วันอาทิตย์, ตุลาคม 6, 2024
Home > Cover Story > ศรีลังกา: บนรอยทางแห่งความรุ่งเรืองครั้งใหม่

ศรีลังกา: บนรอยทางแห่งความรุ่งเรืองครั้งใหม่

 
ขบวนรถบัสสองชั้นเปิดประทุนหลังคาเคลื่อนตัวผ่านศาลาว่าการแห่งเมืองโคลัมโบ ไปตามเส้นทางรอบเมือง เพื่อให้ผู้คนจำนวนมากมายได้ร่วมชื่นชมความสำเร็จของนักกีฬา cricket ทีมชาติศรีลังกา ที่เพิ่งได้รับชัยชนะเหนือคู่ชิงชนะเลิศยักษ์ใหญ่จากอินเดียในการแข่งขัน ICC World Twenty20 ซึ่งจัดขึ้นที่บังกลาเทศและสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 6 เมษายนที่ผ่านมา ก่อนที่ทีมนักกีฬา cricket ของศรีลังกา จะเดินทางกลับสู่มาตุภูมิในวันที่ 8 เมษายน ท่ามกลางการต้อนรับเยี่ยงวีรบุรุษที่นำพาความรู้สึกอิ่มเอมและภาคภูมิใจกลับมาให้ผู้คนในประเทศที่มีประชากรเพียง 20 กว่าล้านคนแห่งนี้
 
ชัยชนะของทีม Cricket ศรีลังกาในการแข่งขันครั้งล่าสุดนี้ เป็นความต่อเนื่องหลังจากที่ศรีลังกาเพิ่งครองความชนะเลิศในการแข่งขัน Asia Cup ซึ่งเป็นการแข่งขัน Cricket ภายในกลุ่มประเทศเอเชียใต้ร่วมกับอินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ และอัฟกานิสถาน ด้วยการชนะรวดทุกนัดเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
 
ความเป็นไปของ cricket ในศรีลังกาในด้านหนึ่งเป็นภาพสะท้อนที่ไม่ต่างไปจากความเป็นไปของศรีลังกาในภาพรวมมากนัก พวกเขาเริ่มเข้าสู่การแข่งขันในฐานะทีมรองบ่อนหรือ underdog ที่มีสถิติแพ้มากกว่าชนะมาเนิ่นนาน ก่อนที่จะก้าวขึ้นมาเป็นทีมลำดับต้นๆ และคู่แข่งขันที่น่าเกรงขามสำหรับคู่ต่อสู้ ในช่วงเวลา ไม่ถึง 20 ปีมานี้เอง
 
สงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อยาวนานกว่า 3 ทศวรรษได้ฉีกกระชากชีวิตผู้คน ทรัพย์สินและโอกาสของดินแดนที่ได้ชื่อว่ามีทัศนียภาพงดงามและมีความจำเริญรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ให้ต้องตกอยู่ในภาวะตีบตันและไม่สามารถนำพาประเทศไปสู่ความมั่งคั่งได้อย่างมั่นคง
 
ตลอดระยะเวลาแห่งประวัติศาสตร์ของดินแดนที่เรียกขานว่าศรีลังกาในปัจจุบัน ซึ่งสามารถสืบย้อนกลับไปได้ไกลเกินกว่าสมัยพุทธกาล ศรีลังกาได้ผ่านเรื่องราวของความรุ่งเรือง-สูญเสียและการต้องตกอยู่ในอาณัติและการปกครองจากมหาอำนาจภายนอกมาอย่างยาวนาน เฉพาะในห้วงเวลาของประวัติศาสตร์สมัยใหม่ที่เริ่มตั้งแต่เมื่อชาวโปรตุเกสมาถึงดินแดนแห่งนี้เมื่อปี ค.ศ. 1505 ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นอาณานิคมที่ต้องเปลี่ยนผ่านเจ้าอาณานิคมครั้งแล้วครั้งเล่า
 
ด้วยเหตุที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ในการเดินเรือตามเส้นทางการค้าทำให้ดินแดนแห่งนี้เป็นที่ต้องการและเป็นเวทีประลองกำลังของชาติมหาอำนาจมาอย่างต่อเนื่อง ไล่เรียงจากโปรตุเกส มาสู่ดัตช์ ก่อนที่อังกฤษจะเบียดแทรกเข้ามาครอบครองและดูดซับความมั่งคั่งจากดินแดนแห่งนี้อย่างยาวนาน ซึ่งต่างทำให้เกิดพหุสังคมที่มีความหลากหลายทั้งในมิติของชาติพันธุ์ ศาสนาและวัฒนธรรมบนดินแดนแห่งนี้
 
