วันเสาร์, ธันวาคม 21, 2024
Home > Cover Story > ย้อนไทม์ไลน์ “การบินไทย” กับโค้งสุดท้ายของแผนฟื้นฟูฯ

ย้อนไทม์ไลน์ “การบินไทย” กับโค้งสุดท้ายของแผนฟื้นฟูฯ

เรียกได้ว่าเป็นโค้งสุดท้ายเลยก็ว่าได้ สำหรับ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หลังจากเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการเป็นระยะเวลากว่า 4 ปี ที่ล่าสุดออกมาแถลงความคืบหน้าของการปรับโครงสร้างทุนและการบรรลุเงื่อนไขในการออกจากแผนฟื้นฟูกิจการไปอีกหนึ่งขั้น พร้อมเตรียมกลับมาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอีกครั้งในไตรมาส 2/2568 ในฐานะสายการบินเอกชนเต็มตัว

สายการบินแห่งชาติอย่าง “การบินไทย” ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2503 และมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจจากการที่กระทรวงการคลังเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เกิน 50% กระทั่งกลางปี 2563 กระทรวงการคลังได้ขายหุ้นบางส่วนให้กับกองทุนวายุภักษ์ส่วนหนึ่ง ก่อนที่การบินไทยจะเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการในที่สุด

ถ้าย้อนไทม์ไลน์ของการเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการของ “การบินไทย” พบว่า เหตุผลที่การบินไทยต้องเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการเพราะมีผลการดำเนินงานที่ขาดทุนยาวนานติดต่อกันถึง 8 ปี โดยปี 2560 ขาดทุนสุทธิ 2,107 ล้านบาท, ปี 2561 ขาดทุนสุทธิ 11,625 ล้านบาท, ปี 2562 ขาดทุนสุทธิ 12,042 ล้านบาท และในปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 การบินไทยมีตัวเลขขาดทุนสุทธิมากถึง 141,170 ล้านบาท ซึ่งแน่นอนว่าการขาดทุนดังกล่าวเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจการบินอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง และเป็นตัวเร่งที่ทำให้การบินไทยต้องเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ

แต่ถึงกระนั้นโควิด-19 ก็ไม่ใช่สาเหตุเดียวที่ทำให้การบินไทยต้องเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ เพราะความสั่นคลอนของการบินไทยเกิดจากปมปัญหาที่สะสมมานาน ทั้งสภาพการแข่งขันในธุรกิจสายการบิน ภาคอุตสาหกรรมการบินระหว่างประเทศ และภาคอุตสาหกรรมการบินภายในประเทศที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมาถึงของสายการบินต้นทุนต่ำ (Low Cost)

ประกอบกับการมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจทำให้การบินไทยขาดความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจท่ามกลางการแข่งขันในอุตสาหกรรมการบินที่มีการแข่งขันสูงและต้องปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ซึ่งล้วนเป็นปมปัญหาที่สะสมจนทำให้การบินไทยประสบภาวะขาดทุนอย่างต่อเนื่อง  อีกทั้งยังมีหนี้สินเป็นจำนวนมากกว่า 200,000 ล้านบาท และไม่สามารถชำระหนี้ที่ถึงกำหนดและที่กำลังจะถึงกำหนดได้

นั่นทำให้ในวันที่ 26 พฤษภาคม 2563 การบินไทยตัดสินใจยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง ถัดมาในวันที่ 14 กันยายน 2563 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้การบินไทยฟื้นฟูกิจการ และ 8 มีนาคม 2564 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแจ้งเหตุเพิกถอน (เริ่มนับเวลา 3 ปี เพื่อแก้ไขเหตุเพิกถอน)

กระทั่ง 15 มิถุนายน 2564 ศาลล้มละลายกลางจึงมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งมีสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการชำระหนี้ การเจรจาลดภาระหนี้ การขยายเวลา รวมถึงให้สิทธิเจ้าหนี้กระทรวงการคลังในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนไม่เกิน 25,000 ล้านบาท การก่อหนี้ใหม่ และการระดมเงินทุนได้ไม่เกิน 25,000 ล้านบาท

ก่อนที่ภายหลังได้มีการขอยื่นแก้ไขแผนฟื้นฟูฯ เพื่อปรับโครงสร้างทุนที่ประกอบด้วยการแปลงหนี้เป็นทุนและการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนใหม่ การปรับเปลี่ยนวิธีการชำระหนี้ รวมถึงการปรับปรุงฝูงบิน โดยการเพิ่มจำนวนเครื่องบินเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ซึ่งเป็นแผนฟื้นฟูฯ ฉบับที่ใช้ในปัจจุบัน โดยศาลล้มละลายกลางมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565

