“ผมเริ่มทำธุรกิจจากความชอบ Passion และมีเป้าหมายที่จะปั้นแบรนด์ให้ไปสู่ระดับโลกให้ได้” นี่คือหนึ่งในความคิด ความตั้งใจของ “ไมค์ ศรีภูมิ ทินมณี” ผู้ก่อตั้ง TOYLAXY Unique Handcraft Studio
ท่ามกลางกระแสความนิยมของเล่นศิลปะอย่างอาร์ตทอย ที่เหล่านักสะสมไทยกำลังให้ความสนใจ โดยมีแบรนด์ POP MART เป็นเบอร์หนึ่งที่หลายคนมักจะนึกถึงเป็นอันดับต้นๆ จุดเด่นจากการสร้างคาแรกเตอร์ตัวการ์ตูนที่มีหน้าตาเป็นเอกลักษณ์ และไม่จำกัดเพศ วัย ในกลุ่มนักเล่น ทำให้แบรนด์จากจีนครองตลาดส่วนใหญ่ในไทย
ขณะที่อีกมุมหนึ่งของตลาดอาร์ตทอยไทย มีอีกหนึ่งแบรนด์ที่ต้องต่อสู้ในสังเวียนที่ดุเดือดนี้ และค่อยๆ สร้างฐานแฟนคลับในธุรกิจนี้เช่นกัน แต่แน่นอนว่านี่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ไม้ซีกจะงัดไม้ซุงได้ในตลาดแมสขนาดใหญ่ TOYLAXY จึงสร้างความแตกต่างให้ธุรกิจของตัวเองมากกว่าที่จะลงไปลุยตลาด Mass อย่างเต็มตัว
สร้างธุรกิจจากความชอบ
ไมค์ ศรีภูมิ ทินมณี เริ่มต้นธุรกิจจากการเป็นผู้นำเข้าอาร์ตทอย โมเดล ตามกระแสความนิยมจากภาพยนตร์เรื่องดัง ตามความต้องการของตลาด
“ผมเริ่มต้นธุรกิจนี้ตอนช่วงอายุ 27-28 ปี เปิดบริษัทนำเข้าของเล่น ของสะสม โมเดล มาขายในไทย เรามองว่าตลาดในไทยมันใหญ่ มีดีมานด์เยอะ นี่เป็นโอกาสที่จะทำให้ธุรกิจเติบโต” ศรีภูมิอธิบาย
แต่ดูเหมือน Passion ของศรีภูมิจะไม่หยุดอยู่แค่การเป็นผู้ประกอบการไทยในธุรกิจนำเข้าสินค้าเพื่อจำหน่ายเท่านั้น เมื่อก้าวต่อมา ศรีภูมิขยับสู่ผู้ผลิตอาร์ตทอยที่ปั้นเอง ลงสีเอง ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งผลงานตัวแรกคือ Unleash The Beast
“Unleash The Beast คือคาแรกเตอร์ตัวแรกที่ TOYLAXY ทำตั้งแต่ออกแบบ 2D จนออกมาเป็นตัว ซึ่งเราใส่ใจในรายละเอียดทุกขั้นตอน หล่อ ลงสี ทำกล่อง ใบ Certificate ซึ่งผลงานแรกขายได้ประมาณ 200 ตัว เมื่อเราเห็นการตอบรับก็คิดว่า ถ้าเป็นแบบนี้คงไม่เพียงพอที่จะขับเคลื่อนธุรกิจ นั่นทำให้ต้องคิดเรื่องการสร้างงานลิขสิทธิ์ สร้างความแตกต่าง เวลานั้นนึกถึงพี่บัวขาว เพราะเขามีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับทั้งในกลุ่มคนไทยและต่างชาติ
หลังจากเข้าไปเสนอไอเดีย พูดคุยกับผู้จัดการของพี่บัวขาว และได้รับอนุญาต เราก็สร้างโมเดลพี่บัวขาวออกมา 2 เวอร์ชัน ในครั้งนั้นขายได้ประมาณ 500 ตัว ซึ่งน้อยกว่าที่คาดหวังไว้ นี่ทำให้เริ่มมองหาแนวทางอื่นเพิ่มขึ้น”
