วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > JKN ลุยไทม์ไลน์หนีตาย เกมกอบกู้เรตติ้งครั้งใหญ่

JKN ลุยไทม์ไลน์หนีตาย เกมกอบกู้เรตติ้งครั้งใหญ่

กว่า 5 เดือนแล้ว บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ JKN ของ แอน-จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ยังหนีไม่พ้นปมปัญหาหนี้ก้อนใหญ่ โดยเฉพาะกรณีผู้ถือหุ้นกู้มูลค่ารวมมากกว่า 3,200 ล้านบาท แม้พยายามยืนยันว่า การยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง เพื่อปรับโครงสร้างกิจการและโครงสร้างทางการเงิน เป็นหนทางดูแลผู้ถือหุ้นและผู้ถือหุ้นกู้ให้ได้รับเงิน และได้รับความยุติธรรมมากที่สุด

แต่ดูเหมือนผู้ถือหุ้นกู้ส่วนใหญ่ยังคลางแคลงใจ เพราะกว่าจะได้เงินต้องรอกระบวนการฟื้นฟูกิจการนานนับปี

ล่าสุด นางนรินธร อนุเคราะห์ธนาพงษ์ รองกรรมการผู้จัดการสายงานการเงินและบัญชี JKN ออกมาระบุว่า ตั้งแต่บริษัทจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการขยายกิจการอย่างต่อเนื่อง โดยการระดมทุน ทั้งเพิ่มทุน กู้ยืมธนาคารพาณิชย์ และออกหุ้นกู้  มูลค่ากว่า 3 พันล้านบาท ซึ่งบริษัทนำเม็ดเงินมาขยายธุรกิจมูลค่ากว่า 2 พันล้านบาท ส่วนที่เหลือนำมาเป็นเงินทุนดำเนินธุรกิจ แต่เมื่อลูกค้าของ JKN ชำระเงินล่าช้ากว่ากำหนด ทำให้มีปัญหาการขาดสภาพคล่อง และไม่สามารถชำระคืนหุ้นกู้ได้ตามกำหนด โดยที่ปรึกษาการเงินและที่ปรึกษากฎหมายแนะนำให้ JKN ยื่นขอเข้าแผนฟื้นฟูกิจการกับศาลล้มละลายกลาง เพื่อให้ JKN สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ระหว่างหาทางแก้ปัญหาหนี้สิน

ที่สำคัญ  บริษัทจัดเตรียมข้อมูลรายนามเจ้าหนี้และจำนวนหนี้ทุกประเภท เสนอต่อศาลและเจ้าหนี้ให้พิจารณาแต่งตั้งบริษัทเป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการแล้วเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 จะบริหารแผนธุรกิจตามแผนที่ผ่านการอนุมัติของที่ประชุมเจ้าหนี้และศาลเห็นชอบแล้ว เมื่อเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามแผนเรียบร้อย JKN จะออกจากแผนแล้วดำเนินธุรกิจตามปกติทันที

อย่างไรก็ตาม หากดูไทม์ไลน์การฟื้นฟูกิจการหลังการยื่นคําร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 และศาลล้มละลายกลางมีคําสั่งรับคําร้องในวันถัดมา ศาลกำหนดนัดไต่สวนคำร้องการเข้าแผนฟื้นฟูกิจการในวันที่ 29 มกราคม 2567 จากนั้นพิจารณามีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนในเดือนเมษายน 2567 ประกาศคำสั่งศาลและแต่งตั้งผู้ทำแผนในหนังสือพิมพ์และราชกิจจานุเบกษาในเดือนพฤษภาคม 2567 เจ้าหนี้ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ในเดือนมิถุนายน 2567 ผู้ทำแผนจัดทำแผนฟื้นฟูภายใน 3 เดือนนับจากวันโฆษณาคำสั่งตั้งผู้ทำแผนในเดือนกันยายน 2567

