วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
Home > Cover Story > “ไทยเบฟ” เปิดศึก Food Street ชน “ซีพี”

“ไทยเบฟ” เปิดศึก Food Street ชน “ซีพี”

 
ฐาปน สิริวัฒนภักดี เปิดเกมรุกครั้งใหม่ ตั้งบริษัท FOOD of ASIA (FOA) ขยายอาณาจักรธุรกิจอาหารภายใต้แบรนด์ที่ปลุกปั้นขึ้นเอง ที่สำคัญเตรียมโมเดลฟู้ดรีเทลบุกตลาดทุกช่องทาง เจาะทุกกลุ่มลูกค้าเป้าหมายและทุกเวลา ตามวิชั่น “ไทยเบฟเวอเรจ Always with you” ซึ่งทายาทคนสำคัญของเจริญ สิริวัฒนภักดี ถือเป็น “คีย์” สู่การเป็นบริษัทที่มีผลกำไรสูงสุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
 
แน่นอนว่า จากบริษัทเครื่องดื่มครบวงจร แม้มีพอร์ตธุรกิจอาหารแบรนด์ “โออิชิ” อยู่ในเครือ แต่เป็นกิจการที่ซื้อต่อจาก “ตัน ภาสกรนที” ในยุคแบรนด์ติดตลาดและค่อนข้างประสบความสำเร็จ ทำให้ฐาปนให้เวลาศึกษาและเน้นรายละเอียดของธุรกิจอาหารตัวใหม่รอบด้าน เพราะคู่แข่งล้วน “ทุนยักษ์ใหญ่” และเล่นอยู่ในตลาดยาวนาน
 
นงนุช บูรณะเศรษฐกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท FOA เปิดเผย “ผู้จัดการ 360  ํ” ว่า FOOD of ASIA เกิดขึ้นจากวิชั่นของฐาปน ที่ต้องการสร้างธุรกิจอาหารที่สื่อสะท้อนเอกลักษณ์ของความเป็นอาเซียน รวมถึงเอเชีย โดยรวบรวมทีมงานและกำหนดโมเดลร้านอาหารที่ตอบสนองกลุ่มลูกค้าอย่างโดดเด่น แตกต่างจากคู่แข่ง ทุกระดับราคาและทุกช่วงเวลาของผู้บริโภค ไม่ว่าเช้า สาย บ่าย เย็น และค่ำคืน รวมถึงทุกไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่
 
ทั้งนี้ บริษัทคิดคอนเซ็ปต์ร้านอาหารหลายรูปแบบและเลือกประเดิมเจาะตลาดเฟสแรก 4 โมเดล เริ่มจากโมเดลร้านอาหารจีนสไตล์กวางตุ้ง “Man Fu Yuan (หม่าน ฟู่ หยวน)” นำมาจากภัตตาคาร หม่าน ฟู่ หยวน โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล สิงคโปร์ ภายใต้คอนเซ็ปต์ Fine Dining Experience with Authentic Chinese Cuisine โดยเพิ่งเปิดร้านแห่งแรกที่สโมสรราชพฤกษ์ในโครงการนอร์ธปาร์ค เน้นจับกลุ่มลูกค้าระดับไฮเอนด์
 
โมเดลที่ 2 ร้านอาหาร So Asean Café & Restuarant คอนเซ็ปต์ The Destination of  Asean Cusine ขนาดพื้นที่เกือบ 400 ตารางเมตร เปิดสาขาแรกแล้วที่อาคารแสงโสม สำนักงานใหญ่บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) 
 
โมเดลที่ 3 ร้านกาแฟ So Asean Coffee คอนเซ็ปต์ The Art Asean Coffee Through Unbeatable เปิดสาขาแรกที่ศูนย์ C asean อาคารไซเบอร์เวิลด์ ถ.รัชดาภิเษก 
 
โมเดลสุดท้าย ฟู้ดคอร์ทภายใต้แบรนด์ “Food Street” คอนเซ็ปต์ The Center of Variety and Popular Taste ซึ่งถือเป็นก้าวย่างใหม่ล่าสุดของไทยเบฟฯ โดยจะเปิดตัวสาขาแรกเดือนธันวาคมนี้ในโครงการไลฟ์สไตล์มอลล์ “เดอะสตรีท” ย่านรัชดาภิเษก ที่ตั้งเดิมของห้างโรบินสัน รัชดาฯ ซึ่งทีซีซีกรุ๊ปเจรจาทำสัญญาเช่ากับกลุ่มราชาพาเลซ เจ้าของที่ดิน 30 ปี และให้บริษัท ยูนิเวนเจอร์ จำกัด (มหาชน) พัฒนาโครงการขึ้นใหม่
 
เดอะ สตรีท มี 5 ชั้น พื้นที่รวมเกือบ 70,000 ตร.ม. มีร้านค้ากว่า 500 ร้านค้า แยกเป็นโซนแฟชั่นเครื่องแต่งกาย โซนงานบริการครบวงจร โซนร้านอาหาร เครื่องดื่ม ธนาคาร ร้านอาหาร ร้านเบเกอรี่ และโซนเอาต์ดอร์พลาซาเป็นลานกิจกรรม 4,000 ตร.ม. 
 
