“ใช้ชีวิตในเมืองสิบกว่าปี ร่างกายเริ่มไม่ไหว ครั้งแรกเจอเนื้องอกในไตแบบไม่รู้สาเหตุ อาจเกิดจากการเป็นออฟฟิศซินโดรมและกินยาเยอะ ทำร้ายไต แต่เป็นเพียงก้อนเนื้อ พอช่วงโควิดเจออีกก้อนบริเวณปีกมดลูกข้างซ้าย ครั้งนี้เป็นมะเร็งระยะ 2 ต้องตัดมดลูกและรังไข่ รู้เลยว่าต้องกลับบ้าน กลับไปหาธรรมชาติ บำบัดทั้งร่างกายและจิตใจ…”
นุชจรินทร์ เฉลิมบุญ เล่าถึงการตัดสินใจหนีกรุงมาเป็นเกษตรกรเมื่อปี 2559 เอ่ยปากขอที่นากว่าสิบไร่จากพ่อแม่สร้างศูนย์เรียนรู้วนเกษตร “ไร่ปิดทองหลังพระ ก้าวหน้ายั่งยืน (เฉลิมบุญ)” ในอำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และตั้งเป้าหมายระยะยาวเปิดจุดแคมปิ้งธรรมชาติบำบัดให้คนเมืองได้สูดอากาศบริสุทธิ์ กินอาหารอินทรีย์ ปลูกผักสวนครัว ปั่นจักรยาน และทำกิจกรรมในบรรยากาศธรรมชาติสุดๆ
เธอเล่าว่า พ่อแม่เป็นลูกชาวนาสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ มีที่ดินนับร้อยไร่เป็นโฉนดที่ดินที่ออกในสมัยในหลวงรัชกาลที่ 5 แต่ครอบครัวแบ่งขายไปเรื่อย เหลือที่นาส่วนหนึ่งของพ่อ ซึ่งเป็นกำนัน ต.บ้านใหม่ อ.มหาราช และพี่น้องบางคน
จริงๆ เธอไม่เคยคิดอยากเป็นเกษตรกร พ่อแม่รู้สึกเช่นกันไม่อยากให้ลูกๆ 3 คน เป็นชาวนา เพราะลำบาก ต้องปากกัดตีนถีบ รายได้ไม่พอ ปีหนึ่งทำนาได้ครั้งเดียว 3 เดือน เนื่องจากที่ไม่อุ้มน้ำ น้ำไม่ถึง ต้องรอเก็บเกี่ยวผลผลิตและปล่อยร้างอีก 9 เดือน
ส่วนราคาข้าวต้องถูกโรงสีหักค่าความชื้นจากหลักหมื่นเหลือหลักพัน เสียต้นทุนค่าปุ๋ย ค่าพันธุ์ แถมยังต้องจ้างแรงงานทำนา
“รุ่นพ่อแม่มีรายได้หลักจากการทำนา พอกินแต่ไม่พอใช้ ถ้าไม่ขายที่นาไม่มีทางฟื้น ไม่มีเงินส่งลูกๆ เรียนจบปริญญาตรี เมื่อก่อนมีที่ดินเยอะกว่านี้ แต่พ่อต้องขายที่ดินบริเวณหน้าหลวงปู่ทวดและจัดสรรเงินส่งลูก 3 คนเรียน และซื้อที่นาอีกส่วนใน จ.สระบุรี ถ้าอาศัยการทำนาอย่างเดียว ไม่น่ารอด”
ส่วนนุชจรินทร์ หลังเข้ากรุงเทพฯ เรียนจบคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ได้งานครั้งแรกเป็นพนักงานประชาสัมพันธ์ ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต ในปี 2540 ช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” นั่นทำให้เธอกลายเป็นพนักงานประจำรับใหม่กลุ่มสุดท้าย เพราะหลังจากนั้นบริษัทฟิวเจอร์พาร์คสั่งงดรับพนักงานนานหลายปี
หลังทำงานในฟิวเจอร์พาร์ค 9 ปีกว่า เธอตัดสินใจออกมาเรียนปริญญาโทและทำฟรีแลนซ์งานประชาสัมพันธ์ ก่อนย้ายไปอยู่บริษัท อีซี่ส์ อินเตอร์เนชั่นแนล แฟรนไชส์ จำกัด ผู้บริหารร้านแฮมเบอร์เกอร์ Siam Steak และไส้กรอกพรีเมียมอีซี่ส์ จนล่าสุดเป็นพนักงานสื่อสารมวลชนและประชาสัมพันธ์ สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ (PMCU)
