ตลาดกาแฟไทย เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่มีทิศทางการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลทางการตลาดระดับโลก อย่าง Euromonitor International รายงานมูลค่าตลาดกาแฟไทย พบว่ากาแฟเป็นสินค้าที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นทุกปี โดยมูลค่าตลาดกาแฟไทยในช่วงระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2564-2566 มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 8.55 ต่อปี
ล่าสุดปี 2566 มีมูลค่าตลาด 34,470.3 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 7.34 (ปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 9.78) และเมื่อพิจารณายอดขายตามประเภทกาแฟ ในปี 2566 พบว่ากาแฟสำเร็จรูปมีมูลค่าตลาดสูงถึง 28,951.3 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 84 ของมูลค่าตลาดกาแฟในประเทศ และกาแฟสดมีมูลค่าตลาด 5,519.1 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มวัยทำงาน สภาพอากาศที่ร้อนของไทย และไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคปัจจุบันที่ต้องการความสะดวกในการบริโภคเครื่องดื่ม
จากตัวเลขมูลค่าตลาดกาแฟในปีที่ผ่านมาที่สูงกว่า 3 หมื่นล้านบาท แสดงให้เห็นว่าคนไทยมีการบริโภคกาแฟกันมากขึ้น อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นการการันตีการขยายตัวนี้คือ การเพิ่มขึ้นของร้านกาแฟทั้งเชนจากต่างประเทศและร้านกาแฟแบบธุรกิจท้องถิ่น
“ปัจจุบันคนไทยดื่มกาแฟ 300 แก้วต่อคนต่อปี เทียบกับเมื่อก่อนที่ดื่มเพียง 180 แก้วต่อคนต่อปี แต่หากเทียบกับประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย ที่ดื่มกาแฟกันมากถึง 600 แก้วต่อคนต่อปี ตัวเลขที่แตกต่างกันหมายความว่า ตลาดกาแฟในไทยยังมีโอกาสที่จะเติบโตและขยายตัวได้อีก” ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ อุปนายกสมาคมกาแฟพิเศษไทย
แต่การบริโภคกาแฟของคนไทยที่เพิ่มขึ้นกลับสวนทางกับปริมาณผลผลิตที่ประเทศไทยสามารถทำได้ ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ในปี 2566 ไทยมีผลผลิตกาแฟ 16,575 ตัน นั่นทำให้ไทยจำเป็นต้องนำเข้ากาแฟจากต่างประเทศมูลค่ากว่า 338.42 ล้านดอลลาร์ ทั้งนี้การนำเข้าดังกล่าวไม่ใช่เพื่อรองรับการบริโภคในประเทศเท่านั้น หากแต่เป็นการนำเข้าเมล็ดกาแฟดิบเพื่อแปรรูปเป็นกาแฟสำเร็จรูปเพื่อการส่งออก
การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศทั้งไทยและทั่วโลกส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อผลผลิตกาแฟ ฟูอาดี้ อธิบายว่า “สาเหตุนี้ส่งผลต่อผลผลิตกาแฟของไทยโดยตรง เพราะเป็นเรื่องที่เกษตรกรไม่สามารถคาดเดาสภาพภูมิอากาศได้ การวางแผนเพาะปลูกที่คาดหวังผลผลิตในแต่ละปีเป็นไปได้ยากขึ้น ฝนจะตกเมื่อไหร่ อากาศจะหนาวแค่ไหน
