วันพุธ, ธันวาคม 18, 2024
Home > Cover Story > “กูร์เมต์” ดัน 4 โมเดล แข่งสงครามซูเปอร์ฯ

“กูร์เมต์” ดัน 4 โมเดล แข่งสงครามซูเปอร์ฯ

หลังเดอะมอลล์ กรุ๊ป ทุ่มทุนปรับ “โฮม เฟรช มาร์ท” เป็น “กูร์เมต์ มาร์เก็ต” ทั้งหมด และอีกไม่กี่ปีต่อมา ลุยปรับโฉม กูร์เมต์ มาร์เก็ต ใหม่อีกรอบ เพื่ออัปเกรดความเป็นซูเปอร์มาร์เกตระดับพรีเมียมและเน้นไลฟ์สไตล์สายสุขภาพ

ปัจจุบันกูร์เมต์ มาร์เก็ตมีสาขารวม 17 แห่ง แยกเป็น 4 โมเดล คือ 1. สาขาดาวน์ทาวน์ เจาะย่านธุรกิจในเมือง มี 5 สาขา อยู่ในศูนย์การค้าพารากอน เอ็มดิสทริค ซึ่งแยกเป็น 3 สาขาในห้างเอ็มโพเรียม เอ็มควอเทียร์ และเอ็มสเฟียร์ ส่วนในเทอร์มินอล 21 เป็นสาขาสแตนด์อะโลน

2. สาขาในศูนย์การค้าเดอะมอลล์ ไลฟ์สโตร์ 6 สาขา ได้แก่ สาขารามคำแหง ท่าพระ งามวงศ์วาน บางแค บางกะปิ และโคราช

3. สแตนด์อะโลน 5 สาขา อยู่ในเดอะพรอมานาด เดอะคริสตัล เอสบีราชพฤกษ์ Design Village พุทธมณฑล สาย 3 Design Village บางนา และ บลูพอร์ต หัวหิน

และ 4. สาขาสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ลาดพร้าว ถือเป็นสาขารูปแบบใหม่และทดลองเปิดเมื่อปี 2560 พื้นที่ขนาด 2,000 ตารางเมตร ถือเป็นซูเปอร์มาร์เกตแห่งแรกในไทยที่อยู่ในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน เน้นจุดขายบริการอาหาร Grab and Go สินค้าประเภทขนม เครื่องดื่ม อาหารพร้อมรับประทาน Take away และพื้นที่นั่งกิน ประเภทจานด่วน หรือเซตเมนู ซึ่งได้รับผลตอบรับดีมากจากกลุ่มผู้โดยสาร กลุ่มพนักงานออฟฟิศและผู้อยู่อาศัย ทั้งคอนโดมิเนียมและบ้านเรือนต่างๆ

หากย้อนดูเส้นทางธุรกิจซูเปอร์มาร์เกตของเดอะมอลล์กรุ๊ป เริ่มต้นจากแบรนด์ “Home Fresh Mart” (โฮมเฟรชมาร์ท) เปิดสาขาแรกเมื่อปี 2526 ที่ศูนย์การค้าเดอะมอลล์ 2 รามคำแหง โดยขณะนั้นวางเป้าหมายแค่การเป็นตัวดึงคนเข้าศูนย์การค้าเดอะมอลล์ ไม่ได้นึกถึงยอดขายหรือกำไรมากมาย ทีมผู้บริหารจึงพยายามสร้างจุดขายและภาพลักษณ์ภายใต้สโลแกน “ครบ สด สะดวก ปลอดภัย” ซึ่งประสบความสำเร็จในแง่การดูดลูกค้าเข้ามาใช้บริการศูนย์การค้าได้อย่างดี

ช่วงเวลาหลายปี โฮมเฟรชมาร์ทขยายสาขาตามเดอะมอลล์ จนมีการสร้างแบรนด์ใหม่ “Gourmet Market” (กูร์เมต์ มาร์เก็ต) รับการแตกไลน์ศูนย์การค้าระดับไฮเอนด์ “เอ็มโพเรียม” ซึ่งเน้นกลุ่มลูกค้าต่างชาติและเศรษฐีคนรุ่นใหม่ ตามด้วยการเปิดศูนย์การค้าสยามพารากอนและลงทุนสร้างกูร์เมต์ มาร์เก็ต พื้นที่รวมมากกว่าหมื่นตารางเมตร กลายเป็นซูเปอร์มาร์เกตระดับเวิลด์คลาสของโลก

เวลานั้นผู้บริหารบริษัท เดอะมอลล์กรุ๊ป จำกัด กล่าวอย่างมั่นใจว่า ถ้าไม่พูดถึงจำนวนสาขาเปรียบเทียบกับคู่แข่ง กูร์เมต์ มาร์เก็ต สาขาสยามพารากอน ถือเป็นซูเปอร์มาร์เกตที่มียอดขายต่อสาขาสูงที่สุด เดือนละ 200-300 ล้านบาท และถือเป็นเบอร์ 1 ในตลาดซูเปอร์มาร์เกต

