วันอาทิตย์, เมษายน 27, 2025
Home > Cover Story > อาฟเตอร์ช็อก ลาม “ท่องเที่ยว” “สงกรานต์” เดิมพันชี้ชะตา

อาฟเตอร์ช็อก ลาม “ท่องเที่ยว” “สงกรานต์” เดิมพันชี้ชะตา

หากไม่มีปัจจัยลบใดๆ ทุกฝ่ายต่างคาดหวังว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์จะมีการเดินทางของนักท่องเที่ยว “ไทย-เทศ” จะเข้ามาจับจ่ายมากกว่า 26,500 ล้านบาท และจะมีผู้คนแห่เข้าร่วมมหกรรม Maha Songkran World Water Festival 2025 ระหว่างวันที่ 11-15 เมษายน มากกว่า 8 แสนคน สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในงานรวม 3,200 ล้านบาท

แต่ทันทีที่เกิดเหตุแผ่นดินไหวศูนย์กลางที่ประเทศเมียนมา ขนาด 8.2 ลึก 10 กิโลเมตร ช่วงบ่ายวันที่ 28 มีนาคม ซึ่งส่งแรงสั่นสะเทือนไปในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทยและกระทบภาพลักษณ์ประเทศขั้นเลวร้ายที่สุด คือ โครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานแห่งใหม่ของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) พังถล่ม มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก รวมถึงอาคารสูงหลายแห่งในกรุงเทพฯ เกิดรอยแตกร้าว

ทุกอย่างเหมือนต้องลุ้นเป็นเฮือกๆ ทั้งความเศร้าเสียใจและอาการแพนิกของผู้คน กลายเป็นคำถามที่รัฐบาลต้องหาคำตอบที่ชัดเจน รวมถึงมาตรการเยียวยา มาตรการพลิกฟื้นความเชื่อมั่น พร้อมๆ กับการกระตุ้นการท่องเที่ยว ในฐานะเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอันดับ 1

เทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์ นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว สมาคมฯ ได้รับแจ้งจากสมาชิกโรงแรม มีนักท่องเที่ยวขอเช็กเอาต์ล่วงหน้า 8-10% ทั่วทุกภูมิภาค โดยเฉพาะกรุงเทพฯ เชียงใหม่ เชียงราย และพระนครศรีอยุธยา ขณะที่บางส่วนเปลี่ยนจุดหมายปลายทางไปพักที่พัทยาหรือภูเก็ตแทน ซึ่งเฉพาะช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังเกิดเหตุจะทำให้รายได้ของธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยวหายไปไม่น้อยกว่า 10-15% และจะส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงบรรยากาศการท่องเที่ยวช่วงเทศกาลสงกรานต์เงียบเหงากว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ประเมินว่าต้องใช้เวลาอย่างเร็วที่สุด  1 เดือนถึงจะกลับสู่ภาวะปกติ

ที่สำคัญ เหตุตึกถล่มย่านจตุจักรกลายเป็นไวรัลทั่วโลกออนไลน์ หากเกิดประเด็นปัญหาความปลอดภัย เช่น ตึกถล่มซ้ำอีก ภาคท่องเที่ยวไทยอาจกู่ไม่กลับ และได้รับผลกระทบระยะยาว หลังจากช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นกรณีนักแสดงชาวจีน ซิงซิง หายตัวไปบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา การปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ข้อกังวลเกี่ยวกับการส่งตัวชาวอุยกูร์กลับประเทศจีน และล่าสุดเหตุแผ่นดินไหว

ก่อนหน้านี้  SiteMinder ผู้นำระดับโลกด้านแพลตฟอร์มการจัดจำหน่ายห้องพักและการบริหารรายได้ ระบุว่า เทศกาลสงกรานต์ของประเทศไทยถือเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยปีนี้ยอดจองโรงแรมที่มีกำหนดเช็กอินระหว่างวันที่ 10-17 เมษายน เพิ่มขึ้น 15% เมื่อเทียบกับยอดเช็กอินจริงในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา และความนิยมในระดับนานาชาติของเทศกาลสงกรานต์มีส่วนช่วยให้ยอดจองโรงแรมพุ่งสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยเกาะสมุย ซึ่งเป็นสถานที่ถ่ายทำของซีรีส์ The White Lotus มียอดจองเพิ่มขึ้นถึง 65% ตามมาด้วยเชียงใหม่เพิ่มขึ้น 41% และกรุงเทพฯ 20%

