากญี่ปุ่นจะเน้นหนักไปในเรื่องของเทคโนโลยีขั้นสูง สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลไทยที่จะทำให้ไทยก้าวไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 
 
อย่างไรก็ตาม การเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียนจะยังเป็นที่น่าจับตาของนักลงทุนจากภายนอก กระนั้นพื้นที่ที่ยังได้รับความนิยมจากนักลงทุนของไทยเองคงอยู่ในกรอบแนวระเบียงเศรษฐกิจ ด้วยเหตุผลสำคัญๆ ทั้งในมิติของวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกัน พื้นที่ที่เอื้ออำนวยต่อระบบโลจิสติกส์ รวมไปถึงสิ่งสำคัญอย่างแรงงานที่จะเอื้อประโยชน์ให้เกิดการเติบโตและสร้างเสริมศักยภาพที่ดีในอนาคต
 
นอกจากนี้ กรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25 เปอร์เซ็นต์ มาอยู่ที่ระดับ 0.75 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งก็ไม่ต่างจากที่คาดการณ์ไว้มากนัก และยังมีแนวโน้มที่จะทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยในอัตรา 0.25 เปอร์เซ็นต์อีก 3 ครั้งในปี 2560 ซึ่งหากภาพรวมเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้จะส่งผลดีต่อการส่งออกของไทย ทั้งนี้ นายวัลลภยังเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยจะไม่ได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าวมากนัก เพราะเงินทุนสำรองของไทยยังแข็งแกร่งมาก
 
ทั้งนี้เมื่อย้อนกลับมามองสภาวะเศรษฐกิจของไทยในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2560 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า จะมีเม็ดเงินในการจับจ่ายใช้สอยไม่ต่ำกว่า 28,500 ล้านบาท หรือขยายตัวที่ร้อยละ 5.0 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งเติบโตที่ร้อยละ 8.0 
 
ซึ่งภาคธุรกิจยังคงใช้เทศกาลปีใหม่เป็นหนึ่งอีเวนท์สำคัญในการกระตุ้นยอดขาย แต่จะเป็นดำเนินไปในลักษณะที่ไม่ใช่รูปแบบของกิจกรรมรื่นเริง แต่อาจปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับบรรยากาศในช่วงไว้อาลัย 
 
จากประกาศให้มีวันหยุดราชการในช่วงเทศกาลปีใหม่ยาวติดต่อกันถึง 4 วัน ประกอบกับมาตรการของภาครัฐที่ออกมากระตุ้นการจับจ่ายในช่วงปลายปี เช่น มาตรการชอปช่วยชาติ และการให้เงินช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อย น่าจะเป็นปัจจัยหนุนให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยของคนกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2560 ไม่ซบเซามากนัก แม้ว่าปัจจัยสำคัญอย่างค่าครองชีพและบรรยากาศในช่วงไว้อาลัยต่อการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 จะส่งผลให้พฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยแตกต่างไปจากทุกปีที่ผ่านมา
 
กระนั้นพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปตามสภาพบรรยากาศในห้วงเวลานี้ ทำให้เกิดมิติแห่งการใช้จ่ายกระจายไปยังธุรกิจที่เกี่ยวข้องอื่นๆ นอกเหนือไปจากการใช้จ่ายผ่านช่องทางหลักอย่างห้างสรรพสินค้า เช่น ธุรกิจสิ่งพิมพ์ ธุรกิจเสื้อผ้า ร้านค้าโครงการหลวง รวมไปถึงธุรกิจผลิตสินค้าเกษตรของชุมชน 
 
ความเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจโลก จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทยเพียงใด และจะทำให้ทิศทางของการพัฒนาเป็นไปในรูปแบบใด เป็นที่น่าติดตามด้วยความเฝ้าระวัง