วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > Bawah โมเดลดูแลชุมชน บนนิคมอุตสาหกรรมทวาย

Bawah โมเดลดูแลชุมชน บนนิคมอุตสาหกรรมทวาย

 
การเข้ามารับสัมปทานในโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายของบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) นั้นต้องทำมากกว่าการศึกษาถึงความเป็นไปได้ของโครงการรวมไปถึงผลกระทบต่อชุมชนบริเวณใกล้เคียง เมื่อโครงการข้างต้นจำเป็นต้องใช้พื้นที่ในการพัฒนามหาศาล แม้จะเคยผ่านงานอย่างนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดมาแล้ว หากแต่ อิตาเลียนไทยยังต้องพยายามทำความเข้าใจธรรมชาติของชาวทวาย
 
ดูเป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกครั้งที่มีการพัฒนาพื้นที่เพื่อภาคอุตสาหกรรม จำเป็นต้องมีการเวนคืนที่ดิน ซึ่งในส่วนนี้เองที่อาจจะส่งผลกระทบต่อชาวชุมชน 
 
Relocation Area คือพื้นที่ที่ภาครัฐจัดสรรเพื่อรองรับการอพยพย้ายถิ่นฐานของประชาชน โดยมีรายงานระบุว่า รัฐบาลเมียนมามีพื้นที่ต้องจัดการ 3 พื้นที่หลัก คือ 1. ปะกอว์ซูน (Pagaw Zoon) ขนาด 2,160 ไร่ เพื่อรองรับการย้าย 10 หมู่บ้าน 2,300 ครอบครัว 2. บาวาห์ (Bawah) พื้นที่ 1,855 ไร่ รองรับการย้าย 5 หมู่บ้าน 1,850 ครอบครัว และ 3. ปันดินอิน (Pandin in) มีเพียงชาวประมงพื้นถิ่นเพียง 52 ครอบครัว
 
ขณะที่ผู้รับผิดชอบโครงการสร้าง Bawah Relocation Area ที่อาจเป็นต้นแบบสำหรับการรองรับชาวทวายที่จำเป็นต้องย้ายถิ่นฐานในอนาคต โดยในเบื้องต้น Bawah Village จะสามารถรองรับได้เพียง 5 หมู่บ้าน หรือประมาณ 1,850 ครอบครัว กระนั้นจนถึงตอนนี้แม้หมู่บ้านบาวาห์จะแล้วเสร็จแต่ก็ยังไม่มีการย้ายเข้ามาอยู่ของชาวทวาย
 
ทั้งนี้เพราะการจัดสรรเรื่องผู้อยู่อาศัยในหมู่บ้านบาวาห์จะเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลเมียนมา ส่วนเรื่องการจ่ายเงินชดเชยจากการประเมินทรัพย์สิน รวมไปถึงการสร้างบ้านใหม่ให้ โดยสองข้อหลังจะเป็นความรับผิดชอบของบริษัทผู้รับผิดชอบโครงการ
 
โดยในหมู่บ้านบาวาห์ บริษัท อิตาเลียนไทย ยังใส่ความพร้อมในเรื่องของสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น น้ำประปา ไฟฟ้า อีกทั้งยังมีโรงเรียน โรงพยาบาล ซึ่งนับเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชาวชุมชน ถือได้ว่าเป็นการแสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อชุมชนได้อย่างดี
 
แม้จนถึงปัจจุบันจะยังมีคำถามว่าเพราะเหตุใดหมู่บ้านบาวาห์ยังปราศจากผู้ย้ายถิ่นฐานใหม่ หรือเพราะความคลางแคลงใจของชาวทวายที่ยังมีต่อโครงการทวาย ซึ่งก่อนหน้านี้ชาวทวายเคยเรียกร้องให้รัฐบาลเมียนมา ไทย และบริษัท อิตาเลียนไทย แสดงเจตจำนงที่ชัดเจน ทั้งเรื่องค่าชดเชยความเสียหายต่อทรัพย์สิน หรือแผนการพัฒนาโครงการ และการศึกษาถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่อาจทำลายแหล่งอาหารซึ่งเป็นที่ทำมาหากินมาตั้งแต่บรรพบุรุษ
 
กระทั่งสมาคมพัฒนาทวาย องค์กรตะกาปอร์ สมาคมวิจัยทวาย ตัดสินใจเรียกร้องให้ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้เข้าร่วมโครงการทวายรายสุดท้าย ให้ถอนตัวจากโครงการทวายที่กำลังมีปัญหาและยังรอคอยการแก้ไข
 
โดยรัฐบาลญี่ปุ่นได้ลงนามในบันทึกแสดงเจตจำนง (MOL) กับรัฐบาลไทยและรัฐบาลเมียนมา เพื่อร่วมกันพัฒนาโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ในการประชุมผู้นำอนุภุมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง-ญี่ปุ่น ไปเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2558 
 