อย่างปีที่ผ่านมา เป็นปีที่ผลผลิตเมล็ดกาแฟต่ำที่สุดในรอบ 10-20 ปี จนเกิดภาวะกาแฟขาดตลาด ราคาสูงขึ้น ผู้ประกอบการต้องหันไปหาผลผลิตจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมา สปป.ลาว แม้ว่าปีนี้ราคาจะต่ำลง แต่ยังต้องระวังเรื่องโรคที่ต้นกาแฟต้องเผชิญ สภาพอากาศที่ร้อนขึ้น ทำให้มีความเสี่ยงที่ต้นกาแฟจะเจอโรคได้ง่าย
เพราะพื้นที่เพาะปลูกกาแฟให้ได้ผลผลิตที่ดีคือพื้นที่ที่มีอากาศเย็น แต่มีแดด ทำให้เกษตรกรจำเป็นต้องขยับพื้นที่ปลูกกาแฟสูงขึ้น นั่นจะทำให้เกษตรกรเข้าใกล้พื้นที่ป่าสงวนซึ่งเกษตรกรก็ไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ นี่จึงเป็นเหตุผลหลักที่ผลผลิตกาแฟไทยน้อยลงจนต้องนำเข้าเพิ่มขึ้น”
นอกจากการขยายตัวของการบริโภคกาแฟของคนไทยที่เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อการเติบโตของตลาดกาแฟไทย อีกมิติหนึ่งของอุตสาหกรรมกาแฟ ยังมีกาแฟอีกประเภทที่กำลังถูกจับตามอง และค่อยๆ แผ่ขยายอิทธิพลความนิยมมากขึ้นอย่างเงียบๆ สร้างฐานตลาดอย่างค่อยเป็นค่อยไป นั่นคือ “กาแฟพิเศษ” หรือ Specialty Coffee
ฟูอาดี้ขยายความถึงกาแฟพิเศษว่า เป็นกาแฟที่เกษตรกรจนถึงบาริสต้าจะให้ความใส่ใจกาแฟประเภทนี้ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยมีเป้าหมายที่การเพิ่มมูลค่ากาแฟ
“กาแฟพิเศษไม่ใช่กาแฟออแกนิกแค่นั้น แต่เป็นกาแฟที่ต้องวัดกันที่คุณภาพ ต้องพิถีพิถันตั้งแต่การเพาะปลูก การแปรรูป การคั่ว การชง เรียกง่ายๆ ว่า ทุกขั้นตอนกว่าจะมาเป็นกาแฟสักหนึ่งแก้ว และกาแฟพิเศษจะมีการวัดคุณภาพของกาแฟ มีการให้คะแนน โดยคะแนนเต็ม 100 กาแฟพิเศษจะต้องมีคะแนนตั้งแต่ 80 คะแนนขึ้นไป และกาแฟพิเศษนี้จะมีเพียง 20% ของผลผลิตกาแฟทั้งหมด แต่ถ้าเป็นกาแฟที่มีคะแนน 86 คะแนนขึ้นไป จะมีเพียง 1% เท่านั้น”
หลักเกณฑ์การให้คะแนนของกาแฟพิเศษ กาแฟที่มีคุณภาพดีจะถูกวัดด้วยหลักเกณฑ์ 10 ด้าน ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ SCA Cupping Form 1. Fragrance/Aroma 2. Flavor 3. Aftertaste 4. Acidity 5. Body 6. Balance 7. Uniformity 8. Clean cup 9. Sweetness และ 10. Overall ทั้ง 10 ข้อจะมีคะแนนรวม 100 คะแนน และหากกาแฟชนิดไหนที่ได้ 80 คะแนนขึ้นไป จะถูกเรียกว่า Specialty Coffee หรือกาแฟพิเศษ
แน่นอนว่า กาแฟพิเศษในตลาดกาแฟไทยค่อนข้างท้าทายกำลังซื้อของผู้บริโภคไทยไม่น้อย แม้ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะชะลอตัว กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง แต่กาแฟพิเศษเป็นเหมือนสินค้าลักชัวรี ด้วยความใส่ใจในทุกขั้นตอนของการผลิตกับคุณภาพของกาแฟที่ได้ความพิเศษของรสชาติ ทำให้กาแฟพิเศษมีราคาต่อแก้วสูงกว่ากาแฟทั่วไป
“มูลค่าตลาดของกาแฟพิเศษมีประมาณ 2,000 ล้านบาท หรือประมาณ 10% ของตลาดกาแฟทั้งหมด และตลาดกาแฟพิเศษมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ไทยเป็นประเทศที่มีค่าครองชีพสูงเป็นอันดับต้นๆ ที่ยังมีการปลูกกาแฟ แต่ยังไม่สามารถปลูกในเชิงอุตสาหกรรมที่จะช่วยให้กาแฟมีราคาที่ดีขึ้นได้ ดังนั้น การที่ไทยจะส่งออกกาแฟได้ จำเป็นต้องพัฒนากาแฟไทยให้เป็น Niche Market เราต้องพัฒนาให้เป็นเหมือนฮาวาย ปานามา ที่ผลิตกาแฟแบบลิมิเต็ด สร้างแบรนด์กาแฟคุณภาพดีมากๆ ซึ่งจะขายได้ในราคาที่สูงกว่ากาแฟทั่วไป