เธอบอกว่า ทุกวันนี้ 7 วัน ทำงานประจำ 5 วัน และหนีกรุงมาทำเกษตร 2 วัน เพราะรายได้จากไร่ยังไม่เพียงพอ ต้องใช้เวลาพัฒนาพื้นที่ต่อยอดอีกระยะหนึ่ง เพื่อเป็นอีกแหล่งรายได้พอเลี้ยงตัวเองหลังเกษียณกับพ่อแม่
แน่นอนว่า การทำโปรเจกต์ “ไร่ปิดทองหลังพระฯ” ใช้แนวคิดเกษตรกรรุ่นใหม่ ผสมผสานแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงกับการบริหารศูนย์การค้าจากประสบการณ์การทำงาน การอยู่ร่วมกับสังคมชุมชน โดยแบ่งพื้นที่ 3 โซน ประกอบด้วย โซนพอเก็บ เนื้อที่ 12 ไร่ แบ่งทำเกษตรผสมผสาน 6 ไร่ใน อ.มหาราช พระนครศรีอยุธยา ปลูกไม้ยืนต้น ไม้เศรษฐกิจ เช่น พยุง ยางนา มะฮอกกานี มะขามเทศสีชมพู อีก 6 ไร่ อยู่ใน จ.สระบุรี เป็นพื้นที่ให้เช่าทำนา
ทุ่งนาในไร่ปิดทองฯ ก่อนเจอน้ำท่วมใหญ่
โซนพออยู่ ที่ดิน 1 ไร่ เป็นบ้านที่อาศัยและรอบๆ ปลูกพืชผักสวนครัวแบบเกษตรอินทรีย์
สุดท้าย โซนพอกิน อีก 1 ไร่ เปิดร้านค้าชุมชนและร้านเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ ซึ่งรอบๆ เป็นสวนปลูกมะม่วงและไผ่ยักษ์
สำหรับชื่อ “ไร่ปิดทองหลังพระ ก้าวหน้ายั่งยืน (เฉลิมบุญ) มาจากนามสกุล เฉลิมบุญ” และต้องการสื่อถึงการเป็นผู้ปิดทองหลังพระมาตลอด ทั้งการบริจาคที่ดินสร้างถนน ทำประปาหมู่บ้าน และพ่อ คือ อดีตกำนัน จาง เฉลิมบุญ พยายามผลักดันโครงการสนับสนุนชาวนา เช่น โครงการแก้มลิง แต่ไม่มีใครรู้ผลงานเหล่านี้ ส่วนที่นาด้านหลังองค์หลวงปู่ทวดขนาดใหญ่ ครอบครัวเฉลิมบุญทำถวายในหลวงรัชกาลที่ 9
นุชจรินทร์บอกว่า โซนพอกินจะเป็นหมุดหมายโปรเจกต์ในอนาคตขั้นต่อไป โดยวางแผนขยายร้านค้าชุมชนกึ่งคอมมูนิตี้มอลล์และแคมปิ้งในอนาคตใกล้ๆ คอนเซ็ปต์ฮับเล็กๆ ของชุมชน จำหน่ายผลิตภัณฑ์ของเกษตรกร อาหารทะเล ขนม รองรับกระแสออนไลน์ และเป็นจุด Hang Out คาเฟ่เล็กๆ จะเริ่มต้นชัดเจนปลายปีนี้ หรือช่วงปลายฝนต้นหนาวจะทำแคมปิ้งก่อน จุดกางเต็นท์ประมาณ 10 คน เริ่มทดลองตลาดกับเพื่อนๆ ก่อน
จะทำเถียงนาจำลอง จุดกางเต็นท์ และมีที่พักกระจายอยู่อาศัยตามสวนและบ้าน ไม่ใช่ที่พักสไตล์โรงแรม แต่เป็นที่พักแบบชนบทจริงๆ โดยเฉพาะช่วงหน้าหนาว บรรยากาศดีมาก ไม่ต่างกับการเที่ยวเชียงใหม่
ที่สำคัญ ชัยภูมิบ้านและไร่ปิดทองหลังพระฯ ติดแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่ง นอกจากทางจักรยานแล้ว มีสถานที่ที่น้อยคนรู้จักด้วย เช่น บริเวณที่ สุกี้พระนายกอง ชาวมอญที่อาศัยอยู่บริเวณบ้านโพธิ์สามต้น กรุงศรีอยุธยา ถูกฆ่าตาย ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ส่วนสายมูต้องไปวัดท่าตอ ใน ต.ท่าตอ อ.มหาราช จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เคยเสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพิธีทอดผ้าพระกฐินพระราชทาน และเยี่ยมเยียนประชาชนที่วัดท่าตอถึง 3 ครั้ง มีพระบรมฉายาลักษณ์อยู่บริเวณหน้าพระอุโบสถวัดท่าตอ
