วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > On Globalization > PUTTALAM: จากนาเกลือสู่แหล่งพลังงาน

PUTTALAM: จากนาเกลือสู่แหล่งพลังงาน

 
Column: AYUBOWAN
 
ฉากแห่งวิถีชีวิตบนทางหลวงหมายเลข A3 ที่เริ่มต้นจากชายขอบตอนเหนือของกรุงโคลัมโบเลียบเลาะชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของประเทศมุ่งหน้าไปทางทิศเหนือก่อนสิ้นสุดสู่จุดหมายที่เมือง Puttalam รวมระยะทางกว่า 130 กิโลเมตรกำลังปรับเปลี่ยนโฉมหน้าและเพิ่มเติมบทบาทความสำคัญขึ้นอย่างช้าๆ แต่น่าสนใจยิ่ง
 
Puttalam เป็นเมืองขนาดใหญ่ในเขตจังหวัดตะวันตกเฉียงเหนือ (North Western หรือ Wayamba Province) ที่มีประวัติการณ์ยาวนานนับเนื่องได้กว่า 2,500 ปี หรือตั้งแต่เมื่อครั้งที่เจ้าชายวิชัยอพยพผู้คนจากแผ่นดินใหญ่ในชมพูทวีปเข้ามาตั้งถิ่นฐานและสถาปนาวงศ์กษัตริย์ ตัมพปาณี (Tambapanni หรือ Thambaparni) และถือเป็นจุดเริ่มต้นแห่งประวัติการณ์ชนชาติของศรีลังกาบนแผ่นดินลังกาทวีป ในอาณาบริเวณที่เชื่อว่าเป็นที่ตั้งของ Puttalam ในปัจจุบัน
 
ชื่อของ Puttalam เชื่อว่ามาจากรากฐานในภาษาทมิฬที่ว่า Uppuththalam โดย Uppu หมายถึงเกลือ และ Thalam มีความหมายว่า แหล่งผลิต ก่อนที่จะกร่อนเสียงเหลือเพียง Puttalam ในเวลาต่อมา
 
แต่มรดกจากที่มาและต้นทางของชื่อบ้านนามเมืองที่ว่านี้ ไม่ได้หล่นหายหรือมลายสูญลงไป ด้วยเหตุที่ข้อเท็จจริงสำคัญก็คือ Puttalam เป็นแหล่งผลิตเกลือแหล่งใหญ่ของศรีลังกา และยังดำเนินความสำคัญอยู่อย่างต่อเนื่อง เรียกได้ว่าเป็นแหล่งอุตสาหกรรมผลิตเกลือทะเลที่หล่อเลี้ยงสังคมศรีลังกาเลยทีเดียว
 
อุตสาหกรรมการผลิตเกลือที่ Puttalam ได้รับความสนใจจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย เพราะนอกจากจะเป็นจักรกลในการขับเคลื่อนธุรกิจอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารแล้ว ข้อมูลที่น่าสนใจก็คือศรีลังกามีปริมาณการบริโภคเกลือมากถึง 1.5 แสนเมตริกตันต่อปี โดยยังต้องนำเข้าเกลือจากต่างประเทศมากถึงกว่า 3-4 หมื่นเมตริกตันต่อปี เพื่อให้เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ
 
ขณะที่ข้อมูลของ UNICEF ซึ่งดำเนินการรณรงค์ว่าด้วยการป้องกันภาวะพร่องไอโอดีน (Iodine Deficiency Disorder:IDD) ซึ่งเป็นสาเหตุของทั้งโรคคอพอกและภาวะชะงักงันในการจำเริญเติบโตของเด็ก ให้ความสำคัญกับ Puttalam ด้วยการส่งมอบเครื่องมือในการเติมไอโอดีนให้กับบริษัทผู้ผลิตเกลือใน Puttalam ในฐานะที่จะเป็นกลไกช่วยสร้างเสริมพัฒนาการและการเข้าถึงแหล่งไอโอดีน เพื่อป้องกันภาวะโรคร้ายในเด็กด้วย
 
แต่ความสำคัญของ Puttalam ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะการเป็นแหล่งผลิตเกลือเท่านั้น หาก Puttalam ยังเป็นพื้นที่เพาะปลูกมะพร้าวแหล่งใหญ่ในสามเหลี่ยมมะพร้าว (Coconut Triangle) ซึ่งประกอบส่วนด้วยพื้นที่ระหว่าง Puttalam-Kurunegala-Gampaha ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของสังคมศรีลังกาอย่างยิ่ง โดยการผลิตมะพร้าวใน Puttalam ดำเนินอยู่ภายใต้กลุ่มทุนมุสลิมมัวร์ (Muslim Moors) ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ (95%) ในพื้นที่
 
