วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
Home > Cover Story > ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา โครงการเพื่อพัฒนา-เพื่อใคร?

ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา โครงการเพื่อพัฒนา-เพื่อใคร?

 
 
“ท่ามกลางกระแสการพัฒนาเมืองทั่วโลกมุ่งเสริมสร้างเมืองให้น่าอยู่และยั่งยืนสำหรับประชาชน ที่ผ่านมาประชาชนคนไทยสามารถเข้าถึงแม่น้ำเจ้าพระยาได้อย่างจำกัด ขณะที่นับวันแม่น้ำเจ้าพระยาจะเสื่อมโทรมเป็นที่ทิ้งขยะ น้ำเสียจากโรงงานและชุมชน มีการบุกรุกแม่น้ำคูคลอง คุณภาพชีวิตของชุมชน 
 
โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาหรือทางเดิน-ปั่นเลียบแม่น้ำ มาจากหนึ่งในนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูทรัพยากรและพัฒนาพื้นที่สาธารณะริมฝั่งแม่น้ำสำหรับประชาชนทุกคนทุกระดับ สามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน เพื่อคุณภาพชีวิต เสริมศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และการก้าวสู่สังคมสูงวัยในอนาคตอันใกล้ด้วย”
 
นั่นคือเนื้อหาที่เป็นใจความที่มาของโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา หรือในชื่อใหม่ที่มีความสวยงามฉาบหน้าว่า “Chao Phraya For All” หรือ “เจ้าพระยาเพื่อทุกคน” 
 
และหากพินิจจากชื่อของโครงการนี้ด้วยความรวดเร็ว อาจเข้าใจได้ว่าภาครัฐกำลังเข้ามาพัฒนาชุมชนที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งในเชิงการสร้างศักยภาพความแข็งแกร่ง และความสวยงามปลอดภัยของพื้นที่ เพื่อเป็นการสร้างมาตรฐานที่ดีสำหรับการรองรับการท่องเที่ยวเชิงลึกเข้าถึงวิถีชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับแคมเปญของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
 
กระทรวงมหาดไทยมอบหมายให้สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร จัดทำแผนแม่บทพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทางรวม 57 กิโลเมตร จากสะพานพระราม 7 ถึงสุดเขตกรุงเทพมหานคร โดยมีโครงการนำร่อง 14 กิโลเมตร จากสะพานพระราม 7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า เพื่อเป็นโครงการตัวอย่างในการพัฒนาเจ้าพระยาในพื้นที่อื่นๆ ในอนาคต โดยมีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เป็นที่ปรึกษาการสำรวจออกแบบ และจัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะเวลาดำเนินการ 210 วัน
 
หากแต่เมื่อมีการพิจารณาอย่างลึกซึ้งถึงทิศทางความเป็นไปของโครงการที่กำลังจะปักเสาเข็มลงแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงต้นปีหน้า (พ.ศ. 2560) กลับอุดมไปด้วยเสียงคัดค้าน และความเห็นต่าง ทั้งประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่บ่งบอกถึงวัฒนธรรมรากเหง้าของวิถีชีวิต นักวิชาการอิสระ คนต้นน้ำ และคนปลายน้ำ 
 
จนเกิดการรวมตัวกันเป็นสมัชชาแม่น้ำที่ทำหน้าที่ติติงโดยหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หรืออย่างน้อยเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ชุมชนมีส่วนรวมในทุกกระบวนการ
 
คำถามที่เกิดขึ้นมากมายนับตั้งแต่โครงการเริ่มเดินหน้า ทั้งในเรื่องของนโยบายการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ว่าเหตุใดบทสรุปแห่งการพัฒนาจึงออกมาในรูปแบบของทางเลียบแม่น้ำที่มีความกว้าง 5-7 เมตร ซึ่งเทียบเท่าถนน 2 เลน เป็นหลัก แทนที่จะดำเนินไปในรูปแบบของการพัฒนาที่ให้ความสำคัญต่อชุมชนเป็นอันดับแรก 
 
อย่างไรก็ตาม หลังจากเปิดเผยร่างผังแม่บทระยะทาง 57 กม. และแผนงานระยะนำร่อง 14 กม. ภายใต้แนวคิด “นาคนาม” (นาค-คะ-นาม) ซึ่งมีความหมายถึงการเชื่อมโยงทางจินตภาพของพญานาค ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของคนไทย และชาวตะวันออกเฉียงใต้ เป็นเทพแห่งสายน้ำและท้องฟ้า สื่อถึงพลังสร้างสรรค์อันยิ่งใหญ่ ความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ดั่งเช่นท้องน้ำเจ้าพระยา จำนวน 12 แผนงาน ผ่านการประชาพิจารณ์ครั้งที่ 2 ในวันที่ 8 กรกฎาคม 2559 และการแถลงข่าวรอบสื่อมวลชนในวัน 21 กรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา สร้างความกังวลต่อทิศทางการพัฒนาที่ขาดการคิดวิเคราะห์และรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน
 