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นําส่งแผนฟื้นฟูกิจการให้เจ้าหนี้ในเดือนตุลาคม 2567 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จัดประชุมเจ้าหนี้ลงมติรับแผนฟื้นฟูกิจการในเดือนพฤศจิกายน 2567 ศาลล้มละลายพิจารณาคำสั่งเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการในเดือนธันวาคม 2567 และผู้บริหารแผนเริ่มดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการในเดือนมกราคม 2568 หรือหลังจากนี้ปีกว่าๆ

ต้องยอมรับว่าภาพลักษณ์ของ JKN สวยหรู ในฐานะบริษัทผลิตรายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์ ให้บริการเวลาเพื่อโฆษณาและประชาสัมพันธ์สินค้าทางสถานีโทรทัศน์ของทางกลุ่มบริษัท จำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เนื้อหารายการประเภทซีรีส์ การ์ตูน สารคดี จากหลากหลายประเทศ เช่น เกาหลีใต้ อินเดีย จีน ฟิลิปปินส์ และสหรัฐฯ จำหน่ายเป็นลิขสิทธิ์ให้กับผู้ประกอบธุรกิจสถานีโทรทัศน์ทุกระบบ รวมถึงผ่านระบบวีดิทัศน์ ดีวีดีและบลูเรย์ รวมถึงเป็นเจ้าขององค์การนางงามจักรวาล ผู้จัดการประกวด 3 เวทีใหญ่ คือ นางงามจักรวาล มิสยูเอสเอ และมิสทีนยูเอสเอ

ปัจจุบัน เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป มีบริษัทย่อยที่ถือหุ้น 100% จำนวน 5 บริษัท คือ บริษัท เจเคเอ็น แชนเนล จำกัด บริษัท เจเคเอ็น ไอเอ็มซี จำกัด บริษัท เจเคเอ็น โนว์เลดจ์ จำกัด บริษัท เจเคเอ็น นิวส์ จำกัด และบริษัท เจเคเอ็น เบสท์ ไลฟ์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตออกอากาศสถานีโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัลช่องเจเคเอ็น 18  นอกจากนี้ ยังมีบริษัทย่อยที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของรัฐเดลาแวร์ในสหรัฐฯ เพื่อดำเนินงานในนามองค์กรนางงามจักรวาล โดยถือหุ้นผ่าน เจเคเอ็น เมตาเวิร์ส ไอเอ็นซี (JKN Metaverse, Inc.) ได้แก่ JKN Universe, LLC., JKN Universe FranchCo, LLC., Miss USA BR Productions, LLC., MUO Productions, LLC. และ Miss USA Productions OH, LLC.

ในแง่รายได้ กำไรและสินทรัพย์เติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะกรณีดีลซื้อกิจการองค์กรนางงามจักรวาล หรือ Miss Universe Organization (MUO) จาก Endeavor Group Holdings, Inc. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น 100% ของบริษัท IMG Worldwide, LLC ผู้ถือลิขสิทธิ์ Miss Universe มูลค่าราว 20 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 800 ล้านบาท ประกอบด้วยสัญญาหลัก 14 ล้านดอลลาร์ หรือราว 550 ล้านบาท และสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์อีก 6 ล้านดอลลาร์ หรือราว 250 ล้านบาท เมื่อเดือนตุลาคม 2565 โดยระบุว่า ใช้เงินทุนหมุนเวียนในกิจการ

ยิ่งทำให้ภาพ JKN กลายเป็นกิจการและหุ้นที่น่าลงทุนมากขึ้นอีก

จนปมปัญหาระเบิดขึ้นเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2566 บริษัทออกหุ้นกู้ ซึ่งยังไม่ครบกําหนดไถ่ถอน 7 ชุด รวม 3,360.20 ล้านบาท แต่การจัดการสภาพคล่องไม่เป็นไปตามแผน กระแสเงินสดต่ำ และผิดนัดชําระหนี้หุ้นกู้รุ่น JKN239A การผ่อนผันการชําระหนี้ รวมถึงเลื่อนระยะเวลาการชําระหนี้หุ้นกู้ดังกล่าวตามมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ครั้งที่ 1/2566 ในวันที่ 27 กันยายน 2566 เป็นเหตุให้ผิดสัญญาหุ้นกู้รุ่นอื่นๆ ทั้ง 6 รุ่น นอกจากนี้ ยังผิดสัญญาหุ้นกู้แปลงสภาพ และหนี้เงินกู้จากสถาบันการเงิน