สำหรับแม็กเน็ตสำคัญของโครงการ นอกจากร้านค้า ร้านอาหารและซูเปอร์มาร์เก็ต “ฟู้ดแลนด์” ซึ่งเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อสร้างบรรยากาศให้ผู้คนย่านรัชดาภิเษก เป็น Third Place ที่สามารถมา SIP, WALK, TALK and SHARE ตั้งแต่เช้ายันค่ำ จะอยู่ที่ “Food Street” ของ FOA ที่มีพื้นที่มากถึง 2,000 ตร.ม. จำนวน 700 ที่นั่ง มีร้านอาหารที่รับประกันคุณภาพเรียกว่า Better Quality ในราคาที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายย่านรัชดาภิเษก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพนักงานออฟฟิศ ราคาเริ่มต้น 35-45 บาท จำนวนมากกว่า 40 ร้าน 
 
นงนุชกล่าวว่าคอนเซ็ปต์ของ FOA เน้นการสร้างโมเดลร้านอาหารที่ลูกค้าสามารถมาใช้บริการได้ตลอดเวลา อยากกินอาหารจีนสไตล์หรูก็ไปภัตตาคารจีนหม่านฟู่หยวน ซึ่งในอนาคตบริษัทจะเปิดตัวโมเดลหม่านฟู่หยวน ระดับบนถึงกลาง ใช้พื้นที่ไม่ใหญ่มาก เพื่อขยายฐานลูกค้ากว้างขึ้น
 
หรือช่วงเวลาทำงานต้องใช้เวลาระยะสั้นต้องไปใช้บริการฟู้ดสตรีท หรืออยากทานอาหารชิลๆ กับเพื่อน สามารถไปร้าน So Asean Café & Restuarant แต่ถ้าลูกค้าอยากใช้เวลาส่วนตัวหรือกับเพื่อนกลุ่มเล็กก็มาจิบกาแฟในร้าน So Asean Coffee ซึ่งมีเมนูต้นตำรับจากประเทศในกลุ่มอาเซียน เช่น กาแฟ So Black จากลาว กาแฟขิงจากอินโดนีเซีย กาแฟ Vietnamese Drip สไตล์เวียดนาม รวมถึงขนมปัง Kaya Toast ซึ่งเป็นเมนูซิกเนเจอร์จากสิงคโปร์
 
“บริษัทเตรียมโมเดลธุรกิจร้านอาหารอีกหลายรูปแบบและแผนขยายสาขา ซึ่งสามารถขยายไปยังศูนย์การค้าและอาคารสำนักงานในเครือทีซีซีกรุ๊ปได้ รวมถึงขยายไปประเทศต่างๆ ในอาเซียน ผ่านเครือข่ายไทยเบฟฯ และศูนย์ C asean”
 
อย่างไรก็ตาม แม้ไทยเบฟฯ และบริษัท FAO ไม่ได้ยืนยันการเปิดศึกแข่งขันกับคู่แข่งยักษ์ใหญ่ เช่น ฟู้ดลอฟท์ ศูนย์อาหารอีตไทยและร้านอาหารในเครือเซ็นทรัล หรือฟู้ดรีพับลิคของบริษัท เบรดทอล์ค (ไทยแลนด์) จากสิงคโปร์ แต่ทั้งเบรดทอล์คและกลุ่มเซ็นทรัลเน้นขยายสาขาตามศูนย์การค้า รวมทั้งราคาของฟู้ดสตรีทเน้นจับกลุ่มพนักงานออฟฟิศ ลูกค้าระดับกลาง คนรุ่นใหม่ ไม่ใช่ระดับไฮเอนด์เหมือนเซ็นทรัล
 
“ฟู้ดสตรีท” จึงไม่ต่างจาก “ซีพีฟู้ดเวิลด์” ของกลุ่มซีพี รวมถึงร้านอาหารในเครือ ทั้งกลุ่มร้านอาหารห้าดาว ร้านเชสเตอร์กริลล์ ซีพีเฟรชมาร์ทพลัส ซีพีคิทเช่น ซึ่งส่วนใหญ่เน้นทำเลในอาคารสำนักงาน โรงพยาบาล ชุมชนขนาดใหญ่เช่นเดียวกับ FOA 
 
ปัจจุบันธุรกิจซีพีฟู้ดเวิลด์มี 3 รูปแบบ ได้แก่ ฟู้ดคอร์ท ขนาดพื้นที่ตั้งแต่ 500 ตร.ม. ล่าสุดเปิดแล้ว 5 สาขา เช่น สาขาในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย สาขา ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต สาขาสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ สาขาโรงพยาบาลศิริราช สาขายูเนี่ยนมอลล์ และเตรียมเปิดสาขาศูนย์ราชการในวันที่ 16 พ.ย.นี้  รวมทั้งเปิดอีก 2 สาขาในห้างแม็คโคร สาขาสาทรและสาขาแจ้งวัฒนะ  
 
อีก 2 รูปแบบ บริการ Snack Box-Meal Box จัดเลี้ยงนอกสถานที่ และบริการจัดเตรียมอาหารเครื่องดื่มให้หน่วยงาน (Catering) โดยปรุงและเสิร์ฟอาหารถึงห้อง ล่าสุดให้บริการ 3 หน่วยงาน ได้แก่ สนามแข่งรถบุรีรัมย์ หรือ ช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต โรงพยาบาลพระราม 9 และโรงพยาบาลเอกชล 1 จ.ชลบุรี 
 
ส่วนร้านกาแฟ “ทรูคอฟฟี่” เครือซีพีตั้งเป้าเป็นผู้นำในระดับภูมิภาค (Regional Player) ภายใน 5 ปี ขยายสาขาในประเทศไทยครบ 500 สาขาและมีสาขาในทุกประเทศกลุ่มอาเซียนมากที่สุด 
 
ไม่ว่าสงครามร้านอาหารหรือศึกฟู้ดคอร์ท แม้ “ไทยเบฟ” ถือเป็น “น้องใหม่” ในวงการ แต่เป้าหมายของฐาปนไปไกลมากกว่าตลาดไทย ที่สำคัญแนวรบนี้กลายเป็นศึกยักษ์ชนยักษ์อย่างแท้จริง