นอกจากนั้น พื้นที่ไร่อยู่ติดกับจังหวัดอ่างทอง ซึ่งมีจุดท่องเที่ยวหลายแห่ง เช่น วัดป่าโมกใน ต.ป่าโมก อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง มีพระพุทธไสยาสน์ขนาดใหญ่ที่มีความงดงามมากองค์หนึ่งของประเทศไทย นอนตะแคงขวาแบบสีหไสยา ความยาวถึง 22 เมตร ตั้งแต่พระเมาลีถึงพระบาท ก่อสร้างจากอิฐและปูนปั้น ลงรักปิดทองทั้งองค์ และวัดป่าโมกยังอยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา
ตัวไร่ยังอยู่ติดคลองบางแก้วที่แยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาใน ต.บางแก้ว จ.อ่างทอง ไหลไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ เข้าเขต จ.พระนครศรีอยุธยา ก่อนบรรจบกับแม่น้ำลพบุรีที่ ต.หัวไผ่ อ.มหาราช ความยาว 15 กิโลเมตร
เล่ากันว่า แหล่งน้ำจากเจ้าพระยาบริเวณปากคลองบางแก้วที่ตำบลบางแก้วมีความสำคัญในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึง รัชกาลที่ 4 และรัชสมัยรัชกาลที่ 9 ใช้น้ำบริเวณนี้เป็นหนึ่งในแหล่งน้ำทำพิธีเสกน้ำ ถวายเป็นน้ำอภิเษกและน้ำสรงมูรธาภิเษกในพระราชพิธีเสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติบรมราชาภิเษกและประกอบพิธีเสกน้ำ
สาวผู้บุกเบิกย้ำว่า ทั้งหมดเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ซึ่งไร่ปิดทองหลังพระฯ ต้องการเป็นศูนย์กระจายความรู้ต่างๆ แก่คนจังหวัดใกล้เคียงเข้ามาศึกษาหรือดูเป็นแบบอย่างประสบการณ์ที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ โดยเฉพาะโจทย์ข้อใหญ่เรื่องการปรับพื้นที่ก่อนทำการเกษตร
“เราไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่า พ่อแม่ทำนาและต้องเจออะไรมาบ้าง การปรับพื้นที่ต้องใช้ต้นทุนสูงมาก ซ้ำร้ายเจอน้ำท่วมอีก ไร่ปิดทองหลังพระฯ เคยมีทั้งนาและร้านอาหารริมทุ่งเล็กๆ แต่เจอน้ำท่วมเมื่อ 3 ปีก่อน ล่มหมดและต้องกลับมานับหนึ่งใหม่อีก คือตัวอย่างหนึ่งที่ชาวสวนไร่นาในอยุธยาต้องเผชิญหน้าอยู่ตลอดเวลา”
ล่าสุด เกษตรกรวันหยุดอย่างเธอกำลังเร่งขยายพืชเศรษฐกิจรอบใหม่ เช่น กล้วย คะน้า ผักบุ้งยอดอ่อน มะม่วง มะนาว และผักเคล ซึ่งถือเป็น Superfood สุดยอดผักเพื่อสุขภาพ “The queen of green” มีคุณค่าทางโภชนาการสูงมาก โดยวางแผนปลูกพืชผักสวนครัวชนิดต่างๆ ลงกระถางเล็กๆ และขายยกกระถาง เพื่อให้คนเมืองปลูกซ้ำได้อีกหลังตัดยอดกินแต่ละรอบ
นุชจรินทร์ทิ้งท้ายกับ “ผู้จัดการ360องศา” ว่า แคมปิ้งเป็นโปรเจกต์ในอนาคต ไม่ใช่แค่เธอที่สามารถหนีเมืองใหญ่มาเจออากาศบริสุทธิ์ เจอครอบครัว แต่หมายถึงอีกหลายคนที่กำลังโหยหาแนวทางธรรมชาติบำบัดก่อนต้องเจ็บป่วยรุนแรงอย่างเธอ.