วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > จากบทเรียนภูทับเบิก สู่การท่องเที่ยวเชิงนิเวศบนเขาค้อ

จากบทเรียนภูทับเบิก สู่การท่องเที่ยวเชิงนิเวศบนเขาค้อ

 
 
ลมหนาวที่พัดผ่านในยามรุ่งอรุณ มวลอากาศเย็นที่เข้าปกคลุมประเทศไทย อาทิตย์กำลังฉายแสงและเคลื่อนตัวขึ้นสู่ท้องฟ้า แสงที่สาดส่องมานอกจากจะเป็นสัญญาณการเริ่มต้นของเช้าวันใหม่แล้วยังฉายให้เห็นสายหมอกอ่อนๆ ที่ลอยอวลอ้อยอิ่งอยู่ตามทิวเขา ฤดูหนาวของไทยกำลังมาเยือน
 
แม้ว่าช่วงฤดูหนาวจะเป็นช่วงเวลาที่การท่องเที่ยวของไทยมีสีสันมากกว่าทุกช่วงเวลา หากแต่คงไม่ใช่เวลานี้ ในยามที่คนไทยอยู่ในห้วงอารมณ์แห่งความเศร้าโศกจากการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ ม่านหมอกของความอาดูรยังไม่จางลง
 
หลังการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทำให้หลายฝ่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป ตื่นรู้และตระหนักถึงพระราชกรณียกิจที่ผ่านมาของพระองค์ท่าน อีกทั้งยังประกาศความตั้งมั่นที่จะเดินรอยตามพระปณิธานของพระองค์ในด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ความพอเพียง” และ “เกษตรทฤษฎีใหม่” 
 
ชาวเขาเผ่าต่างๆ ที่เข้ามาตั้งรกรากอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยหลายสิบปี และได้รับการส่งเสริมอาชีพเกษตรกรจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่สนับสนุนให้ปลูกพืชเมืองหนาวทดแทนการปลูกฝิ่น จนกลายเป็นอาชีพหลักหาเลี้ยงครอบครัว 
 
จังหวัดเพชรบูรณ์นับเป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่ชาวเขาอพยพมาอาศัยอยู่ บางส่วนมีอาชีพเกษตรกร เพาะปลูกพืชเมืองหนาว เช่น กะหล่ำปลี ผักสลัด เบบี้แครอท ซึ่งบางส่วนอาศัยอยู่บริเวณภูทับเบิก นอกจากนี้ยังมีชาวเขาอีกส่วนที่อาศัยพื้นที่ทำกินบริเวณเขาค้อ เพื่อปลูกสตรอว์เบอร์รี่ทดแทนการปลูกฝิ่น
 
และแม้ว่าเพชรบูรณ์อากาศจะไม่หนาวเย็นเหมือนจังหวัดทางภาคเหนือตอนบน อย่าง เชียงราย เชียงใหม่ หรือแม่ฮ่องสอน หากแต่ด้วยทัศนียภาพและสภาพอากาศที่ใกล้เคียง ประกอบกับระยะทางการเดินทางที่ใช้เวลาไม่นานมาก ทำให้เพชรบูรณ์เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งสำหรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเลือกเป็นสถานที่พักผ่อน ซึ่งนำรายได้เข้าสู่จังหวัดเพชรบูรณ์จำนวนมาก
 
ภูทับเบิกนับเป็นอีกแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจนเกิดเป็นกระแสสังคม และแน่นอนว่าเมื่อจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีเพิ่มมากขึ้นทุกปี ส่งผลให้เกิดความต้องการที่จะตอบสนองแรงบริโภคของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะในเรื่องที่พักอาศัย รีสอร์ต เกสต์เฮาส์ ที่เริ่มทอดตัวอยู่ตามแนวไหล่เขาจนบดบังทัศนียภาพอันสวยงามของธรรมชาติอย่างที่ควรจะเป็น กระทั่งเกิดการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนของภูทับเบิก หรือการดำเนินการบนที่ดินโดยปราศจากเอกสารสิทธิ์ 
 
ในระยะเวลาอันสั้นที่ทำให้พื้นที่ทำกินของเกษตรกรบนภูทับเบิกถูกเปลี่ยนมือ และแม้ว่าปัจจุบันภูทับเบิกจะยังคงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมอยู่ กระนั้นความนิยมเหล่านั้นก็ตามมาด้วยปัญหา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาของปริมาณขยะ มลภาวะจากรถยนต์ หรือการทำลายป่าต้นน้ำ รวมไปถึงวิถีชีวิตของผู้คนในท้องถิ่น ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากการขาดการจัดการที่ดีอย่างเป็นระบบ และไร้ซึ่งแบบแผนที่จะรองรับการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยว
 
