วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
Home > Cover Story > เปิดบ้านยูนิลีเวอร์ ‘U-House 2.0’ บริษัทขวัญใจคนรุ่นใหม่

เปิดบ้านยูนิลีเวอร์ ‘U-House 2.0’ บริษัทขวัญใจคนรุ่นใหม่

เดือนกันยายนที่ผ่านมา ยูนิลีเวอร์คว้ารางวัล HR Asia Best Companies to Work For in Asia Awards 2023 สุดยอดองค์กรดีเด่นที่น่าทำงานมากที่สุดในเอเชีย ประจำปี 2566 ที่จัดโดย HR Asia นิตยสารชั้นนำด้านทรัพยากรบุคคลของภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเป็นรางวัลที่ได้รับเป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน

นอกจากนั้น จากการสำรวจ 50 บริษัทที่คนรุ่นใหม่อยากร่วมงานด้วยมากที่สุดประจำปี 2566 ของ WorkVenture ที่ประกาศผลไปเมื่อต้นปี ยูนิลีเวอร์ยังติดอันดับที่ 13 จากบรรดา 50 บริษัทชั้นนำของไทยอีกด้วย

และล่าสุดยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย ยังทุ่มงบประมาณกว่า 30 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงสำนักงานใหญ่บริเวณถนนพระราม 9 สู่การเป็น ‘U-House 2.0’ สำนักงานใหญ่โฉมใหม่ เพื่อรองรับการทำงานแบบ “Hybrid Working” รูปแบบการทำงานแห่งอนาคตที่กำลังเข้ามามีบทบาทในหลายๆ องค์กร

ทำไมยูนิลีเวอร์ถึงเป็นองค์กรที่ครองใจคนรุ่นใหม่ และการปรับเปลี่ยนสำนักงานในครั้งนี้จะมีอะไรแปลกใหม่และตอบโจทย์การทำงานในรูปแบบไฮบริดได้อย่างไร “ผู้จัดการ 360 องศา” จะพาไปเปิดบ้านยูนิลีเวอร์พร้อมๆ กัน

ยูนิลีเวอร์เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคและบริโภคที่ก่อตั้งมายาวนานกว่า 100 ปี ดำเนินธุรกิจอยู่ใน 190 ประเทศ มีพนักงานทั่วโลกถึง 160,000 คน และมีสินค้าภายใต้แบรนด์ต่างๆ มากถึง 400 แบรนด์  ไม่ว่าจะเป็น บรีส, ซันซิล, คนอร์, โดฟ, ซันไลต์, วาสลีน, โอโม ไอศกรีมวอลล์ ลักส์, ซิตร้า, โคลสอัพ, คอมฟอร์ท, เทรซาเม่, เคลียร์, แอ็กซ์, เรโซน่า, พอนด์ส และไลฟ์บอย เป็นต้น ซึ่งในทุกๆ วันจะมีผู้บริโภคที่ใช้ผลิตภัณฑ์ของยูนิลีเวอร์กว่า 2,600 ล้านคนต่อวัน

สำหรับประเทศไทย ยูนิลีเวอร์ก่อตั้งขึ้นในปี 2475 โดยผลิตภัณฑ์ตัวแรกที่ทำการผลิตและขายในประเทศไทย คือ แบรนด์สบู่ ซันไลต์ (Sunlight Soap) ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของยูนิลีเวอร์ครอบคลุม 5 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจความงามและสุขภาพ, ผลิตภัณฑ์ส่วนบุคคล, ผลิตภัณฑ์ในครัวเรือน, ธุรกิจนิวทรีชัน และธุรกิจไอศกรีม มีแบรนด์มากกว่า 30 แบรนด์ที่ขายอยู่ในไทย โดยเป็นผู้นำตลาดผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสินค้าอุปโภคและบริโภคที่มียอดขายถึง 90% ของตลาด โดย 99% ของครัวเรือนไทย 25 ล้านครัวเรือน ใช้ผลิตภัณฑ์ของยูนิลีเวอร์ 3 ครั้งต่อวัน

ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย มีพนักงานทั้งหมด 3,300 คนที่เป็นพนักงานประจำ และยังทำงานร่วมกับพนักงานสัญญาจ้างและพาร์ตเนอร์ อีกราวๆ 25,000 คน และ 98% ของพนักงานเป็นคนไทย โดยยูนิลีเวอร์ได้รับการโหวตให้เป็นบริษัทที่มีผู้อยากเข้าทำงานมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งในกลุ่มผลิตภัณฑ์สินค้าอุปโภคบริโภค ติดต่อกัน 5 ปีซ้อน ตั้งแต่ปี 2560 ถึงปัจจุบัน

สิ่งที่ทำให้ยูนิลีเวอร์ได้รับการโหวตนั้น มิง ชู หลิง รองประธานฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคลประเทศไทยและภาคพื้นอาเซียน ยูนิลีเวอร์ กล่าวว่า “ความสำเร็จของบริษัทฯ มีพนักงานเป็นจุดเริ่มต้น ดังนั้น เราจึงพัฒนาและดำเนินโครงการหลากหลายรูปแบบเพื่อมุ่งให้เกิดการพัฒนาทางอาชีพ ยกระดับสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน ส่งเสริมความหลากหลายและสนับสนุนความยั่งยืน มีการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ไม่มีการแบ่งแยกและมอบโอกาสก้าวหน้าในเส้นทางอาชีพ”

ถ้ามองในด้านสวัสดิการซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญ พบว่าเป็นสวัสดิการที่มีความยืดหยุ่น ครอบคลุมสำหรับคู่สมรสเพศเดียวกัน รวมถึงคู่สมรสที่กฎหมายไม่รองรับ และยังเปิดโอกาสในการย้ายงานทั้งแบบระยะสั้นและระยะยาวให้กับพนักงานทั่วโลกโดยไม่จำกัดเพศและเชื้อชาติ อีกทั้งยังให้สิทธิลาคลอดสูงสุดถึง 16 สัปดาห์ และมีวันลา 15 วันสำหรับคุณพ่อ

ปัจจุบันยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย ประกอบด้วย 1 สำนักงานใหญ่ และ 2 โรงงานผลิต ได้แก่ สำนักงานใหญ่ Unilever House (U-House) ตั้งอยู่บริเวณถนนพระราม 9 เปิดตึกครั้งแรกในปี 2560 โดยย้ายมาจาก SCB Park, โรงงานที่มีนบุรีสำหรับผลิตสินค้าที่ใช้ในครัวเรือน สินค้าอุปโภคบริโภค ของใช้ส่วนตัว และไอศกรีม และโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ จ. ฉะเชิงเทรา สำหรับผลิตสินค้าประเภทอาหาร

“ภูธัต เนตรสุวรรณ” ผู้อำนวยการฝ่ายประสบการณ์การทำงานของพนักงาน ประเทศไทยและภาคพื้นอาเซียน ให้ข้อมูลว่า เดิมที U-House ออกแบบมาเพื่อรองรับพนักงานจำนวน 1,150 คน มีพื้นที่ในส่วนของออฟฟิศทั้งหมด 1,800 ตารางเมตร การออกแบบเน้นให้ครอบคลุมและสนับสนุนความแตกต่างทั้งร่างกาย เชื้อชาติ ศาสนา ซึ่งเป็นวัฒนธรรมองค์กรของยูนิลีเวอร์ โดยมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครอบคลุมทุกต้องการ เพื่อให้ทุกคนที่อยู่ในตึกสามารถอยู่ร่วมกันได้ จึงไม่แปลกที่จะมีทั้งห้องพระและห้องละหมาด สำหรับพนักงาน