ทั้งนี้เนื้อหาของแผนงานทั้ง 12 แผนงานประกอบด้วย 1. แผนงานจัดทำทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา 2. แผนงานปรับปรุงภูมิทัศน์เขื่อน 3. แผนงานพัฒนาท่าเรือและจุดบริการสาธารณะ 4. โครงการพัฒนาศาลาท่าน้ำ 5. แผนงานพัฒนาพื้นที่บริการสาธารณะ 6. โครงการพัฒนาเส้นทางการเข้าถึงพื้นที่ริมน้ำ 7. โครงการปรับปรุงพื้นที่แนวคูคลองประวัติศาสตร์ 8. โครงการพัฒนาพื้นที่ชุมชน 9. แผนงานการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ศาสนสถาน 10. แผนงานพัฒนาพื้นที่นันทนาการและสวนสาธารณะริมน้ำ 11. แผนงานพัฒนาจุดหมายตามริมแม่น้ำเจ้าพระยา 12. แผนงานพัฒนาสะพานคนเดิน
 
กลุ่มสมัชชาแม่น้ำได้จัดให้มีการแถลงข่าวเพื่อวิเคราะห์แผนและผลกระทบจากแผนการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาของรัฐบาล โดยมีความคิดความเห็นจากตัวแทนชุมชนมัสยิดบางอ้อ เครือข่ายคนรักษ์เจ้าพระยา ซึ่งสาธิต ดำรงผล แสดงความเห็นถึงโครงการดังกล่าวว่า “ชุมชนที่อยู่ริมแม่น้ำจะเข้าถึงแม่น้ำได้อย่างไร แค่เขื่อนกั้นน้ำท่วมที่มีอยู่ก็ทำให้ชุมชนไม่สามารถเข้าถึงแม่น้ำได้แล้ว ยังจะมีถนนมาอีก ลองดูเส้นทางจักรยานอื่นๆ มีคนใช้หรือไม่ นอกจากนี้ยังมีกรณีของทางเดินที่ปัจจุบันยังต้องอาศัยพื้นที่ของเพื่อนบ้านในการเข้าออก การเข้าถึงแม่น้ำควรใช้เรือในการเข้าถึง ไม่ใช่เอาถนนมาสร้างเพื่อการเข้าถึง เช่นนี้ไม่ได้เรียกว่า การพัฒนา”
 
นอกเหนือจากความคิดเห็นจากตัวแทนชุมชนยังมีประเด็นในเรื่องของผลกระทบต่อธุรกิจริมน้ำและการท่องเที่ยวริมน้ำ ซึ่งผู้ประกอบการธุรกิจและเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ทั้งหลายล้วนมีความสนใจต่อโครงการดังกล่าว ซึ่งมีผลต่อการดึงดูดนักท่องเที่ยว หากแต่ยังไม่ได้รับข้อมูลที่ชัดเจนถึงรูปแบบของโครงการและกำหนดการก่อสร้างเฟส 2 รวมไปถึงความจำเป็นที่ต้องสร้างทางเลียบต่อเนื่องตลอดทางที่กำหนดไว้ และวิธีการบริหารและดูแลโครงสร้าง ความปลอดภัยของบ้านเรือนและร้านค้า จุดขึ้นลงเรือ อีกทั้งความสามารถในการรองรับกระแสน้ำ
 
ทั้งนี้เส้นเลือดสายหลักที่หล่อเลี้ยงผู้คนมาอย่างยาวนานนั้น ไม่ได้มีขนาดเท่ากันตลอดทั้งสาย หากโครงการก่อสร้างทางเลียบแม่น้ำจะปักเสาและสร้างทางโดยกินพื้นที่แม่น้ำเจ้าพระยามาอย่างน้อยฝั่งละ 10 เมตรย่อมต้องส่งผลกระทบทั้งในเชิงนิเวศและการจราจรทางน้ำ โดยเฉพาะในจุดที่มีการก่อสร้างท่าเรือ
 
ซึ่งสมัชชาแม่น้ำมองว่า สจล. ขาดการศึกษา Feasibility Study ของแต่ละทางเลือกในการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำว่า ทางเลือกใดมีความเหมาะสมคุ้มค่าการลงทุนบ้าง
 
