วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > ทุกค่ายพร้อมลุย Motor EXPO หวังภาษีใหม่ดันยอดขายปลายปี

ทุกค่ายพร้อมลุย Motor EXPO หวังภาษีใหม่ดันยอดขายปลายปี

 
ความเคลื่อนไหวในแวดวงยานยนต์ไทยในช่วงโค้งสุดท้ายปลายปี ดูจะขยับมีหวังหลังจากโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่มีผลให้ราคารถยนต์เกือบทุกประเภทพร้อมปรับราคาขึ้นจากเดิมในระดับร้อยละ10-15 ซึ่งกลายเป็นประเด็นโหมกระแสที่ค่ายรถยนต์ทุกค่ายต่างนำมาขยายผลหวังสร้างอารมณ์ความรู้สึกผู้บริโภคให้เร่งตัดสินใจ และกระตุ้นยอดขายในช่วงปลายปีนี้
 
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสัปดาห์นี้ต่อเนื่องไปถึงสัปดาห์หน้าที่จะมีมหกรรมยานยนต์ Motor Expo ครั้งที่ 32 หรือ The 32nd Thailand International Motor Expo 2015 ระหว่างวันที่ 2-13 ธันวาคม ภายใต้แนวคิด “มาตรฐานใหม่ ยานยนต์ไทยใส่ใจโลก” หรือ “NEW STANDARDS… THAI VEHICLES CARE ABOUT THE EARTH” ซึ่งคาดหวังว่าจะมียอดการจองรถยนต์ในงานรวมไม่น้อยกว่า 50,000 คันและจะมีเงินสะพัดในงานถึง 5.5 หมื่นล้านบาท
 
ความคาดหมายดังกล่าวตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ว่า โครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ที่จะเริ่มใช้ในปีหน้า และมีผลทำให้ราคาของรถยนต์แต่ละประเภทปรับสูงขึ้นในระดับร้อยละ 10-15 หรือปรับขึ้นจากราคาเดิมคิดเป็นเงินจำนวนหลักหมื่นถึงหลักแสนบาทต่อคันนั้น จะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ผู้บริโภคเร่งตัดสินใจซื้อรถยนต์ภายในปีนี้ และจะช่วยให้ยอดจำหน่ายรถยนต์ในช่วงสุดท้ายของปีขยายตัวขึ้น
 
ภายใต้โครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ ซึ่งจะพิจารณาจัดเก็บจากอัตราการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของรถยนต์ แทนการจัดเก็บตามปริมาณความจุกระบอกสูบ โดยรถยนต์ที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์น้อย จะเสียภาษีต่ำกว่ารถยนต์ที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มาก ทำให้แนวคิด “มาตรฐานใหม่ ยานยนต์ไทยใส่ใจโลก” ของงาน Motor Expo 2015 สอดรับกับทิศทางของอุตสาหกรรมยานยนต์โลก ที่กำลังสร้างสรรค์ยานยนต์ยุคใหม่ที่สะอาด ประหยัดและปลอดภัย ซึ่งรวมถึงการแสวงหาพลังงานทดแทนที่ปราศจากมลพิษ ทั้งพลังงานไฟฟ้า และไฮโดรเจนด้วย
 
ขณะเดียวกัน ผู้ผลิตยังต้องยกระดับมาตรฐานการกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์ในรถยนต์นั่งและรถกระบะ เพื่อให้สอดคล้องกับอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์โครงสร้างใหม่ ที่กำหนดบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 และเป็นไปตามแผนแม่บทอุตสาหกรรมยานยนต์ พ.ศ. 2555-2559 สำหรับประเทศไทย ซึ่งกรมควบคุมมลพิษวางแผนจะบังคับใช้มาตรฐานไอเสียระดับยูโร 6 กับรถยนต์ใหม่ตั้งแต่ปี 2563 ส่วนรถจักรยานยนต์ ต้องผ่านมาตรฐานยูโร 5 ขณะที่มาตรฐานของน้ำมันเชื้อเพลิงก็ต้องสอดคล้องกัน โดยจะลดกำมะถันเหลือเพียง 10 พีพีเอ็ม หรือลดลงถึง 5 เท่าจากปัจจุบัน
 