กระทั่งปี 2562 เริ่มเล็งเห็นว่าออฟฟิศมีการใช้งานที่ลดลง อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ เพราะมีการขายบางธุรกิจออกไป ยูนิลีเวอร์จึงเปิดโอกาสให้พนักงานมีทางเลือกว่าจะทำงานที่ออฟฟิศหรือที่บ้านมากขึ้น

โดยยูนิลีเวอร์ตัดสินใจขาย “ยูนิลีเวอร์ไลฟ์” ซึ่งเป็นธุรกิจขายตรงที่จัดจำหน่ายสินค้าพรีเมียมออกไป ทำให้จำนวนพนักงานลดลงเหลือ 892 คนในปัจจุบัน แต่จุดเปลี่ยนที่สำคัญคือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้รูปแบบการทำงานเปลี่ยนไป และนำมาสู่การตัดสินใจปรับโฉม U-House ครั้งใหญ่ ให้รองรับการทำงานแบบไฮบริด

“ตอนโควิดระบาด ยูนิลีเวอร์มีการปิดออฟฟิศเพราะห่วงเรื่องความปลอดภัยของพนักงาน และให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน ซึ่งนั่นทำให้เราเริ่มค้นพบว่าจริงๆ แล้ว ผลงานไม่ได้ลดลงเลย เลยเป็นจุดเริ่มต้นให้กลับมาคิดเรื่องการทำงานแบบไฮบริดมากขึ้น เป็นการผสมกันระหว่างการทำงานที่บ้านกับที่ออฟฟิศโดยพนักงานสามารถเลือกได้”

สุดท้ายยูนิลีเวอร์จึงออกเป็นนโยบายให้พนักงานสามารถที่จะเลือกทำงานที่ออฟฟิศได้ 40% ของเวลางาน หรือเท่ากับ 2 วันต่อสัปดาห์ขึ้นอยู่กับการตกลงกันของทีม ที่เหลือคือ “Work from anywhere” พนักงานสามารถเลือกได้ว่าจะทำงานที่ไหนก็ได้ ไม่เฉพาะที่บ้าน อาจเป็นร้านกาแฟ หรือสถานที่อื่นๆ ที่ช่วยในการทำงานให้มีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ยังได้กำหนดรูปแบบการทำงานแบบใหม่ในอนาคต หรือ Future of Work” เพื่อรองรับโลกของการทำงานที่เปลี่ยนไป ภายใต้ 3 มิติที่สำคัญ คือ งาน แรงงาน และสถานที่ทำงาน (work, workforce, workplace)

ในส่วนของ ‘งาน’ พนักงานทุกคนจะได้รับการช่วยเหลือในการพัฒนาแผนการพัฒนาตนเองสำหรับอนาคต (Future Fit Plan) ซึ่งแผนดังกล่าวจะถูกสร้างจากเป้าหมาย ทักษะ ประสบการณ์ และภาวะความเป็นผู้นำของแต่ละคน

‘แรงงาน” มีการทำงานแบบไฮบริดที่ให้พนักงานทำงานที่ออฟฟิศอย่างน้อย 2 วัน รวมถึงมีการจ้างงานรูปแบบใหม่ที่ยืดหยุ่นมากขึ้น โดยการมอบหมายงานตามหน้าที่แทนที่จะเป็นตามตำแหน่ง ทำให้พนักงานมีอิสระและปรับเปลี่ยนได้ตามแต่ละช่วงเวลาของชีวิตที่แตกต่างกัน

‘สถานที่ทำงาน’ ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญ เพราะแม้จะเปิดโอกาสให้พนักงานทำงานที่บ้านหรือที่อื่นๆ ได้ แต่สถานที่ทำงานยังเป็นสิ่งจำเป็น ดังนั้น ยูนิลีเวอร์จึงทุ่มงบถึง 30 ล้านบาท และใช้เวลากว่า 4 เดือน ในการปรับโฉมออฟฟิศเดิม สู่การเป็น “U-House 2.0” เพื่อรองรับการทำงานแบบไฮบริดมากยิ่งขึ้น

