วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > ไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ พลิกแผนดิสนีย์แลนด์เมืองไทย

ไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ พลิกแผนดิสนีย์แลนด์เมืองไทย

16 ธันวาคม 2566

ไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ ประธานที่ปรึกษากลุ่มบริษัทสยามพาร์คซิตี้ ออกอีเวนต์ใหญ่เปิดงานสยามอะเมซิ่งพาร์ค ฉลอง 4 ทศวรรษ สวนสยาม ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เทศกาล “รื่นเริง สำราญ อุทยานเมืองบางกอก” ในโครงการบางกอกเวิลด์ (Bangkok World) ซึ่งเป็นโปรเจกต์ชิ้นสุดท้ายในชีวิตการทำงานและเป็นจิ๊กซอว์เติมเต็ม “สยามพาร์คอะเมซิ่งซิตี้” ให้กลายเป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์กสำคัญ

หากย้อนดู 4 ทศวรรษ เริ่มทศวรรษแรกตั้งแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน 2521 จัดตั้งบริษัทอมรพันธุ์นคร-สวนสยาม จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจสวนสนุก “สวนสยาม” บนเนื้อที่กว่า 300 ไร่ ย่านมีนบุรี เป็นยุคบุกเบิกลงทุนและใช้เวลานานกว่าจะถึงจุดคุ้มทุน

ทศวรรษที่ 2 เกิดวิกฤตใหญ่ของชีวิตและธุรกิจ ถูกฟ้องร้องและใกล้ถูกตัดสินให้ล้มละลาย ต้องขายสินทรัพย์จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อพยุงธุรกิจสวนสนุก

ทศวรรษที่ 3 เป็นยุคทายาทรุ่นที่ 2 ลูกๆ เข้ามาช่วยกิจการอย่างเต็มตัวทั้งสามพี่น้อง ได้แก่  สิทธิศักดิ์ เหลืองอมรเลิศ ลูกชายคนโต วุฒิชัย เหลืองอมรเลิศ ลูกชายคนรอง และจิรวรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา ลูกสาวคนเล็ก กิจการอยู่รอดและเริ่มมีกำไร

กระทั่งทศวรรษที่ 4 ครอบครัว “เหลืองอมรเลิศ” เดินหน้าพัฒนาที่ดินหน้าสวนสยามกว่า 70 ไร่ เปิดโครงการบางกอกเวิลด์ หมายมั่นให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมแนวใหม่

ต้องยอมรับว่าไชยวัฒน์ลุยงานหนักตั้งแต่อายุ 12 ปี เป็นทั้งเด็กรับจ้างในร้านก๋วยเตี๋ยวย่านบางเขน กระเป๋ารถเมล์ รับจ้างส่งของ พ่อค้าเร่ จนได้พบอาจารย์ด้านประมงของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และหันเหสู่อาชีพเพาะพันธุ์ปลาขาย

ต่อมารู้จักกับเศรษฐีที่ดินชื่อ บุญชู เธียรสวน เริ่มต้นการเป็นนักพัฒนาที่ดิน สร้างหมู่บ้านจัดสรรแห่งแรกย่านวิภาวดีรังสิต “เธียรสวนนิเวศน์ 1” และอีกหลายโครงการ จนปี 2521 เกิดจุดเปลี่ยนพลิกจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เข้าสู่ธุรกิจสวนน้ำ-สวนสนุก

ในหนังสือ มรดกแห่งชีวิต His Life, His Longing, His Legacy ไชยวัฒน์เล่าถึงบทเริ่มต้น “สวนสยาม” เปิดฉากเมื่อ ชาตรี โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ นัดหารือแผนพัฒนาที่ดิน 1,000 ไร่แถวมีนบุรี เพื่อสร้างแหล่งท่องเที่ยวดิสนีย์แลนด์เมืองไทย เพราะมองอนาคตประเทศไทยจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวหลักของภูมิภาคเอเชีย

ขณะเดียวกัน ไชยวัฒน์เคยเดินทางไปต่างประเทศหลายครั้ง โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ได้เห็นสวนสนุกทั้งดิสนีย์แลนด์ ยูนิเวอร์แซลสตูดิโอ ชิกซ์แฟล็กซ์ เกิด Passion ว่า สักวันหนึ่งจะสร้างสวนสนุก “ดิสนีย์แลนด์เมืองไทย”

