“ตลาดสมุนไพร” มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่า ในปี 2565 ที่ผ่านมา ตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรในประเทศมีมูลค่าสูงถึง 52,104 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 48,108 ล้านบาท, ปี 2563 มูลค่าราว 45,997 ล้านบาท, ปี 2562 มูลค่าราว 53,396 ล้านบาท และปี 2561 มีมูลค่าราว 49,071 ล้านบาท
และคาดว่าในปี 2566 จะมีมูลค่าตลาดไม่น้อยกว่า 50,000 บาท ในขณะที่ Euromonitor คาดการณ์ว่า ในปี 2569 ตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรในประเทศไทยจะมีมูลค่าสูงถึง 59,500 ล้านบาทเลยทีเดียว
ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางด้านสมุนไพรสูง เพราะมีสมุนไพรกว่า 1,800 ชนิด ที่ปรากฏสรรพคุณและมีการนำมาใช้ประโยชน์ โดยตั้งแต่ปี 2560-2565 ไทยมีการส่งออกวัตถุดิบสมุนไพรคุณภาพและผลิตภัณฑ์สมุนไพรเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คิดเป็นมูลค่ากว่า 12,211 ล้านบาท
ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ตลาดสมุนไพรเติบโตมาจากกระแสการดูแลรักษาสุขภาพโดยวิถีธรรมชาติและหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลให้คนไทยเลือกใช้สมุนไพรในการดูแลรักษาสุขภาพมากขึ้นด้วยเช่นกัน
แต่ถึงกระนั้นกลับพบว่าตลาดสมุนไพรในไทยยังมีข้อจำกัดด้านการเติบโตอยู่มากเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อจำกัดด้านมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ที่ทำให้ไม่สามารถเติบโตได้อย่างเต็มที่ และยังไม่ได้รับการผลักดันให้อยู่ในระบบประกันสุขภาพของรัฐได้เท่าที่ควร ดังนั้น ที่ผ่านมาจึงมีความพยายามทั้งจากภาครัฐและเอกชนในการขับเคลื่อนการพัฒนาสมุนไพรไทยเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งการออกแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560-2564 ที่ระบุยุทธศาสตร์ มาตรการ และแผนงานที่ครอบคลุมการพัฒนาสมุนไพรไทยตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง เพื่อให้ไทยเป็นประเทศที่ส่งออกวัตถุดิบสมุนไพรคุณภาพและผลิตภัณฑ์สมุนไพรชั้นนำของภูมิภาคอาเซียนภายใน 5 ปี ต่อด้วยแผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566-2570 เพื่อส่งเสริมการพัฒนาสมุนไพรและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดทั้งในและต่างประเทศ
และภายใต้แผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 นี้ กรมการแพทย์แผนไทยฯ ยังได้ประกาศรายชื่อ “สมุนไพร Herbal Champions” 15 รายการ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนา พร้อมตั้งเป้าส่งออกสู่ตลาดโลกและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศ โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 สมุนไพรที่มีความพร้อมเพื่อการพัฒนาต่อยอด 3 รายการ ได้แก่ ขมิ้นชัน ฟ้าทะลายโจร และกระชายดำ และกลุ่มที่ 2 สมุนไพรที่มีศักยภาพและต้องการความต่อเนื่องในการพัฒนา 12 รายการ ได้แก่ บัวบก มะขามป้อม ไพล ขิง กระชาย ว่านหางจระเข้ กวาวเครือขาว มะระขี้นก เพชรสังฆาต กระท่อม กัญชง และกัญชา
นอกจากนั้น ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS อีกหนึ่งหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและสร้างการเติบโตให้อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพด้านสมุนไพร ได้เห็นถึงข้อจำกัดดังกล่าว จึงได้จัดงานระดมสมองเพื่อปลดล็อกการเติบโตของอุตสาหกรรมสมุนไพรไทยไปเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐ พร้อมสนับสนุนทุนแก่ผู้ประกอบการ เพื่อผลักดันยาสมุนไพรเข้าสู่ตลาดหลักประกันสุขภาพของภาครัฐ และขยายตลาดสู่ระดับสากล