ความเป็นพหุสังคมที่มีการแทรกแซงจากภายนอกตลอดเวลานี้เอง ที่ได้เป็นปัจจัยหนุนเสริมให้เกิดและทิ้งปมเงื่อนแห่งความขัดแย้งระหว่างสิงหลและชาวทมิฬไว้เป็นมรดก ก่อนที่ศรีลังกาจะได้รับเอกราช ในปี 1948 หลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ไม่นาน
 
แต่เอกราชของศรีลังกาได้มาพร้อมกับราคาที่ต้องจ่ายเมื่อรัฐสภาของ Ceylon (ชื่อประเทศในขณะนั้น) ผ่านกฎหมายว่าด้วยลักษณะสัญชาติและการเป็นพลเมือง ซึ่งมีลักษณะเลือกปฏิบัติและกีดกันไม่ให้ชนกลุ่มน้อยชาวทมิฬอินเดียได้รับสิทธิการเป็นพลเมือง ซึ่งทำให้ชาวทมิฬจำนวนกว่า 7 แสนคนกลายเป็นคนชายขอบ ไร้สัญชาติไปโดยปริยาย
 
ร่องรอยแห่งปัญหาเริ่มส่อเค้าหนักหน่วงยิ่งขึ้นเมื่อรัฐบาลของ Solomon West Ridgeway Dias (S.W.R.D.) Bandaranaike ที่ได้รับเลือกตั้งในปี 1956 ประกาศตัวเป็นผู้พิทักษ์และปกป้องวัฒนธรรมของชาวสิงหล ด้วยการออกกฎหมาย “สิงหลเท่านั้น” (Sinhala Only Act) ที่ระบุให้ภาษาสิงหลเท่านั้นที่จะเป็นภาษาราชการในดินแดนแห่งนี้ ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับชาวทมิฬ ในฐานะที่เป็นชนกลุ่มน้อยกลุ่มใหญ่ที่สุด เพราะถือเป็นการกีดกันและตัดโอกาสชาวทมิฬ ก่อนที่ความไม่พึงพอใจจะถูกยกระดับให้กลายเป็นเหตุจลาจลอย่างกว้างขวางในเวลาต่อมา
 
ความรู้สึกแปลกแยกและถูกเลือกปฏิบัติเหล่านี้ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการบ่มเพาะเชื้อฟืนที่พร้อมจะสุมกองให้เป็นเปลวเพลิงแห่งความคับข้องใจ จนกลายเป็นความขัดแย้งขนานใหญ่เพื่อปลดปล่อยและแยกตัวเป็นเอกราชของชาวทมิฬในศรีลังกาในห้วงเวลาสืบเนื่องอีกหลายทศวรรษ
 
โดยในช่วงปลายของทศวรรษ 1960 แนวความคิดของการแบ่งแยกดินแดนของชาวทมิฬเริ่มปรากฏชัดและเอกสารเกี่ยวกับการสถาปนารัฐ “ทมิฬอีแลม” เริ่มแพร่หลายในวงกว้าง ควบคู่กับอพยพไปตั้งถิ่นฐานและเริ่มปฏิบัติการทางการเมืองในประเทศตะวันตกของชาวทมิฬบางกลุ่มด้วย
 
แนวความคิดที่ต่อต้านรัฐบาลศรีลังกาของชาวทมิฬในต่างแดนกลายเป็นจักรกลสำคัญที่ย้อนกลับมาหล่อเลี้ยงกลุ่มต่อต้านรัฐบาลในประเทศที่ลุกลามไปสู่การจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธเพื่อปฏิบัติการทางทหารที่สืบเนื่องยาวนานและสงครามกลางเมือง ที่ได้รับการระบุว่าเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 1983 จากเหตุการณ์ที่กองกำลังติดอาวุธพยัคฆ์ทมิฬอีแลม (Liberation Tigers of Tamil Eelam: LTTE) เริ่มปฏิบัติการซุ่มโจมตีกองทัพรัฐบาลในคาบสมุทร Jaffna ซึ่งถือเป็นประหนึ่งวันเสียงปืนแตกในแบบของศรีลังกากันเลยทีเดียว
 
แม้ว่าสงครามกลางเมืองจากความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลศรีลังกาและกองกำลังติดอาวุธเพื่อการปลดปล่อย พยัคฆ์ทมิฬอีแลม (Liberation Tigers of Tamil Eelam: LTTE) จะสิ้นสุดลงไปแล้ว แต่ความรู้สึกแปลกแยกและไม่ไว้วางใจระหว่างชาวสิงหลกับชาวทมิฬในศรีลังกายังดำเนินสืบเนื่องเป็นบาดแผลระหว่างกันอย่างยากที่จะสมานให้หมดสิ้นไปเพียงชั่วข้ามคืน
 
โดยเฉพาะจากข้อเท็จจริงที่ว่าชาวทมิฬจำนวนหนึ่งซึ่งได้อพยพไปพำนักและแสวงหาโอกาสใหม่ในต่างประเทศ ซึ่งเดิมเคยเป็นผู้อุปถัมภ์ด้านการเงินและการเมืองให้กับกลุ่ม LTTE มาอย่างยาวนานได้ปรับเปลี่ยนกลายเป็นกลุ่มคนที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจในยุคหลังสงครามนี้ไปโดยปริยาย
 
ขณะที่ผลพวงจากสงครามได้ส่งผลให้ศรีลังกาขาดการพัฒนาระบบการบริหารจัดการและระบบอุตสาหกรรม ซึ่งแม้จะมีความสมบูรณ์และความหลากหลายของทรัพยากร แต่ก็ทำให้ต้องพึ่งพิงการนำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก เหตุดังกล่าวทำให้ดัชนีราคาผู้บริโภคและค่าครองชีพในเขตเมืองใหญ่อยู่ในเกณฑ์ที่สูงมาก เมื่อเทียบกับมาตรฐานรายได้ทั่วไปของประชากร
 
ชาวพื้นเมืองสิงหล หรือ Singhalese ซึ่งเคยมีถิ่นพำนักอยู่ในเขตเมือง ต่างทยอยออกไปสร้างถิ่นฐานใหม่ในเขตรอบนอกของเมือง โดยต้องปล่อยให้ชุมชนชาวมุสลิมและชาวทมิฬ ซึ่งแต่เดิมเป็นชนกลุ่มน้อย ขยายบทบาททั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม ด้วยการเข้าครอบครองปัจจัยการผลิตและที่ดินในเขตเมืองจำนวนมาก เพื่อต่อยอดความมั่งคั่งที่รอคอยอยู่เบื้องหน้า 
สอดรับกับแผนและนโยบายพัฒนาทางเศรษฐกิจที่กำลังดำเนินไปด้วยอัตราเร่ง และเป็นอีกหนึ่งมาตรการในการสร้างความมั่นคงในชาติให้กลับมาจำเริญ ย้อนรอยอดีตแห่งความรุ่งเรืองบนดินแดนแห่งนี้อีกครั้งของรัฐบาลศรีลังกา
 
บทเรียนร่วมสมัยของการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ผ่านกีฬาและกิจกรรมหลากหลายอาจมีให้เห็นมาบ้างแล้ว โดยเฉพาะในกรณีของแอฟริกาใต้ แต่สำหรับศรีลังกา ซึ่งมีทีม cricket ที่ประสบความสำเร็จงดงามและประกอบส่วนด้วยผู้เล่นจากกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย นี่เป็นโอกาสที่ควรประเมินและพิจารณาให้กว้างไกลไปยิ่งกว่านั้น เพราะภายใต้ยุทธศาสตร์ของมหาอำนาจที่หวังจะเข้ามาแสวงประโยชน์ในดินแดนแห่งนี้ ศรีลังกาย่อมไม่ใช่ “ทีมรองบ่อน” ที่จะต้องตกอยู่ในอาณัติของใครอีกต่อไป
 
หากแต่ศรีลังกาจะ “รับหรือรุก” จะเป็น “ฝ่ายขว้างหรือฝ่ายตี” สิ่งที่ต้องพิจารณาลำดับแรกคือการเตรียมความพร้อมภายในของทีมให้มั่นคงและสามารถยืนหยัดรับแรงกดดันในเกมการแข่งขันระดับนานาชาติที่น่าติดตามนี้เท่านั้นเอง
 
และนั่นจะทำให้ดินแดนซึ่งได้ชื่อว่าเป็นไข่มุกแห่งมหาสมุทรอินเดีย สามารถเปล่งประกายและประกาศศักยภาพของการเป็นจุดตัดทางวัฒนธรรมและสถานีการค้าที่รุ่งเรืองเมื่อครั้งอดีต ให้กลับมามีสีสันและความชีวิตชีวาอีกครั้ง ที่โลกไม่ควรมองข้าม