กระนั้นที่ปรึกษาโครงการยังได้กำหนดแนวคิดและรูปแบบเชิงหลักการเบื้องต้นไว้ใน Term of Reference (TOR) มีการระบุเป้าหมายโครงการในเชิงกายภาพแล้ว โดยเป็นการตั้งเป้าหมายรูปแบบการพัฒนาไว้ล่วงหน้า โดยยังไม่มีการศึกษาวิเคราะห์ความต้องการและความจำเป็น อีกทั้งยังไม่มีการรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนมาก่อน เช่น มีการระบุให้มีช่องทางจักรยานและทางเดินเท้า ความกว้างของทางต้องสามารถรองรับการเข้าถึงของรถพยาบาลและรถดับเพลิงได้ 
 
อย่างไรก็ดี มีความคิดเห็นที่มีนัยน่าสนใจในเรื่องการใช้เงินงบประมาณในการก่อสร้างที่สูงถึง 14,000 ล้านบาท ว่าความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจจากโครงการดังกล่าวมีความเหมาะสมเพียงพอหรือไม่ ในขณะที่กรุงเทพมหานคร ยังมีปัญหาเร่งด่วนที่ต้องใช้งบประมาณในการแก้ปัญหา เช่น การบริหารจัดการน้ำ ที่ผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ให้คำนิยามต่อปัญหาว่า “เป็นน้ำที่รอการระบาย”
 
ภารณี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการอิสระ เครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคม ให้เหตุผลในการท้วงติง TOR ของโครงการนี้ว่า “การจัดทำ TOR ของคณะทำงานควรจะเป็นไปในทิศทางที่เกิดจากความเห็นชอบทั้งของภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน การเข้าถึงแม่น้ำตามนโยบายของโครงการจะทำได้อย่างไร หากการเข้าถึงข้อมูลยังไม่เท่าเทียม ขาดการประเมินผลกระทบในระดับนโยบาย” 
 
เมื่อพิจารณากระแสการคัดค้านและการต่อต้านการสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา หากมองอย่างเป็นกลาง แน่นอนว่าไม่มีใครไม่ต้องการการพัฒนา อันจะนำมาซึ่งความเจริญและการเสริมศักยภาพในด้านต่างๆ เพื่อการยกระดับมาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น 
 
หากแต่แนวทางการดำเนินงานในช่วงการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการที่ สจล. และ มข. เป็นผู้รับผิดชอบนั้นดูจะเป็นไปด้วยความเร่งรีบและรวบรัด เมื่อเทียบกับโครงการริมน้ำย่านยานนาวาที่ใช้เวลาในการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ 2 ปี 
 
ผลกระทบที่จะกระจายตัวเสมือนระลอกคลื่นทันทีที่เสาปูนปักลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยา “โครงการที่กำลังทำต่อแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ได้ส่งผลเพียงแค่ผู้ที่อยู่อาศัยริมแม่น้ำเจ้าพระยาเท่านั้น แต่ส่งผลต่อแม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำบางปะกง เรามีทางเลือกอื่นไหม ที่คือคำถามจากภาคประชาชนที่ยังไม่มีคำตอบจากภาครัฐ” ยศพล บุญสม ผู้ร่วมก่อตั้ง Friends of the River
 
หมุดหมายแห่งการพัฒนาตามนโยบายของรัฐบาลในทุกยุคสมัย แม้จะเป็นไปเพื่อแสวงหาความก้าวหน้าและการนำพาประเทศก้าวขึ้นไปสู่เวทีโลกในฐานะประเทศที่กำลังพัฒนาหรือเป้าหมายที่ไกลขึ้นอีกระดับ คือการเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว 
 
หากแต่เมื่ออ่านเจอคำพูดของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวไว้เมื่อ 17 กรกฎาคม ในงานเสวนาค้านโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่ผ่านมาว่า “เรื่องใหญ่มากของแม่น้ำเจ้าพระยา คือ เจ้าพระยาเป็นรากฐานของวัฒนธรรม ชุมชน วัดวาอาราม บ้านเรือนริมแม่น้ำที่หลากหลาย การที่จะไปทำโครงการให้เกิดถนนหรือทางเลียบเป็นโครงสร้างวิศวกรวิ่งเรียบไปสองฝั่งคือ การทำลายต้นทุนของตัวเอง” 
 
และอีกหลายกระแสเสียงที่กำลังพูดถึงโครงการนี้ น่าจะเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้คณะทำงานและผู้ที่เกี่ยวข้องได้ฉุกคิดและหันกลับมาพิจารณาอย่างถี่ถ้วนอีกครั้ง ก่อนที่จะต้องสูญเสียรากเหง้า และรูปแบบวิถีชีวิตริมน้ำไปตลอดกาล