ทั้งสองคนจับมือกันจดทะเบียนบริษัทใหม่ ชื่อ “อมรพันธุ์นคร-สวนสยาม” ทุนจดทะเบียนรวม 1,000 ล้านบาท และแบ่งที่ดิน 2 ส่วน ก่อสร้างบ้านจัดสรรขายพร้อมที่ดิน ชื่อหมู่บ้านอมรพันธุ์นคร และสร้างสวนสนุกระดับโลก โดยระดมนักวิชาการหารือโปรเจกต์สร้างสวนสนุก ดิสนีย์แลนด์ประเทศไทย

ด้านไชยวัฒน์เดินทางไปศึกษาข้อมูลที่ดิสนีย์แลนด์ สหรัฐอเมริกา แต่พบว่า เมืองไทยไม่มีทางสร้างสวนสนุกแบบดิสนีย์แลนด์ได้เลย เพราะต้องลงทุนมหาศาล ต้องขอแรงสนับสนุนจากรัฐบาล เรื่องสาธารณูปโภค ต้องมีรถไฟฟ้า รถใต้ดินเข้าถึงโครงการ ต้องมีที่ดินผืนใหญ่ ไม่ใช่แค่ 1,000 ไร่

ที่สำคัญ การก่อสร้างและการดำเนินงานทั้งหมดต้องอยู่ภายใต้แฟรนไชส์ของดิสนีย์แลนด์ เขาจึงหันไปดูสวนสนุกโทชิมะเอ็นในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสวนสนุกและสวนน้ำรูปแบบทะเลเทียม ดึงน้ำทะเลนำมากรอง และทำคลื่นเทียม

ทว่า ที่ประชุมผู้ถือหุ้นคัดค้านอย่างหนัก แต่ไชยวัฒน์ยืนยันขอลุยต่อ

เมื่อการก่อสร้างผ่านไปได้มากกว่า 80% ด้วยงบสูงกว่าแผนมากและไม่มีใครเชื่อว่าทะเลเทียมจะได้รับความนิยม รวมถึงค่าแรงขั้นต่ำสมัยนั้นเพียง 80 บาท ทำให้ไม่สามารถเก็บค่าใช้บริการอัตราสูง ผู้ถือหุ้นใหญ่จึงถอนตัวและยุติการลงทุนทั้งหมด

ไชยวัฒน์จึงตัดสินใจเปิดให้บริการเฉพาะสวนน้ำในราคาที่ไม่สูงมาก เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2523 และใช้เวลาหลายสิบปีฝ่าวิกฤตมากมาย โดยเฉพาะด้านเงินทุน ดิ้นรนทุกวิถีทาง ขายสินทรัพย์ ธนาคารเจ้าของเงินกู้ตัดสินใจฟ้องล้มละลาย แต่เกิดปาฏิหาริย์ระหว่างการดำเนินคดี ปรากฏว่า ธนาคารยอมเจรจาลดยอดหนี้ ขณะที่ครอบครัวเหลืองอมรเลิศตัดสินใจขายที่ดินผืนงามริมถนนลาดพร้าว ปลดหนี้สวนสยามได้

หลังพลิกวิกฤตผ่านมาได้ บริษัทรวบรวมเงินทุนนำเข้าเครื่องเล่นฮิตระดับโลกจากต่างประเทศชุดใหญ่

ปี 2552 ทะเล-กรุงเทพ ของสวนสยาม ได้รับการรับรองจาก Guinness World Records เป็นทะเลเทียมที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีการเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น Siam Amazing Park แบ่งพื้นที่เป็น 5 โซน ประกอบด้วยโซนสวนน้ำ Water World โซน Xtreme World รวบรวมเครื่องเล่นท้าความเสียวระดับโลก เช่น Vortex, GiantDrop, Log Flume โซน Adventure World ดินแดนแห่งการผจญภัย เช่น Jurassic Adventure, Twin Dragon โซน Family World ดินแดนของเครื่องเล่นของครอบครัว เช่น  Africa Adventure, Si-Am Tower, ม้าหมุนสองชั้นคลาสสิก, Big Double Shock และ Small World ดินแดนเครื่องเล่นไซซ์มินิสำหรับนักผจญภัยตัวน้อย

ปี 2561 บริษัท สยามพาร์ค บางกอก จำกัด วางศิลาฤกษ์ก่อสร้างโครงการบางกอกเวิลด์ ก่อนเผยโฉมอย่างเป็นทางการในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565.