“สุดท้ายทั้งหมดทั้งมวลมันจะเป็นไปไม่ได้เลยถ้าเราไม่มีสถานที่ทำงาน ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยให้พนักงานทำงานได้ เราต้องการออฟฟิศเพื่อที่จะขับเคลื่อนอัตลักษณ์ของความเป็นยูนิลีเวอร์ แต่ต้องมีรูปแบบที่เหมาะสมกับการทำงานรูปแบบใหม่ จึงเป็นที่มาของ Future of the office รูปแบบของออฟฟิศในอนาคต”

จากเดิมพื้นที่สำนักงานของยูนิลีเวอร์ครอบคลุมถึง 4 ชั้น แต่เมื่อมีการปรับสู่การเป็น U-House 2.0” ตามความจำเป็นในการใช้งาน ปัจจุบันจึงมีพื้นที่สำนักงานอยู่เพียง 2 ชั้น คือ ชั้น 11-12 ของตึก แต่ต้องบอกว่าเป็น 2 ชั้น ที่ใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่าและตอบโจทย์ความต้องการของพนักงานได้อย่างแท้จริง โดยแบ่งเป็นพื้นที่ทำงาน 50% พื้นที่ประชุม 40% และพื้นที่พักผ่อน 10% ประกอบด้วย 5 โซน ได้แก่

“Focus Zone” สำหรับพนักงานที่ต้องการความเป็นส่วนตัวในการทำงาน หรืองานที่ต้องการใช้สมาธิเป็นพิเศษ ทั้งงานเดี่ยวหรือการประชุมที่ต้องการความเป็นส่วนตัว มีทั้งตู้ทำงาน, Phone Booth, โต๊ะทำงานเดี่ยว เป็นต้น

“Collaboration Zone” พื้นที่ทำงานร่วมกัน ตั้งแต่งานที่ต้องทำในแต่ละวันตลอดจนการทำงานระดับทีม มีโต๊ะทำงานแบบโต๊ะยาวที่พนักงานสามารถนั่งทำงานร่วมกัน และพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลกับเพื่อนร่วมงานได้  โดยมีการปรับโฉมให้มีชีวิตชีวามากขึ้น รวมถึงมีอุปกรณ์รองรับการทำงานที่หลากหลาย

“Connect Zone” พื้นที่เชื่อมต่อ ประกอบด้วยห้องประชุมที่มีหลากหลายขนาดตอบโจทย์ความต้องการของพนักงาน และมีเทคโนโลยีที่สนับสนุนการประชุม เช่น ระบบดูดซับเสียง มีเครื่องขยายเสียงติดตั้งบนเพดาน ที่ได้ยินเสียงไม่ว่าจะพูดจากส่วนไหนก็ตาม มีกล้องตรวจจับความเคลื่อนไหว ที่กล้องจะแพนไปหาผู้พูดโดยอัตโนมัติ รวมถึงระบบการจองห้องประชุมที่สามารถจองข้ามประเทศได้

“Vitality Zone” พื้นที่ผ่อนคลายและเติมพลังระหว่างวันทำงาน เช่น U Rest ห้องสันทนาการที่พนักงานสามารถมาพบปะพูดคุย กินอาหาร ขนม พักผ่อนจากการทำงานได้ หรือจะมาดูหนัง เล่นเกมที่พนักงานเลือกกันมาเองได้ มี U Café ร้านกาแฟที่สร้างมาสำหรับชาวยูนิลีเวอร์โดยเฉพาะ

“Wellness Area” ครอบคลุมหมดทั้งสุขภาพ พื้นที่รีชาร์จตัวเอง มีเก้าอี้ปรับนอนได้ถ้าพนักงานต้องการพักผ่อน มีทั้งผ้าปิดตาและที่อุดหูไว้คอยบริการ ถือเป็นที่ปลีกวิเวกได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ยูนิลีเวอร์แตกต่างจากที่อื่น โดยในอนาคตจะมีการพัฒนาพื้นที่ส่วนนี้เพิ่มเติม