ปี 2533 บริษัทตัดสินใจลงทุนกว่าร้อยล้านบาทร่วมกับกลุ่มธุรกิจคณานันท์ เจ้าของที่ดินย่านใจกลางเมือง เปิดกูร์เมต์ มาร์เก็ต นอกศูนย์การค้าในกลุ่มเดอะมอลล์ ที่คอมมูนิตี้มอลล์ เค วิลเลจ ย่านสุขุมวิท 26

ปีต่อมา ร่วมกับกลุ่มแอล แอนด์ เอช พร็อพเพอร์ตี้ ในเครือแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เปิดกูร์เมต์ มาร์เก็ต สาขาเทอร์มินอล 21 จับกลุ่มลูกค้าที่มีไลฟ์สไตล์สูง กลุ่มคนรุ่นใหม่และชาวต่างชาติ พื้นที่กว่า 1,800 ตารางเมตร สินค้ามากกว่า 20,000 รายการ และปี 2555 เปิดสาขาในศูนย์การค้าเดอะพรอมานาด ย่านรามอินทรา โดยวางยุทธศาสตร์การขยายสาขาโฮมเฟรชมาร์ทและกูร์เมต์ มาร์เก็ต ในฐานะแม็กเน็ตที่ศูนย์การค้าใหม่ๆ ต้องมี เพื่อยกระดับภาพลักษณ์ของตัวศูนย์ ยกระดับค่าเช่าของโครงการและยกระดับกลุ่มลูกค้า

กระทั่งปี 2559 เดอะมอลล์กรุ๊ปตัดสินใจปรับเปลี่ยนแบรนด์จากโฮมเฟรชมาร์ท (Home Fresh Mart) เป็น “กูร์เมต์ มาร์เก็ต” (Gourmet Market) ทั้งหมดเพื่อสร้างจุดแข็งในฐานะ “พรีเมียม ซูเปอร์มาร์เกต” ภายใต้แนวคิด “คัดสรรสิ่งที่ดีที่สุดให้ผู้บริโภค” รองรับไลฟ์สไตล์คนเมืองและลูกค้ากำลังซื้อสูง หลังประสบความสำเร็จจาก ดิ เอ็มโพเรียม สยามพารากอน และ ดิ เอ็มควอเทียร์

ปี 2563 เดอะมอลล์ กรุ๊ป ทุ่มงบปรับโฉมกูร์เมต์ มาร์เก็ตอีกครั้ง เพื่ออัปเกรดความเป็นพรีเมียมและเน้นโซนใหม่ GOURMET NATURAL ชัดเจนมากขึ้น โดยประเดิมที่สาขาเดอะมอลล์ งามวงศ์วาน ตามด้วยสาขาสยามพารากอน พื้นที่ 6,000 ตารางเมตร และสาขาเดอะมอลล์ ท่าพระ ซึ่งถือเป็นไฮไลต์ครั้งใหญ่ ทั้งกูร์เมต์ มาร์เก็ต และศูนย์อาหาร กูร์เมต์ อีสท์ ที่รวบรวมความอร่อยกว่า 140 ร้านดัง ทั้งร้านอาหารแบรนด์ดัง Trendy Foodie และ Street Food

ปี 2564 บริษัทเร่งชูจุดขายใหม่ ปลุกปั้นโซนกูร์เมต์เนเชอรัล รวบรวมสินค้าสำหรับคนรักสุขภาพและใส่ใจสิ่งแวดล้อม ผลิตภัณฑ์ออแกนิก ตั้งแต่ผักผลไม้ วัตถุดิบเครื่องปรุง อาหารพร้อมรับประทาน ขนมรับประทานเล่น Superfood และวัตถุดิบทำเบเกอรี่ ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติ Home Care และ Personal Care ทั้งแบรนด์ไทยและแบรนด์ต่างประเทศ รวมถึงผลิตภัณฑ์ Eco-friendly โดยเฉพาะโซน LED FARM ซึ่งถือเป็นฟาร์มผักสดที่เปิดตัวในกูร์เมต์ มาร์เก็ต เป็นซูเปอร์มาร์เกตแห่งแรกในประเทศไทย

เหตุผลสำคัญ คือ การวางยุทธศาสตร์ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ด้านสุขภาพด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเพิ่มประสบการณ์การจับจ่ายสินค้า ซึ่ง LED FARM เป็นกลยุทธ์หนึ่งที่จับมือกับบริษัท ซีวิค มีเดีย จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายหลอดไฟแอลอีดี (LEDs) และมีการต่อยอดนำองค์ความรู้เกี่ยวกับหลอดไฟแอลอีดีมาผสานกับความรู้ด้านภาควิชาเกษตร เพื่อปลูกพืชเกษตรเเนวตั้งแบบ Indoor ที่เรียกว่า Plant Factory with Artificial Lighting ทดแทนการปลูกพืชกลางแจ้งแบบเดิม ล่าสุดเปิดให้บริการในกูร์เมต์สยามพารากอน เอ็มควอเทียร์ เอ็มโพเรียม เดอะมอลล์ท่าพระ เดอะมอลล์บางแค เดอะมอลล์งามวงศ์วาน ดีไซน์ วิลเลจ (พุทธมณฑล) และเดอะมอลล์บางกะปิ

