ธุรกิจครอบครัวมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ระบุว่า ปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียนไทยที่เป็นธุรกิจครอบครัวจำนวนถึง 451 บริษัท หรือคิดเป็นสัดส่วน 57% ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด รวมกันประมาณ 8 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 43% ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดทั้งหมด โดยอายุเฉลี่ยของบรรดาบริษัทเหล่านี้อยู่ที่ประมาณ 34 ปี อีกทั้งยังเกิดการจ้างงานราวๆ 920,000 คน คิดเป็น 53%
แม้ธุรกิจครอบครัวจะมีสัดส่วนเกินครึ่งในตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกทั้งยังมีแต้มต่อในเรื่องความเป็นเจ้าของและรากฐานทางธุรกิจที่ถูกวางไว้อย่างแข็งแกร่งจากรุ่นแรก แต่ถึงกระนั้นการสานต่อธุรกิจครอบครัวให้เติบโตต่อเนื่องและส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นยังคงเป็นโจทย์ที่ท้าทาย
ที่ผ่านมาธุรกิจครอบครัวจำนวนมากที่สามารถสร้างชื่อและเจริญรุ่งเรืองในยุคก่อตั้ง แต่กลับไม่สามารถส่งต่อธุรกิจสู่ทายาทรุ่นต่อไปได้อย่างราบรื่น หรือแม้กระทั่งต้องยุติการทำธุรกิจก็มีไม่น้อยเช่นกัน จนมีคำพูดที่หลายๆ คนคุ้นหูอย่าง “การสร้างธุรกิจเป็นเรื่องยากแล้ว แต่การรักษาธุรกิจให้อยู่รอดและเติบโตได้เป็นเรื่องที่ยากกว่า”
โดยอัตราการอยู่รอดของธุรกิจครอบครัวทั่วโลก ตามข้อมูลจาก The Family Firm Institute ระบุว่า รุ่นที่ 1 อัตราการอยู่รอดของธุรกิจครอบครัวอยู่ที่ 100%, รุ่นที่ 2 อัตราการอยู่รอดของธุรกิจครอบครัว 30%, รุ่นที่ 3 อัตราการอยู่รอดของธุรกิจครอบครัว 12% และรุ่นที่ 4 อัตราการอยู่รอดของธุรกิจครอบครัวอยู่ที่ 3% เท่านั้น ซึ่งนับเป็นความท้าทายทั้งผู้ส่งมอบและทายาทผู้รับมอบธุรกิจ
นั่นทำให้ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ตัดสินใจเปิดตัวโครงการ Business Circle ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เพื่อเสริมความแกร่งในการขับเคลื่อนองค์กรให้แก่ทายาทธุรกิจครอบครัว และส่งต่อความมั่งคั่งได้อย่างไม่สะดุด พร้อมสร้างเครือข่ายสร้างการเติบโตทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยใช้ความเป็นธนาคารระดับภูมิภาคที่มีเครือข่ายอยู่ทั่วโลก และเป็นธนาคารที่เติบโตมาจากการเป็นธุรกิจครอบครัวเป็นจุดแข็ง
ธนาคารยูโอบีมีต้นกำเนิดมาจากการเป็นธุรกิจครอบครัวที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2478 ก่อนที่จะขยายการเติบโตและกลายเป็นธนาคารชั้นนำในภูมิภาคเอเชียในเวลาต่อมา ปัจจุบันยูโอบีอยู่ภายใต้การบริหารงานของทายาทรุ่นที่ 3 โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ และมีการดำเนินธุรกิจทั้งในจีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย และเวียดนาม อีกทั้งยังมีเครือข่ายระดับโลกที่ประกอบด้วยสำนักงานประมาณ 500 แห่ง ใน 19 ประเทศ ทั้งในเอเชียแปซิฟิก ยุโรปตะวันตก และอเมริกาเหนือ ส่วนในประเทศไทยยูโอบีเข้ามาทำธุรกิจนานกว่า 25 ปีแล้วเช่นกัน
