วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
Home > Cover Story > สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ มองงานวิจัย นวัตกรรม สู่เครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ มองงานวิจัย นวัตกรรม สู่เครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

ประเทศที่พัฒนาแล้วและมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจมักจะมีนโยบายสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรม เมื่อเล็งเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อภาพรวมเศรษฐกิจ เกาหลีใต้คือหนึ่งในนั้น ที่ภาครัฐพยายามผลักดันด้านนี้อย่างจริงจัง ส่งผลให้งานวิจัยที่เกิดขึ้นสามารถตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง

สำหรับประเทศไทย งานวิจัยและนวัตกรรมเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคม และการรักษาสิ่งแวดล้อมของประเทศ นำพาประเทศหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ความเหลื่อมล้ำ และกับดักความไม่สมดุลของการพัฒนา ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) และเป้าหมายประเทศไทย 4.0 ที่มุ่งเน้นการพัฒนาประเทศบนฐานความรู้และนวัตกรรม

“ในแต่ละปีไทยได้ลงทุนงานวิจัยและนวัตกรรม เพราะเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยให้รุดหน้า งานวิจัยและนวัตกรรมที่จะเป็นเส้นทางไปสู่การยกระดับเศรษฐกิจและสังคมไทยใน 4 โจทย์หลัก ได้แก่ เกษตรและอาหารมูลค่าสูง การแพทย์และสุขภาพ NetZero&PM2.5 และเทคโนโลยีที่เหมาะสม ปัจจัยหลายด้านที่ไทยต้องเผชิญ ทั้งสภาพภูมิอากาศ การเข้าสู่สังคมสูงวัย การสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน เป็นความท้าทายอย่างมาก วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ตอบโจทย์และนำประเทศไปสู่การพัฒนา และแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ” รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เคยให้มุมมองไว้ในงาน TRIUP FAIR 2024

ถึงกระนั้น การนำพาเศรษฐกิจไทยให้หลุดพ้นจากความถดถอยทางเศรษฐกิจ และตัวเลขจีดีพีที่ดูจะเร่งให้เติบโตได้ยาก คงไม่ใช่เรื่องง่าย งานวิจัยและนวัตกรรมอาจเป็นคำตอบที่ใช่ในห้วงยามนี้หรือไม่

“พลังของประเทศไทยลดลง ดูได้จากตัวเลขจีดีพีที่เคยเติบโตถึง 7% ในปี 1995 แต่เมื่อดูสถานการณ์ปัจจุบัน จีดีพีไทยอยู่ที่ 2.3% จากการประมาณการของสภาพัฒน์ นี่แสดงให้เห็นว่า เราต้องสร้างพลังใหม่ ซึ่งเป็นพลังที่ต้องได้จากนวัตกรรม” ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ กรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) บรรยายในงาน TRIUP FAIR 2024 ที่จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. ในหัวข้อ “วิทยาศาสตร์วิจัยนวัตกรรม คือ พลังใหม่ของประเทศไทยจริงหรือ?”

หลายประเทศให้ความสำคัญกับงานวิจัยและสร้างนวัตกรรม จนนำไปสู่การต่อยอดพัฒนาเป็นสินค้า บริการ เรียกว่าตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ กระบวนการเหล่านี้เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ ที่ไม่ใช่เพียงนำงานวิจัยวางไว้บนหิ้ง

ดร.สมเกียรติอธิบายเพิ่มเติมว่า “หากเราจะสร้างพลังใหม่ เราจำเป็นต้องใช้นวัตกรรม เราต้องเติบโตด้วยการผสมผสานระหว่างทุนและแรงงาน เพิ่มประสิทธิภาพการใช้เงินทุน และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้แรงงานที่ทักษะดีขึ้น แต่ปัจจุบันไทยผ่านจุดที่การเติบโตของประชากรในระดับพีคไปเรียบร้อยแล้ว เรากำลังอยู่ในสังคมผู้สูงอายุ ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยยังเติบโตจากการที่ต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยและถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตต่อมาได้ แต่ลำพังการรับเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียวก็เติบโตได้ยาก อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังต้องอาศัยนวัตกรรม”