“เมื่อทำธุรกิจ ทุกอย่างต้องเรียนรู้”
การทำธุรกิจ จุดเริ่มต้นมักยากเสมอ ไม่ใช่ครั้งแรกจะได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาด ผู้บริหาร TOYLAXY อย่างศรีภูมิจึงต้องมองหาแนวทางที่เหมาะสมกับธุรกิจต่อไป
“ผมต้องเรียนรู้ตลอดเวลาในการทำธุรกิจ ไม่แค่เฉพาะการออกแบบ การผลิต แต่การบริหารจัดการต้นทุนให้อยู่ในจุดที่เรารับได้ เป็นเรื่องที่เราต้องคิด เวลานั้นเริ่มมองไปถึงการขอลิขสิทธิ์จาก Marvel ซึ่งการขอ License ของมาร์เวลไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่แค่มีเงินก็ทำได้ เราต้องทำพรีเซนต์ คอนเซ็ปต์ ว่าเราจะทำอะไร ออกแบบอย่างไร ต้องแตกต่างจากบริษัทที่ได้ลิขสิทธิ์เจ้าอื่นๆ ซึ่งนี่เป็นเงื่อนไขของเขา เพื่อป้องกันราคาสินค้าตก ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 ปี”
หลังจากได้ลิขสิทธิ์จากมาร์เวล TOYLAXY ออกสินค้ามาอย่างต่อเนื่อง ทั้ง Iron Man Hall of Action ซึ่งเป็นสเกล 1:10 และอาร์ตทอยมาร์เวลชุด 2 ที่ออกมาตรงกับหนังเรื่อง Avengers: Endgame กำลังฉายพอดี ซึ่งขายดีจนกลายเป็นรายได้หลักของบริษัทในเวลานั้น นอกจากนี้ ยังมีอาร์ตทอย “เฌอปราง BNK48” หรือ ไอดอลชื่อดังจากเกาหลี “Blackpink”
ข้อมูลจากบริษัทวิจัยการตลาดอย่าง HTF Market Intelligence ที่ระบุว่า ในปี 2566 มูลค่าตลาดอาร์ตทอยของโลกอยู่ที่ 8,517.81 ล้านดอลลาร์ สอดคล้องกับทิศทางการเติบโตของตลาดอาร์ตทอยในไทยเช่นกัน ดูได้จากกระแสการตอบรับอาร์ตทอยสัญชาติจีน ซึ่งมีรายได้จากศูนย์สร้างสรรค์และการออกแบบแห่งประเทศไทย หรือ TCDC ที่บอกว่าตั้งแต่ปี 2561-2566 ตลาดของเล่นศิลปะของไทยโตมากกว่า 200 เปอร์เซ็นต์
ขณะที่ศรีภูมิมองตลาดอาร์ตทอยของไทยในปัจจุบันว่า เพราะอะไรกล่องสุ่มอาร์ตทอยจึงเป็นที่นิยมและยังอยู่ในกระแส “ผมว่า คนไทยชอบความเสี่ยง ความตื่นเต้น กล่องสุ่มก็คล้ายการพนันเล็กๆ ซึ่งมันอยู่ในตัวของทุกคน การได้ลุ้นทำให้สินค้าอาร์ตทอยยังขายได้ เราในฐานะที่เป็นผู้ผลิตที่อยู่ในตลาดนี้ก็ต้องเตรียมรับมือ เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ที่จะเปลี่ยนแปลงไป
แต่ที่อาร์ตทอยจากต่างประเทศเข้ามาเจาะตลาดไทยได้ เป็นเพราะธรรมชาติของผู้บริโภคไทยที่เปิดรับวัฒนธรรมจากต่างชาติ ดูได้จากความนิยมในกลุ่มศิลปินเกาหลี ซีรีส์จีน เกาหลี ที่เข้ามาตีตลาดในไทยได้ง่าย”
