วันศุกร์, ตุลาคม 18, 2024
Home > Cover Story > โละสินเชื่อ K PAY LATER เบรก “ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง” บานเบอะ 

โละสินเชื่อ K PAY LATER เบรก “ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง” บานเบอะ 

หลังธนาคารกสิกรไทยประกาศหยุดบริการสินเชื่อ K PAY LATER โดยเบรกรับลูกค้าใหม่ตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม 2567 และทยอยยกเลิกสินเชื่อของกลุ่มลูกค้าเก่าทันทีที่สัญญาสิ้นสุด เร่งเคลียร์เงินค้างเก่าให้หมดภายในปีนี้ สะท้อนภาพที่หลายฝ่ายหวาดกลัวปัญหาหนี้สินครัวเรือนที่พุ่งไม่หยุด

ขณะที่ธนาคารกสิกรไทยชี้แจงเหตุผลมาจากความไม่ถนัดและไม่รู้จักลูกค้ากลุ่มนี้มากพอทำให้กระบวนการคาดการณ์รายได้ของลูกค้าไม่แม่นยำ นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี 2565 ธนาคารเริ่มชะลอรับลูกค้าใหม่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์สินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันทั้งหมด เห็นได้จากสินเชื่อที่ไม่เติบโตมากนัก เหตุผลหนึ่งคือสถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่สูง ทำให้ธนาคารต้องระมัดระวังความเสี่ยงมากขึ้น

ส่วนสินเชื่อที่มีหลักประกัน เช่น สินเชื่อบ้าน เน้นปล่อยอย่างระมัดระวัง โดยทำงานร่วมกับโครงการที่เชื่อถือได้ ราคาระดับบนและเน้นกลุ่มลูกค้าเงินเดือนมากกว่า 30,000 บาทขึ้นไป หรือราคาบ้านเกิน 3 ล้านบาทขึ้นไป

ทั้งนี้ ธนาคารกสิกรไทยเปิดตัวสินเชื่อ K เปย์ให้ก่อน หรือ K Pay Later เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2565 รองรับกลุ่มลูกค้าบัญชีธนาคารกสิกรไทยและใช้แอปพลิเคชัน K PLUS ที่ต้องการวงเงินสำรองในการซื้อสินค้าและอุปโภคบริโภคเพื่อการดำรงชีวิต โดยวิธีสแกนจ่ายกับร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ ทั้งร้านอาหาร ร้านค้าปลีกประเภทต่างๆ และชำระค่าสาธารณูปโภคแต่ไม่สามารถถอนเป็นเงินสดได้ คิดอัตราดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน 25% ต่อปี แบบลดต้นลดดอกและเลือกผ่อนชำระได้ตั้งแต่ 1 เดือน 3 เดือน และสูงสุด 5 เดือน รูปแบบซื้อก่อนจ่ายทีหลัง (Buy Now, Pay Later)

การอนุมัติไม่ต้องใช้เอกสารใดๆ แต่อาศัยฐานข้อมูลที่ผูกกับบัญชีที่เปิดกับธนาคาร เพื่อเพิ่มโอกาสให้ลูกค้าเข้าถึงสินเชื่อในระบบ โดยเฉพาะกลุ่มอาชีพอิสระ ค้าขายรายย่อย หรืออาชีพรับจ้าง ที่ไม่มีเอกสารแสดงรายได้ มีวงเงินอนุมัติสูงสุดไม่เกิน 20,000 บาทต่อราย และใช้เวลาพิจารณาเพียงไม่กี่นาที  ซึ่งมีลูกค้าสมัครเป็นจำนวนมาก

ก่อนหน้านี้ ท่ามกลางสถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงต่อเนื่อง หลายหน่วยงานเร่งเสนอแนะมาตรการแก้หนี้ของรัฐบาลต้องเจาะลึกรอบด้าน โดยเฉพาะสินเชื่อในระบบที่ฮิตติดเทรนด์ ง่าย สะดวก ไม่ต้องยื่นเอกสาร และใช้เวลาอนุมัติรวดเร็วสไตล์ “ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง” หรือ Buy Now Pay Later (BNPL) แบบเดียวกับ K Pay Later ซึ่งพุ่งเป้าเจาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ทั้งรูปแบบออฟไลน์หรือออนไลน์ และกำหนดเงื่อนไขสมัครใช้เพียงบัตรประชาชนเท่านั้น