ขณะที่โครงการรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล ระยะ 2 หรือ อีโคคาร์ 2 ก็ต้องผ่านมาตรฐานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่สูงขึ้นเช่นกัน ทั้งมาตรฐานมลพิษ ยูโร 5 และอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่เกิน 100 กรัมต่อกิโลเมตรด้วย
 
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจประการหนึ่งก็คือ สภาพตลาดยานยนต์ไทยในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา อยู่ในภาวะที่ขยายตัวลดลงถึงกว่า 15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการรถยนต์แต่ละค่ายพยายามผลักดันยอดการจำหน่ายในช่วงไตรมาสสุดท้าย ด้วยข้อเสนอพิเศษต่างๆ มาเสนอต่อผู้บริโภคเพื่อบรรลุเป้าหมายการขายของปี
 
โดยรายงานสถิติการจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนกันยายน 2558 ระบุว่ามีปริมาณการจำหน่ายรวมทั้งสิ้น 61,869 คัน ลดลง 10.5% ประกอบด้วย รถยนต์นั่งจำนวน 22,581 คัน ซึ่งลดลงถึง 25.5% รถเพื่อการพาณิชย์ 39,288 คัน เพิ่มขึ้น 1.2% รวมทั้งรถกระบะขนาด 1 ตัน ในเซกเมนต์นี้ จำนวน 31,670 คัน ลดลง 1.9%
 
การเติบโตขึ้นของตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ในช่วงที่ผ่านมา ในด้านหนึ่งเป็นผลจากการที่ผู้ประกอบการแต่ละรายแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ออกสู่ตลาด หากแต่ภาวะเศรษฐกิจยังคงชะลอตัวส่งผลให้ผู้บริโภคระมัดระวังต่อการใช้จ่ายซึ่งมีผลถึงตลาดรถยนต์ในภาพรวมไม่น้อยเลย โดยเฉพาะในกลุ่มรถยนต์นั่งที่มีการชะลอตัวอย่างมีนัยสำคัญ
 
ประเด็นดังกล่าวสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนจากปริมาณยอดการจำหน่ายรถยนต์สะสมในช่วง 9 เดือนของปีนี้ ซึ่งมีปริมาณการขายรวม 553,832 คัน ลดลง 14.6% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยแบ่งเป็นตลาดรถยนต์นั่งมีอัตราการเติบโตลดลง 21.6% ตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์มีอัตราการเติบโตลดลง 9.4% สืบเนื่องมาจากภาระหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว ทำให้สภาพคล่องในระบบลดลง
 
กรณีดังกล่าวดูเหมือนจะถูกกดทับให้หนักหน่วงขึ้นเมื่อมีการเปิดเผยว่า ยอดการปฏิเสธสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์อยู่ในระดับสูงถึง 20-30% เมื่อเทียบจากยอดการขอสินเชื่อทั้งหมด เนื่องจากสถาบันการเงินยังกังวลเกี่ยวกับภาวะหนี้ครัวที่อยู่ในระดับสูง แม้บริษัทรถยนต์จะคัดเลือกลูกค้าก่อนส่งให้สถาบันการเงินแล้วก็ตาม ซึ่งต้องติดตามดูว่าในช่วงมหกรรมยานยนต์ปลายปีนี้ สถาบันการเงินจะผ่อนคลายหลักเกณฑ์เพื่อช่วยกระตุ้นยอดจำหน่ายรถยนต์ให้เป็นไปตามที่ค่ายรถยนต์แต่ละรายมุ่งหมายหรือไม่
 
อย่างไรก็ดี แวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์ยังเชื่อว่ามีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เมื่อสถานการณ์การจำหน่ายช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมาเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้นบ้างหลังจากที่ยอดการจำหน่ายไปอยู่ในระดับ 67,908 คัน ลดลง 4.2% ซึ่งแม้จะยังขยายตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่ก็ถือว่ากระเตื้องขึ้นมาบ้างแล้ว หลังจากที่ยอดขายลดลงเป็นเลขสองหลักมาตลอดทั้งปี และส่งผลให้ยอดสะสมตลอด 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.) มาอยู่ที่ 621,740 คัน ลดลง 13.6% และอาจทำให้ช่วงที่เหลือของปีจะสามารถมียอดจำหน่ายรวม 7.5-8 แสนคันตามเป้าหมายจากแรงกระตุ้นของงาน Motor Expo นี้ด้วย
 