ซึ่งคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย ประกอบด้วย ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการอย่าง ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ และมีผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการอีก 2 ท่าน ได้แก่ ชาญศิลป์ ตรีนุชกร อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ พรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โดยมีลูกหม้อเก่าของการบินไทย “ชาย เอี่ยมศิริ” นั่งในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)

ในช่วงแห่งการฟื้นฟูกิจการที่ผ่านมา การบินไทยได้มีการปรับโครงสร้างองค์กร ทั้งการปรับลดขนาดองค์กร ลดจำนวนพนักงานลงเหลือประมาณ 14,000 คนในปี 2565 ปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจกลุ่มธุรกิจจากไทยสมายล์ เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงานและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ การปรับโครงสร้างทางการเงิน โดยได้เจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้โดยไม่ตัดหนี้ (Hair Cut) แต่ปรับปรุงเงื่อนไขการชำระหนี้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ รวมถึงบริหารจัดการทรัพย์สิน และต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินงาน อีกทั้งยังมีการปรับฝูงบินและเส้นทางการบินเพื่อเพิ่มรายได้และสร้างกำไรในทุกเส้นทางการบิน นั่นทำให้สถานะของการบินไทยดีขึ้นตามลำดับ จากที่ในปี 2563 เคยขาดทุนหนักถึง 141,170 ล้านบาท ในปี 2564 กลับพลิกฟื้นสร้างกำไรสุทธิได้ 55,113 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับโครงสร้างหนี้ การขายทรัพย์สินและเงินลงทุน

สำหรับปี 2565 การบินไทยและบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน 7,797 ล้านบาท โดยมีรายได้รวมทั้งสิ้น 105,041 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 342.3% จากปี 2564 เนื่องจากบริษัทฯ กลับมาทำการบินและให้บริการเที่ยวบินประจำในเส้นทางระหว่างประเทศครอบคลุมภูมิภาคเอเชีย ยุโรป และออสเตรเลีย ส่วนปี 2566 มีกำไรสุทธิ 28,100 ล้านบาท เติบโต 10,000% จากปี 2565 และเป็นกำไรสุทธิที่สูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา

ส่วนภาพรวมผลการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 มีตัวเลขที่น่าสนใจ ดังนี้ มีจำนวนผู้โดยสารกว่า 11.62 ล้านคน เพิ่มขึ้น 14.7% เมื่อเทียบกับงวด 9 เดือนของปี 2566 มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) 47,778 ล้าน ASK เพิ่มขึ้น 19.2% ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น โดยมีกำไรจากการดำเนินงานอยู่ที่ 24,191 ล้านบาท EBITDA อยู่ที่ 33,742 ล้านบาท

ในขณะที่ผลประกอบการดีขึ้นเป็นลำดับ กระบวนการฟื้นฟูกิจการก็มีความคืบหน้าขึ้นเป็นลำดับเช่นกัน เพื่อให้บรรลุตามเงื่อนไขของการออกจากแผนฟื้นฟูกิจการและกลับมาซื้อขายใน ตลท. ได้อีกครั้ง

โดยวันที่ 30 กันยายน 2567 การบินไทยประกาศยื่นไฟลิ่งต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เดินหน้าเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการ โดยมีเป้าหมายให้ส่วนของผู้ถือหุ้นให้กลายเป็นบวกด้วย (ก) การแปลงหนี้เดิมของเจ้าหนี้ตามแผนฯ เป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุน (Mandatory Conversion) จำนวนไม่เกิน 14,862,369,633 หุ้น (ข) การจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 4,911,236,813 หุ้น เพื่อรองรับการใช้สิทธิแปลงหนี้เดิมตามแผนฯ เป็นทุนเพิ่มเติมโดยความสมัครใจของเจ้าหนี้ตามแผนฯ (Voluntary Conversion) และ (ค) การจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 1,903,608,176 หุ้น รวมถึงการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 9,822,473,626 หุ้น (รวมทั้งหุ้นที่เหลือจากกระบวนการ Voluntary Conversion (หากมี)) ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมก่อนการปรับโครงสร้างทุนตามแผนฯ พนักงานของการบินไทย และบุคคลในวงจำกัด (Private Placement) ตามลำดับ ซึ่งการแสดงเจตจำนงแปลงหนี้เป็นทุนมีขึ้นระหว่างวันที่ 19-21 พฤศจิกายน 2567

ถัดมาในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2567 ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ในฐานะประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ ออกมาแถลงความสำเร็จของการแปลงหนี้เป็นทุนดังกล่าว ซึ่งพบว่ามีเจ้าหนี้จำนวนมากแสดงเจตนารวมกันเกินกว่า 3 เท่าของจำนวนหุ้นที่มี โดยได้จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนเป็นจำนวน 4,911.2 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่า 12,500.1 ล้านบาท ใช้สิทธิแปลงดอกเบี้ยตั้งพักใหม่เป็นทุนมูลค่า 3,351.2 ล้านบาท และได้จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 1,304.5 ล้านหุ้น คิดเป็นภาระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ รวมทั้งสิ้นมูลค่า 53,453.2 ล้านบาท เป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุน จำนวน 20,989.4 ล้านหุ้น ที่ราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น ซึ่งจะส่งผลให้ส่วนของผู้ถือหุ้นในงบการเงินของการบินไทยกลายเป็นบวกภายในสิ้นปีนี้ อันเป็นการบรรลุหนึ่งในเงื่อนไขในการยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ โดยกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่มีการแปลงหนี้เป็นทุน 100% ในขณะที่เจ้าหนี้สถาบันการเงินและเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ได้รับการชำระหนี้เงินต้นคงค้างในอัตราร้อยละ 24.50

และขั้นต่อไปของกระบวนการปรับโครงสร้างทุนคือ การเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 9,822.5 ล้านหุ้น ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมก่อนการปรับโครงสร้างทุน และพนักงานของการบินไทย ตามลำดับ ในราคา 4.48 บาทต่อหุ้น ซึ่งสามารถจองซื้อและชำระเงินระหว่างวันที่ 6-12 ธันวาคม 2567 และหากมีหุ้นสามัญคงเหลือจะดำเนินการเสนอขายให้แก่บุคคลในวงจำกัดต่อไป โดยคาดว่าการปรับโครงสร้างทุนจะแล้วเสร็จภายใน 31 ธันวาคม 2567

ทั้งนี้โครงสร้างการถือหุ้นก่อนการปรับโครงสร้างทุน ณ วันที่ 31 ต.ค. 2567 กระทรวงการคลังถือหุ้น 47.9%, รัฐวิสาหกิจ 2.1%, กองทุนวายุภักษ์ 7.6% ผู้ถือหุ้นอื่นๆ 42.4% ส่วนโครงสร้างการถือหุ้นหลังการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนในเบื้องต้นสัดส่วนจะอยู่ที่กระทรวงการคลัง 33.4%, รัฐวิสาหกิจ 4.1%, กองทุนวายุภักษ์ 2.8%, ผู้ถือหุ้นอื่นๆ 2.8%, เจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ 44.3% และผู้ถือหุ้นเดิม พนักงาน และบุคคลในวงจำกัด 12.6%

นับเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญในการบรรลุเงื่อนไขของการออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ เพราะตามเงื่อนไขของการออกจากแผนฟื้นฟูกิจการนั้น การบินไทยต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จรวม 4 เงื่อนไข นั่นคือ 1. จดทะเบียนเพิ่มทุนเพื่อรองรับการปรับโครงสร้างทุน ซึ่งการบินไทยได้มีการจดทะเบียนเพิ่มทุนเป็นจำนวน 336,824,601,650 บาทแล้ว เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565

2. ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการโดยไม่ผิดนัดชำระหนี้ได้ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วย ซึ่งตั้งแต่วันที่เข้าสู่การฟื้นฟูกิจการจนถึงปัจจุบัน การบินไทยไม่เกิดเหตุผิดนัดหนี้แต่อย่างใด

3. มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามสัญญาเช่าซื้อเครื่องบิน ไม่น้อยกว่า 20,000 ล้านบาท ในรอบ 12 เดือนย้อนหลัง โดยตั้งแต่ ต.ค. 2566-ก.ย. 2567 การบินไทยมี EBIDA เท่ากับ 27,869 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไข และเงื่อนไขสุดท้ายคือ 4. การแต่งตั้งคณะกรรมการใหม่

ถ้าจะเรียกว่านี่คือโค้งสุดท้ายของการฟื้นฟูกิจการที่กำลังงวดขึ้นทุกขณะก็คงไม่ผิดนัก เพราะที่ผ่านมาการบินไทยสามารถดำเนินการตามแผนฟื้นฟูฯ จนบรรลุเงื่อนไขข้างต้นไปแล้ว 3 ใน 4 ขาดแต่เพียงการแต่งตั้งคณะกรรมการใหม่เท่านั้นที่ยังไม่แล้วเสร็จ โดยก้าวต่อไปหลังกระบวนการปรับโครงสร้างทุนเพื่อให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นบวกที่กำลังดำเนินอยู่แล้วเสร็จภายใน 31 ธันวาคม 2567 การบินไทยมีแผนจะส่งงบการเงินของปี 2567 ต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ในช่วงต้นปี 2568

จากนั้นจะมีการจัดการประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการบริษัทชุดใหม่ตามเงื่อนไขในแผนฟื้นฟูกิจการ และยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อขอยกเลิกการฟื้นฟูกิจการได้ภายในไตรมาส 2 ของปี 2568 ซึ่งนั่นจะทำให้การบินไทยสามารถกลับมาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอีกครั้งในฐานะ “สายการบินเอกชน” อย่างเต็มตัว.