วันศุกร์, ตุลาคม 18, 2024
Home > Cover Story > “วัฒนาวิทยาลัย” พลิกสูตร Transform ไม่อยากปิดกิจการ ต้องพัฒนาให้ทัน

“วัฒนาวิทยาลัย” พลิกสูตร Transform ไม่อยากปิดกิจการ ต้องพัฒนาให้ทัน

ท่ามกลางการแข่งขันในตลาดโรงเรียนเอกชนที่รุนแรง โดยเฉพาะกลุ่มโรงเรียนนานาชาติที่ได้รับความนิยม ทำให้สถาบันการศึกษาเก่าแก่ 150 ปี อย่าง “วัฒนาวิทยาลัย” วันนี้ต้องออกมาประกาศยุทธศาสตร์ Transformational Leadership School ผลักดันแนวคิดการสร้างผู้นำกุลสตรียุคใหม่ หวังขยายฐานตลาดเข้าถึงกลุ่มพ่อแม่และเด็กๆ มากขึ้น   

ทั้งนี้ หากย้อนประวัติศาสตร์โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย สังกัดสำนักงานพันธกิจการศึกษา มูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2417 โดยมิชชันนารีคณะเพรสไบทีเรียนมิชชันจากสหรัฐอเมริกา เดิมมีชื่อเรียกว่า โรงเรียนกุลสตรีวังหลัง ตั้งอยู่บริเวณพระราชวังหลัง เป็นโรงเรียนสตรีประจำและโรงเรียนอนุบาลแห่งแรกของประเทศไทย มีมิสซิสแฮเรียต เอ็ม เฮาส์ เป็นครูใหญ่คนแรก โดยมีจุดมุ่งหมายจัดการเรียนการสอนด้านการอ่านเขียน การศึกษาคริสตจริยธรรมและวิชาเย็บปักถักร้อย ซึ่งเป็นวิชาสำหรับกุลสตรีสมัยนั้น

ปี 2464 กิจการของโรงเรียนเติบโต ทำให้สถานที่ตั้งเดิมไม่สามารถรองรับจำนวนนักเรียนที่เพิ่มขึ้นได้ จึงย้ายโรงเรียนมาอยู่ในทำเลย่านถนนสุขุมวิท 19 เนื้อที่รวม 51 ไร่ และเปลี่ยนชื่อเป็น “วัฒนาวิทยาลัย”

ปัจจุบันวัฒนาวิทยาลัยเป็นโรงเรียนสตรีภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน มีทั้งนักเรียนไป-กลับ ระดับปฐมวัยถึงระดับประถมศึกษาปีที่ 6 และนักเรียนประจำระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 โดยขณะนี้มีนักเรียนทั้งหมด 1,800 คน แบ่งเป็นนักเรียนประจำ 800 คน

ลานทิพย์ ทวาทศิน ผู้จัดการโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย กล่าวกับ “ผู้จัดการ 360 องศา” ว่า จุดแข็งที่ทำให้โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยยืนหยัดมาอย่างยาวนาน 150 ปี คือ การเน้นด้านวิชาการและด้านการใช้ชีวิต มีทั้ง EQ, IQ และMQ ความฉลาดด้านต่างๆ ที่ผู้เรียนจำเป็นต้องควบคู่กัน

“จากการสัมภาษณ์ผู้ปกครองที่ฝากลูกสาวไว้กับโรงเรียนเรา พูดเป็นเสียงเดียวกัน เราสร้างสุภาพสตรีที่มีความพร้อมหลายด้าน ทั้งภาษา วิชาการ และเทคโนโลยี สามารถครองตนอย่างมีประสิทธิภาพ มีสมรรถนะ มีความรับผิดชอบ มีความคิดเป็นผู้นำและมีกาลเทศะ เมื่อเวลาฉันต้องตาม ต้องตามอย่างมีเหตุและผล ถึงเวลาต้องเป็นผู้นำ ฉันจะเป็นผู้นำที่ดี”

สำหรับแนวคิด Transformational Leadership School ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์ล่าสุดที่โรงเรียนต้องการชี้ให้เห็นความแตกต่างจากโรงเรียนทั่วไป คือ การเปลี่ยนนักเรียนให้ทันโลกอยู่ตลอดเวลา ทั้งความรู้และภาษา ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาจีน รวมถึงเทคโนโลยีต่างๆ รองรับการปฏิวัติเข้าสู่โลกดิจิทัล โลกไร้ขอบเขตทั้งหลาย โดยช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 โรงเรียนกำหนดกรอบกลยุทธ์ ตั้งแต่การยกระดับคุณภาพภาษาอังกฤษ ใช้ Cambridge English language Assessment ในหลักสูตรการเรียนการสอน English Program (EP) ในระดับประถมและมัธยม เพื่อวัดระดับภาษาอังกฤษของนักเรียน และยกระดับมาตรฐานของโรงเรียน จัดการเรียนการสอนวิชาคริสตจริยธรรม ดนตรี สอดแทรกด้วยภาษาอังกฤษ และเพิ่มวิชาสังคม (Social Study) ในหลักสูตร English Program (EP) มีการสื่อสารภาษาอังกฤษมากขึ้น

ส่วนการใช้เทคโนโลยีเน้นการสอนวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ การเขียนชุดคำสั่งหรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในรูปโค้ด (Code) หรือ Coding และยังสอนให้เด็กใช้การบังคับโดยการบินโดรน (drone)

“ในปีหน้าโรงเรียนตั้งเป้าหมายให้นักเรียนทุกคนสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษตามช่วงวัย ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น สามารถเขียนเรื่องสั้น หรือเรื่องราว หรือรายงานได้ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายยกระดับเป็นการเขียนรายงาน การนำเสนอหน้าชั้นเรียน ส่วนคอมพิวเตอร์วางแผนและพัฒนาให้นักเรียนสามารถเขียน หรือสร้างโปรแกรม การใช้การเขียน Code ทางคอมพิวเตอร์ โดยคุณครูต้องผ่านมาตรฐานทุกมาตรฐานด้วย”

ขณะเดียวกัน การเป็นโรงเรียนประจำเต็มรูปแบบถือเป็นอีกจุดเด่น ไม่ใช่หอพัก ซึ่งอยู่แบบตัวใครตัวมัน แต่การอยู่โรงเรียนประจำ คือ การอยู่ด้วยกัน มีความผูกพันระหว่างเด็กๆ ความใกล้ชิด เกิดความเอื้ออาทรกัน เวลาเด็กๆ ของเราออกสู่ข้างนอกจะเอื้ออาทรกับลูกน้องเป็นพิเศษ ถือเป็นการปลูกฝังหยั่งลึกเข้าไปในจิตใจและแสดงออกด้วยความจริงใจ เป็น Character ของนักเรียนวัฒนาวิทยาลัย

อย่างไรก็ตาม ลานทิพย์ยอมรับว่า การแข่งขันในตลาดรุนแรงมากขึ้น รัฐบาลไทยทุ่มงบประมาณให้การศึกษาสูงมาก โดยเฉพาะโรงเรียนรัฐบาลขนาดใหญ่ มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมสูงมาก ขณะที่โรงเรียนเอกชนหลายแห่งต้องปิดกิจการเพราะสู้ไม่ได้

“ถ้าเราพัฒนาไม่ทัน  แน่นอนเลยเราต้องปิดกิจการด้วยเช่นกัน ถ้าเราไม่พัฒนาโรงเรียนเป็นผู้นำด้านการศึกษา ถ้าเมื่อไหร่เป็นผู้ตามและถอยหลัง เราสูญเสียนักเรียนแน่ๆ เพราะผู้ปกครองส่วนใหญ่คาดหวังสูง ต้องการให้บุตรหลานได้เรียนโรงเรียนดีๆ และได้รับสิ่งที่ดีที่สุดเหนือคนอื่น อันนั้นเป็นสิทธิพึงชอบธรรมของผู้ปกครอง พูดง่ายๆ คือ โรงเรียนต้องหาเอกลักษณ์และสร้างความโดดเด่นเหนือกว่าโรงเรียนคู่แข่ง ไม่ด้อยมาตรฐานจากเดิม”

ในแง่ต้นทุนธุรกิจที่โรงเรียนหลายแห่งเจอผลกระทบนั้น ผู้จัดการโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยกล่าวว่า การเป็นโรงเรียนประจำ ต้นทุนทุกอย่างสูงขึ้น ค่าน้ำค่าไฟ แต่ต้องอยู่กับมันให้ได้ คือ ประหยัดและรัดเข็มขัด ต้องบริหารให้ได้ผลประโยชน์สูงสุด และพยายามตรึงค่าเทอมในราคาเดิม เพราะต้องการให้ผู้ปกครองอยู่ได้เช่นกัน

ถามว่า พ่อแม่หลายคนนิยมส่งลูกไปเรียนต่างประเทศ หวังผลด้านภาษา ในฐานะกูรูการบริหารโรงเรียนประจำคิดอย่างไร