และในโอกาสเดียวกันนี้ประเทศญี่ปุ่นตัดสินใจเข้าร่วมในนิติบุคคลเฉพาะกิจ อย่าง บริษัท ทวาย เอสอีแซด จำกัด พร้อมกับจะสนับสนุนการก่อสร้างถนนที่เชื่อมโยงโครงการทวายมายังชายแดนไทยอีกด้วย
 
ทั้งนี้การที่สมาคมพัฒนาทวาย องค์กรตะกาปอร์ และสมาคมวิจัยทวาย ตัดสินใจส่งเอกสารข้อเรียกร้องไปถึงญี่ปุ่นอีกครั้งน่าจะเป็นเพราะตระหนักว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ให้ความใส่ใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ และน่าจะเป็นผู้ที่รับฟังพร้อมทั้งจะสามารถแก้ปัญหาได้ดีกว่าอีกสองรัฐบาล
 
ซึ่งกลุ่มที่เรียกร้องนั้นไม่ได้ประสงค์ที่จะคัดค้านโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย แต่ต้องการความชัดเจนจากภาครัฐและเอกชน เปิดเผยแผนการพัฒนา รวมถึงการเปิดโอกาสรับฟังความคิดเห็นจากผู้คนในชุมชน
 
หากเป้าประสงค์ของโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายมีผลประโยชน์มหาศาลรอคอยอยู่ จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลของทั้งสามประเทศ และบริษัทผู้รับสัมปทาน ต้องหันมาใส่ใจปัญหาของชุมชนในท้องถิ่นนั้น และไม่ปล่อยให้ปัญหายืดเยื้อจนเกินเยียวยา
 
อย่างไรก็ตาม Bawah Relocation Area ยังถือเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับโครงการใหญ่ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อชาวชุมชน ทั้งในเรื่องที่ดินทำกิน หรือผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ที่นอกจากจะดูแลเรื่องพื้นฐานของชีวิตแล้ว ยังต้องเข้าใจธรรมชาติของชุมชนนั้นๆ ด้วย ซึ่งในจุดนี้เองที่ไทยควรจะนำมาเป็นต้นแบบในการศึกษา
 
เหตุจากนโยบายของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กรณีที่มีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษตามจังหวัดที่อยู่แนวตะเข็บชายแดน เพื่อหวังให้เกิดการลงทุนในระดับภูมิภาค โดยเริ่มต้นนำโมเดล Bawah Relocation Area มาใช้กับเขตเศรษฐกิจพิเศษที่รัฐบาลไทยพยายามผลักดันทั้งสิ้น 10 จังหวัด 12 พื้นที่
 
หากแต่ในอดีตหลายต่อหลายโครงการที่ผ่านมา การดำเนินการของภาครัฐเมื่อจำเป็นต้องเวนคืนที่ดินจากประชาชน การดูแลของผู้มีส่วนรับผิดชอบต่อโครงการทำเพียงแค่การจ่ายเงินชดเชยต่อความเสียหายในทรัพย์สิน และค่าชดเชยการย้ายที่อยู่เท่านั้น ต้องยอมรับว่านั่นเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น 
 
การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในสิ้นปีนี้ จำเป็นที่ทุกภาคส่วนต้องมองเห็นปัญหาและฝึกที่จะแก้ปัญหาทั้งองคาพยพ ที่ไม่ใช่เพียงการบูรณาการเพียงชั่วคราว หรือสร้างข้อกำหนดทางนโยบายที่สวยหรูเท่านั้น 
 
ซึ่งหากภาครัฐมีนโยบายดูแลประชาชนในชุมชน นอกจากจะเป็นสัญญาณด้านบวกให้แก่นักลงทุนแล้ว อาจช่วยลดปัญหาการต่อต้านที่จะเกิดขึ้นจากผู้คนในท้องถิ่นนั้นๆ ในอนาคตด้วย
 
ในหมุดหมายของประเทศกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง ไทย จีน เวียดนาม กัมพูชา ลาว เมียนมา ที่กำลังผนึกสรรพกำลังบน GMS Corridors เพื่อสร้างความแข็งแกร่งสำหรับการประชันบนเวทีโลกนั้น หากไม่ได้มุ่งเน้นไปในเรื่องการพัฒนาแต่เศรษฐกิจโดยมีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่ตัวเลขของเม็ดเงินที่จะเข้ามาลงทุนแล้ว แต่มองย้อนกลับมายังชุมชนเล็กๆ เพียงเศษเสี้ยวของเมกะโปรเจ็กต์ ใส่ใจและพยายามเข้าใจธรรมชาติของผู้คนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง เชื่อเหลือเกินว่าความจำเริญที่กำลังเกิดขึ้น จะเป็นไปในรูปแบบที่สร้างความยั่งยืนได้ตั้งแต่รากหญ้าทีเดียว