สำหรับโครงการ Business Circle เป็นโครงการใหญ่ของยูโอบีที่ต้องการส่งเสริมและผลักดันทายาททางธุรกิจรุ่นใหม่ให้สามารถสืบทอดกิจการ ตลอดจนขยายการเติบโตผ่านการสร้างเครือข่าย หรือ Networking ที่ไม่ได้อยู่แค่ในประเทศไทย แต่เป็นการสร้างเครือข่ายครอบคลุมในประเทศต่างๆ ที่ยูโอบีมีสาขาอยู่ โดยมีสิงคโปร์ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม จีน และฮ่องกง เป็นตลาดหลัก
โดยยูโอบีได้เปิดตัวโครงการ Business Circle ครั้งแรกที่ประเทศสิงคโปร์ ในปี 2562 แม้ว่าหลังจากนั้นไม่นานได้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ถึงกระนั้นโครงการดังกล่าวยังประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในสิงคโปร์ และมีสมาชิกทายาทธุรกิจเข้าร่วมกว่า 1,000 คน นั่นทำให้ยูโอบีตัดสินใจเปิดตัวโครงการดังกล่าวขึ้นในประเทศไทยเป็นประเทศที่ 2
ตัน ชุน ฮิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กล่าวว่า “ยูโอบีเติบโตมาจากธุรกิจครอบครัว เราเข้าใจแรงบันดาลใจของแต่ละรุ่น จากรุ่นปู่จะส่งต่ออย่างไรให้ธุรกิจไม่สะดุด และเห็นได้ชัดว่า การดำเนินธุรกิจในทายาทรุ่นที่ 3 มักยากกว่ารุ่นอื่น สิ่งที่เหมือนกันของทายาทรุ่น 3 คือ หนึ่งจะทำอย่างไรให้พ่อแม่ตัวเองรู้สึกว่าฉันเก่ง สองจะบริหารจัดการกับทีมงานที่อยู่มาตั้งแต่รุ่นพ่อได้อย่างไร และสามจะปฏิวัติธุรกิจอย่างไร เป็น 3 สิ่งที่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ หรือในประเทศใดก็ตาม”
“โครงการ Business Circle ในประเทศไทยถือเป็นการนำความเชี่ยวชาญของธนาคารในฐานะธนาคารชั้นนำระดับภูมิภาค ที่มีรากฐานที่หยั่งลึกในประเทศไทยมาสนับสนุนธุรกิจ โดยโครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยลดอุปสรรคและเติมเต็มความต้องการทางธุรกิจให้แก่ลูกค้าของเราที่ต้องการเติบโตทั้งในประเทศและในประเทศเพื่อนบ้าน”
โครงการ Business Circle สร้างขึ้นมาสำหรับลูกค้าธนาคารที่เป็นทายาททางธุรกิจรุ่นใหม่ที่ต้องการขยายธุรกิจ ที่ไม่ใช่แค่การเชิญสมาชิกมาพูดคุยบนโต๊ะอาหารแบบ “wine and dine” เท่านั้น แต่สมาชิกจะได้รับสิทธิพิเศษในการเข้าร่วมงานสัมมนาเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการบริหารธุรกิจ ได้เรียนรู้ข้อมูลเชิงลึกของอุตสาหกรรม ทักษะในการบริหารองค์กร และแนวคิดในการดำเนินธุรกิจจากผู้บริหารและผู้ประกอบการชั้นนำที่ประสบความสำเร็จ
รวมถึงกิจกรรมเวิร์กช็อปที่ออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์ปัญหาและอุปสรรคที่ธุรกิจต้องเผชิญ เช่น กลยุทธ์ในการพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืน การนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจ และแนวทางในการนำพาธุรกิจเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ โดยองค์ความรู้ด้านธุรกิจต่างๆ ได้มาจาก Singapore Management University (SMU) สถาบันการศึกษาชั้นนำของสิงคโปร์ ซึ่งเป็นพันธมิตรหลักของยูโอบี
สำหรับปีนี้ธีมของโครงการ Business Circle อยู่ในธีม “ASEAN NEXT” เน้นการสร้างเครือข่ายระดับอาเซียน เพราะยูโอบีเชื่อในศักยภาพของอาเซียน เพราะเศรษฐกิจอาเซียนเป็นกลุ่มที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก และมีประชากรมากเป็นอันดับ 3 ของโลก ด้วยจำนวนประชากร 650 ล้านคน และที่สำคัญเป็นประชากรรุ่นใหม่ที่อยู่ในวัยทำงาน อีกทั้งมูลค่าการค้าภายในอาเซียนเองสูงถึง 650 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อีกด้วย