บริษัทต้องพิจารณาจัดประเภทหนี้สินใหม่ หุ้นกู้ หุ้นกู้แปลงสภาพและหนี้เงินกู้จากสถาบันการเงิน เป็นหนี้สินหมุนเวียนทั้งจำนวนทําให้หนี้สินสูงกว่าสินทรัพย์หมุนเวียนมาก มีการจ้างบริษัท เคพีเอ็มจี ภูมิไชย ที่ปรึกษาธุรกิจ จํากัด เป็นที่ปรึกษาการเงิน ซึ่งนำเสนอตัวเลือกของการชําระคืนหุ้นกู้และระยะเวลาการชำระหนี้ที่อาจใช้เวลาถึง 8 ปี ขึ้นอยู่กับความสามารถในการหาแหล่งเงินทุนใหม่

ต่อมา เกิดกระแสข่าวว่า Top News ปิดดีลกับ JKN18 ในราคา 500 ล้านบาท เพื่อเข้ามาทำรายการข่าวและขายตรง ส่วน JKN ทำรายการบันเทิง แม้ แอน-จักรพงษ์ ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จํากัด (มหาชน) เจ้าของทีวีดิจิทัล JKN18 ไม่ได้ให้รายละเอียดชัดเจน เพียงแต่แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าบรรลุข้อตกลงร่วมกับบริษัท ท็อปนิวส์ ดิจิทัล มีเดีย จํากัด ในการร่วมผลิตรายการข่าวสารและสาระ ออกอากาศทางช่อง JKN18  โดยจะได้รับค่าตอบแทนตามที่ทั้งสองฝ่ายตกลงกัน

พร้อมๆ กับการล้วงลึกถึงการทุ่มเงินลงทุนหลายๆ ดีลในช่วงที่ผ่านมา ทั้งการซื้อทีวีดิจิทัล ช่องนิว18 มูลค่า 1,200 ล้านบาท ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น JKN18  ลงทุนธุรกิจโฮมช้อปปิ้ง 400 ล้านบาท และซื้อกิจการ Miss Universe Organization (MUO) มูลค่า 800 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม แอน-จักรพงษ์ ถือเป็นนักธุรกิจที่เก่งกาจ สามารถปลุกปั้น เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป เมื่อสิบปีก่อน เริ่มจากบริษัท เอสทีจีซีพี จำกัด เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2556 ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 1 ล้านบาท ดำเนินธุรกิจจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ ก่อนเปลี่ยนมาทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ภายใต้บริษัท เจเคเอ็น ลิฟวิ่ง จำกัด และรุกเข้าสู่ธุรกิจสื่อ ภายใต้บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย จำกัด โดยใช้เวลาเพียงปีเดียว แปรสภาพเป็นบริษัท เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) เสนอขายหุ้น IPO ในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ในชื่อหลักทรัพย์ JKN เริ่มซื้อขายวันที่ 30 พฤศจิกายน 2560

กลางปี 2561 เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย เริ่มออกอากาศรายการโทรทัศน์ของซีเอ็นบีซี ในนาม เจเคเอ็นซีเอ็นบีซี เป็นครั้งแรก สร้างการเติบโตจนย้ายเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และทุ่มเงินลงทุนซื้อกิจการ บริษัท ดีเอ็น บรอดคาสต์ จำกัด เปลี่ยนโฉมช่องนิว 18 เป็น JKN18 ประกาศแผนการตลาดรูปแบบใหม่ ตั้งเป้าหมายเป็น “Content Commerce Company” ตามมาด้วยบิ๊กดีล Miss Universe

วิกฤตครั้งนี้ของ แอน-จักรพงษ์ จึงไม่ใช่แค่การพลิกฟื้นกิจการ แต่ต้องกอบกู้เรตติ้งความเชื่อมั่นครั้งใหญ่ด้วย.