นอกจากนั้น เน้น Grocerants หรือ Grocery + Restaurants จัดสรรพื้นที่ส่วนหนึ่งของซูเปอร์มาร์เกตเป็นพื้นที่ Dining Area ในรูปแบบเคาน์เตอร์บาร์ทำอาหาร มีเชฟเป็นผู้รังสรรค์เมนูอาหารจากวัตถุดิบสดๆ ใหม่ๆ ในซูเปอร์มาร์เกต  โดยลูกค้าสามารถเลือกวัตถุดิบเนื้อสัตว์ และของสดต่างๆ ให้เชฟปรุงเมนูที่ต้องการ จะนั่งรับประทานที่เคาน์เตอร์ หรือแพ็กกลับบ้าน ซึ่งเป็นจุดขายที่ลูกค้าชื่นชอบมาก.

เจนี สโตร์ จุดเริ่มตลาดสดติดแอร์

ซูเปอร์มาร์เกตในประเทศไทยแห่งแรก ชื่อ เจนี สโตร์ ของนายเกียรติ ศรีเฟื่องฟุ้ง เปิดกิจการเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2494 ย่านถนนพระราม 4 ตรงข้ามวังสระปทุม

ปี 2511 เซ็นทรัลสีลมถือเป็นห้างแห่งแรกที่นำสินค้าอุปโภคบริโภคมารวมอยู่ในตึกเดียวกันในลักษณะซูเปอร์มาร์เกต มีการจัดแบ่งโซนสินค้าและใช้ระบบแคชเชียร์ แต่ยังไม่ได้รับความนิยมมากนักเพราะคนไทยยังชินกับการจับจ่ายในตลาดสด จนเริ่มมีกลุ่มห้างสรรพสินค้าหันมาเปิดแผนกซูเปอร์มาร์เกตรองรับกลุ่มลูกค้าที่หันมาจับจ่ายของสดในห้างมากขึ้น

โดยเฉพาะช่วงปี 2530-2540 นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติเข้ามาจับธุรกิจค้าปลีกในไทยอย่างคึกคัก เกิดแบรนด์ใหม่ๆ เช่น แม็คโคร เปิดสาขาแรกย่านลาดพร้าวในปี 2532 บิ๊กซี ลุยสาขาแรกที่ถนนแจ้งวัฒนะในปี 2537 รวมถึงโลตัสซูเปอร์เซ็นเตอร์ เปิดสาขาซีคอนสแควร์ในปีเดียวกัน

ตั้งแต่นั้น Modern Trade เริ่มรุกเข้ามาแทนที่การค้าปลีกแบบดั้งเดิม เติบโตและขยายสาขาทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 กลุ่มทุนค้าปลีกไทยเจอปัญหาหนี้สินต่างประเทศและมีการแก้ไขกฎหมายให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาถือหุ้นได้เกิน 50% บริษัทค้าปลีกข้ามชาติหลายแห่งเปลี่ยนสถานะจากพาร์ตเนอร์เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ เช่น เครือซีพีขายหุ้นส่วนใหญ่ของ 2 กิจการหลัก คือ โลตัสซูเปอร์มาร์เก็ตให้กลุ่ม Tesco ประเทศอังกฤษในปี 2541 และสยามแม็คโครให้ SHV Holdings ประเทศเนเธอร์แลนด์

เครือเซ็นทรัลเปลี่ยนมือผู้ถือหุ้นใหญ่ของบิ๊กซีไปเป็นกลุ่มคาสิโน ประเทศฝรั่งเศส และขายท็อปส์ให้บริษัท Royal Ahold จากเนเธอร์แลนด์

กระทั่งเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว กลุ่มทุนทยอยซื้อกิจการกลับคืนมา เช่น เซ็นทรัลซื้อท็อปส์กลับมาบริหารในปี 2547 เครือซีพีซื้อสยามแม็คโครกลับมาในปี 2556 และกลุ่มเบอร์ลี่ยุคเกอร์ทุ่มทุนเทกโอเวอร์บิ๊กซี ในปี 2559

ปัจจุบัน ธุรกิจซูเปอร์มาร์เกตและไฮเปอร์มาร์เกตมีมากมาย เช่น บิ๊กซี เซ็นทรัลฟู้ดรีเทล ท็อปส์ โลตัส ซีพีเฟรชมาร์ท ฟู้ดแลนด์ กูร์เมต์ แม็คโคร แม็กซ์แวลู ริมปิง ซูเปอร์มาร์เก็ต วิลล่า มาร์เก็ต และ Golden Place

ขณะที่มีหลายแบรนด์หายไปเช่นกัน ได้แก่ คาร์ฟูร์จากฝรั่งเศส แฟมิลี่มาร์ทจากญี่ปุ่น สพาร์ (SPAR) จากเนเธอร์แลนด์.