ภายใต้ธีมหลัก ยูโอบีจะขับเคลื่อนด้วย 3 หัวข้อที่สำคัญ ได้แก่ 1. Connectivity เชื่อมโยงธุรกิจต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนและนอกภูมิภาคอาเซียนเข้าด้วยกัน รวมถึงการปรับตัวของธุรกิจให้รอดพ้นจากวิกฤตต่างๆ ทั้งโรคระบาดและวิกฤตสิ่งแวดล้อม
2. Digitalization การปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัล เพราะดิจิทัลเข้ามามีบทบาทและเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานทางธุรกิจของหลายๆ อุตสาหกรรม ทำให้ฉากทัศน์ของธุรกิจเปลี่ยนแปลงอย่างเฉียบพลัน การทำให้ธุรกิจสามารถนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ไปปรับใช้กับองค์กรของตัวเองให้สามารถก้าวทันการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจได้ดียิ่งขึ้นจึงสำคัญ และ 3. Sustainability การเติบโตอย่างความยั่งยืน เพราะเวลานี้ทุกคนพูดถึงความยั่งยืน จะทำอย่างไรให้ธุรกิจเติบโตต่อไปภายใต้การดูแลสภาพแวดล้อมและการเติบโตอย่างยั่งยืนได้
นอกจากนี้ โครงการ Business Circle ยังเป็นแพลตฟอร์มในการสร้างคอนเนกชันให้กับสมาชิกแบบข้ามอุตสาหกรรม ข้ามพรมแดน และสร้างความร่วมมือระหว่างสมาชิกด้วยกันในทุกประเทศหลักที่ยูโอบีดำเนินธุรกิจ อีกทั้งธนาคารยังมีแผนที่จะจัดให้ผู้เข้าร่วมโครงการเดินทางไปดูงานทั้งในไทยและต่างประเทศ เพื่อเปิดโอกาสในการขยายธุรกิจและสร้างความสัมพันธ์กับผู้นำองค์กรที่หลากหลายสู่การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และสร้างพันธมิตรทางธุรกิจในอนาคต
ถ้าหันมามองธนาคารของไทยเองก็มีการเคลื่อนไหวในประเด็นธุรกิจครอบครัวเช่นกัน อย่างธนาคารกสิกรไทย ที่เปิดตัวบริการใหม่ในชื่อ Reconciliation Service บริการแก้ไขความขัดแย้งของครอบครัว เพื่อรักษาสายสัมพันธ์ของครอบครัว ยุติความขัดแย้ง และจัดการกงสีและธุรกิจได้อย่างราบรื่น โดยบริการดังกล่าวเริ่มให้บริการตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา และเป็นบริการสำหรับลูกค้า KBank Private Banking ที่มีสินทรัพย์ขั้นต่ำรวมกันตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ
ปัจจุบันโครงการ Business Circle มีสมาชิกที่เป็นนักธุรกิจและทายาทธุรกิจรุ่นใหม่เข้าร่วมโครงการกว่า 1,000 คนในทุกประเทศที่ยูโอบีดำเนินธุรกิจอยู่ สำหรับในไทยมีสมาชิก 65 ราย ตั้งเป้าภายใน 3 ปี สมาชิกจะเพิ่มเป็น 200 ราย และในอนาคตยูโอบีมีแผนเปิดตัวโครงการนี้ในประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียเพิ่มเติม
ภาพที่ยูโอบีวางไว้สำหรับโครงการนี้คือการเป็น “Next Platform for Next Generation” แพลตฟอร์มที่ทำให้การส่งต่อความมั่งคั่งทางธุรกิจเป็นไปอย่างราบรื่น และเป็นการเปิดฟ้าใหม่ให้กับทายาททางธุรกิจด้วยการสร้างเครือข่ายระดับอาเซียน แต่ในขณะเดียวกันยูโอบีเองก็คาดหวังว่าจะสามารถพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างยูโอบีกับลูกค้าทั้งเก่าและใหม่ได้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ซึ่งนั่นย่อมหมายถึงความสามารถในการสร้างรายได้ที่ลูกค้ามีกับธนาคารก็จะเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน.