วันจันทร์, ตุลาคม 14, 2024
Home > Cover Story > วัดพลังบิ๊กสะดวกซื้อ ชิงพื้นที่โกยดิจิทัลวอลเล็ต

วัดพลังบิ๊กสะดวกซื้อ ชิงพื้นที่โกยดิจิทัลวอลเล็ต

การเปิดช่องให้ “ร้านสะดวกซื้อ” เข้าร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต โดยหยิบยกตัวอย่าง “เซเว่นอีเลฟเว่น” ทำให้ตลาดคอนวีเนียนสโตร์เกิดอาการคึกคัก เตรียมความพร้อมรองรับบิ๊กโปรเจกต์ของรัฐบาล ซึ่งประกาศจะเปิดให้ร้านค้าขึ้นทะเบียนในไตรมาส 3 และให้ประชาชนกว่า 50 ล้านคน เริ่มจับจ่ายไม่เกินไตรมาส 4 ปีนี้แน่นอน

ขณะเดียวกัน แม้มีเสียงครหาถึงการออกแบบโครงการเอื้อธุรกิจค้าปลีกของกลุ่มเจ้าสัว แต่รัฐบาลอ้างว่า ร้านสะดวกซื้อ “เซเว่นอีเลฟเว่น” มีสาขาทั่วประเทศราว 14,500 แห่ง แต่เป็นการลงทุนของบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เพียงครึ่งหนึ่ง ที่เหลือส่วนใหญ่เป็นแฟรนไชส์ และเมื่อเทียบกับจำนวนร้านค้าขนาดเล็ก ร้านค้าย่อยจากฐานตัวเลขในโครงการคนละครึ่งของรัฐบาลที่ผ่านมา ประมาณ 1.2 ล้านร้าน ตัวเลขจึงแตกต่างกันมาก

แน่นอนว่า หากวัดพลังเทียบฟอร์มแบรนด์คอนวีเนียนสโตร์ทั้งหมดแล้ว เซเว่นอีเลฟเว่นถือป็นเบอร์ 1 มีเครือข่ายร้านทั้งสิ้น ณ ปี 2566 รวม 14,545 สาขา อยู่ในกรุงเทพฯ 6,235 สาขา และต่างจังหวัด 8,083 สาขา ขณะที่เป็นร้านที่บริษัทลงทุนเอง 7,336 สาขา และร้านแฟรนไชส์ 7,209 สาขา

เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารกิจการเซเว่นอีเลฟเว่น ประกาศแผนธุรกิจในปี 2567 จะปูพรมสาขาใหม่อีก 700 สาขา ภายใต้งบลงทุนรวม 1.2-1.3 หมื่นล้านบาท ทั้งปรับปรุงสาขา เปิดสาขาใหม่ ลงทุนเทคโนโลยีและขยายคลังสินค้ารองรับการเปิดสาขาในทำเลต่างๆ

ปี 2566 บริษัทมีรายได้รวม 921,187 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 คิดเป็น 8% โดยเป็นรายได้จากการขายสินค้าและบริการ 895,281 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% จากปีก่อนหน้า

ทั้งนี้ เซเว่นอีเลฟเว่นยังคงเดินหน้าขยายสาขาแฟรนไชส์ 2 รูปแบบ รูปแบบที่หนึ่ง ลงทุน 1.48 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายเปิดร้าน 4.8 แสนบาท เงินประกัน 1 ล้านบาท มีสินเชื่ออัตราพิเศษ 6 แสนบาท ไม่เกิน 5 ปี ระยะเวลาสัญญา 6 ปี

รูปแบบที่สอง ลงทุน 2.63 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายเปิดร้าน 1.7 ล้านบาท เงินประกัน 9 แสนบาท สินเชื่ออัตราพิเศษ 9 แสนบาท ไม่เกิน 8 ปี ระยะเวลาสัญญา 10 ปี

ด้าน ซี.เจ. เอ็กซ์เพรส กรุ๊ป ในเครือคาราบาวกรุ๊ป หลังใช้เวลาหลายปีลุยกลยุทธ์ “ป่าล้อมเมือง” เปิดสาขาในต่างจังหวัดก่อนรุกเข้าเมือง เพื่อหนีการแข่งขันกับเจ้าตลาด จนสามารถปูพรมสร้างฐาน สร้างแบรนด์  เน้นโปรโมชันสินค้าราคาประหยัดและวางระบบสมาชิก ล่าสุดเร่งสปีดไล่จี้ “เซเว่นอีเลฟเว่น” เปิดสาขาเบียดพื้นที่แข่งขันชนิดห่างกันไม่กี่คูหา

ปัจจุบันมีร้าน 3 โมเดล คือ ซีเจ ซูเปอร์มาร์เก็ต พื้นที่เฉลี่ย 300 ตารางเมตร ลูกค้าเฉลี่ย 500- 600 คนต่อวันต่อ ซีเจ มอร์ พื้นที่ขนาดใหญ่ ประมาณ 2 ไร่ ภายในร้านมีสินค้าหลากหลายของเครือ เช่น สินค้าไลฟ์สไตล์ อูโนะ นายน์บิวตี้ สินค้าความงาม ร้านกาแฟและเครื่องดื่มบาว คาเฟ่ มีลูกค้าเฉลี่ย 800-1,000 คนต่อวันต่อสาขา

โมเดลที่ 3 ซีเจ เอ็กซ์ (CJX) เป็นร้านไฮบริดที่ทำทั้งค้าปลีกและค้าส่ง เพิ่งเปิดตัวช่วงปลายปีที่ผ่านมา เจาะทำเลใกล้ที่อยู่อาศัย และเพิ่มจุดขายใหม่ คือ การจัดโปรโมชัน 7 วันหมุนเวียนทุกสัปดาห์ ไลน์อัปสินค้ากว่า 1,000 รายการ และในสาขามีโซนร้านกาแฟ บาวคาเฟ่ ด้วย ขณะนี้เปิดแล้ว 4 สาขา อยู่ใน จ.นครปฐม 2 แห่ง สมุทรสาคร 1 แห่ง และราชบุรี 1 แห่ง

ตามแผน บริษัทตั้งเป้าเปิดสาขาใหม่ 250 สาขาต่อปีต่อเนื่องอีก 3-4 ปี โดยปี 2566 มีสาขามากกว่า 1,100 แห่ง ครอบคลุม 42 จังหวัด คาดจะเปิดครบ 2,000 สาขาภายในปี 2569 และ 3,000 สาขาก่อนปี 2573 ซึ่งโอกาสการเข้าร่วมโปรเจกต์ดิจิทัลวอลเล็ตเป็นไปได้สูง เพราะซีเจเข้าโครงการบัตรสวัสดิการรัฐอยู่แล้ว

ซี.เจ.เอ็กซ์เพรส กรุ๊ป ยังปลุกปั้นแบรนด์ “ร้านถูกดี มีมาตรฐาน” คอนเซ็ปต์ Lowcost convenience store ภายใต้การบริหารของบริษัท ทีดี ตะวันแดง จํากัด โดยดึงบรรดาผู้ประกอบการร้านค้ารายย่อยเข้ามาร่วมเป็นพันธมิตร ให้ความรู้และเทคโนโลยีบริหารจัดการ ทำหน้าร้านใหม่ จัดรายการส่งเสริมการขายและสื่อโฆษณา ณ จุดขาย คาดมีสาขากว่า 8,000 แห่ง

ดังนั้น ซีเจฯ สามารถดึงเงินดิจิทัลวอลเล็ตอีกส่วนจากเครือข่ายร้านถูกดี มีมาตรฐาน เมื่อจับจ่ายสต๊อกสินค้าเข้าร้าน

บิ๊กรีเทลต่อมา บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ บีเจซี นอกจากเครือข่ายร้านมินิบิ๊กซี 1,548 สาขาที่เป็นค้าปลีกไซซ์เล็กแล้ว ยังลุยโปรเจกต์ “ร้านโดนใจ” หลังเปิดตัวเมื่อปี 2565 ดึงเจ้าของกิจการเข้าร่วมโครงการ ภายใต้จุดขายสำคัญ คือ ลงทุนถูกกว่าการทุ่มเงินซื้อแฟรนไชส์ร้านสะดวกซื้อหลักล้านบาท  เพราะใช้เงินลงทุนพลิกโฉมเริ่มต้นเพียง 3 แสนบาท ไม่ต้องหักแบ่งรายได้และยังเป็นเจ้าของกิจการ 100%  โดยปรับโฉมจากร้านค้า หรือในกรณีเปิดร้านใหม่ ผู้ค้าลงทุนโครงสร้างร้านและให้ทีมงานโดนใจเข้าตกแต่งภายในพร้อมวางระบบทั้งหมดได้เช่นกัน

ปี 2566 บีเจซีมีเครือข่ายร้านโดนใจประมาณ 6,350 ร้านค้า และตั้งเป้าเติบโตสู่ 30,000 ร้านค้า ภายในปี 2570 ซึ่งบีเจซีสามารถดึงเงินดิจิทัลวอลเล็ต ทั้งมินิบิ๊กซี หากเข้าเงื่อนไขของรัฐบาลและการสต๊อกสินค้าของเครือข่ายร้านโดนใจได้เช่นกัน

สุดท้าย บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด ในเครือเซ็นทรัล รีเทล ซึ่งประกาศลุยแฟรนไชส์ร้านไซซ์เล็ก “ท็อปส์เดลี่ มินิซูเปอร์มาร์เก็ต” 2 รูปแบบ

แบบแรก ผู้มีพื้นที่ของตัวเองและอาคาร ขนาด 200 ตารางเมตร ใช้เงินลงทุน 4-6 ล้านบาท การันตีรายได้ 150,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 24 เดือนแรกของสัญญา กับแบบที่สอง กรณีไม่มีที่ดิน แต่สนใจสวมสิทธิ์บริหารร้านท็อปส์ เดลี่ที่เปิดอยู่เดิม ใช้เงินลงทุน 1.07 ล้านบาทขึ้นไป การันตีรายได้ 60,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 24 เดือนแรก โดยท็อปส์ เดลี่ มีสาขารวมแล้ว 515 สาขา

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นร้านสะดวกซื้อหรือร้านชุมชนค่ายใด หรือเป็นเพียงร้านพาร์ตเนอร์กับโชห่วย ทุกเจ้าต่างหวังชิงพื้นที่และกำลังซื้อจากเม็ดเงิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้สำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคพบว่า ผู้มีสิทธิ์ทั้งกลุ่มรายได้มาก เงินเดือน 40,000-70,000 บาท รายได้ปานกลาง เงินเดือน 15,000-40,000 บาท และรายได้น้อย ประมาณ 30% จะใช้จ่ายเงินส่วนเพิ่มเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ และเลือกใช้จ่ายเงินในสินค้าทั่วไปในครัวเรือน (Grocery) เกือบ 40% ของสินค้าทั้งหมด รองลงมาเป็นสินค้าหมวดสุขภาพและร้านอาหาร ยกเว้นกลุ่ม Gen Z ที่อยากซื้อโทรศัพท์มือถือ

สำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและผู้สูงอายุ มีแนวโน้มนำเงินบางส่วนจากโครงการไปซื้อสินค้าเพื่อแต่งและซ่อมบ้าน รวมถึงกลุ่มที่จะใช้จ่ายเงิน 10,000 บาทในครั้งเดียว ซึ่งค่อนข้างกระจุกอยู่ในผู้มีสิทธิ์ฯ กลุ่ม Gen Y และ Z

SCB EIC ระบุว่า ร้านค้าท้องถิ่นและร้านสะดวกซื้อถือเป็นกลุ่มธุรกิจหลักที่ได้ประโยชน์จากโครงการดิจิทัลวอลเล็ต โดยผู้ตอบแบบสอบถามเลือกใช้จ่ายเงินโครงการในร้านค้าท้องถิ่น  40% และร้านสะดวกซื้อ เช่น ซีเจเอ็กซ์เพรสและเซเว่นอีเลฟเว่น 26% และแม้ร้านค้าส่ง/ค้าปลีกขนาดใหญ่จะไม่ได้รับประโยชน์โดยตรง แต่จะได้ประโยชน์ทางอ้อมจากร้านค้าท้องถิ่นขนาดเล็กที่ต้องนำเงินรายได้จากการขายสินค้ามาใช้จ่ายซื้อสินค้าเข้าร้าน

อย่างไรก็ตาม เงื่อนไข ทั้งคุณสมบัติ คำจำกัดความ “ร้านค้าขนาดเล็ก” ยังคงมีการถกเถียงกัน ซึ่งคณะอนุกรรมการกำกับโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ที่มีนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน วางแผนจะประชุมถกรายละเอียดต่างๆ ทุกสัปดาห์ เพื่อหาข้อสรุปที่ชัดเจนที่สุด

หากดูตามกรอบหลักการ ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 กำหนดเงื่อนไขการใช้จ่ายเบื้องต้น 1. การใช้จ่ายรอบที่ 1 ระหว่างประชาชนกับร้านค้า เป็นการใช้จ่ายเชิงพื้นที่ในระดับอำเภอ จำนวน 878 อำเภอ การชำระเงินต้องเป็นแบบพบหน้า (Face to Face) กำหนดให้ใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็ก ซึ่งรวมถึงร้านสะดวกซื้อขนาดเล็ก

2. การใช้จ่ายตั้งแต่รอบที่ 2 ระหว่างร้านค้ากับร้านค้า โดยร้านค้าที่จะรับการใช้จ่ายจากประชาชนต้องเป็นร้านค้าขนาดเล็ก รวมถึงร้านสะดวกซื้อขนาดเล็ก โดยไม่รวมห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก-ค้าส่งขนาดใหญ่ระดับประเทศและระดับท้องถิ่น ส่วนร้านค้าที่สามารถรับการใช้จ่ายจากร้านค้า ไม่มีการกำหนดเงื่อนไขเชิงพื้นที่และขนาดร้านค้า

ทว่า ร้านค้าไม่สามารถถอนเงินสดได้ทันทีหลังประชาชนใช้จ่าย แต่จะถอนเงินสดได้เมื่อมีการใช้จ่ายตั้งแต่รอบที่ 2 และต้องเป็นร้านค้าในระบบภาษี คือ ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเฉพาะผู้มีเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร และภาษีเงินได้นิติบุคคล

สินค้าที่ไม่เข้าร่วมโครงการ เบื้องต้นมี 16 รายการ ได้แก่ สลากกินแบ่งรัฐบาล เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ กัญชา กระท่อม พืชกระท่อม ผลิตภัณฑ์กัญชาและกระท่อม บัตรกำนัล บัตรเงินสด ทองคำ เพชร พลอย อัญมณี น้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซธรรมชาติ และบริการต่างๆ แต่สามารถเพิ่มเติมสินค้าได้อีก โดยพิจารณาผลลัพธ์ด้านการผลิต การเพิ่มเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจและการจ้างงาน.