สิ่งหนึ่งที่ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ยังจะพอคลายความกังวลได้บ้างน่าจะอยู่ที่ ตัวเลขการส่งออกยานยนต์ไปสู่ตลาดต่างประเทศ โดยยอดส่งออกรถยนต์ไปยุโรปในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ เพิ่มขึ้นถึง 72% ส่งออกไปสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึง 93% และทำให้คาดการณ์ว่าเมื่อถึงสิ้นปียอดส่งออกรถยนต์ไปต่างประเทศ จะมีมากถึง 1.2 ล้านคันทำลายสถิติและทำให้ประเทศไทยยังเป็นประเทศผู้ส่งออกรถยนต์ติดท็อปเท็นของโลกต่อไป โดยส่วนใหญ่เป็นการส่งออกรถกระบะขนาด 1 ตัน 
 
ขณะที่ยอดส่งออกรถยนต์เดือนตุลาคมที่ผ่านมา อยู่ที่ 111,229 คัน เพิ่มขึ้น 19.7% เนื่องจากส่งออกรถกระบะยังขยายตัวดีทั้งในตลาดยุโรป และเอเชีย ส่งผลให้ยอดสะสมรวม 10 เดือน ส่งออกได้ 1.01 ล้านคัน ซึ่งยอดการส่งออกดังกล่าวนี้ ทำให้เมื่อสรุปรวมถึงสิ้นปี ยอดการผลิตรถยนต์รวมจะอยู่ในระดับ 1.95-2 ล้านคัน
 
แม้สถานการณ์ในช่วงปลายปีนี้จะยังไม่ถึงบทสรุป แต่ผู้ประกอบการในวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ประเมินผลไปในทิศทางที่ดีว่า ยอดการจำหน่ายในปีหน้าจะเติบโตขึ้นประมาณ 5% หรือมียอดขายเพิ่มขึ้นประมาณ 100,000 คันจากปี 2558 โดยเป็นการเติบโตของยอดขายที่ใกล้เคียงกันทั้งยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศและยอดส่งออก จากสมมุติฐานที่ว่าเศรษฐกิจในประเทศน่าจะปรับตัวดีขึ้น จากผลของความพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ ที่จะช่วยผลักดันการลงทุนภาคเอกชนและเพิ่มกำลังซื้อในวงกว้าง ขณะที่การส่งออกรถยนต์ปีหน้าคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของสหรัฐอเมริกาและยุโรป
 
ประเด็นสำคัญนับจากนี้จึงอยู่ที่ว่า ความคาดหมายดังกล่าวนี้จะสามารถสะท้อนออกมาเป็นข้อเท็จจริงให้จับต้องได้ในอนาคตหรือไม่ หรือเป็นเพียงการประเมินผลเพื่อประคับประคองอารมณ์ความรู้สึก ท่ามกลางความกังวลต่อความผันผวนของเศรษฐกิจการเมืองระดับนานาชาติ ซึ่งส่งผลกระทบให้การลงทุนของภาคเอกชนมีสัญญาณการชะลอตัวต่อเนื่อง ขณะที่กำลังซื้อของภาคครัวเรือนภายในประเทศยังคงดำเนินไปอย่างจำกัด และหดแคบ
 
บางที Motor Expo ที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงหนึ่งถึงสองสัปดาห์ข้างหน้าอาจจะช่วยให้ภาพที่เด่นชัดยิ่งขึ้น หรือเป็นเพียงอีกหนึ่งมายาภาพที่เกิดขึ้นจากผลของแรงกระตุ้นชั่วคราวว่าด้วยโครงสร้างภาษีใหม่ ซึ่งย่อมไม่สามารถแปรผลและบ่งบอกทิศทางของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เป็นจริงในระยะยาวได้อย่างแน่นอน