“ก้าวต่อไปของ TOYLAXY คือการไปสู่ตลาดโลก”
ความคิดนอกกรอบ บวกกับความฝันที่จะผลักดันให้อาร์ตทอยไทยไปไกล และเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก ทำให้ ไมค์ ศรีภูมิ ไม่หยุดแค่การผลิตงานอาร์ตทอยเฉพาะที่ได้ลิขสิทธิ์เท่านั้น ได้แต่ร่วมผลิตงานกับคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่มีชื่อเสียงและมีฐานแฟนคลับ
“ต้องยอมรับว่าเราคงไม่ไปสู้กับเจ้าตลาดอย่าง POP MART เพราะนั่นต้องมียอดการผลิตที่เยอะ ถึงจะได้ราคาที่ถูก ง่ายๆ เลยคือ เราต้องไม่แข่งที่ปริมาณและราคา แต่ต้องเน้นที่งานคุณภาพ จำนวนน้อย ราคาเหมาะสม นอกเหนือจากงานลิขสิทธิ์ที่เราสามารถผลิตผลงานมาวางจำหน่ายได้แล้ว เรายังผลิตงาน IP (Intellectual Property) ที่ทำงานร่วมกับเหล่าคอนเทนต์ครีเอเตอร์ ยูทูบเบอร์ที่มีฐานแฟนคลับของเขาเอง แต่ต้องมองให้กว้างกว่าการทำขายกลุ่มแฟนคลับ ที่ผ่านมาเราเคยทำงานร่วมกับ กลูต้าสตอรี่ Heartrocker กับ Pasulol”
ปัจจุบัน TOYLAXY ของไมค์ ศรีภูมิจะไม่ใช่แค่ผู้ออกแบบ สร้างคาแรกเตอร์ และผลิตอาร์ตทอยเท่านั้น แต่มีธุรกิจอยู่ด้วยกัน 4 กลุ่มคือ 1. ครีเอทีฟ Merchandise 2. ฟิกเกอร์ 3. การ์ดเกม 4. รับจ้างผลิตอาร์ตทอย
“แม้ว่าการเดินตามรอย POP MART อาจจะดี แต่เรามีทางของเราดีกว่า ซึ่งเราต้องเน้นไปในธุรกิจที่เราชำนาญ ทั้ง Functional Product ควบคู่ไปกับ IP ที่มีชื่อเสียง 40 เปอร์เซ็นต์ และอีก 60% เป็นงานดีไซน์ของเราเอง เสริมด้วยแอนิเมชัน โดยเน้นสตอรี่ แต่ทุกอย่างต้องวางแผน เน้นการลงทุนที่คุ้มค่า ขายได้ เจาะกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังทรัพย์”
TOYLAXY ไม่ได้ผลิตเพื่อจำหน่ายแค่เฉพาะในไทยเท่านั้น แต่ยังมีตลาดต่างประเทศที่ศรีภูมิส่งสินค้าไปวางจำหน่ายด้วย เช่น ฝรั่งเศส สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน จีน เกาหลี
“เป้าหมายใหญ่ของเรา คือการส่งออกคาแรกเตอร์อาร์ตทอยของไทยไปสู่ตลาดโลก”
ตลาดอาร์ตทอยไทยยังเป็นที่น่าจับตา แม้เจ้าตลาดยังเป็นแบรนด์ยักษ์ใหญ่จากจีน และผู้ประกอบการรายเล็กๆ ยากที่จะต่อกรในสังเวียน แต่ในแง่มุมของธุรกิจอะไรก็เป็นไปได้ หากการสร้างความแตกต่างนั้นโดดเด่นและสร้างเสน่ห์มัดใจนักสะสมดีพอ แบรนด์เล็กๆ อย่าง TOYLAXY ก็อาจกลายเป็นยูนิคอร์นในตลาดอาร์ตทอยไทย หรือตลาดโลกได้ในที่สุด.