ลานทิพย์ย้ำข้อคิดสำคัญว่า การอยู่โรงเรียนประจำในประเทศ พ่อแม่ได้เห็นหน้าลูกทุกๆ ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์  สามารถอยู่กับลูก เห็นพัฒนาการและการเจริญเติบโต ถ้าส่งลูกไปอยู่ต่างประเทศเร็วเกินไป ออกห่างจากพ่อแม่ เขาจะไม่ได้เป็นของพ่อแม่แล้ว เพราะเขาจะมีชีวิตของตัวเอง ผู้ปกครองจะไม่ได้ใกล้ชิดและเห็นการใช้ชีวิตวัยรุ่นของลูก นี่คือข้อแตกต่างที่เห็นชัดเจน

“เราควรรอให้เขาเรียนระดับมหาวิทยาลัยก่อนจะดีที่สุด นั่นยังไม่สายที่จะให้เขาค้นหาประสบการณ์ชีวิตในตอนนั้น”.

รงสกูลหลวง โรงเรียนหลวงแห่งแรก

ในยุคเก่าก่อน โรงเรียนในประเทศสยามส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนมิชชันนารี อย่างเช่นโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย จัดตั้งโดยคณะมิชชันนารีอเมริกันเพรสไบทีเรียน เมื่อปี 2395 ในสมัยรัชกาลที่ 4 ถือเป็นโรงเรียนที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย

กระทั่งเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ทรงขึ้นครองราชสมบัติ ในปี 2411 อีก 3 ปีต่อมา พระองค์ทรงเห็นความสำคัญของการศึกษา ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนหลวง “โรงสกูลหลวง” ตั้งอยู่ข้างโรงละครเก่าในสนามวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยครูใหญ่คนแรก คือ หลวงสารประเสริฐ ปลัดกรมอาลักษณ์ นามจริง น้อย อาจารยางกูร ซึ่งต่อมาได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระศรีสุนทรโวหาร

เวลานั้นประกาศให้พระบรมวงศานุวงศ์ เหล่าข้าราชการ ส่งบุตรหลานเข้าเรียนหนังสือ โดยจัดคนในกรมพระอาลักษณ์ เป็นขุนนางพนักงาน ครูสอนหนังสือไทย สอนคิดเลขและขนบธรรมเนียมราชการ พระราชทานเงินเดือน ส่วนผู้เรียนหนังสือได้รับพระราชทานเสื้อผ้านุ่งห่มกับเบี้ยเลี้ยงกลางวัน รวมทั้งโปรดฯ ให้ตั้งโรงเรียนหลวงสอนภาษาอังกฤษให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ หม่อมเจ้าต่างกรม ตั้งอยู่ที่ตึกสองชั้น ข้างประตูพิมานไชยศรี มีนายฟรานซิส ยอร์ช แปเตอร์สัน เป็นครูผู้สอน

ปี 2419 นายฟรานซิส ยอร์ช แปเตอร์สัน กราบทูลฯ ขอลากลับยุโรป จึงเลิกโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ

ปี 2422 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษขึ้นใหม่ ณ พระราชวังนันทอุทยาน เรียกชื่อว่า โรงเรียนนันทอุทยานหรือโรงเรียนสวนนันทอุยาน ให้หมอแมคฟาร์แลนด์ มิชชันนารีชาวอเมริกัน เป็นครูใหญ่ มีคณะกรรมการ 8 คน ทำหน้าที่บริหารจัดการ เป็นต้นกำเนิดรูปแบบโรงเรียน แทนการเรียนตามวัด หรือบ้าน

ปี 2414 โปรดฯ ให้สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงพระยศ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร ราชองครักษ์ ผู้บังคับการทหารมหาดเล็ก ตั้งโรงเรียนสอนผู้ที่จะมาเป็นนายสิบ นายร้อย ในกรมทหารมหาดเล็ก แต่สมัยนั้นราชการกระทรวงต่างๆ เปลี่ยนแปลงแบบแผนใหม่ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงคิดว่าควรตั้งโรงเรียนจะได้มีผู้สมัครเข้ามามาก

ในที่สุดมีการตั้งโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบในปี 2425 และย้ายไปอยู่ทางด้านใต้ของพระนครในปี 2436 เป็นที่ตั้งจนถึงปัจจุบันของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ส่วนตัวพระตำหนักสวนกุหลาบกลายเป็นโรงพยาบาลทหารมหาดเล็กจนถึงรัชกาลที่ 7

ปี 2427 โปรดฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร ตั้งโรงเรียนหลวงให้ลูกหลานเหล่าราษฎรเล่าเรียน คือ โรงเรียนวัดมหรรณพาราม ถือเป็นโรงเรียนประถมศึกษาแห่งแรกในประเทศไทย.