เรียกได้ว่าทรัพยากรทางธรรมชาติของ Puttalam มีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ไม่นับรวมการมี lagoon ขนาดใหญ่ที่สุดของศรีลังกาซึ่งเป็นแหล่งผลิตอาหารทะเลทั้งการทำฟาร์มกุ้ง และล่าสุดการรุกเข้ามาทำฟาร์มปูของกลุ่มทุนธุรกิจจากสิงคโปร์ ที่ดำเนินไปทั้งเพื่อการส่งออกและตอบสนองความต้องการของตลาดภายในของศรีลังกาเอง ยังไม่นับรวมถึงความสามารถที่จะพัฒนาเป็นทั้งแหล่งท่องเที่ยวสำคัญแห่งใหม่ในอนาคต
 
ขณะเดียวกัน Puttalam ยังเป็นที่ตั้งของโรงงานปูนซีเมนต์ Holcim ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ และเป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้า Lakvijaya Power Station หรือที่เรียกขานกันทั่วไปว่า Norocholai Power Station ตามชื่อของตำบลซึ่งเป็นที่ตั้งโรงไฟฟ้าด้วย
 
โรงไฟฟ้า Lakvijaya หรือ Norocholai แห่งนี้ ถือเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินที่มีขนาดและกำลังการผลิตใหญ่และมากที่สุดในศรีลังกาในปัจจุบัน โดยเริ่มก่อสร้างตามโครงการระยะแรกที่มีมูลค่าการลงทุน 455 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2006 และสามารถส่งกระแสไฟฟ้าได้ในปี 2011 โดยถ่านหินที่ใช้ในโรงไฟฟ้าแห่งนี้นำเข้ามาจากอินโดนีเซีย แม้ว่าถ่านหินจากอินเดียจะอยู่ใกล้และมีราคาถูกกว่า ด้วยเหตุผลที่ถ่านหินจากอินโดนีเซียมีปริมาณซัลเฟอร์หรือกำมะถันที่ต่ำกว่านั่นเอง
 
ความพยายามที่จะแสวงหาและผลิตพลังงานไฟฟ้าเพื่อหล่อเลี้ยงการเติบโตทางเศรษฐกิจของศรีลังกาทำให้การไฟฟ้าของศรีลังกา หรือ Ceylon Electricity Board: CEB ไม่ได้ผูกพันการผลิตกระแสไฟฟ้าไว้ที่พลังงานถ่านหินหรือน้ำมันเตาแต่เพียงลำพัง หากยังมุ่งแสวงหาพลังงานทางเลือกจากธรรมชาติทั้งโรงไฟฟ้าพลังน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar farms) และพลังงานลม (Wind farms) ควบคู่ขนานกันไปด้วย
 
การเกิดขึ้นของ Wind farms ขนาดใหญ่ 3 โครงการที่ Mampuri ใน Puttalam ใกล้กับโรงไฟฟ้า Lakvijaya โดยนักธุรกิจศรีลังกา-ทมิฬ นาม Christoper Noel Vishkaran Selvanayagam ประธานกลุ่มบริษัท Senok (55%) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากธนาคารโลก (45%) ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ CEB ตั้งแต่เมื่อปี 2010 กลายเป็นอีกหนึ่งภาพสะท้อนความเป็นไปของระบบธุรกิจศรีลังกาในยุคหลังสงครามกลางเมืองและความพยายามที่จะก้าวเดินไปสู่อนาคตร่วมกัน
 
แม้ว่าความเป็นไปในมิติที่ว่านี้จะสร้างความไม่พึงพอใจและรบกวนความรู้สึกของกลุ่มชนชาวสิงหลหัวรุนแรงบ้างก็ตาม
 
ความเป็นไปของ Puttalam ในห้วงเวลานับจากนี้จึงดำเนินไปอย่างน่าสนใจว่าจะจำเริญเติบโตด้วยอัตราเร่ง ภายหลังความปรองดองแห่งชาติครั้งใหม่หลังสิ้นสุดสงครามกลางเมืองอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากข่าวดีในช่วงปีใหม่ว่าด้วยการส่งมอบที่ดินสำหรับผู้ประสบผลกระทบและผู้อพยพหนีภัยสงครามหรือไม่อย่างไร
 
โครงข่ายและบทบาทของนักธุรกิจศรีลังกา-ทมิฬ ที่กำลังเพิ่มเติมเข้ามาในพื้นที่ทั้งใน Puttalam ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ (Mannar และ Jaffna) และภาคตะวันออก (Trincomalee) ซึ่งเคยถูกทิ้งร้างและละเลยจากผลแห่งสงครามกลางเมือง กำลังจะสร้างภูมิทัศน์ใหม่ให้กับระบบเศรษฐกิจศรีลังกา
 
ปัญหาอยู่ที่ว่าภายใต้ห้วงอารมณ์แห่งความรู้สึกและความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงโอกาสในทางธุรกิจของประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ กรณีที่กำลังเกิดขึ้นนี้จะได้รับการดูแลและบริหารจัดการเพื่อก่อให้เกิดความสมดุลอย่างไร หรือจะกลายเป็นเชื้อฟืนแห่งความไม่พึงพอใจครั้งใหม่ที่พร้อมปะทุแตกเป็นรอยร้าวในสังคมที่เปราะบางนี้อีกครั้ง