กาแฟพิเศษมีความแตกต่างจากกาแฟทั่วไป ทั้งรสสัมผัส กลิ่น การดื่มแต่ละครั้งแม้จะเป็นกาแฟตัวเดียวกัน แต่กลับให้รสชาติที่ต่างไป นี่เป็นเสน่ห์ของกาแฟพิเศษ ที่เริ่มได้รับความสนใจจากคอกาแฟเพิ่มขึ้น”
อีกหนึ่งคีย์แมนที่คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงของกาแฟในฐานะผู้จัดการ Coffee Fest ซึ่งมีบทบาทที่ช่วยผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมกาแฟ และผู้คนที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของกาแฟให้ยกระดับจากเดิมรวมถึงฟื้นฟู Eco system ของกาแฟให้ดีขึ้น นั่นคือ “ช้างน้อย กุญชร ณ อยุธยา”
“บางคนอาจมองกาแฟแค่มิติเดียว แต่เรามองว่ากาแฟเป็นการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้นในวัฏจักรของผู้คนที่อยู่ในห่วงโซ่นี้ เพราะร้านกาแฟเพียงหนึ่งร้าน สามารถสร้างคอมมูนิตี้ให้เกิดขึ้น ก่อให้เกิดรายได้หมุนเวียนในชุมชน และแน่นอนว่าไม่ได้จำกัดอยู่แค่คนในแวดวงอุตสาหกรรมกาแฟเท่านั้น แต่ยังสร้างแรงกระเพื่อมไปยังอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ธุรกิจแพ็กเกจจิ้ง” ช้างน้อย กุญชร ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการ บริษัท Cloud & Ground จำกัด ผู้จัดงาน Thailand Coffee Fest 2024
“การจัดงาน Coffee Fest ไม่จำเป็นต้องมีคอนเซ็ปต์มาครอบก็ได้ เพราะมันคืองานแสดงสินค้า แต่ในฐานะที่เป็นนักเล่าเรื่อง เราจึงต้องหาคอนเซ็ปต์และประเด็นเชิงสังคมที่อยากจะผลักดัน สำหรับสารตั้งต้นของปีนี้คือ Regenerative Agroforestry ซึ่งคำว่า Regenerative แปลว่าการฟื้นฟู ทำให้เราคิดถึงคำว่า Generation ด้วย เพราะมีเรื่องการส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น และการฟื้นฟู คือการทำให้ Eco system ของกาแฟดีขึ้น จึงเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องทำร่วมกัน”
นอกจากนี้ คุณช้างน้อยยังเล่าว่า ปัจจุบันเกษตรกรกาแฟไม่ใช่กลุ่ม Baby Bloomer แต่เป็นคนรุ่นใหม่ ที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองหลวงได้ไม่นานก็หันกลับมาทำอาชีพเกษตรกร เมื่อมองเห็นโอกาสที่จะสร้างรายได้จากการปลูกกาแฟ ทำให้ทุกวันนี้เกษตรกรปลูกกาแฟมีอายุน้อยลงประมาณ 25-30 ปี
“แม้ว่าบางคนจะมีต้นทุนจากทางบ้านอยู่แล้ว เช่น มีที่ดินทำกิน มีไร่สวนของบรรพบุรุษ แต่ยังต้องเริ่มต้นแบบนับหนึ่งใหม่ ด้วยการปรับปรุงสภาพพื้นที่ จากเดิมที่ครอบครัวทำเกษตรเชิงเดี่ยว แต่เมื่อหันมาปลูกกาแฟ จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนมาสู่การทำวนเกษตร สร้างความหลากหลายทางชีวภาพ นอกจากปลูกพืช หรือต้นไม้ใหญ่ที่ให้ร่มเงาแล้ว มีการเลี้ยงสัตว์ควบคู่ไปด้วย เพื่อสร้างความยั่งยืนให้ระบบ”