“Specialist Zone” พื้นที่สำหรับผู้ที่ต้องการคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ ทั้งในแง่ของการสนับสนุนการทำงานอย่าง Business Support Centre และห้องพยาบาลเสมือนคลินิก โดยมีพยาบาลประจำทุกวัน ส่วนแพทย์จะประจำการวันเว้นวัน ซึ่งสามารถจ่ายยาสามัญและปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้

นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่นักบำบัด (RSVP) สำหรับผู้ที่ต้องการคำปรึกษา ห้องพระ ห้องละหมาด รวมถึงพื้นที่สำหรับพนักงานที่เป็นคุณแม่ มีห้องปั๊มนมและตู้เย็นเก็บน้ำนมโดยเฉพาะ ซึ่งอาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทำงานโดยตรง แต่ส่งเสริมสุขภาพ สวัสดิการ และการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้ ภูธัตยอมรับว่า “ไม่ง่าย” เพราะการเปลี่ยนแปลงมักตามมาด้วยความรู้สึกต่อต้าน ดังนั้น บริษัทฯ ต้องทำความเข้าใจกับพนักงาน เพื่อสร้างการรับรู้ และสร้างความเชื่อมั่น

“สิ่งสำคัญคือต้องฟังพนักงานอย่างสม่ำเสมอ เราทำการสำรวจบ่อยมากและถามเขาทุกเรื่อง เพื่อพนักงานจะได้รู้สึกว่าเสียงของเขาได้รับการฟังและเราก็ให้สิ่งที่เขาต้องการจริงๆ มีการสื่อสารอย่างต่อเนื่อง เน้นพูดบ่อยๆ สร้างความเชื่อมั่น ผลสุดท้ายคนก็จะยอมรับการเปลี่ยนแปลงได้มากและเร็วขึ้น ที่สำคัญคือต้องทำให้พนักงานรู้สึกว่ามาออฟฟิศแล้วสนุก”

ยูนิลีเวอร์ปรับมาใช้ระบบการทำงานแบบไฮบริดได้ระยะหนึ่งแล้ว แต่ปัจจุบันยังไม่มีตัวเลขที่ชัดเจนของการเชื่อมโยงระหว่างผลงานกับการปรับเปลี่ยนทั้งระบบงานและสถานที่ทำงานในครั้งนี้ แต่สิ่งที่ได้คือ พนักงานมีความรู้สึกที่ดีต่อสถานที่ทำงานและวิธีการทำงาน และที่สำคัญคือพนักงานมีความสุขมากขึ้น

ซึ่งภูธัตกล่าวว่าการปรับโฉมครั้งนี้นอกจากจะตอบสนองความต้องการของพนักงานแล้ว ยังช่วยในการสื่อสารอัตลักษณ์ของยูนิลีเวอร์ในการเคารพความแตกต่างได้ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งนั่นทำให้ยูนิลีเวอร์สามารถดึงดูดคนรุ่นใหม่ในการเข้ามาร่วมงานได้มากขึ้น เพราะมีการทำวิจัยออกมาพบว่า พนักงานรุ่นใหม่ต้องการออฟฟิศที่เป็นไฮบริด และส่งเสริมประสิทธิภาพของเขาได้

“ยูนิลีเวอร์ไม่ใช่บริษัทที่ทำงานง่าย มันมีความท้าทายของตัวองค์กรและของธุรกิจ ความเป็นไฮบริดทั้งระบบการทำงานที่ยืดหยุ่นและออฟฟิศที่ตอบโจทย์พนักงาน อาจเป็นสิ่งที่ดึงดูดคนรุ่นใหม่ได้” ภูธัต เนตรสุวรรณ กล่าวทิ้งท้าย.