ที่ผ่านมาไทยถูกตัดงบด้านงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง สาเหตุสำคัญน่าจะเป็นเพราะงานวิจัยไม่ได้ถูกมองว่าสามารถใช้งาน ใช้ประโยชน์ได้จริง เมื่อเทียบกับประเทศเกาหลี สิงคโปร์ หรือญี่ปุ่น ที่ให้ความสำคัญกับงานวิจัย เพราะมองว่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการผลักดันให้เศรษฐกิจมีการเติบโต

“การจะทำนวัตกรรมได้นั้น หลักๆ ต้องอาศัยตัวการสำคัญตั้งแต่ต้นน้ำ นั่นคือ งานวิจัย แต่นักวิจัยของไทยมักจะถูกตัดงบไปเรื่อยๆ เช่น งบวิจัยข้าว ที่ถูกตัดซึ่งจะกระทบการพัฒนาสายพันธุ์ที่สามารถรับมือกับภาวะโลกรวนได้ หรืออีกหนึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ เกาหลีใต้ เมื่อ 7 ทศวรรษก่อนเศรษฐกิจเกาหลีใต้มีมูลค่าต่ำกว่าไทย แต่ปัจจุบันเกาหลีใต้เป็นเหมือนเสือทางเศรษฐกิจ ส่วนหนึ่งเพราะเขาลงทุนในงานวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งงบที่ลงไปนั้นมีมูลค่าสูงเป็นประวัติการณ์ สูงกว่าจีน ญี่ปุ่น และไทย โดยเป็นงบประมาณที่สูงกว่า 4% ของจีดีพี หากจะบอกว่าสังคมไทยยังไม่เห็นประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรมก็คงไม่ผิด งานวิจัยที่ถูกนำมาใช้บางส่วนจำเป็นต้องอาศัยความสัมพันธ์ทางการเมือง”

โจทย์สำคัญที่ ดร.สมเกียรติพยายามชี้ให้เห็น คือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมงานวิจัยและนวัตกรรม ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า งานวิจัยเหล่านั้นกินได้ หรือใช้ประโยชน์ได้จริง พร้อมแนะ 3 ทางเลือกที่จะเหมาะกับประเทศไทย

“เราต้องพิสูจน์ว่า ปัญญา กินได้ มีประโยชน์จริง จะเกิดการเพิ่มการลงทุน เพราะสังคมเห็นประโยชน์ เมื่อมีงบวิจัยเพิ่มขึ้น ก็จะมีโครงการวิจัยเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งการจะทำอย่างนั้นได้ ช่วงแรกต้องออกแรงทำให้เห็นว่า ถ้ามีงานวิจัยออกมาต้องทำให้คืนทุนภายใน 1-2 ปี จึงจะสามารถแก้ปัญหา ตอบโจทย์เศรษฐกิจและสังคมได้”

“โจทย์ของไทยคือ ทำอย่างไรให้มีสถาบันวิจัยเฉพาะทางที่ส่งผลให้ไปถึงจุดหมายปลายทางได้เร็ว 3 ทางเลือกที่เหมาะสมคือ 1. การตั้งองค์กรใหม่ 2. แยกหน่วยงานวิจัยอุตสาหกรรมออกมาจาก สวทช. และ 3. ปฏิรูปการบริหารจัดงาน สวทช. โดยเลือกผู้บริหารที่มีประสบการณ์จากเอกชน และให้เฉพาะงบพื้นฐาน รัฐสมทบให้เพิ่ม ถ้ามีรายได้จากเอกชน นี่เป็นโมเดลที่หลายประเทศนำมาใช้ มีหน่วยงานที่เรียกว่าสถาบันเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ซึ่งมีการผลิตจากงานวิจัยและใช้ได้จริง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ITRI ของไต้หวัน ที่สร้างนวัตกรรมจากงานวิจัยที่มีสิทธิบัตรรวม 3.1 หมื่นฉบับ มีรายได้จากการบริการ 2.4 หมื่นล้านบาทต่อปี ถ่ายทอดเทคโนโลยี 513 สัญญาต่อปี และยังช่วยสร้างเสริมอุตสาหกรรม โดยเฉพาะชิปเซมิคอนดักเตอร์”