ขณะเดียวกัน ระยะเวลาการจองล่วงหน้ายาวนานขึ้น โดยโรงแรมในเกาะสมุยมีระยะเวลาการจองล่วงหน้าเฉลี่ยสูงสุด 109 วัน เพิ่มขึ้น 33% จาก 82 วัน ในปีที่ผ่านมา ส่วนโรงแรมในภูเก็ตเพิ่มขึ้น 33% จาก 76 วัน เป็น 100 วัน และโรงแรมในกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้น 17% จาก 69 วัน เป็น 81 วัน นอกจากนั้น ระยะเวลาการเข้าพักในโรงแรมทั่วประเทศไทยช่วงสัปดาห์สงกรานต์เพิ่มขึ้น 7.3% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เฉลี่ยจาก 2.41 คืน เป็น 2.59 คืน สะท้อนให้เห็นถึงเสน่ห์ที่หลากหลายของแหล่งท่องเที่ยวในประเทศ

นายเทียนประสิทธิ์ยอมรับว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติตลอดปี 2568 ยากมากที่จะไปถึงเป้าหมาย 39-40 ล้านคน ตามที่รัฐบาลตั้งไว้ หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวถ้าได้เท่าปี 2567 ซึ่งปิดที่จำนวน 35.54 ล้านคน ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว เพราะมีเหตุการณ์ต่างๆ เยอะมาก เมื่อนักท่องเที่ยวต่างชาติต่ำกว่าเป้าหมายในปีนี้ จำเป็นต้องกระตุ้นตลาดเที่ยวในประเทศชดเชย เช่น การออกมาตรการเที่ยวไทยคนละครึ่ง

ด้านกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬารายงานจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสม ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-31 มีนาคม 2568 มีทั้งสิ้น 9,549,004 คน สร้างรายได้ 462,747 ล้านบาท โดยจำนวนนักท่องเที่ยวสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน 1,331,434 คน มาเลเซีย 1,153,496 คน รัสเซีย 722,202 คน อินเดีย 543,770 คน และเกาหลีใต้ 497,930 คน โดยช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (24-30 มีนาคม) นักท่องเที่ยวกลุ่มตลาดระยะใกล้ (Short haul) เดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้นจากการออกเดินทางท่องเที่ยวก่อนวัน “อีดอิดิ้ลฟิตริ” เทศกาลวันหยุดต่อเนื่องของชาวมุสลิม ทำให้ตลาดมาเลเซียขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 1 เพิ่มขึ้น 42.19% และตลาดอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นกว่า 89.28%

ที่น่าจับตา คือ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติช่วงสัปดาห์ดังกล่าวลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า 0.77% โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนลดลง 3.83% และเป็นการลดลงต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อนหน้าด้วย

อย่างไรก็ตาม ช่วงบ่ายวันที่ 2 เมษายน กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ตัดสินใจจัดงานแถลงข่าว เพื่อยืนยันการจัดงาน Maha Songkran World Water Festival 2025 และงาน “เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์” ทั่วประเทศ โดย Maha Songkran World Water Festival 2025 จัดระหว่างวันที่ 11-15 เมษายน บริเวณท้องสนามหลวงและตั้งเป้าหมายจะทำให้ประเทศไทยติด 1 ใน 10 สุดยอดประเทศเฟสติวัลระดับโลก

ฐาปนีย์  เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า งาน Maha Songkran World Water Festival 2025 เป็นหนึ่งใน Grand Festivity ภายใต้โครงการ Thailand Summer Festival ที่มุ่งยกระดับประเพณีสงกรานต์ให้ยิ่งใหญ่ขึ้น ตอกย้ำความเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติจากยูเนสโกและพลิกฟื้นความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยวทั่วโลก