นายแพทย์ สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และอดีตประธานกรรมการ TCELS เปิดเผยว่า หากดูตัวเลขการเติบโตของผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับสมุนไพร พบว่าส่วนใหญ่จะเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอาง แต่ส่วนที่เป็นยาโดยเฉพาะอย่างยิ่งยาที่ใช้ในระบบบริการสุขภาพแห่งชาติที่ใช้ในภาครัฐยังมีสัดส่วนที่น้อย
อย่างไรก็ดี ในปีงบประมาณ 2567 มีการวางแผนงบประมาณด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรไว้ที่ 1,500 ล้านบาท และในวันที่ 1 ตุลาคม 2566 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง จะเปลี่ยนมาใช้วิธีการเบิกจ่ายยาสมุนไพรแบบใหม่ โดยใช้วิธีจ่ายตามรายการบัญชียาหลัก 97 ตัว แทนการเหมาจ่ายเดิม เพื่อกระตุ้นให้หน่วยบริการใช้ยาสมุนไพรไทยมากขึ้น
โดยนายแพทย์สุวิทย์ได้ให้คำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการสมุนไพรไทยที่ต้องการเข้าสู่ตลาดภาครัฐและระบบประกันสุขภาพว่า อย่างแรกที่ต้องมีคือ เรื่องของมาตรฐาน ต้องทำให้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรมีมาตรฐาน คุณภาพดี และปลอดภัย นั่นหมายความว่าต้องขึ้นทะเบียน อย. อย่างถูกต้อง และสองคือ ต้องพร้อมที่จะแข่งในตลาดภาครัฐซึ่งมีผู้แข่งขันจำนวนมาก
ขณะที่ ดร.พัชราภรณ์ วงษา ผู้อำนวยการโปรแกรมบริหารโภชนเภสัชภัณฑ์และเวชสำอาง TCELS เปิดเผยถึงแนวทางสนับสนุนทุนด้านสมุนไพรจาก TCELS ว่า ในปีงบประมาณ 2567 จะมุ่งเน้นสนับสนุนกลุ่มที่เรียกว่า “research utilization” เน้นผลิตภัณฑ์ที่เข้าตลาดแล้ว เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการในการขยายตลาด
โดยเน้น 2 กลุ่มหลัก คือ 1. กลุ่มนวัตกรรมที่ขึ้นทะเบียนใหม่เพิ่งเข้าตลาด โดยเป็นทุนในการทดลองตลาด เก็บข้อมูลเพื่อวางแผนกลยุทธ์การทำตลาดในการวางจำหน่ายจริง และมีการขยายผลทำให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับมากขึ้น 2. กลุ่มที่มีผลิตภัณฑ์เข้าตลาดแล้ว แต่ต้องการยกระดับผลิตภัณฑ์ให้มีความพรีเมียมมากขึ้นหรือต้องการขยายกำลังการผลิต
สำหรับทุนสนับสนุนดังกล่าวจะเป็นทุนให้เปล่าที่ให้กับผู้ประกอบการโดยตรง ในลักษณะของการแมตชิ่ง โดยขึ้นอยู่กับขนาดของกิจการ ซึ่งในปีงบประมาณ 2567 ตั้งเป้าให้การสนับสนุนผู้ประกอบการประมาณ 10 ราย
ด้านผู้ประกอบการอย่าง ภก.สุวิทย์ งามภูพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค จำกัด (มหาชน) หรือ BLC ผู้ผลิตและจำหน่ายยาแผนปัจจุบันและผลิตภัณฑ์สุขภาพ มองว่า ไทยมีข้อได้เปรียบทั้งด้านองค์ความรู้และคุณประโยชน์ของสมุนไพร แต่การใช้ยาสมุนไพรยังได้รับการยอมรับไม่มากนัก เนื่องจากขาดการวิจัยปริมาณสารสำคัญออกฤทธิ์ทางยาให้เป็นมาตรฐานที่ชัดเจน และขาดผลพิสูจน์ทางคลินิกในด้านประสิทธิผลและความปลอดภัย
เพราะฉะนั้นการยกระดับอุตสาหกรรมยาสมุนไพรของไทย คือการเข้าไปแก้เพนพอยต์ของสมุนไพร ด้วยการสร้างความเป็นมาตรฐานและความปลอดภัยให้กับผลิตภัณฑ์ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของแพทย์แผนปัจจุบันและเภสัชกร เพื่อผลักดันให้เกิดการนำไปใช้ในระบบประกันสุขภาพได้ในที่สุด
ปัจจุบันไทยยังมีโรงงานที่มีศักยภาพในการสกัดสารสำคัญจากสมุนไพรอยู่ประมาณ 10 แห่งเท่านั้น คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 10% โดยอีกกว่า 90% เป็นการนำเข้าสารสกัดสมุนไพรจากต่างประเทศ โดย TCELS เชื่อว่า จากแผนแม่บทและความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งในแง่ขององค์ความรู้และแหล่งทุนสำหรับผู้ประกอบการ จะทำให้อุตสาหกรรมสมุนไพรไทยเติบโตสูงขึ้น ลดการนำเข้าสารสกัดจากต่างประเทศ และผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางของสารสกัดสมุนไพรได้ในอนาคต.