ขณะที่งาน Coffee Fest ไม่ใช่แค่การจัดงานเพื่อแสดงสินค้า แต่ยังเป็นการสร้างคอมมูนิตี้ให้เกิดขึ้นในกลุ่มผู้รักกาแฟ ได้แลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำของวัฏจักรกาแฟ
“งาน Coffee Fest ของเราถือเป็นงานที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน หากดูจากปริมาณคนที่มาร่วมงาน และเข้าชมงาน เป็นรองแค่เกาหลีใต้เท่านั้น ปีที่ผ่านมามีผู้เข้าชมงานประมาณ 8-9 หมื่นคน แน่นอนว่าปีนี้เราคาดหวังว่าจะมีผู้เข้าชมงานประมาณ 1-1.2 แสนคน ความตั้งใจของเราคือ ภายใน 3 ปี เราจะพยายามดึงการแข่งขันด้านกาแฟระดับโลกให้เข้ามาอยู่ในงานนี้ ซึ่งจะต้องได้รับความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชน”
ดูเหมือนประธานผู้จัดงาน Coffee Fest มีความพยายามมากกว่าแค่การจัดงานแสดงสินค้าเกี่ยวกับกาแฟ แต่ยังหวังผลด้านความยั่งยืนของทั้งอุตสาหกรรม ที่ไม่ใช่แค่จบงานและดูแค่เม็ดเงินสะพัดตามที่ตั้งเป้าหมายไว้หรือไม่ แต่ยังมองไปถึงอนาคตว่า จะส่งต่อสิ่งดีๆ ไปยังวันข้างหน้าอีกด้วย
“ประเทศไทยเป็นเดสทิเนชันที่คนจะมาจัดงานแสดงสินค้า หรือการประชุม เพราะภูมิศาสตร์ไทยเป็นเซ็นเตอร์ของอาเซียน หรือแม้แต่ South East Asia การเดินทางสะดวก ชาวต่างชาติชอบ เพราะสามารถท่องเที่ยวต่อได้ รวมถึงราคาค่าครองชีพ ของกินของใช้ไม่แพง”
นโยบายด้านความยั่งยืนเป็นเทรนด์ที่หลายองค์กรยึดเป็นแนวปฏิบัติในการดำเนินธุรกิจ แน่นอนว่าเป็นนโยบายที่ช่วยเสริมภาพลักษณ์ให้แก่องค์กร
“สิ่งที่ผมอยากทำคือ สร้างมาตรฐานการจัดงานแสดงสินค้าที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผมไม่แน่ใจว่าทำถูกต้องตามหลัก sustainability ไหม เราพยายามที่จะใช้วัสดุที่เมื่อจบงานแล้วสามารถนำวัสดุเหล่านี้ไปใช้ต่อได้ ซึ่งนี่เป็นคอนเซ็ปต์ในการดีไซน์ที่เราต้องคิดให้เยอะว่า วัสดุที่นำมาใช้ในงานเหล่านี้สามารถส่งต่อให้คนอื่นได้ เช่น ปีที่แล้วเราใช้สแลนบังแดด ที่ใช้ในงานสวน เมื่อจบงานเราก็ส่งต่อให้เกษตรกรนำไปใช้ต่อ ซึ่งปีนี้ เราใช้วัสดุหลักที่เป็นท่อน้ำในการตกแต่ง ซึ่งเราจะใช้งานกาแฟสองครั้ง และหลังจากนั้นเราจะส่งต่อให้เกษตรกร นี่เป็นความพยายามที่เราจะทำให้เป็นตัวอย่างการใช้ของให้คุ้มค่า รวมถึงการจัดการขยะที่เราจะย่อยให้เป็นปุ๋ยภายใน 24 ชม. และส่งต่อให้ผู้อื่นใช้ประโยชน์ต่อ”
“เราพยายามที่จะสร้างสังคมที่คำนึงถึงความยั่งยืน สิ่งที่เราคิดไว้คือ การประกวดแพ็กเกจจิ้งดีไซน์ในงาน ซึ่งจะยึดโยงกับ sustainability โดยผู้ออกแบบจะต้องคำนึงเรื่องสิ่งแวดล้อม ถือเป็นการ practice ที่ดีให้ร้านค้าปีต่อๆ ไปที่จะมาร่วมงาน หรือส่งงานออกแบบต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วย สุดท้ายจะเป็นการสร้างให้ eco system ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม แม้ว่าจะมีกาแฟเป็นประเด็นหลัก แต่ยังมีแวดวงอื่นที่เกี่ยวเนื่องด้วย เช่น วงการออกแบบแพ็กเกจจิ้ง การท่องเที่ยว เพราะกาแฟเป็นสิ่งที่สามารถเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมอื่นได้ในหลายมิติ” ช้างน้อย กุญชร ณ อยุธยา ทิ้งท้าย.