นอกจากงานวิจัยที่จะช่วยเศรษฐกิจแล้ว ยังมีงานวิจัยที่ช่วยแก้ปัญหาทางสังคม เช่น งานวิจัยมวยเด็ก ที่นำไปสู่การแก้ไขกฎหมายมวยเด็ก หรืองานวิจัย ที่ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของเด็กเล็กที่เกิดจากการจมน้ำ

ส่วนคำถามที่ว่า “วิทยาศาสตร์วิจัยนวัตกรรม คือพลังใหม่ของประเทศไทยจริงหรือ?” ดร.สมเกียรติ ให้คำตอบว่า “คำตอบนี้ในทางทฤษฎีมีแน่ เพราะไทยเติบโตมาจนถึงจุดตีบตัน ถ้าจะย้ายคนจากภาคเกษตรไปสู่อุตสาหกรรม การบริการ ทางเลือกมีอยู่ทางเดียวคือ ไทยต้องใช้วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ซึ่งจะมีบทบาทให้เติบโตได้ แต่โจทย์คือ ทำอย่างไรให้เราใช้งานวิจัยเหล่านี้ได้อย่างรวดเร็ว บางเรื่องอาจจะไม่ต้องตอบโจทย์ในวันนี้ แต่จะต้องใช้ได้ในอนาคต”

ด้านตัวแทนจากสภาอุตสาหกรรม และหอการค้าไทยมองประเด็นนี้ไปในทิศทางเดียวกัน ว่า เศรษฐกิจไทยควรขับเคลื่อนด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม เพราะนี่จะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่

วิวรรธน์ เหมมณฑารพ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย “เรามีเจตนารมณ์ที่จะผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมร่วมกัน เราเห็นถึงปัญหาของเศรษฐกิจที่ตัวเลขจีดีพีตกลง เราพยายามผลักดันการเติบโตของจีดีพีผ่านนวัตกรรม ส่วนใหญ่เป็นนวัตกรรมการแพทย์ อาหารและสิ่งแวดล้อม นี่เป็นการเติบโตที่มีส่วนร่วม การผลักดัน OEM ให้มีดีไซน์เป็นของตัวเอง จะต้องทำให้แข่งขันได้ และเติบโตอย่างยั่งยืน กองทุน Innovation One 1,000 ล้านบาท จากภาครัฐ และเอกชนอีก 1,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับตัวเลขทางเศรษฐกิจและจีดีพี

เราหวังว่ากองทุนนี้จะเป็นก้าวเล็กๆ ที่สำคัญในการทำให้นวัตกรรมเติบโตขึ้นมา เป็นตัวผลักดันเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เราต้องการให้เกิดการทำมากกว่าการพูด สิ่งที่เราต้องทำคือ สภาอุตสาหกรรมต้องสร้าง Journey to Impact และทำให้เกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติ”

ประวิทย์ ประกฤตศรี รองประธานกรรมการหอการค้าไทย “เราเห็นแล้วว่าเทคโนโลยีที่เปลี่ยนอย่างรวดเร็ว กลายเป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ ในขณะที่เรากำลังทำงาน เศรษฐกิจเติบโตจากการรับจ้างผลิต เราจะต้องเปลี่ยนได้แล้ว และเราต้องยอมรับว่า งานวิจัยและนวัตกรรมมีความสำคัญในการแข่งขัน ในการลงทุนด้านนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่ง

ที่ผ่านมา เราได้เพิ่มปริมาณงบประมาณสำหรับด้านนี้เพิ่มขึ้น และมีหน่วยงานต่างๆ มาช่วยจัดสรรทุน ผู้ประกอบการขนาดใหญ่แน่นอนว่าสามารถเดินได้ด้วยตัวเอง แต่ผู้ประกอบการขนาดเล็กเรายังต้องให้ความช่วยเหลือ

หอการค้าไทยและสภาหอการค้าไทยมองว่าการเปิดกว้างให้ผู้ประกอบการ นักวิจัยและนักลงทุน จะเป็นเครื่องมือที่จะตอบโจทย์ความต้องการที่แท้จริงของตลาดปัจจุบัน นี่จะเป็นการยกระดับความสามารถในการแข่งขันได้ในตลาดโลก”.