หน่วยงานสำคัญอย่างสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า สินเชื่อประเภทนี้เกิดจากการขยายตัวของการซื้อขายสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์ การเชื่อมโยงของฐานข้อมูลและพฤติกรรมของผู้บริโภค ซึ่งเป็นเทรนด์ยอดฮิตทั่วโลก โดยปี 2565 มีจำนวนผู้ใช้ทั่วโลกกว่า 360 ล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 900 ล้านคน ในปี 2570 สามารถสร้างมูลค่าตลาดถึง 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนประเทศไทย จากรายงาน “Thailand Buy Now Pay Later Market Repot 2022” ระบุมูลค่าตลาด BNPL ช่วงปี 2565 สูงถึง 5.5-6.5 หมื่นล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ซึ่ง สศช. ร่วมกับบริษัท ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ จำกัด สำรวจพฤติกรรมและทัศนคติของผู้ใช้ BNPL ในกลุ่มประชาชนอายุ 15-55 ปี พบว่า ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม Gen Y ใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์และผู้ใช้สินเชื่อมากกว่า 1 ใน 3 มีรายได้น้อยกว่า 15,000 บาทต่อเดือน

ผลสำรวจพบว่า แม้ผู้ใช้เกือบทั้งหมดยังไม่เคยผิดนัดชำระในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา แต่มีความเสี่ยงหลายอย่าง เนื่องจากมากกว่าครึ่งของเด็ก Gen Z ที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท ใช้บริการ BNPL ไปกับการซื้อเสื้อผ้าและเครื่องประดับ ซึ่งอาจก่อหนี้เกินตัวในอนาคต

ด้านบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) เตือน “อันตราย” ของสินเชื่อซื้อก่อนผ่อนจ่ายทีหลัง เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผูกอยู่กับสินเชื่อส่วนบุคคล (พีโลน) ซึ่งมียอดหนี้เสียหรือ NPL เดิมมากถึง 10% และมีหนี้ค้างชำระที่กำลังจะเป็นหนี้เสียอีกราว 3% จากขนาดของสินเชื่อ 2.5 ล้านล้านบาท

ประเด็น คือ สินเชื่อ BNPL เป็นกลยุทธ์ต่อยอดจากแคมเปญ 0% และเน้นขยายฐานลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้งกลุ่มธนาคารพาณิชย์และแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ เพื่อเจาะตลาดลูกค้าที่ยังไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อของธนาคาร จำนวน 20-30 ล้านคน พวกอาชีพอิสระ ค้าขายรายย่อย หรืออาชีพรับจ้างที่ไม่มีเอกสารแสดงรายได้

หากไล่ดูสินเชื่อเหล่านี้ นอกจาก K PAY LATER ยังมีกลุ่มแพลตฟอร์มซื้อสินค้าออนไลน์  เช่น  SPaylater ของ Shopee, Laz Pay Later ของ Lazada, Pay Next ของ True Money Wallet

อย่างไรก็ตาม ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยเหมือนปมเรื้อรัง ยิ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง อัตราหนี้ครัวเรือนไทยยิ่งเพิ่มสูงขึ้น ไม่ใช่แค่กลุ่ม Gen Z ที่ซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย แต่ยังมีกลุ่มลูกค้าที่ต้องการใช้เพื่อจับจ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคจริงๆ กรณีการระงับสินเชื่อ K Pay Later ไม่ว่าจะชั่วคราวหรือถาวร คือความพยายามลดความเสี่ยงของธนาคารให้เหลือน้อยที่สุด

ข้อมูลจากเครดิตบูโรยังระบุว่า สินเชื่อคงค้างในไตรมาส 1 ปี 2567 มียอดรวม 13.64 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อบ้าน 36.7% ยอดคงค้าง 5 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สินเชื่อส่วนบุคคลยอดคงค้าง 2.59 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.8% สินเชื่อบัตรเครดิตยอดคงค้าง 5.5 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.2%

ที่สำคัญ 28% ของหนี้ครัวเรือนไทยที่ 16.3 ล้านล้านบาท เป็นการกู้ไปกินไป ถ้ารายได้หายไปจะเกิดหนี้เสียเรื้อรังทันที

ล่าสุด ttb analytics ประเมินสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทย ณ สิ้นปี 2567 จะอยู่ที่ 91.4% หรือราว 16.9 ล้านล้านบาท และยังมีความเปราะบางสูงจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ เศรษฐกิจและระดับรายได้ฟื้นช้า ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น และขาดวินัยทางการเงินที่ดี

การแจกเงินจึงไม่ใช่ทางออก แต่อยู่ที่การแก้โครงสร้างเศรษฐกิจ ไม่เช่นนั้นปมหนี้ครัวเรือนบานเบอะไม่จบแน่.