ไฮไลต์สำคัญ คือ ขบวนรถพาเหรดมหาสงกรานต์รูปแบบขบวนแห่คาร์นิวัล จำนวน 8 ขบวน ได้แก่ ขบวนสายน้ำบันดาลสุข ขบวนสีสันแห่งฤดูกาล ขบวนสมบูรณ์พูนแซ่บ ขบวนช้างไทยแสนรู้ สัตว์มงคลคู่บ้านคู่เมืองไทย  ขบวนเชิดชูค่าปลากัดไทย ขบวนมหรสพวิถี ลีลาสยาม ขบวนตุ๊กตุ๊ก รถแห่หมอลำซิ่ง และขบวนสงกรานต์วัยใสนำเสนออัตลักษณ์ไทยที่เปลี่ยนผ่านจากอดีตจนถึงปัจจุบันและอนาคต โดยวันที่ 12 เมษายน เวลา 17.00 น. เริ่มต้นจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยสู่ถนนราชดำเนินไปสิ้นสุดที่ท้องสนามหลวง และวันที่ 13 เมษายน  เวลา 17.00 น. แห่รอบท้องสนามหลวงก่อนจอดแสดงบริเวณท้องสนามหลวงจนถึงวันที่ 15 เมษายน

นอกจากนี้ จัดกิจกรรมบริเวณท้องสนามหลวง ประกอบด้วย โซนสงกรานต์อัตลักษณ์ 5 ภาค โซนเสน่ห์ไทย 5 Must do in Thailand โซนมหรสพงานวัดไทย โซนลานเล่นน้ำ การแสดง EDM โซนจำหน่ายอาหาร ผลิตภัณฑ์และสุดยอดของดี 5 ภูมิภาค มากกว่า 100 บูท และโซนเวทีการแสดงทางวัฒนธรรม การแสดงร่วมสมัย การแสดงของศิลปินดัง ได้แก่ Polycat, Joey Boy, Zeal, Jeff Satur, The Toys, 4EVE, Paper Planes, Paradox, Tilly Birds, Musketeers, Ink Waruntorn, จ๊ะ นงผณี, ลำไย ไหทองคำ, Lazyloxy, ต้าอู๋ห์, กระแต อาร์สยาม, Slapkiss, Yourmood, คาราบาว, Bodyslam

ส่วนในหลายจังหวัดสำคัญจะจัดงานเย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ ตลอดทั้งเดือน เช่น ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง จ.เชียงใหม่ วันที่ 7-16 เมษายน งานสลุงหลวงกลองใหญ่ปีใหม่เมืองนครลำปาง วันที่ 8-14 เมษายน งานเทศกาลดอกคูนเสียงแคน และถนนข้าวเหนียว วันที่ 8-15 เมษายน

งานมหาสงกรานต์วัฒนธรรม 2  ฝั่งโขง จ.หนองคาย วันที่ 12-15 เมษายน งานสงกรานต์ผ้าขาวม้า สมมาหลวงพ่อพระใส จ.หนองคาย วันที่ 12-19 เมษายน งานเทศกาลมหาสงกรานต์แห่นางดานเมืองนคร จ.นครศรีธรรมราช วันที่ 12-14 เมษายน  สงกรานต์เล่นน้ำกับช้าง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วันที่ 13-15 เมษายน

ด้านภาคเอกชน เช่น ไอคอนสยามทุ่มงบประมาณ 65 ล้านบาท ลุยงาน “ICONSIAM THAICONIC SONGKRAN CELEBRATION 2025” ภายใต้แนวคิด “สาดสนุกมหาสงกรานต์ สายธารแห่งเสน่ห์ไทย” มีวอเตอร์ทาวเวอร์สูงกว่า 9 เมตร โซนเล่นน้ำสำหรับเด็กเล็ก ประเพณีก่อกองทราย ขบวนแห่สงกรานต์ ประเพณีสรงน้ำพระ และการแสดงวัฒนธรรมไทย ตั้งแต่วันที่ 10-16 เมษายน ซึ่งไอคอนสยามมั่นใจจะมีผู้ร่วมงานมากกว่า 1.4 ล้านคน เพิ่มการจับจ่ายหมุนเวียนภายในศูนย์การค้าสูงขึ้น 40%

ดังนั้น เทศกาลสงกรานต์จะเป็นอีเวนต์ทดสอบความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะกลุ่มทัวร์ต่างชาติ ทั้งในแง่ความสนุกสนานและความปลอดภัยหลังเกิดเหตุอาคารถล่ม อาคารแตกร้าวจากเหตุแผ่นดินไหว รวมถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวไทย นำร่องก่อนใช้มาตรการ “เที่ยวไทยคนละครึ่ง” เพื่อกระตุ้นตลาดช่วงโลว์ซีซัน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กันยายน 2568

ถ้าสงกรานต์นี้เงียบเหงา เศรษฐกิจไทยโคม่าแน่.