หากจะนำเอาบทเรียนที่เจ็บปวดของภูทับเบิกมานั่งศึกษาวิเคราะห์ให้เห็นและเข้าใจถึงปัญหา รวมไปถึงแนวทางการปฏิบัติในแบบที่ถูกที่ควรแล้ว เกษตรกรที่อยู่บนพื้นที่เขาค้อน่าจะมีบทเรียนชิ้นสำคัญให้ศึกษาถึงความเป็นไปอันอาจจะเกิดขึ้นในอนาคต หากขาดการจัดการที่ดี
 
การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ คือรูปแบบการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ที่ตัวแทนชาวเขาต่างเห็นพ้องต้องกันว่า นี่คือสิ่งที่เหมาะสมกับพื้นที่มากที่สุด
 
แม้ว่าการทำไร่เพาะปลูกสตรอว์เบอร์รี่สร้างรายได้ให้เหล่าเกษตรกรได้พออยู่พอกินแล้ว หากแต่สิ่งที่ชาวเขาและเกษตรกรบนพื้นที่ต้องการคือ การเปิดเผยวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี อันมีเอกลักษณ์ที่ชัดเจน ให้คนจากพื้นล่างได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ นอกเหนือไปจากการเดินทางเข้ามาที่ไร่เพียงเพื่อซื้อผลผลิตอย่างสตรอว์เบอร์รี่กลับไปเท่านั้น
 
เช่นที่นิรันดร์ วุฒนะผาสุข ชาวเขาเผ่าม้ง ที่ประกอบอาชีพทำไร่สตรอว์เบอร์รี่บนเขาค้อ บอกกับ “ผู้จัดการ 360  ํ” ฟังว่า “นอกจากจะทำไร่สตรอว์เบอร์รี่ให้นักท่องเที่ยวได้ชมไร่แล้ว ยังมีพื้นที่ที่ให้นักท่องเที่ยวได้ศึกษาและเรียนรู้วิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมของชาวเขาด้วย เพราะสมัยนี้หาดูได้ยากมากขึ้น และจะทำให้การท่องเที่ยวเขาค้อมีอะไรน่าสนใจนอกเหนือจากการเก็บสตรอว์เบอร์รี่สดจากไร่” 
 
ขณะที่ ดร.จันทรวิภา ธนะโสภณ รองผู้อำนวยการด้านการวิจัยมุ่งเป้า และรักษาการผู้อำนวยการฝ่าย ฝ่ายการวิจัยและมุ่งเป้า ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว. ได้ให้คำแนะนำแก่ชาวเขาเผ่าต่างๆ ว่า “คนในพื้นที่ต้องเรียนรู้ระบบการจัดการที่ดี มีการเตรียมการแก้ปัญหา การจัดการขยะที่จะตามมาเมื่อมีนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น และที่สำคัญคือคนในพื้นที่ต้องเกาะกลุ่มสร้างความเข้มแข็ง เพื่อป้องกันการสูญเสียพื้นที่ทำกินให้แก่นักธุรกิจต่างถิ่น ที่อ้างว่าจะเข้ามาเพื่อนำความเจริญและเข้ามาพัฒนาพื้นที่ก็ตาม” 
 
อย่างไรก็ตาม ความเข้มแข็งและร่วมแรงร่วมใจของเกษตรกรชาวเขาที่ปรากฏให้เห็นนั้น น่าจะทำให้หลายฝ่ายเบาใจได้ ว่าคนท้องถิ่นเองยังคงต้องการที่จะรักษาสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ รวมไปถึงอัตลักษณ์แห่งวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมเอาไว้ได้ 
 
หากจะพิจารณาพื้นที่เขาค้อ จะเห็นความมีศักยภาพในมิติของการเป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นดี ด้วยพื้นที่ที่มีความพร้อมสำหรับการปั้นแต่งให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และที่สำคัญคือเสน่ห์แห่งอัตลักษณ์ของวิถีชีวิตของชาวเขาเผ่าต่างๆ ที่อาศัยอยู่รายล้อมพื้นที่ น่าจะสร้างความน่าสนใจ 
 
เสน่ห์ที่น่าค้นหาเหล่านี้นี่เอง ที่จะนำพาให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่สร้างความยั่งยืนและไม่สูญสลายไปกับกระแสเงินตราที่จะเข้ามาเพียงฉาบฉวยจากนักลงทุนต่างถิ่น